พัฒนาการอุตสาหกรรมรถยนต์ในมณฑลกวางตุ้ง อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาดของจีน ตอนที่ 3 (จบ)
6 Jul 2021พัฒนาการอุตสาหกรรมรถยนต์ในมณฑลกวางตุ้ง อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาดของจีน ตอนที่ 1
พัฒนาการอุตสาหกรรมรถยนต์ในมณฑลกวางตุ้ง อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาดของจีน ตอนที่ 2
มณฑลกวางตุ้งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีนจนมีชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” และแน่นอนว่าฉายาที่ได้มานั้นจะต้องแลกกับ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งหากมองในภาพรวมจะพบว่าเมืองในมณฑลกวางตุ้ง ส่วนใหญ่ต้องเจอกับปัญหาการเกิดมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ดี เมืองใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นมีสาเหตุของปัญหามลพิษจากท่อไอเสียจากรถยนต์เป็นสัดส่วนที่มาก ดังนั้น มาตรการการแก้ปัญหาจึงต้องชัดเจนเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
เซินเจิ้นและกว่างโจวกับนโยบาย “สงครามแย่งชิงท้องฟ้าสีคราม”
ในห้วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางกาศที่รุนแรง รัฐบาลกลางจีนจึงได้ประกาศยุทธศาสตร์ด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศเพื่อให้ท้องฟ้าที่เทาอันขมุกขมัวเปลี่ยนเป็นท้องฟ้าสีครามดังเดิม หรือยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “สงครามแย่งชิงท้องฟ้าสีคราม” หรือ Blue Sky War ซึ่งยุทศาสตร์ดังกล่าวประกอบไปด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของจีนซึ่งแบ่งเป้าหมายออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ในปี 2556 มีเป้าหมายการลดฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่งให้ได้ร้อยละ 33 และเมืองที่อยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง[1] ร้อยละ 15 ต่อมา และช่วงที่ 2 ในปี 2560[2] มีเป้าหมายที่จะลดฝุ่น PM2.5 ทั่วจีนให้ได้เฉลี่ยร้อยละ 18 และยังให้ความสำคัญต่อการลดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) หรือ VOCs ให้ได้ร้อยละ 10 และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์จากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในให้ได้ร้อยละ 15
นครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของจีนที่มีรถยนต์เป็นจำนวนมาก ทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศมีสาเหตุหลักมาจากไอเสียรถยนต์ นครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นจึงได้ดำเนินนโยบาย Blue Sky ของตนเอง (Guangzhou Blue และ Shenzhen Blue) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากโดยเฉพาะการกำจัดรถยนต์ป้ายเหลืองซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นเก่าที่ปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กำหนด รวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานการวัดและการปลดปล่อยมลพิษจากยานพาหนะระดับสูง เพื่อควบคุมและส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กว่างโจวและเซินเจิ้นกับ “มาตรฐาน China VI” ควบคุมมลพิษจากรถยนต์
ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ของจีน ซึ่งรัฐบาลกลางจีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญด้วยการออกมาตรการควบคุมมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ครั้งแรกเมื่อปี 2526 และเมื่อปี 2544 ได้ประกาศใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยานยนต์ขนาดเล็กระดับ 1 (China I) ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐานการควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ของยุโรป ระดับ 1 (Euro I) ล่าสุดเมื่อปี 2562 รัฐบาลกลางจีนจึงได้ประกาศมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยานยนต์ขนาดเล็ก ระดับ 6 (China VI[3]) ซึ่งเป็นมาตรฐานการควบคุมมลพิษจากรถยนต์ที่เข้มงวดที่สุดของจีน และสูงกว่า Euro VI อีกด้วย หากเปรียบเทียบ China VI กับ Euro VI พบว่า มาตรฐาน China VI มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) น้อยกว่าร้อยละ 50 ไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) น้อยกว่าร้อยละ 40 และฝุ่น PM น้อยกว่าร้อยละ 33 ทั้งนี้ มาตรฐาน China VI ยังเข้มงวดกว่าด้วยการควบคุมการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOX) ที่เป็นสารตั้งต้น (precursor) สำคัญของฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันและภาวะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหากได้รับก๊าซดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งมาตรฐาน Euro VI ยังไม่ควบคุมการปล่อยก๊าซ NOX
จากข้อมูลในตาราง ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า มาตรฐาน China VI ยังแบ่งมาตรฐานการควบคุมมลพิษออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ China 6a และ China 6b ซึ่งกำหนดปริมาณการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดต่างกันและมีกำหนดระยะเวลาของการนำไปใช้ต่างกัน กล่าวคือ มาตรฐาน China 6a กำหนดนำไปใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2563 และมาตรฐาน China 6b กำหนดนำไปใช้ตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2566 อย่างไรก็ดี ในส่วนของนครกว่างโจวและเมืองเซิ้นได้ประกาศใช้มาตรฐาน China 6b นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ก่อนกำหนดถึง 6 ปี ซึ่งสะท้อนความจริงจังต่อการแก้ปัญหาและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของทั้งสองเมือง
เซินเจิ้นเมืองต้นแบบของการแก้ปัญหา PM2.5 ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า
หากย้อนไปเมื่อปี 2558 เมืองเซินเจิ้นมีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีมีมากถึง 30 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ส่งผลกระทบคุณสุขภาพของประชาชนและตอกย้ำภาพลักษณ์ของเมืองใหม่ที่ไม่น่าอยู่ของจีน แต่ล่าสุดเมื่อปี 2563 เมืองเซินเจิ้นสามารถปรับปรุงภาพลักษณ์ให้เป็นเมืองอากาศดี โดยเมืองเซินเจิ้นมีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีเพียง 19 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐาน interim targets (IT-2) ของ WHO อีกด้วย และนับว่ามีค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินแผน Shenzhen Blue เป็นต้นมา นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ที่ลดลงทำให้ เมื่อปี 2563 เมืองเซินเจิ้นมีวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสมากถึง 355 วันซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ที่มีวันท้องฟ้าแจ่มใสเพียง 178 วัน
นอกจากนี้ เมืองเซินเจิ้นยังเป็นเมืองที่มีจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่หนาแน่นมากที่สุดในจีนจนทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เมืองเซินเจิ้นจึงได้ประกาศดำเนินนโยบาย Shenzhen Standard ซึ่งเป็นแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานใหม่ควบคู่ไปกับการควบคุมรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานตาม โดยบังคับใช้ มาตรฐานการวัดและการปลดปล่อยมลพิษจากยานพาหนะขนาดเล็ก (น้ำหนักไม่เกิน 3.5 ตัน) ระดับ 6 หรือ China 6 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด เป็นเมืองแรกของจีน
นครกว่างโจว PM2.5 ลดทะลุเป้า นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีจีนประกาศแผน Blue Sky War ระยะที่ 2 นคร กว่างโจวได้นำแผนดังกล่าวมาปรับใช้ภายใต้แผน Guangzhou Blue โดยเมื่อปี 2564 สามารถลดฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยต่อปี ได้มากถึงร้อยละ 25.9 โดยแผน Guangzhou Blue ประกอบด้วยมาตรการป้องกันและควบคุมมลพิษที่สำคัญ ได้แก่ (1) ควบคุมมลพิษจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานใหม่ (2) ควบคุมการปล่อย VOCs จากโรงงานอุตสาหกรรม (3) ควบคุมการปล่อยควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมัน เช่น เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง สถานีบริการน้ำมัน และเรือขนส่งสินค้า (4) ควบคุมมลพิษและฝุ่นจากโครงการก่อสร้าง และ (5) ลดการใช้พลังงานจาก ถ่านหิน โดยภายหลังการดำเนินนโยบายดังกล่าว ปัจจุบันนครกว่างโจวมีรถบัสประจำทางพลังงานไฟฟ้า 11,000 คัน และรถแท็กซี่พลังงานใหม่ 12,000 คัน คุณภาพอากาศของนครกว่างโจวก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2563 ความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในนครกว่างโจวมีเพียง 22 ไมโครกรัม/ลบ.ม. (เมื่อปี 2562 ความเข้มข้นเฉลี่ยรายปี PM2.5 เท่ากับ 30 ไมโครกรัม/ลบ.ม.) นอกจากนี้ PM10 มีความเข้มข้นเฉลี่ย 41 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ไนโตรเจนไดออกไซด์ 36 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และโอโซน 160 ไมโครกรัม/ลบ.ม. นับเป็นระดับคุณภาพอากาศที่ดีที่สุดของนครกว่างโจวในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
ค่า PM ลดลง คุณภาพอากาศดีขึ้น
ในการประชุมสภาประชาชนมณฑลกวางตุ้ง ชุดที่ 13 ครั้งที่ 30 ที่จัดขึ้นที่นครกว่างโจว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นายหลู่ ซิวลู่ อธิบดีกรมสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ มณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งมีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน โดยเมื่อปี 2563 มณฑลกวางตุ้งมีดัชนีคุณภาพอากาศ[4] (Air Quality Index : AQI) เฉลี่ยทั้งปีเท่ากับ 95.50 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลาง[5] และมณฑลกวางตุ้งมีปริมาณเฉลี่ยรายปี (year mean) ของฝุ่น PM2.5 เท่ากับ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นับเป็นครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้งมีปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยรายปีต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร[6] ในระดับ interim targets (IT-2) นอกจากนี้ ปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยรายปีของ นครกว่างโจว เมืองฝอซาน เมืองตงก่วน เมืองจ้าวชิ่ง เมืองเฉาโจว และเมืองเจียหยางอยู่ที่ 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่าร้อยละ 33.3 เมื่อเทียบกับปี 2558 นอกจากนี้ นายหลู่ฯ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ มณฑลกวางตุ้งได้ส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานใหม่ซึ่งปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งมีรถยนต์พลังงานใหม่วิ่งอยู่บนท้องถนนมากกว่า 650,000 คัน ยิ่งไปกว่านั้น มณฑลกวางตุ้งยังอัตราจำนวนรถโดยสารประจำทางสาธารณะพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 97.5% และเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงร้อยละ 100
ข้อมูลสถิติจากกรมสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมณฑลกวางตุ้ง (Department of Ecology and Environment of Guangdong Province) ระบุว่า ปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่มีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อปี 2562 ปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ที่มีสาเหตุมาจากรถยนต์มีปริมาณ 416,600 ตัน ลดลงกว่าร้อยละ 13.62 และเมื่อเทียบกับปี 2555 นอกจากนี้ เมื่อปี 2562 ปริมาณฝุ่นควันที่เกิดจากรถยนต์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ PM10 มีปริมาณ 5,200 ตัน ลดลงร้อยละ 89.12 เมื่อเทียบกับปี 2555
การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของมณฑลกวางตุ้งที่เริ่มต้นจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน มาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนในปัจจุบัน ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าพัฒนาการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งมีทั้งรูปแบบของการสนับสนุนด้านนโยบายและด้านการเงินให้กับภาคเอกชนทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม กอปรกับความกระตือรือร้นของภาคเอกชนในพื้นที่ทั้งบริษัทขนาดใหญ่อย่าง BYD และ GAC และบริษัทขนาดเล็กที่มีนวัตกรรมขั้นสูงอย่าง Xpeng จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจที่จะใช้รถยนต์พลังงานใหม่ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ด้วยกำลังจากทุกภาคส่วนจึงกลายเป็นฟันเฟืองที่สนับสนุนกันและกัน ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของมณฑลกวางตุ้งสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นฮับการผลิตรถไฟฟ้า 100% ในปี 2578 สามารถเรียนรู้แนวทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ (ecosystem) ของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งถึงแม้รูปแบบการเมืองการปกครองและสถานะทางเศรษฐกิจของไทยมีความแตกต่างกับจีน แต่การกระชับความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพื้นฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่มีอยู่เดิมจะสามารถทำให้ไทยก้าวพ้นอุปสรรคและเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ต่อไปได้
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
26 กรกฎาคม 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1690244918573363048&wfr=spider&for=pc
https://www.scmp.com/business/china-business/article/3120229/chinas-nev-market-top-five-cities-highest-sales-new-energy
https://www.sohu.com/a/466418884_120330873
https://www.statista.com/statistics/1035806/china-public-electric-vehicle-charging-station-number-by-leading-region/
https://www.statista.com/statistics/1035826/china-guangdong-public-electric-vehicle-charging-station-number-by-type/
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1697088786932329027&wfr=spider&for=pc
https://news.dayoo.com/gzrbrmt/202006/10/158535_53384660.htm (จำนวนรถยนตพลังงานใหม่)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1688105430725601012&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1701605279880578681&wfr=spider&for=pc
https://www.sohu.com/a/450801920_120868906 https://www.sohu.com/a/443500231_100091550
https://ir.xiaopeng.com/news/news-details/2021/XPeng-Reports-Fourth-Quarter-and-Fiscal-Year-2020-Unaudited-Financial-Results/default.aspx
https://s25.q4cdn.com/337316314/files/doc_financials/2021/q1/XPeng-Reports-First-Quarter-2021-Unaudited-Financial-Results.pdf
https://www.sohu.com/a/466395545_100252925
https://www.statista.com/statistics/1035826/china-guangdong-public-electric-vehicle-charging-station-number-by-type/
https://energydigital.com/smart-energy/china-leads-charge-electric-vehicles-guangdong-province
http://stats.gd.gov.cn/attachment/0/414/414580/3232254.pdf
https://maps.s5p-pal.com/
https://www.esa.int/Applications/Observing_the_Earth/Copernicus/Sentinel-5P/COVID-19_nitrogen_dioxide_over_China
http://www.esa.int/ESA_Multimedia/Images/2021/03/Nitrogen_dioxide_concentrations
http://gdee.gd.gov.cn/tjxx3187/
จับตาแหล่งกำเนิดไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) คู่หู PM2.5 ในประเทศไทย
https://www.guangzhouinfo.cn/home/article/view/id/18973.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1697981930762148111&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1701879325461343013&wfr=spider&for=pc
http://gdee.gd.gov.cn/attachment/0/425/425244/3312335.pdf
http://gdee.gd.gov.cn/
https://dieselnet.com/standards/cn/ld.php
https://theicct.org/sites/default/files/publications/China-LDV-Stage-6_Policy-Update_ICCT_20032017_vF_corrected.pdf
https://chejiahao.autohome.com.cn/info/2415778/
[1] เมืองที่อยู่เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองจูไห่ เมืองตงก่วน เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน เมืองจ้าวชิ่ง และเมืองฮุ่ยโจว
[2] เมื่อปี 2560 เป็นที่จีนประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมายสำคัญ
[3] (1) Type 1 คือ รถยนต์ไม่เกิน 6 ที่นั่ง (รวมคนขับ) น้ำหนักไม่เกิน 2,500 กก. Type 2 คือ รถยนต์ขนาดเล็กกว่า 6 ที่นั่ง Class I มวลรถอ้างอิง (reference mass) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1305 กก. Class II มวลรถอ้างอิงตั้งแต่ 1305 กก. – 1760 กก. Class III: มวลรถอ้างอิงมากกว่า 1760 กก. (2) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO) ไฮโดรคาร์บอน (HC) นอน-มีเทนไฮโดรคาร์บอน (NMHC) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ไนตริกออกไซด์ (N2O) ฝุ่นละอองในอากาศ (PM) สารประกอบโพลีนิวเคลียสอะโรมาติกที่อยู่ในไอเสียที่จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ (PNa)
[4] ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) คือ รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศโดยดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่
ฝุ่น PM2.5 ฝุ่น PM10 ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
[5] ค่า AQI ได้แก่ 0 – 25 คุณภาพอากาศดีมาก 26 – 50 คุณภาพอากาศดี 51 – 100 ปานกลาง 101 – 200 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ 201 ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพ
[6] WHO กำหนดมาตรฐานเฉลี่ยรายปี 3 ระดับ ได้แก่ Interim Target (IT-1) 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³), IT-2 25 µg/m³ และ (IT-3) 15 µg/m³