ส่อง “บริษัทชั้นนำในภาคอุตสาหกรรมการผลิต” มณฑลกวางตุ้ง อนาคตที่ฝากไว้กับเทคโนโลยี และ R&D
8 Mar 2023เมื่อเดือนธันวาคม 2565 สมาคมอุตสาหกรรมการผลิตมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Manufacturing Association) และสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมธุรกิจจีน (China Business Industry Research Institute) จัดทำ “รายงานการวิจัย 500 อันดับแรกของวิสาหกิจในอุตสาหกรรมการผลิต มณฑลกวางตุ้ง ประจำปี 2565” ในรายงานดังกล่าวระบุว่า เมื่อปี 2565 วิสาหกิจในภาคการผลิต 500 อันดับแรกของมณฑลกวางตุ้งมีรายได้รวมกัน กว่า 5.53 ล้านล้านหยวน (~ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยคิดเป็นรายได้เฉลี่ยบริษัทละ 1.1 หมื่นล้านหยวน (~1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในจำนวนดังกล่าวมีบริษัทที่มีรายได้เกิน 1 แสนล้านหยวน (~ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จำนวน 12 แห่ง โดยตัวเลขเหล่านี้ มาจากอุตสาหกรรมแบบใดบ้างและมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ BIC จะขอมาแบ่งปันข้อมูลและแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งในแต่ละด้านเพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนในการทำธุรกิจในมณฑลกวางตุ้งเข้าใจและมองเห็นภาพรวมของสถานะของภาคอุตสาหกรรมของมณฑลกวางตุ้งมากขึ้น
เมืองในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงครองแชมป์ศูนย์กลางการผลิต
เมืองในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงเป็นกลุ่มเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน จนได้รับฉายาว่า “โรงงานของโลก” จากรายงานข่าวข้างต้น วิสาหกิจ
ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีรายได้มากที่สุด 500 อันดับแรกของมณฑลกวางตุ้งมีสำนักงานใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่บริเวณเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงจำนวนกว่า 387 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.4 ของจำนวนบริษัทที่ติดติดอันดับทั้งหมด โดยเมืองที่เป็นที่ตั้งของวิสาหกิจในภาคการผลิตมากที่สุด ได้แก่ เมืองฝอซาน 90 บริษัท เมืองจูไห่ 79 บริษัท นครกว่างโจว 75 บริษัท เมืองตงก่วน 72 บริษัท และเมืองเซินเจิ้น 71 บริษัท โดยกลุ่มเมืองฮุ่ยโจว เมืองจงซาน และเมืองเจียงเหมินมีบริษัทที่ได้รับเลือกรวม 78 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 15.6 ขณะที่กลุ่มเมืองชิงหย่วน เมืองเจ้าชิ่ง เมืองซ่านโถว และเมืองเม่าหมิง มีจำนวนบริษัทที่ได้รับเลือกรวมทั้งสิ้น 35 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนบริษัทที่ติดติดอันดับทั้งหมด
รายได้ภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโต
รายงานดังกล่าว ระบุด้วยว่า จำนวนบริษัทที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูงมีแนวโน้มติดอันดับฯ เพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 – 5,000 ล้านหยวน (~ 140 – 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีสัดส่วนมากที่สุดและรายได้ต่อปีสูงสุดอยู่ที่ 7 แสนล้านหยวน (~ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่รายได้ที่ต่ำที่สุดอยู่ที่ 1,000 ล้านหยวน (~ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ในด้านการเติบโตของรายได้พบว่า ในจำนวนบริษัทที่ติดอันดับทั้งหมด มีบริษัทจำนวน 432 แห่งที่มีรายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564
ในด้านความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิต พบว่าในจำนวนบริษัทในภาคการผลิตที่ติดอันดับ 500 บริษัทที่มีรายได้มากที่สุดประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุม 25 อุตสาหกรรมการผลิตหลักของจีนจากทั้งหมด 31 สาขาอุตสาหกรรม จึงสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งไม่เพียงแต่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง แต่ยังมีความหลากหลายด้านสาขาอุตสาหกรรมและมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ตลอดจนมีมาตรฐานการพัฒนาโดยรวมที่สูงอีกด้วย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีรายได้บริษัทเฉลี่ยสูงกว่า 1 หมื่นล้านหยวน (~ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบด้วย 7 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิตยา อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือมาตรวัด
ยืนหยัดบนเวทีโลก
ในการจัดอันดับ Fortune Global 500 หรือการจัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 500 อันดับซึ่งเผยแพร่ ในเดือนสิงหาคม 2565 นั้น มีบริษัทจีนติดอันดับทั้งสิ้นกว่า 145 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก (ประเทศไทยติดอันดับเพียงบริษัทเดียวคือ ปตท.) โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อวิสาหกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิต 500 อันดับแรกของมณฑลกวางตุ้งประจำปี 2565 ทั้งสิ้น 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท Amer International Group (อันดับที่ 76) บริษัท Huawei (อันดับที่ 96) บริษัท GAC Group (อันดับที่ 186) บริษัท Midea Group (อันดับที่ 245) บริษัท BYD (อันดับที่ 436) บริษัท Guangzhou Pharmaceutical (อันดับที่ 467) และ บริษัท Gree Electric (อันดับที่ 487) โดยบริษัท BYD Group ติดอันดับเป็นปีแรกในจำนวนบริษัทดังกล่าว บริษัท Midea Group ไต่อันดับสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 43 อันดับ และบริษัท Guangzhou Pharmaceutical และ Gree Electric ต่างปรับอันดับขึ้นเพียงเล็กน้อย
รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วิสาหกิจด้านการผลิตของมณฑลกวางตุ้งต่างกำลังยกระดับการนำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศมากขึ้น อันเห็นได้จากจำนวนบริษัทที่มีรายได้จากการส่งออก (380 แห่งจาก 500 แห่ง) โดยมีรายได้จากการส่งออกรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.41 แสนล้านหยวน (~ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทที่ติดอันดับ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทที่มีรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ของบริษัทมีจำนวนกว่า 109 บริษัท
ก้าวไกลด้วยการวิจัยและพัฒนา
ในปี 2565 บริษัทผู้ผลิตในมณฑลกวางตุ้งมีแนวโน้มลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) สูงขึ้น ซึ่งทำให้ปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งครองตำแหน่งมณฑลที่มีการลงทุน R&D มากเป็นอันดับ 1 ของจีน และมีจำนวนสิทธิบัตรมากที่สุดในจีนอีกด้วย โดยจำนวนบริษัทในภาคการผลิตที่ติดอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งในมณฑลกวางตุ้งมีบริษัทที่ลงทุนในด้าน R&D มากถึง 483 แห่ง เพิ่มขึ้น 34 แห่งเมื่อเทียบกับปี 2564
นอกจากนี้ ในจำนวนบริษัท 500 แห่ง มีบริษัทที่จดสิทธิบัตรของตนเองกว่า 466 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 93.2 ของบริษัททั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 4.8 จุดเมื่อเทียบกับปี 2564 ในจำนวนดังกล่าว เป็นบริษัทที่มีสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Patent) 434 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 86.8 ของบริษัททั้งหมด เพิ่มขึ้น 5 จุดจากปี 2564 โดยบริษัทที่ครอบครองสิทธิบัตรมากที่สุด 10 อันดับแรกมีจำนวนสิทธิบัตรรวมกันทั้งสิ้น 196,971 รายการ คิดเป็นร้อยละ 62.9 ของจำนวนสิทธิบัตรทั้งหมด 312,995 รายการ ในจำนวนนี้เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 84,514 รายการโดยคิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนสิทธิบัตรทั้งหมดสูงขึ้น 3.5 จุดเมื่อเทียบกับปี 2564มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มี GDP มากที่สุดในจีนติดต่อกัน 33 ปี และมีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศมากที่สุดในจีนติดต่อกัน 36 ปี จนได้รับฉายาว่า “โรงงานของโลก” ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งมีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เศรษฐกิจในต่างประเทศชะลอตัว และปัจจัยภายใน อาทิ มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการหดตัวของภาคการค้าปลีกในจีน ทำให้ภาคการผลิตของมณฑลกวางตุ้งได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวเพื่อรักษาตำแหน่งโรงงานของโลกและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไปภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้ง โดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งมีนโยบายและเงินอุดหนุนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต ในด้านนโยบาย มณฑลกวางตุ้งมีเป้าหมายในการยกระดับระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้เป็นดิจิทัลกว่า 5,000 ราย และสนับสนุนให้ SMEs ภาคการผลิตหันมาใช้เทคโนโลยี Cloud จำนวน 1 แสนราย ภายในปี 2566 นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งยังมอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นระดับเมืองจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนแก่บริษัทที่ยกระดับการผลิตให้เป็นดิจิทัล และบริษัทที่ลงทุนด้าน R&D อีกด้วย อนึ่ง “ค่าแรงราคาถูก” อาจไม่ใช่อนาคตของอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้ง แต่ “เทคโนโลยี” และ “R&D” จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งยังสามารถแข่งขันในระดับสากล และรั้งตำแหน่ง “โรงงานของโลก” ต่อไปได้
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://news.ycwb.com/2022-12/29/content_41267734.htm
https://www.cnr.cn/gd/guangdonglueying/20221229/t20221229_526108092.shtml
https://fortune.com/2022/08/08/countries-with-one-company-fortune-global-500/
https://www.tsbtv.tv/xinwen/yaowentoutiao/2023-01-05/112636.html
https://www.nbd.com.cn/articles/2023-01-07/2624894.html