กวางตุ้งเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ประกาศ “แผนปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ” กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
19 Oct 2023
มณฑลกวางตุ้งถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีนมาเป็นเวลากว่า 34 ปี แต่ความท้าทายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งถึงแม้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 จะสิ้นสุดลงแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ภาคธุรกิจของมณฑลกวางตุ้งยังคงมีบาดแผลและอยู่ในช่วงฟื้นตัว ขณะที่การบริโภคของภาคประชาชนยังคงขยายตัวอย่างช้า ๆ
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจึงประกาศ “แผนปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระยะ 3 ปี (2566 – 2568)” โดยมีภารกิจในการยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือวิสาหกิจทั้งจากในจีนและต่างประเทศให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำของการดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของมณฑลกวางตุ้งภายใต้นโยบายการพัฒนาอย่างมีคุณภาพของจีน
แผนปรับสภาพฯ ครอบคลุมการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ 5 ด้าน ได้แก่
การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการจัดทำระบบตรวจสอบการแข่งขันทางการตลาด ไปพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือวิสาหกิจลดต้นทุนทางธุรกิจลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม อีกทั้งช่วยเหลือ SMEs โดยเปิดโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐและสร้างกลไกช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้ SMEs ที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น
Digital Government เพื่อวิสาหกิจ โดยจัดทำแพลตฟอร์มบริการออนไลน์แบบ One-Stop-Service โดยเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการแก่วิสาหกิจอย่างครอบคลุมรอบด้านได้อย่างสะดวก เช่น การจดทะเบียนการค้า การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ การขอติดตั้งสาธารณูปโภค เป็นต้น นอกจากนี้ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
กฎหมายที่เท่าเทียมและยุติธรรม ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สิน (property right) และทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property rights) ของวิสาหกิจ ยกระดับสภาพแวดล้อมของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจ เช่น (1) ศึกษาการบังคับใช้ “ระบบรอกำหนดโทษ” ในกรณีที่วิสากิจมิได้ผิดกฎหมายร้ายแรง โดยมีบทลงโทษที่ยืดหยุ่น เช่น การตักเตือน การอบรม หรือการพูดคุยกับผู้บริหาร เป็นต้น (2) การยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้เป็นออนไลน์ และ (3) ส่งเสริมการใช้อนุญาโตตุลาการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า เป็นต้น
“เปิดกว้าง” เพื่อความร่วมมือแบบ “win – win” โดยมุ่งเน้นการสร้างแพลตฟอร์มแบบ one-stop-service ที่อำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนจากต่างประเทศและวิสาหกิจจีนที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลของหน่วยงานและวิสาหกิจในห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์เพื่อยกระดับการให้บริการการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area) ยังส่งเสริมให้เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊าประสานกฎระเบียบและมาตรฐานด้านต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ การบริการทั่วไป การบัญชี การแพทย์ และด้านกฎหมาย รวมถึง ให้เมืองในเขตอ่าว GBA สามารถนำเข้าส่งออกวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาได้อย่างเสรี
“เมืองคู่พัฒนา” ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นการจัดตั้งกลไกจับคู่เมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงกับเมืองในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของมณฑลกวางตุ้งเพื่อช่วยเหลือเมืองในพื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจทัดเทียมกับกลุ่มเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง โดยเร่งปรับปรุงระบบการบริการของภาครัฐ อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของมณฑลกวางตุ้งมุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการดำเนินธุรกิจให้เป็นดิจิทัลซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจจนถึงการยกเลิกธุรกิจ โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการแบบ one-stop-service เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุนจากทั้งในจีนและต่างประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณนครกว่างโจวจะติดตามความคืบหน้าโครงการและนำมารายงานให้ผู้อ่านทราบในโอกาสต่อไป
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
19 ตุลาคม 2566
แหล่งที่มาข้อมูล
http://www.gd.gov.cn/zwgk/wjk/qbwj/yfb/content/post_4214225.html
https://www.cnbayarea.org.cn/news/focus/content/post_1081453.html
http://paper.people.com.cn/zgcsb/html/2022-10/31/content_25946388.htm