มณฑลกวางตุ้งกับการพัฒนาด้านนวัตกรรม มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของโลก
23 Feb 2019หนังสือพิมพ์ Nanfang Daily ฉบับวันที่ ๒๕ ธันวาคม 25๖๑ รายงานว่าสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนได้จัดอันดับให้มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมอันดับ ๑ ของจีน ติดต่อเป็นปีที่ ๒ พร้อมระบุเหตุผลว่า มณฑลกวางตุ้งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีแนวทางการพัฒนาที่เปิดกว้าง และระบบการค้าระหว่างประเทศมีความก้าวหน้า วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจวจะมาเล่าสู่กันฟังว่ามณฑลกวางตุ้งก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมของจีนได้อย่างไร
ภูมิหลังนโยบายที่สำคัญ
มณฑลกวางตุ้งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างจริงจัง นับตั้งแต่รัฐบาลกลางประกาศแผนพัฒนาอุตสาหกรรม Made In China 2025 เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ หลังจากนั้น มณฑลกวางตุ้งก็ตอบรับนโยบายดังกล่าว โดยประกาศ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ 2015-2025 เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มีแผนที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้ในปี ๒๕๖๘ เป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย ๖ โครงการสำคัญ ได้แก่ (๑) มีระบบการผลิตอัจฉริยะเป็นของตนเอง (๒) พัฒนาระบบและเครื่องมืออัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต (๓) ส่งเสริมนโยบายอินเทอร์เน็ต พลัส[1] (๔) ส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์
ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงหรือมีมาตรฐานด้านสุขอนามัยระดับสูง (๕) ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะภายในบ้าน และ (๖) จัดตั้งระบบสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ เช่น การก่อตั้งศูนย์การออกแบบอุตสาหกรรมระดับชาติและระดับมณฑล
นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 มณฑลกวางตุ้งได้ประกาศแผนส่งเสริมและขยายการลงทุนจากต่างประเทศ มีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก โดยมีมาตรการการผ่อนคลายระเบียบ ปรับปรุงตลาดให้มีความเสรีมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการจัดหาบุคลากรระดับสูง ส่งเสริมงานด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยกฏระเบียบด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังผ่อนคลายมาตรการการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติ อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในมณฑลกวางตุ้งสามารถถือครองหุ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ โดรน เครื่องบิน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ
จะทำได้หรือไม่: มั่นใจทำได้เพราะศูนย์กลางการบ่มเพาะนวัตกรรม
มณฑลกวางตุ้งมีเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (The Pearl River Delta; PRD) เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อปี 2560 เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงมีมูลค่า GDP 7.5 ล้านล้านหยวน (1.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 84.4 ของมูลค่า GDP ทั้งหมดของมณฑลกวางตุ้ง เมื่อปี 2561 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และข้อมูลทะลุ 1 ล้านล้านหยวน (148,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)นอกจากนี้ ดัชนีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ อินเทอร์เน็ต และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของจีน มณฑลกวางตุ้งมีเมืองที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม ได้แก่
- เมืองเซินเจิ้น “แหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีระดับสูงที่สำคัญของจีน” เป็นแหล่งเทคโนโลยีระดับสูง การสร้างสรรค์วัสดุใหม่ และพลังงานใหม่ระดับโลก มีบริษัทด้านเทคโนโลยีกว่า 14,400 แห่ง (มากเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากปักกิ่ง) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสตาร์ตอัพยูนิคอน[2] สำคัญ 14 บริษัท เช่น บ. DJI (บริษัทผู้ผลิตโดรนที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 70 ทั่วโลก) และ บ. Ubtech (บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ระดับโลก) โดยมีบริษัทในเครือซีพีร่วมลงทุนในระดับ Series C[3] นอกจากนี้ เมืองเซินเจิ้นยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตเกมออนไลน์มากที่สุดในจีน ๔,๔๙๘ แห่ง
- นครกว่างโจว พื้นที่สำคัญที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) ได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายและเงินทุนจากรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนี้ นครกว่างโจวมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรม IAB ในพื้นที่ ให้มีมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2022 มีบริษัทด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นในสาขา IAB (information technology artificial intelligence biotechnology) ได้แก่ บ. GAG (บริษัทยานยนต์ที่นำเอาปัญญาประดิษฐ์เข้ามายกระดับประสิทธิภาพการขับขี่) บ. Medprin Regenerative Medical Technologies Co., Ltd. (บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำเทคโนโลยี 3D printing มาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์แห่งแรกของจีน) โดยนครกว่างโจวยังเป็นที่ตั้งของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ Tianhe-2 ที่เร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ Sunway TaihuLight ในเมืองอู๋ซีมณฑลเจียงซูและ IBM Summit
- เมืองฝอซาน เป็นพื้นที่สำคัญด้านเทคโนโลยีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟตกแต่งและอุปกรณ์ก่อสร้าง รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมให้เมืองฝอซานเป็นแหล่งห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2556 เมืองฝอซานเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของจีน ได้แก่ บ. Midea และ บ. Galanz นอกจากนี้ เมืองฝอซานได้ก่อสร้างโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงเมืองฝอซาน (Foshan High-Tech Industries Development Zone) มีขอบเขตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานใหม่ วัสดุและอุปกรณ์ขั้นสูง วัสดุใหม่รวมถึงยานยนต์
- เมืองตงก่วน เป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของจีน มีบริษัทผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง รวมถึง สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า กว่า 157,000 แห่ง เมื่อปี 2017 เมืองตงก่วนสามารถผลิตมือถือได้มากถึง 356 ล้านเครื่อง คิดเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของโลก ปัจจุบัน รัฐบาลตงก่วนมุ่งเน้นการส่งเสริมนวัตกรรมในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นระบบการผลิตอัจฉริยะ (smart manufacturing) เมื่อปี 2558 เมืองตงก่วนมีบริษัทที่ผลิตสินค้าด้วยระบบการผลิตอัจฉริยะกว่า 400 บริษัท และได้มีการยื่นขอดำเนินการเปลี่ยนแรงงานมนุษย์เป็นแรงงานหุ่นยนต์มากกว่า 831 โครงการ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 โครงการภายใน 5 ปี
- เมืองจงซาน เป็นฐานการผลิตหลอดไฟและโคมไฟที่สำคัญของจีน เมื่อปี 2561 มีมูลค่าการผลิต หลอดไฟ LED 68,790 ล้านหยวน (10,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 13.80 ของมูลค่าการผลิตหลอดไฟ LED ทั้งหมดของมณฑลกวางตุ้ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน รัฐบาลเมืองจงซานได้วางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้แก่เมืองจงซาน 3 ด้าน ได้แก่ ชีวภาพทางการแพทย์ นวัตกรรมสารกึ่งตัวนำ[4]แสง (สำหรับอุตสาหกรรมหลอดไฟ) และนวัตกรรมด้านข้อมูลไฟฟ้าระดับสูง เมื่อปี 2561 เมืองจงซานมีมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง 21,000 ล้านหยวน (3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 11.2 โดยมีจำนวนบริษัทด้านนวัตกรรมอยู่ในพื้นที่กว่า 1,700 แห่ง
- เมืองจูไห่ เป็นเมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานสะอาด เทคโนโลยีระดับสูงและอุตสาหกรรมบริการโดยมีรัฐบาลเมืองจูไห่ดำเนินนโยบายสนับสนุนและเข้าไปลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง กับบริษัทชั้นนำด้วยตัวเอง เช่น โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนากับ บ. Kingsoft บ. Actions Semiconductor และบ. Allwinner Technology มีบริษัทที่โดดเด่น ได้แก่ บ. Yuhua Polyester ผลิตเส้นใยโพลีเมอร์จากวัสดุเหลือจากการเก็บเกี่ยว บรรษัท Chimelong (สำนักงานใหญ่อยู่ที่นครกว่างโจว) ลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการขนาดใหญ่ในเมืองจูไห่หลายโครงการ เช่น Ocean Spring Resort และ Chimelong Ocean Kingdom Park
- เมืองเจียงเหมิน เป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ แหล่งพลังงานลมและพลังงานนิวเคลียร์ที่สำคัญของมณฑลกวางตุ้ง รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สนับสนุนให้บริษัทเทคโนโลยีระดับสูงในพื้นเร่งพัฒนานวัตกรรมของตนเองอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลท้องถิ่นมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงในพื้นที่ให้ถึง 1,000 แห่ง และวิสาหกิจด้านนวัตกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม 3,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2562
- เมืองจ้าวชิ่ง มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมชิ้นส่วนเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมบริการ เมืองจ้าวชิงมีเป้าหมายที่จะมีบริษัทเทคโนโลยีระดับสูง 1,000 แห่ง ภายในปี ค.ศ. 2020 และมีองค์กรวิจัยและพัฒนา 5 แห่ง บริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีระดับสูง 30 แห่ง ภายในปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้ เมืองจ้าวชิ่งยังเป็นพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง
- เมืองหุ้ยโจว เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งภาคการผลิตส่วนเกินจากเมืองเซินเจิ้น ได้แก่ อุตสาหกรรม IT ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนรถยนต์ จอโทรทัศน์ 4K และสมาร์ทโฟน เมืองหุ้ยโจวมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตวีดิทัศน์ความละเอียดสูง ส่งเสริมการพัฒนากระจก Asahi (กระจกความยืดหยุ่นสูงที่ใช้สำหรับสมาร์ทโฟนแบบพับได้) หลอดไฟ LED ภายในปีค.ศ. 2020 เมืองหุ้ยโจวมีเป้าหมายที่จะมีบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงในพื้นที่อย่างน้อย 1,200 แห่ง สร้างมูลค่าการผลิต 500,000 ล้านหยวน (ดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหมดของหุ้ยโจว นอกจากนี้ เมืองหุ้ยโจวยังผลักดันให้เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์รองรับ 5G และส่งเสริมการพัฒนาด้านอินเทอร์เน็ต Big Data ปัญญาประดิษฐ์และอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ
ความร่วมมือกับต่างประเทศ
มณฑลกวางตุ้งเป็นพื้นที่สำคัญของการลงทุนด้านนวัตกรรมระดับสูงจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2560 มณฑลกวางตุ้งมีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ด้านการถ่ายย้ายข้อมูล การบริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ จำนวน 1,615 โครงการ มูลค่า 4,890.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบริการ จำนวน 1,205 โครงการ มูลค่า 3831.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะครึ่งแรกของปี 2561 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการผลิตด้วยระบบอัจฉริยะกว่า 300,000 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 20 ในมูลค่าดังกล่าวประกอบด้วยมูลค่าการผลิตหุ่นยนต์และส่วนประกอบมูลค่ากว่า 60,000 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 20 ของการผลิตหุ่นยนต์ของจีน นอกจากนี้ จำนวนการผลิตหุ่นยนต์เพื่อการบริการกว่า 2 ล้านชุด คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีน นอกจากนี้
เมื่อปี 2561 อัตราการใช้เงินทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งขยายตัวร้อยละ 35.9 โดยในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขยายตัวสูงสุดร้อยละ 84.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ประกอบด้วยโครงการการลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจำนวน 166 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 116,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในอดีต ประเทศต่าง ๆ มีมุมมองต่อมณฑลกวางตุ้งหรือเมืองเซินเจิ้นว่าเป็นเมืองแห่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่การเชื่อมโยงกับความล้าหลังและไม่ทันสมัย แต่รู้หรือไม่ว่า มณฑลกวางตุ้งคือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนกว่า 30ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐที่สำคัญระดับโลกด้วยการใช้ “นวัตกรรม” ที่หลายประเทศต้องจับตามองแบบไม่กะพริบตา ทิศทางของการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว จะติดตามอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป
[1]Internet Plus (อินเทอร์เน็ต พลัส) คือ การใช้อินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการ ยกระดับ ปฏิรูปและพัฒนาการทำงาน
[2] สตาร์ตอัพยูนิคอน คือ ธุรกิจที่มีมูลค่าการระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
[3] การระดมเงินลงทุน Series C คือ การระดมทุนที่มีวงเงิน ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
[4] สารกึ่งตัวนำ คือ สารที่มีคุณสมบัติอยู่ระหว่างตัวนำและฉนวน เช่น ซิลิคอน เจอเมเนียม เทลลูเนียมเป็นต้น (สวทช. www.nstda.or.th )