มณฑลกวางตุ้งกับคลื่นแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตอนที่ 2 เทคโนโลยีการรับรู้ของปัญญาประดิษฐ์ กับ Internet of Things
29 Jan 2021สัปดาห์ที่แล้วเราได้พูดถึงพัฒนาการของคลื่นการพัฒนาลูกที่ 4 ของปัญญาประดิษฐ์กับรถยนต์ไร้คนขับกันไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจวจะขอพาทุกท่านย้อนไปทำความรู้จักกับคลื่นลูกที่ 3 ของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ นั้นคือ “เทคโนโลยีการรับรู้ของปัญญาประดิษฐ์ หรือ Perception AI” ที่ได้กลายเป็นหัวใจของ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันทรงพลังของจีน
ในอดีตเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ ล้วนเป็นเครื่องจักรที่หูหนวกและตาบอด แต่เทคโนโลยีการรับรู้ของปัญญาประดิษฐ์หรือ Perception AI ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นอัจฉริยะซึ่งสามารถสื่อสารกับผู้ใช้ได้อย่างง่ายดายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันทั้งที่เรารู้และไม่รู้ตัว เช่น เมื่อถ่ายรูปด้วยกล้องมือถือ ปัญญาประดิษฐ์จะจำแนกวัตถุและบุคคลในภาพเพื่อประมวลและเก็บข้อมูลเป็นหมวดหมู่ หรือเมื่อเราฟังเพลงปัญญาประดิษฐ์ก็จะทำความเข้าใจเนื้อเพลงและจดจำเพลงที่เราชอบฟังเพื่อนำข้อมูลไปประมวลและแนะนำเพลงที่เรามีแนวโน้มชื่นชอบ เป็นต้น ผู้อ่านรู้อีกหรือไม่ว่าศูนย์กลางของอุตสาหกรรม Internet of Things หรือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงรับคำสั่งเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้โดยใช้เสียงผ่านทางสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้นอยู่ที่ไหน วันนี้ศูนย์ BIC จะพาไปหาคำตอบกัน
Perception AI หัวใจของ Internet of Things
Internet of Things หรือ IoT คือ เทคโนโลยีที่เป็นการรวมกันของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับเทคโนโลยีการรับรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (Perception AI) โดยทำงานผ่านระบบ Cloud และอินเตอร์เน็ต กล่าวคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ธรรมดาที่มีหัวใจเป็นปัญญาประดิษฐ์โดยผู้ใช้สามารถสื่อสารหรือสั่งงานอุปกรณ์เหล่านั้นได้โดยใช้ข้อมูลจากระบบ Cloud ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต อาทิ การสั่งให้ลำโพง Xiao AI (ของ Xiaomi) ค้นหาและเล่นเพลงไทยให้ฟัง
ผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีว่า ปัจจุบัน ศูนย์กลางด้านซอฟต์แวร์ของโลกอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์สหรัฐอเมริกา แต่ผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า ศูนย์กลางฮาร์ดแวร์ของโลกอยู่ที่ “เมืองเซินเจิ้น” ซึ่งหาก Perception AI คือ หัวใจของอุปกรณ์ IoT ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ก็คือร่างกายซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะต่อสตาร์ตอัพที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการผลิตสินค้าอัจฉริยะเพื่อป้อนสู่ตลาดโลก เมืองเซินเจิ้นจึงกลายเป็นแม่เหล็กแรงดึงดูดสูงที่บริษัทสตาร์ตอัพและบริษัทเทคโนโลยีมากมายต้องเข้ามาใช้ประโยชน์
“ย่านหัวเฉียงเป่ย์” ร้านของเล่นที่สตาร์ตอัพใฝ่ฝัน
หากเปรียบสตาร์ตอัพเป็นเด็ก ย่านหัวเฉียงเป่ย์ก็คือร้านของเล่นที่เด็ก ๆ สามารถหยิบจับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ได้อย่างเสรี การเข้าถึงทรัพยากรโดยเฉพาะฮาร์ดแวร์สำหรับผลิตสินค้าตัวอย่างหรือแบบจำลอง (Prototype) เป็นข้อได้เปรียบในการพัฒนาสินค้านวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ เพราะเมื่อบริษัทผลิตแบบจำลองแล้วบริษัทก็สามารถนำสินค้าต้นแบบไปให้โรงงานหลายร้อยแห่งที่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้นผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว หนังสือ AI Super-power ของนาย Kai-fu Lee ได้ระบุถึงผู้ประกอบการด้านฮาร์ดแวร์ที่ใช้เวลาในการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ที่เมืองเซินเจิ้น กล่าวว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 1 เดือนหากดำเนินการผลิตทำใน Silicon Valley
ภาพบรรยากาศถนนคนเดินย่านหัวเฉียงเป่ย์
ย่านหัวเฉียงเป่ย์ (Huaqiangbei) ตั้งอยู่ในเขตฝูเถียน เมืองเซินเจิ้น โดยเป็นย่านที่จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนจนได้ชื่อว่าเป็น “Silicon Valley of Hardware” ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าชื่อนี้ไม่อาจได้มาเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน เพราะย่านหัวเฉียงเป่ย์จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท เช่น แผ่นวงจรพิมพ์ (printed circuit board) อุปกรณ์เซนเซอร์ (sensor) ไมโครโฟน กล้องขนาดเล็ก (miniature camera) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ แบบครบวงจร โดยมีร้านค้ารวมกว่า 38,000 ร้านซึ่งเปรียบเสมือนร้านของเล่นที่สตาร์ตอัพและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่อาจปฏิเสธได้
ส่องพัฒนาการ Internet of Things ของเมืองเซินเจิ้น
แท้จริงแล้ว อุตสาหกรรม IoT ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลทั้งไปเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น อุตสาหกรรมการผลิต เมืองอัจฉริยะ ระบบคมนาคม อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ การค้าปลีก และโลจิสติกส์ เป็นต้น สมาคมอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่งเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen Association of Internet of Things) สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยี เมืองเซินเจิ้น (Shenzhen Institute of Standards and Technology) และบริษัท Ulink Media ร่วมกันจัดทำรายงานการวิจัยตลาดของอุตสาหกรรม Internet of Things ในเมืองเซินเจิ้น ประจำปี ค.ศ. 2020 ระบุว่า ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด ร้อยละ 43.96 และเมืองอัจฉริยะ ร้อยละ 38.29 และระบบคมนาคมขนส่ง ร้อยละ 34.23
แหล่งที่มาของข้อมูล www.iotku.com
เซินเจิ้นกับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่โดดเด่น
เหตุใดอุตสาหกรรม IoT ของเมืองเซินเจิ้นจึงรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ดังที่ผู้เขียนได้กริ่นไปก่อนแล้วว่า IoT ทำงานด้วยปัญญาประดิษฐ์โดยดึงข้อมูลจากระบบ Cloud ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม IoT ของเมืองเซินเจิ้น นอกจากจะเกิดจากการเป็น “ศูนย์กลางฮาร์ดแวร์ของโลก” แล้วการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สมบูรณ์จึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้เมืองเซินเจิ้นกลายเป็นผู้นำด้าน IoT ของจีนได้ไม่ยาก
เมื่อปี 2563 เมืองเซินเจิ้นได้ติดตั้งสถานีฐาน 5G จำนวน 46,000 แห่ง และเมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองแรกของจีนที่มีสัญญาณ 5G ครอบคลุมทั้งหมด โดย 5G เป็นเทคโนโลยีสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้ามาตอบโจทย์ของการพัฒนา IoT ของโลกซึ่งสถาบันวิจัยด้านการตลาด International Data Corporation ประจำกรุงปักกิ่ง ระบุว่าเมื่อปี ค.ศ. 2020 อุตสาหกรรม IoT ของโลกมีมูลค่า 30,000 ล้านหยวน (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าในปี ค.ศ. 2024 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือประมาณ 65,000 ล้านหยวน (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
นอกจากนี้ เมืองเซินเจิ้นยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ 1 ในสมาชิก “BAT” บริษัทอินเตอร์เน็ตซูปเปอร์ฮีโร่ของจีนซึ่งประกอบด้วย บริษัท Baidu บริษัท Alibaba และบริษัท Tencent โดยบริษัท Tencent ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง เซินเจิ้นนอกจากจะให้บริการแอปพลิเคชัน WeChat และเกมชื่อดังของจีนแล้ว บริษัท Tencent ยังเป็นหัวหอกในด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และระบบ Cloud ของจีนอีกด้วย โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2563 บริษัท Tencent ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Tencent Lianlian และแพลตฟอร์ม IoT Explorer ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์หลากหลายจาก Tencent Cloud รวมถึง แอปพลิเคชันการบริการอื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม (ecosystem) สำหรับการพัฒนา IoT ให้แก่สตาร์ตอัพหรือบริษัทที่สนใจเข้าใช้บริการ
กล่าวได้ว่า เมืองเซินเจิ้นมี “ห่วงโซ่อุตสาหกรรม IoT” ที่สมบูรณ์ซึ่งประกอบด้วย (1) ศูนย์กลางฮาร์ดแวร์ระดับโลก (2) ความโดดเด่นด้านการผลิต (3) ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (4) โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพียบพร้อม เช่น ฐานสัญญาณ 5G และ ฐาน NB-IoT และ (5) อุปสงค์การใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่เติบโตสูงขึ้น ศูนย์ BIC จึงเชื่อว่า ในอนาคตการพัฒนาอุตสาหกรรม IoT ของเมืองเซินเจิ้นอาจกลายเป็นโมเดลของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าจับตามองสำหรับนานาประเทศ รวมถึงไทย โดยเมืองเซินเจิ้นเรียนรู้ที่จะใช้ความโดดเด่นด้านห่วงโซ่อุปทานดึงดูดบริษัทด้านนวัตกรรมให้เข้ามาจัดตั้งสำนักงาน ในขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นก็ทำหน้าที่เร่งสร้างสิ่งแวดล้อมด้านธุรกิจด้วยการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตของนวัตกรรม ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงไม่จำเป็นต้องถกเถียงว่า “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน” หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีกับนวัตกรรมสิ่งใดควรส่งเสริมเป็นอันดับแรก เพราะเมืองเซินเจิ้นแสดงให้เราเห็นแล้วว่าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานกับการส่งเสริมนวัตกรรมสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.qianzhan.com/analyst/detail/220/201221-fa563803.html
http://pg.jrj.com.cn/acc/Res/CN_RES/INDUS/2020/12/18/8c8cc58d-1db6-4e13-9258-3f69efd53ba0.pdf
http://www.caict.ac.cn/english/research/whitepapers/202012/t20201224_366787.html
http://www.caict.ac.cn/english/research/whitepapers/202012/t20201223_366678.html
https://static.nfapp.southcn.com/content/202101/25/c4678790.html?colID=39&firstColID=39&appversion=7210
http://www.gd.gov.cn/gkmlpt/content/3/3137/post_3137605.html#7
https://www.toutiao.com/i6912676275425460739/?tt_from=weixin&utm_campaign=client_share&wxshare_count=1×tamp=1611698059&app=news_article&utm_source=weixin&utm_medium=toutiao_ios&use_new_style=1&req_id=20210127055419010135149154091364E3&group_id=6912676275425460739
http://news.southcn.com/gd/content/2020-11/29/content_191775581.htm
https://pdf.dfcfw.com/pdf/H3_AP202101261454484424_1.pdf?1611689890000.pdf