มณฑลกวางตุ้งกับการเป็นผู้นำด้านพลังงานใหม่ของจีน ตอน “พลังงานไฮโดรเจน” อีกทางเลือกของอุตสาหกรรมยานยนต์
19 Feb 2021ในช่วงที่ผ่านมาเราคงได้ยินและคุ้นเคยกับพัฒนาการของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีนกันมาอย่างต่อเนื่องโดยมณฑลกวางตุ้งได้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของจีน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัท BYD ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบริษัท Tesla ยิ่งไปกว่านั้น เมืองเซินเจิ้นยังเป็นเมืองแรกของโลกที่มีรถบัสโดยสารสาธารณะเป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด แต่วันนี้เราขอพักเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไว้ก่อน และจะพาทุกท่านไปรู้จัก “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ซึ่งเป็นอีกทางเลือกของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในจีน รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคืออะไร รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะกลายเป็นคู่แข่งของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือไม่ และมณฑลกวางตุ้งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างไร ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจวจะพาทุกท่านไปร่วมหาคำตอบกัน
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคืออะไร
ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบว่า มณฑลกวางตุ้งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ศูนย์ BIC จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนกันก่อน รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่ได้จากการที่ไฮโดรเจน (H2) จากถังเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูงซึ่งทำปฎิกริยากับออกซิเจน (O) ในแผงเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Stack) แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าและกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ โดยไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและให้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนัก (power density) สูงสุดในบรรดาเชื้อเพลิงทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อเกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จะได้ผลผลิตเป็นเพียงน้ำ (H2O) และพลังงานความร้อนเท่านั้นโดยปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งเร่งผลักดันพลังงานไฮโดรเจน อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลจิสติกส์
รัฐบาลกลางจีนได้ดำเนินแผนผลักดัน “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” มาพร้อม ๆ กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยในแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนได้กำหนดให้แต่ละมณฑลมุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์พลังงานไฮโดรเจนสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นหลัก เช่น รถบรรทุกและขนส่งสินค้าระยะกลางและระยะไกล รวมถึงรสบัสโดยสาร เป็นต้น โดยการผลักดันดังกล่าวเป็นการพิจารณาจากความคุ้มค่าของอัตราการวิ่งของรถต่อการเติมพลังงานเนื่องจากไฮโดรเจนนอกจากจะน้ำหนักเบาแล้วยังสามารถให้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนัก (power density) สูงสุดในบรรดาเชื้อเพลิงทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งทำให้รถสามารถวิ่งได้ระยะทางที่ไกลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน นอกจากนี้ สหพันธ์พลังงานไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิงแห่งชาติจีน (China National Alliance of Hydrogen and Fuel Cell) คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จีนจะสามารถผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนกว่า 5.2 ล้านคันต่อปี ทำให้จีนต้องการพลังงานไฮโดรเจนสูงถึง 60 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 10 ล้านล้านหยวน (1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาด้านนโยบายไฮโดรเจนของมณฑลกวางตุ้งมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งและคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนประจำมณฑลกวางตุ้งได้ประกาศ “แผนการเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานใหม่ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) ส่งเสริมการพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (fuel cell vehicle : FCV) โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพื้นฐานและชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (2) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยมอบเงินอุดหนุนให้แก่โครงการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานไฮโดรเจน ส่งเสริมให้หน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนามีความร่วมมือกับบุคลากรที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ (3) ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ FCV ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เช่น รถบรรทุกขนส่งสินค้าและรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมณฑลกวางตุ้งจะงดออกใบอนุญาตสำหรับรถขนส่งสินค้าที่ใช้น้ำมันในเมือง 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area)[1] (4) เร่งส่งเสริมการก่อสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจำนวน 300 แห่งภายในปี 2565 รวมถึงมอบเงินอุดหนุนแก่ภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสถานีละ 1.5 – 5 ล้านหยวน (6.97 – 23.23 ล้านบาท) และไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
มณฑลกวางตุ้งก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานไฮโดรเจนของจีน
เมื่อเดือนมกราคม 2564 บริษัท TrendBank ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาในจีนได้จัดทำรายงานพัฒนาการของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในจีน โดยระบุว่า ปัจจุบัน จีนมีสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแล้ว 118 แห่ง โดยมณฑลกวางตุ้งมีสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 30 แห่ง มากที่สุดในจีน โดยเมื่อปี 2563 มณฑลกวางตุ้งสามารถติดตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น 13 แห่ง และอยู่ในระหว่างการติดตั้งอีกจำนวน 29 แห่ง นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 มณฑลอื่น ๆ ยังมีการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเมืองในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอันฮุย) ติดตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น 12 แห่ง มากเป็นอันดับที่ 2 และเขตความร่วมมือปักกิ่ง – เทียนจิน – เหอเป่ย์ (สงอัน) ติดตั้งเพิ่มขึ้น 9 แห่ง มากเป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมพลังงานไฮโดรเจนของรัฐบาลกวางตุ้งอยู่ภายใต้แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของรัฐบาลจีนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะติดตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 1,000 แห่งทั่วจีนเพื่อรองรับยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนกว่า 1 ล้านคันภายในปี 2573
นอกจากนี้ ในรายงานของ TrendBank ยังระบุด้วยว่า มณฑลกวางตุ้งมีบริษัทด้านพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 1,450 แห่ง มากที่สุดในจีน โดยมณฑลเจียงซูมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 851 แห่ง และมณฑลซานตงอันดับ 3 จำนวน 593 แห่ง และ TrendBank ตั้งข้อสังเกตว่า มณฑลที่มีการกระจุกตัวของบริษัทด้านพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น ภาคเอกชนในมณฑลมีความกระตือรือร้นในการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ และรัฐบาลท้องถิ่น มีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนซึ่งทำให้การพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากมณฑลกวางตุ้งจะมีสถานีเติมเชื้อเพลิงและบริษัทด้านไฮโดนเจนมากที่สุดในจีนแล้ว ผู้อ่านรู้อีกหรือไม่ว่า ปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งยังมีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนมากที่สุดในจีนอีกด้วย โดยมณฑลกวางตุ้งสามารถผลิตไฮโดรเจนได้มากถึง 6,740 ล้านลูกบาศก์นาโนเมตรต่อปี (Nm3/year) โดยเป็นไฮโดรเจนที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน (oil refining) การผลิตโพรพิลีนจากโพรเพน (propane dehydrogenation) การผลิตคอสติกโซดา (caustic soda) และการผลิตสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) ประมาณ 1,480 ล้านลูกบาศก์นาโนเมตรต่อปี (Nm3/year) ไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ (renewable energy) ประมาณ 1,210 ล้านลูกบาศก์นาโนเมตรต่อปี (Nm3/year) และไฮโดรเจน ที่ได้จากการผลิตโลหะ (metallurgical industry) ประมาณ 480 ล้านลูกบาศก์นาโนเมตรต่อปี (Nm3/year) ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งจากจำนวนสถานีเติมเชื้อเพลิง บริษัทด้านเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนแล้ว เราสามารถเห็นได้ว่า มณฑลกวางตุ้งได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานไฮโดรเจนของจีนซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen economy) ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนของมณฑลกวางตุ้งเอง
ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมามนุษย์ใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติไปอย่างมหาศาลเสมือนว่าพลังงานเหล่านี้จะไม่มีวันหมดไปจากโลก แต่มีการประเมินว่าพลังงานฟอสซิลที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะหมดไปในอีกเพียงไม่ถึง 40 ปีข้างหน้า ดังนั้น วิกฤตด้านพลังงานต่างเป็นโจทย์ที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเร่งแก้ไข และพลังงานสะอาดนั้นอาจเป็นหนทางเดียวที่เราต้องเลือกเดิน ในส่วนของไทย กระทรวงพลังงานได้ประกาศแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (2551 – 2565) โดยสนับสนุนให้ไทยพัฒนาพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 20.3 ของการใช้พลังงานทดแทนของไทยทั้งหมด รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานไฮโดรเจน ดังนั้น ในฐานะที่มณฑลกวางตุ้งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานไฮโดนเจนของจีน มณฑลกวางตุ้งจึงอาจเป็นพันธมิตรสำคัญที่ไทยสามารถมีความร่วมมือระหว่างกันในด้านการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสำหรับอนาคต และทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้
ในตอนต่อไป ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำนครกว่างโจวจะมาเล่าถึงพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ ที่มณฑลกวางตุ้งได้ขึ้นมาอยู่อันดับต้น ๆ ของการแข่งขันด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในจีน แต่จะเป็นพลังงานอะไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.yicaiglobal.com/news/guangdong-leads-china-in-embracing-green-hydrogen-with-most-refueling-stations-report-says
https://www.yicaiglobal.com/news/hyundai-to-build-guangzhou-fuel-cell-plant-
http://drc.gd.gov.cn/ywtz/content/post_3125347.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1690502928404442527&wfr=spider&for=pc
https://xueqiu.com/5924273180/147296654
https://www.sohu.com/a/397511683_131990
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1690502928404442527&wfr=spider&for=pc
http://www.gd.gov.cn/zwgk/zcjd/snzcsd/content/post_3097979.html
http://www.cnbayarea.org.cn/english/News/content/post_265251.html
https://www.argusmedia.com/en/news/2159613-chinas-guangdong-pushes-hydrogen-fuel-cell-vehicles
https://www.chinadaily.com.cn/a/202101/06/WS5ff51a99a31024ad0baa0c53.html
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER4/DRAWER013/GENERAL/DATA0000/00000011.PDF
[1] นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองตงก่วน เมืองจูไห่ เมืองเจียงเหมิน เมืองจงซาน เมืองจูไห่ และเมืองจ้าวชิ่ง