กรอบความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า กับเศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน
28 Apr 2021 รู้จัก GBA เข้าใจ Dual Circulation
เขตความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า” (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area) หรือ GBA ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 โดยคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีน โดยกรอบความร่วมมือ GBA เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุม 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ นครกว่างโจว (Guangzhou) เมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) เมืองจูไห่ (Zhuhai) เมืองฝอซาน (Foshan) เมืองฮุ่ยโจว (Huizhou) เมืองตงก่วน (Dongguan) เมืองจงซาน (Zhongshan) เมืองเจียงเหมิน (Jiangmen) เมืองจ้าวชิ่ง (Zhaoqing) กับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษ มาเก๊าซึ่งเดิมอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ปัจจุบัน GBA เป็นกลุ่มเมืองที่มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะ ด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ อุตสาหกรรมการผลิต และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มณฑลกวางตุ้งซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกันเป็นเวลา 32 ปี และเมื่อปี 2563 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดของจีนติดต่อกันเป็นเวลา 35 ปี โดยเขต GBA มีบทบาทสำคัญในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกจนได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 39.2 ของ GDP ของมณฑลกวางตุ้ง โดยตัวเลขมูลค่าการค้ากับต่างประเทศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศเป็นหลัก และในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสาเหตุทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก เศรษฐกิจชะลอตัว และก่อให้เกิดวิกฤติขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ กอปรกับสถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ยิ่งทำให้มณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะเมืองใน GBA ต้องฉุกคิดและหาหนทางที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนมากกว่าเดิม
GBA กับ “เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน” จากความท้าทายกลายเป็นโอกาส
เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน หรือ Dual Circulation ซึ่งรัฐบาลจีนได้เริ่มประกาศใช้เมื่อเดือนกรกรฎาคม 2563 ประกอบด้วย การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ (Internal Circulation) และการหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ (External Circulation) เป็นแนวทางภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่14 (ปี 2564 – 2568) โดยเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของ GBA ที่ต้องรักษาเสถียรภาพของการค้ากับต่างประเทศเอาไว้ ในขณะเดียกัน GBA จะต้องหันมามุ่งเน้นตลาดผู้บริโภคในจีน รวมถึงการพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีนเองมากขึ้นกว่าเดิม
เพื่อให้เศรษฐกิจของ GBA เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
ธุรกิจต้องปรับตัว โอกาสที่ต้องคว้า และความท้าทายที่ต้องเผชิญ
เมืองในมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ภายใต้กรอบ GBA เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้ามากมายที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก (export-oriented business model) “ภาคธุรกิจใน GBA จะปรับตัวอย่างไร” จึงน่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่ถูกถามมากที่สุดในเวลานี้
นาย Liu Sui ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Guangdong Xinbao Electrical Appliances และยังเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท KCB (บริษัทลูกของบริษัท Xinbao) โดยบริษัทดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อจำหน่ายในตลาดจีนให้สัมภาษณ์กับ SCMP ของฮ่องกงว่า ในอดีตบริษัท Xinbao มุ่งเน้นผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ และประเทศในเอเชียแปซิฟิกซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดจำหน่ายสินค้าทั้งหมดของบริษัท อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาดต่างประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 บริษัทจึงหันมาลงทุนอย่างหนักเพื่อพัฒนาสินค้าสำหรับตลาดภายในจีน และสังเกตว่าตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่กำลังเติบโตต่อเนื่อง
โดยคาดว่า ยอดจำหน่ายสินค้าในตลาดภายในจีนจะคิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท และหวังว่าภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ตลาดต่างประเทศจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้ บริษัท KCB ยังลงทุนกว่า 10 ล้านหยวน (1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อพัฒนาระบบ live-streaming โปรโมตสินค้า และใช้ big data ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในจีนเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทอีกด้วย โดยนาย Liu มองว่า ตลาดภายในจีนคือโอกาสที่ต้องไขว่คว้าไว้ แต่การปรับรูปแบบธุรกิจจากการเน้นการส่งออกมาเป็นธุรกิจที่เน้นตลาดภายในประเทศถือเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตของ GBA กำลังจะหายไป ดังนั้น วิสาหกิจใน GBA จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
รัฐบาลกวางตุ้งพยุงธุรกิจส่งออก เปิดทางเข้าสู่ตลาดภายในจีน
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้เล็งเห็นถึงโอกาสและความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกนโยบายที่ช่วยเหลือธุรกิจส่งออกสามารถทำตลาดสินค้าในจีนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดตัวโครงการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าของมณฑลกวางตุ้ง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานมณฑลกวางตุ้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ (1) การรักษาความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรม (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดภายในจีน และ (3) ส่งเสริมการรวมตัวของเมืองเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ต่อเนื่องมากขึ้น
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 กรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 หน่วยงานของมณฑลกวางตุ้งได้ร่วมกันประกาศ “นโยบายเปลี่ยนสินค้าส่งออกมาจำหน่ายในจีน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกให้สามารถจำหน่ายสินค้าในตลาดจีนได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้าน ได้แก่ (1) ช่วยเหลือธุรกิจปรับมาตรฐานสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดผู้บริโภคจีน เช่น การอนุญาตให้บริษัทที่ผลิตสินค้าส่งออกให้สามารถติดฉลากสินค้าภาษาจีนชั่วคราวเพื่อจำหน่ายในตลาดจีนได้และการย่นระยะเวลาการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (2) ส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เว็บไซต์จำหน่ายสินค้า แพลตฟอร์ม live-streaming และการจัดตั้งexperience store เป็นต้น (3) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตสินค้าและผู้จำหน่ายสินค้า เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ถนนคนเดิน ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตสินค้ากับห้างสรรพสินค้า เป็นต้น (4) สร้างสภาพแวดล้อมการจำหน่ายที่ดี เช่น อำนวยความสะดวกการยื่นข้อมูลภาษีออนไลน์และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงขยายเวลาการยื่นภาษี เป็นต้น (5) สนับสนุนการรับประกันทางการเงิน เช่น การประกันสินเชื่อการค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ให้แก่ธุรกิจส่งออกที่ต้องการจำหน่ายสินค้าในจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 กรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้งได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการสินค้ากวางตุ้งสู่ผู้บริโภคจีน” หรือ 粤贸全国 (Yùe Mào Qúan Gúo) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนผบริษัทในมณฑลกวางตุ้งขยายตลาดสินค้าภายในประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและชื่อเสียงของสินค้าที่ผลิตในมณฑลกวางตุ้ง ประกอบด้วยมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น งานแสดงสินค้า กิจกรรมส่งเสริมการขาย เป็นต้น (2) การส่งเสริมการขยายเครือข่ายการจำหน่ายสินค้า เช่น นครกว่างโจวกับเมืองเซินเจิ้นร่วมกันจัดตั้งศูนย์การบริโภคและการกระจายสินค้า การยกระดับคุณภาพสินค้า สร้างแพลตฟอร์มกระจายสินค้าครบวงจร จำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์และ live-streaming เป็นต้น (3) การส่งเสริมขีดความสามารถด้านดิจิทัล เช่น นำเทคโนโลยี Cloud Blockchain และ 5G มาใช้ยกระดับการบริการ ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น (4) การพัฒนาแบรนด์ท้องถิ่น เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นและ (5) การจัดตั้งกลไกสนับสนุน เช่น
กรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกลไกประสานงานสนับสนุนด้านการเงินและนโยบาย และจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการโครงการสินค้ากวางตุ้งสู่ผู้บริโภคจีน เป็นต้น
อนาคตของ GBA ภายใต้บริบทเศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน
ที่ผ่านมาเมือง GBA ในมณฑลกวางตุ้งมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนเศรษฐกิจกับต่างประเทศ (External Circulation) ทั้งในด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน และการที่ยังเป็นที่ตั้งของเขตทดลองการค้าเสรีมณฑลกวางตุ้ง (China (Guangdong) Pilot Free Trade Zone) 3 แห่ง ได้แก่ เขตการค้าเสรีหนานซา นครกว่างโจว (Nansha Area of Guangzhou) เขตการค้าเสรีเฉียนไห่ เมืองเซินเจิ้น (Qianhai & Shekou Area of Shenzhen) และเขตการค้าเสรีเหิงฉิน เมืองจูไห่ (Hengqin New Area of Zhuhai) เมื่อรวมเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า ก็คาดว่าจะยังคงสามารถขับเคลื่อนการหมุนเวียนเศรษฐกิจกับต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ถึงแม้ว่า มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นเมืองผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และธุรกิจส่งออกหลายรายอาจไม่คุ้นเคยกับตลาดภายในจีนมากนัก อย่างไรก็ดี ความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีการผลิต กอปรกับการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างแข็งขันจะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจในเมือง GBA ในมณฑลกวางตุ้งสามารถหันหัวเรือเพื่อนำสินค้ามุ่งหน้าไปสู่ตลาดผู้บริโภคภายในจีนได้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานจึงเป็นการช่วยการกระจายความเสี่ยง (risk diversification) ทางเศรษฐกิจ และช่วยให้กรอบ GBA สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อาเซียนซึ่งได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนแทนที่ยุโรป ได้เป็นสัญญาณที่น่าสนใจว่า เข็มทิศของการหมุนเวียนเศรษฐกิจกับต่างประเทศ หรือ External Circulation จะเบนเข้าอาเซียนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมถึงโอกาสของไทยที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC กับ GBA ด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.scio.gov.cn/xwfbh/gssxwfbh/xwfbh/guangdong/Document/1701302/1701302.htm
http://com.gd.gov.cn/hdjl/zcjd/content/post_3255272.html
http://com.gd.gov.cn/attachment/0/417/417003/3255192.pdf
https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3109801/how-chinas-factories-are-pivoting-export-oriented-business
https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3104316/chinas-new-economic-dual-circulation-strategy-may-not-just-be
http://com.gd.gov.cn/hdjl/zcjd/content/post_3131609.html
http://www.gdqy.gov.cn/qyswj/attachment/0/35/35326/1350608.pdf
http://www.cnbayarea.org.cn/english/News/content/post_272403.html
https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3110184/what-chinas-dual-circulation-economic-strategy-and-why-it
https://www.chinadailyhk.com/article/144097
http://www.cnbayarea.org.cn/english/News/content/post_272403.html
https://www.chinadailyhk.com/article/144097
http://www.cnbayarea.org.cn/english/Specials/content/post_316301.html