เซี่ยงไฮ้นำร่องระเบียบการจัดการขยะในจีน (ตอนที่ 3)
17 Oct 2019หลังจากที่ BIC ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับการจัดการขยะที่น่าสนใจของเซี่ยงไฮ้ไปแล้วถึง 2 ตอน หลายท่านคงจะอยากรู้กันด้วยว่าขยะที่เก็บได้ในแต่ละวัน ขนย้ายต่อไปที่ไหนและทำอย่างไรกันต่อไปบ้าง บทความนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวการเดินทางของขยะนั่นเอง โดยหากยังไม่ได้อ่านตอน 1 – 2 สามารถอ่านย้อนหลังกันก่อนได้ที่ เซี่ยงไฮ้นำร่องระเบียบการจัดการขยะในจีน (ตอนที่ 1) และ (ตอนที่ 2)
ขยะไปที่ไหน?
Shanghai Daily รายงานว่า เซี่ยงไฮ้มีสถิติการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของขยะตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปัจจุบัน ปีละร้อยละ 3 คิดเป็นเกือบ 7.5 ล้านตัน/ ต่อปี โดยปัจจุบันนครเซี่ยงไฮ้ต้องรับมือกับขยะกว่า 2 หมื่นตันในทุกวัน ทั้งจัดเก็บและขนย้ายสู่โรงงานกำจัดขยะต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป ทั้งนี้ โรงงานหลักที่ทำหน้าที่รองรับขยะแต่ละประเภทในนครเซี่ยงไฮ้ มีดังนี้
1. ศูนย์จัดการและขนย้ายขยะซวีผู่ (เขตซวีผู่): รับผิดชอบเก็บขยะจากหลายเขตในนครเซี่ยงไฮ้ อาทิ เขตซวีฮุ่ย เขตหวงผู่ เขตฉางหนิง และเขตหมินหาง เพื่อนำมาจำแนกประเภทและขนย้ายไปยังศูนย์จัดการขยะเหลากั่งต่อไป โดยแต่ละวันต้องจัดการกับขยะมากกว่า 5,800 ตัน
2. ศูนย์จัดการและขนย้ายขยะรีไซเคิล (เขตเจียติ้ง): เป็นศูนย์แรกในการคัดแยกขยะรีไซเคิลทุกประเภทในนครเซี่ยงไฮ้ สามารถรองรับขยะได้มากสุด 70 ตัน โดยแต่ละวันจะมีปริมาณขยะที่ 8 ตัน สำหรับศูนย์นี้จะแยกขยะรีไซเคิลออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ แก้ว โลหะ พลาสติก กระดาษ และเสื้อผ้า ก่อนจะขนย้ายไปตามองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำการนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป
3. ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเซี่ยงไฮ้ (เขตเจียติ้ง): เป็นศูนย์จัดการขยะอันตรายเกือบทั้งหมดในนครเซี่ยงไฮ้ ทั้งจากครัวเรือน ภาคธุรกิจ และโรงพยาบาล อาทิ แบตเตอรี่และกระป๋องสี ซึ่งรองรับขยะอันตรายเฉลี่ย 25,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ เมื่อเก็บขยะเข้ามาแล้วจะมีการขนย้ายขยะอันตรายไปตามโรงเผาขยะต่าง ๆ ที่ใกล้เคียง และบางส่วนที่ถูกขนย้ายไปยังศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเพื่อฝังกลบ
4. ศูนย์จัดการขยะจากครัว (เขตหมินหาง): ก่อตั้งเมื่อปี 2560 (2 ปี) จนถึงปัจจุบันได้จัดการขยะมาเกือบ 1 แสนตัน ระบบการจัดการขยะจากครัวของศูนย์แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ การคัดแยก การหมักทางชีวเคมี กระบวนการเชิงลึก การบำบัดน้ำเสีย และการบำบัดกลิ่น ซึ่งขยะจากครัวที่ผ่านกระบวนการแล้วจะช่วยลดมลพิษจากสิ่งแวดล้อมและใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินสำหรับเพาะปลูก
5. ศูนย์จัดการขยะมูลฝอย (เขตเหลากั่ง): ก่อตั้งเมื่อปี 2528 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีก่อนเปิดปฏิบัติการในปี 2532 ภายใต้พื้นที่ 29.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าเขตหวงผู่ในนครเซี่ยงไฮ้ทั้งเขต และจัดเป็นศูนย์การบำบัดขยะมูลฝอยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จนถึงปัจจุบันได้บำบัดขยะมาแล้วมากถึง 77 ล้านตัน โดยสามารถบำบัดได้ 14,000 ตันต่อวัน
นอกจากนี้ Shanghai Daily ยังได้นำเสนอว่าแนวคิดการก่อสร้างโรงแปรรูปพลังงานขยะใจกลางเมืองน่าจะเหมาะกับนครเซี่ยงไฮ้ โดยยกตัวอย่าง “Isséane” ซึ่งเป็นโรงงานเผาและแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ส่วนปฏิบัติการของโรงงานจะอยู่ใต้ดิน ซึ่งช่วยให้ลดมลพิษและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบมาก อีกทั้ง เทคโนโลยีการบำบัดก๊าซขั้นสูงที่ใช้ในโรงงาน ยังช่วยให้ควันที่ปล่อยออกมานั้นไม่เป็นมลพิษ และครึ่งหนึ่งของพลังงานจากการเผาขยะจะก่อกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ใด้ประมาณ 8 หมื่นครัวเรือนในกรุงปารีส โดยนอกจากกรุงปารีสแล้ว ยังมีโรงงานเผาขยะที่ผุดขึ้นมากมายในศูนย์กลางเมืองที่มีประชาชนหนาแน่นในแถบยุโรป แสดงให้เห็นว่าขยะไม่จำเป็นจะต้องถูกขนย้ายออกไปยังเขตชานเมืองเท่านั้น
นายไมค์ วู๊ด รองประธานบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจโซดาไฟและตราสารอนุพันธ์ในเครือ Solvay China (ให้บริการด้านวัสดุขั้นสูงและสารเคมี) ระบุว่า โมเดลแบบยุโรปที่ตั้งโรงงานเผาและแปรรูปขยะไว้กลางเมืองนั้นเหมาะกับประเทศจีน โดยเฉพาะกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ที่มีความต้องการการใช้พลังงานที่สูง อีกทั้งระบุว่าการเผาขยะไม่ควรสักแต่ว่าเผาเพื่อกำจัดทิ้งไป แต่ควรจะก่อให้เกิดพลังงานด้วย ทั้งนี้ การจำแนก และการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล นั้นจะเป็นแนวโน้มในการกำจัดขยะของจีน นอกจากนี้ คุณหวัง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจในเครือ Solvay China ระบุด้วยว่า เทคโนโลยี “การดักจับสารปรอทด้วยการฉีดวัสดุดูดซับ แบบระบบฉีดแห้ง” ที่กำหนดมาตรฐานอย่างเข้มงวดในการปล่อยมลพิษจากโรงงานเผาขยะ ได้ถูกนำเข้ามาใช้ในจีนแล้วเมื่อสี่ปีก่อน แต่หลัก ๆ แล้วจะถูกประยุกต์ใช้ในโรงงานด้านพลังงาน เคมี และโลหะ แต่ตั้งแต่ต้นปี 2019 จะเริ่มมาโฟกัสที่การบำบัดก๊าซจากการเผาขยะ เพราะความต้องการของโรงงานเผาขยะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับปัญหาขยะของเสียมากขึ้นนั่นเอง โดยปลายปีนี้ นครเซี่ยงไฮ้คาดว่าจะเปิดใช้โรงงานรีไซเคิลขยะแห่งใหม่ในเขตซงเจียงที่ลงทุนไปกว่าพันล้านหยวน (147 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) จำนวน 2 แห่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการรองรับขยะแห้งและแปรรูปเป็นพลังงานได้ถึงวันละ 2,000 ตัน
ความเปลี่ยนแปลงหลังจากเริ่มบังคับใช้ระเบียบฯ
หลังจากที่ระเบียบฯ ได้ถูกบังคับใช้แล้วอย่างจริงจังเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา BIC เองในฐานะผู้อยู่อาศัยในเซี่ยงไฮ้ ขอบอกว่าหากไม่ปรับตัวอาจจะโดนปรับแบบไม่รู้ตัว เพราะที่พักบางพื้นที่ได้เริ่มกำหนดเวลาในการทิ้งขยะในแต่ละวันและจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดทิ้งขยะเพื่อคอยแนะนำผู้ทิ้งขยะให้แยกและทิ้งขยะให้ถูกถัง โดยการทิ้งขยะเปียกรวมกับขยะแห้งหรือรีไซเคิล จะถูกปรับที่ 50-100 หยวน (เพิ่มขึ้น 100–200 หยวน ในกรณีทำซ้ำ) เช่นเดียวกับการทิ้งขยะอันตรายรวมกับขยะประเภทอื่น จะถูกปรับที่ 50-150 หยวน (เพิ่มขึ้น 200 หยวน ในกรณีทำซ้ำ) ดังนั้น การแยกขยะนั้นจำเป็นต้องแยกตั้งแต่ในบ้านก่อนนำลงมาทิ้งเลย อย่างเว็บไซต์ออนไลน์ก็ได้จัดจำหน่ายถังขยะแบบแยกประเภทแล้ว ซึ่งช่วยให้การแยกขยะในครัวเรือนนั้นง่ายขึ้นมากทีเดียว
สำหรับร้านอาหารและธุรกิจ Delivery ก็ต้องปรับตัวอย่างจริงจังเช่นกัน เพราะหากยังจัดเตรียมอุปรกรณ์ใช้แล้วทิ้งให้กับลูกค้าโดยยังไม่ได้มีการร้องขอ จะถูกตักเตือนและถูกปรับ 500 – 5000 หยวนในที่สุด อย่างแพลตฟอร์มบริการอาหารออนไลน์ “Ele.me” ของบริษัทอาลีบาบา ก็ได้ปรับตัวโดยการเพิ่ม Pop-up สอบถามลูกค้าว่าต้องการอุปกรณ์สำหรับทานอาหารไหม โดยหากไม่รับอุปกรณ์ก็จะได้แต้มสะสมเพื่อใช้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ในแอปพลิเคชัน Alipay (ใช้จ่ายเงินออนไลน์) ก็เป็นการดึงดูดลูกค้าอีกทางในการงดใช้อุปกรณ์นั่นเอง นอกจากนี้ ร้านค้าใน Ele.me เองก็เพิ่มหน้าต่างเพื่อให้ลูกค้าเลือกว่าจะเอาตะเกียบหรือไม่ตั้งแต่ขั้นตอนสั่งอาหารเลย หรือบางร้านก็ช่วยประชาสัมพันธ์ว่าระเบียบฯ ได้เริ่มบังคับใช้แล้ว โดยการตั้งราคาตะเกียบที่ 199 หยวนเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอ่านประกาศในคำบรรยายใต้ภาพ และเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าตะหนักว่าต่อไปจะไม่จัดอุปกรณ์ให้แล้วนะหากไม่ได้มีการร้องขอก่อน
หนึ่งสัปดาห์หลังจากประกาศบังคับใช้ระเบียบฯ โรงแรมจำนวน 80 แห่ง ได้ถูกตักเตือนเรื่องการจัดเตรียมอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้งในห้องน้ำภายในโรงแรม ซึ่งโรงแรมระดับชั้นนำก็โดนตักเตือนด้วยเช่นกัน อาทิ โรงแรม Ritz-Carlton/ โรงแรม Longemont Shanghai/ โรงแรม JW Marriott/ โรงแรม Regal International East Asia/ และโรงแรม Wyndham Grand Plaza Royale Oriental Shanghai ทั้งนี้ จะมีการสุ่มตรวจโรงแรมอื่นกว่า 7,000 แห่งต่อไปห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ห้างฯ ใจกลางเมืองในเขตจิ้งอัน “Crystal Galleria” ได้ถูกตักเตือนให้จัดถังขยะโดยแยกแต่ละประเภทและติดป้ายประกาศเรื่องการแยกขยะในบริเวณห้างฯ ตั้งแต่วันแรกที่ระเบียบบังคับใช้ ในขณะที่ห้างสรรพสินค้า IKEA สาขาเป่าซาน ก็ถูกตักเตือนเช่นกัน โดยล่าสุดได้ถูกปรับแล้ว 500 หยวนหลังจากไม่มีการปฏิบัติตามหลังถูกตักเตือน ทั้งนี้ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือในการจัดสรรถังขยะแต่ละประเภทเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ Family Mart ทุกสาขา ได้เปิดเพลง “垃圾分类” (แปลว่า การแยกขยะ) ตลอดทั้งวัน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทิ้งขยะหลังจากรับประทานอาหารกลางวัน อย่างเปลือกผลไม้จัดเป็นขยะเปียก กล่องข้าวจัดเป็นขยะแห้ง และกระดาษทิชชู่ พลาสติกหรือขวดแก้วจัดเป็นขยะรีไซเคิล โดยทิ้งท้ายว่าโลกสีเขียวขอขอบคุณท่าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าแยกขยะก่อนทิ้ง
เห็นได้ว่าทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกับระเบียบการจัดกาขยะนี้กันอย่างดี จะเหลือก็เพียงแต่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยและเคยชินสำหรับประชาชนในเซี่ยงไฮ้เพียงเท่านั้น โดยการแยกขยะนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ง่ายต่อการเก็บขยะ ตลอดจนกระบวนการกำจัดขยะให้มีความสะดวกมากขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรโดยสิ้นเปลืองอีกด้วยอย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองอาจจะมีการใช้ระเบียบนี้บ้างก็เป็นได้ในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงบางส่วนที่ BIC หยิบยกมาเล่าให้ฟังนี้อาจจะเป็นเสมือนภาพฉายซ้ำเพียงแต่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ดังนั้นเราจึงสามารถเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงนี้ไว้ได้แต่เนิ่น ๆ จากกรณีศึกษาของจีน หากมีการประกาศใช้ระเบียบจริง
จัดทำโดย: พรฤทัย ศักดิ์สกุลพรชัย/ ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Shanghai Daily และ Shine.cn คอลัมน์ Trash Talk
ภาพปกจาก: pixabay.com