“กวางตุ้ง” เจ้าแห่งอุตสาหกรรมเกมของโลก และโอกาสของไทยในอุตสาหกรรม E-Sports ของจีน ตอนที่ 1
7 Dec 2023ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้นที่เมืองหางโจวที่ผ่านมา กีฬา E-Sports (E-Sports) ถูกบรรจุ
ให้เป็นการแข่งขันชิงเหรียญรางวัลครั้งแรกในประวัติศาสตร์เอเชียนเกมส์ โดยเกมที่ถูกเลือกให้เป็นเกมสำหรับการแข่งขันหลายเกมมาจากบริษัทผู้ผลิตเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “Tencent” ที่มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซินเจิ้น วันนี้ศูนย์ BIC นครกว่างโจว จึงอยากพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจพัฒนาการของอุตสาหกรรมเกมของมณฑลกวางตุ้ง และมองหาโอกาสของไทยในอุตสาหกรรม E-Sports ของจีน
มณฑลกวางตุ้งผู้นำอุตสาหกรรมเกมของจีน
สมาคมอุตสาหกรรมเกม มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Entertainment & Game Industry Association: GEGIA) ได้จัดทำรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมอิเล็กทรอนิกส์ มณฑลกวางตุ้งประจำปี 2565 ระบุ มณฑลกวางตุ้งมีรายได้จากอุตสาหกรรมเกม 211,570 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 80 ของรายได้จากอุตสาหกรรมเกมทั้งหมดของจีน และคิดเป็นร้อยละ 24 หรือเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้จากธุรกิจเกมทั่วโลกในปี 2565
มณฑลกวางตุ้งมีรายได้จากอุตสาหกรรมเกมส์ของมณฑลกวางตุ้งทะลุ 100,000 ล้านหยวน (148,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 ต่อมาขยายตัวกว่าร้อยละ 30 จนเป็นศูนย์กลางการผลิตเกมส์ของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกเมื่อปี 2559 และมีรายได้คิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้จากอุตสาหกรรมเกมโลกทั่วโลกในปี 2560 โดยมณฑลกวางตุ้งยังคงมีสัดส่วนของรายได้มากเป็นอันดับที่ 1 ของจีนต่อเนื่องนับจนถึงปัจจุบัน
ผู้เล่นสำคัญระดับโลก
มณฑลกวางตุ้งมีจำนวนธุรกิจเกมมากกว่า 10,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.1 ของจำนวนบริษัทเกมทั้งหมดของจีนมากเป็นอันดับหนึ่งของจีน ในจำนวนนี้บริษัทเกมที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านหยวน มีมากถึง 28 ราย[1] โดยบริษัทเกมสำคัญของมณฑลกวางตุ้ง อาทิ
บริษัท Tencent มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น พัฒนาเกมของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2546 รวมถึงเข้าไปลงทุนและเข้าซื้อบริษัทเกมต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันTencent กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของจีนและของโลกในแง่ของรายได้[2] ล่าสุดในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เกมจากบริษัท Tencent ได้รับเลือกให้เป็นเกมสำหรับการแข่งขันจำนวน 4 เกม ได้แก่ เกม AoV (Asian Games Version) เกม PUBG (Asian Games Version) เกม League of Legends และเกม EA Sports FC Online จากทั้งหมด 7 เกมที่ได้รับการคัดเลือก
ช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566 Tencent มีรายได้จากเกม 46,000 ล้านหยวน (6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ในจำนวนดังกล่าว เป็นเกมในต่างประเทศ 13,300 ล้านหยวน (1,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 7[3] ขณะที่รายได้จากเกมในจีน 32,700 ล้านหยวน (4,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 5[4]
บริษัท NetEase มีสำนักงานใหญ่ที่นครกว่างโจว พัฒนาเกมของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นบริษัทเกมที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจีน และอันดับที่ 5 ของโลกในแง่ของรายได้ (รองจาก Sony Apple และ Microsoft) โดย NetEase มีความร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมบันเทิงสำคัญระดับโลก เช่น บริษัท Warner Bros (สหรัฐฯ) และบริษัท Mojang AB (บริษัทลูกของ Microsoft) เพื่อผลิตเกม โดยมีเกมที่ได้รับความนิยม เช่น เกม Knives Out เกม Harry Potter: Magic Awakened และ เกม Naraka: Bladepoint นอกจากนี้ NetEase ยังมีสตูดิโอที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่น แคนาดา อังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เมื่อสามไตรมาสแรกของปี 2566 มีรายได้จากเกม 21,800 ล้านหยวน (3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
ในแผนภูมิรายได้จากอุตสาหกรรมเกมของมณฑลกวางตุ้งข้างต้น ผู้อ่านน่าจะสังเกตได้ว่า อัตราการเติบโตของรายได้ของอุตสาหกรรมเกมของมณฑลกวางตุ้งเริ่มลดลงนับตั้งแต่ปี 2564 และติดลบในปี 2565 ในตอนต่อไป ศูนย์ BIC กว่างโจว จะพาผู้อ่านไปไขคำตอบว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมเกมของมณฑลกวางตุ้งหดตัว และรัฐบาลมีส่วนช่วยอุตสาหกรรมเกมอย่างไร รวมถึงไปส่องโอกาสของไทยในอุตสาหกรรม E-Sports อันยิ่งใหญ่ของจีนด้วย โปรดติดตามตอนต่อไป
——————————————-
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
[1] บริษัทเกมที่มีรายได้ 500 – 2,000 ล้านหยวน 15 ราย 2,000 – 10,000 ล้านหยวน 10 ราย และมากกว่า 10,000 ล้านหยวน 3 ราย
[2] Tencent กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของจีนในแง่ของจำนวนผู้เล่นและรายได้ ขณะที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของโลกในแง่ของรายได้
[3] รายได้เพิ่มขึ้นจากเกม PUBG Mobile เกม Goddess of Victory และ เกม Triple Match 3D
[4] รายได้หลักมาจากเกม Lost Ark และ เกม VALORANT และรายได้เพิ่มขึ้นจากเกม Honour of Kings และ เกม DnF.