เซี่ยงไฮ้และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเดินหน้าผลักดันการเป็นศูนย์กลาง E-Sports ในจีน
14 Feb 2019ในการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองนครเซี่ยงไฮ้ครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นใหม่ที่มีการหยิบยกหารือกันในที่ประชุมก็ได้แก่เรื่องการส่งเสริม E-Sports ซึ่งถ้าเรียกภาษาชาวบ้านก็คือการแข่งขันเล่นวิดิโอเกมนั่นเอง ทำให้ E-Sports กลายเป็นจุดสนใจของสาธารณชนในฐานะเครื่องยนต์ใหม่สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในเขตสามเหลี่ยมปากแมน้ำแยงซี
สำหรับหลายๆ คน วิดิโอเกมหรือ E-Sports นี้อาจจะเป็นเพียงของเล่นสำหรับเด็กจนถึงวัยรุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิคสากลได้ยอมรับให้ E-Sports เป็นกิจกรรมกีฬาตั้งแต่ปี 2560 และในการแข่งขันเอเซียนเกมส์ปี 2565 ที่นครหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง ก็จะมี E-Sports เป็นหนึ่งในประเภทกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันด้วย และทุกวันนี้จีนมีตลาด E-Sports ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 350 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งของตลาด E-Sports ของทั้งโลกทีเดียว
เซี่ยงไฮ้เองซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งในจีนนั้น ที่ผ่านมาก็หันมาให้ความสำคัญกับ E-Sports ทั้งในฐานะอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรม โดยตั้งเป้าจะส่งเสริมให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลาง E-Sports ของจีนอย่างเต็มตัว ซึ่งทุกวันนี้ กว่าร้อยละ 40 ของการแข่งขัน E-Sports ในจีนก็จัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้อยู่แล้ว และล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขตจิ้งอันที่อยู่ในศูนย์กลางนครเซี่ยงไฮ้ก็ได้ออกมาประกาศแผนการที่จะมีสถานที่แข่งขัน E-Sports ใหม่อีก 30 แห่ง
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งเซี่ยงไฮ้และสถานบันการศึกษาอื่นๆ ก็ได้เปิดการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ E-Sports ในปี 2561 มีนักศึกษา 21 คนเข้าเรียนในสาขาวิชาเอกด้านการพากย์กีฬา E-Sports ซึ่งนักศึกษาจะต้องเรียนรู้พื้นฐานด้านกีฬาและการพากย์กีฬาในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นจึงเรียนเกี่ยวกับเทคนิคการเล่มเกมในช่วง 2 ปีหลังของหลักสูตร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ออกมาให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าวิชาเอกด้าน E-Sports นี้ มิได้มุ่งจะผลิตนักเล่นเกม แต่จะมุ่งผลิตบุคลากรมืออาชีพสำหรับอุตสาหกรรมนี้ต่างหาก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามองว่าปัญหาหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรม E-Sports ในจีนและเซี่ยงไฮ้ ก็ได้แก่เรื่องบุคลากร นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องของกฎระเบียบการแข่งขันที่แตกต่างกันออกไป ตลอดจนการขาดองค์กรกลางที่คอยดูแลและประสานงาน รวมทั้งยังขาดการยอมรับทางสังคมอีกด้วย โดยในการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองนครเซี่ยงไฮ้ที่ผ่านมาก็ได้มีการเสนอว่าควรจะต้องเร่งพัฒนาการศึกษาด้าน E-Sports ก่อนหน้าตัวอุตสาหกรรมนี้เองด้วยซ้ำ เพื่อสร้างมาตรฐานและระบบที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม โดยนอกจากสร้างสถานที่จัดการแข่งขันใหม่ ๆ และจัดการแข่งขันระดับนานาชาติแล้ว ก็ต้องเร่งบ่มเพาะบุคลากรและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่สาธารณชน โดยบรรดาเยาวชนที่สนใจการเล่มเกมก็ไม่ควรจะถูกผู้ใหญ่ต่อต้าน เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้อาจจะมีศักยภาพต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม E-Sports ได้หากได้รับการศึกษาและชี้แนะที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่หลายกรณีที่บรรดาเกมเมอร์มือฉมังได้พัฒนาศักยภาพเชิงนวัตกรรมจนสามารถประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสมาคม E-Sports เซี่ยงไฮ้ก็ให้ความเห็นว่าอุตสาหกรรม E-Sports ต้องการบุคลากรที่มีความรู้เรื่องเกม ในขณะเดียวกันก็มีทักษะด้านการตลาดและการบริหาร นอกจากนี้ยังควรมีกฎกติกาและมาตรฐานเดียวกันสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสมาคม E-Sports ในระดับชาติในจีน หรือสมาคม E-Sports ระดับนานาชาติอย่าง FIFA แต่อย่างใด นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังถูกมองว่าขาดแคลนการพัฒนาเกมของตัวเองขึ้น ซึ่งทำให้เสียโอกาสที่จะส่งเสริมมิติด้านวัฒนธรรมของเซี่ยงไฮ้และของจีนลงไปได้อย่างน่าเสียดาย
นอกเหนือจากความพยายามผลักดันอุตสาหกรรม E-Sports ในเซี่ยงไฮ้เองแล้ว ยังมีความพยายามที่จะจับมือกับเมืองอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อผลักดันให้พื้นที่เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรมในด้าน E-Sports อีกด้วย โดยในที่ประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรม E-Sports เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยถงจี้ของเซี่ยงไฮ้ ทางเขตหยางผู่ของนครเซี่ยงไฮ้ ได้ร่วมมือกับนครหนานจิงในมณฑลเจียงซู และนครหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง ริเริ่มศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมการศึกษา E-Sports ขึ้น
ศูนย์ดังกล่าวนี้จะมุ่งเน้นการฝึกอบรมและการศึกษาสายวิชาชีพสำหรับเกมเมอร์มืออาชีพในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี โดยจะมีการผลิตตำราเรียนสำหรับการศึกษาด้าน E-Sports ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีจากนี้ รวมทั้งยังจะมีการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมและห้องทดลองทาง E-Sports ขึ้นตามที่ต่าง ๆ ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี โดยเขตหยางผู่ ซึ่งวางเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์ด้าน E-Sports ระดับโลก มีแผนจะปรับปรุงอาคารโรงงานเก่าหลายแห่งให้เป็นสถานที่แข่งขัน E-Sports โดยโครงการล่าสุดได้แก่ศูนย์การแข่งขัน E-Sports มืออาชีพที่สามารถจุผู้ชมได้ 900 คน ซึ่งพัฒนาขึ้นจากอดีตโรงงานเหล็กกล้าของเซี่ยงไฮ้ และมีแผนจะเปิดให้บริการแก่สาธารณชนในช่วงต้นปี 2562 นี้
แม้ว่าการพัฒนา E-Sports ในเซี่ยงไฮ้และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีจะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่การติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในจีน เรียกได้ว่าต้องห้ามกระพริบตา เพราะมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างตั้งตัวไม่ติดก็ว่าได้ ซึ่งอุตสาหกรรม E-Sports ในจีน โดยเฉพาะในเซี่ยงไฮ้และพื้นที่ใกล้เคียงนี้ก็คงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ว่าจะสร้างโอกาสหรือความท้าทายกับบรรดาเกมเมอร์ และผู้เกี่ยวข้องในวงการผลิตและออกแบบเกมในต่างประเทศอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือเกมเมอร์ไทยเตรียมตัวลุ้นสำหรับ E-Sports ในเอเชี่ยนเกมส์ที่หางโจวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากันได้อย่างแน่นอน
จัดทำโดย พรฤทัย ศักดิ์สกุลพรชัย / ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: Shanghaidaily ในหัวข้อ E-sports becomes new topic among political advisers (วันที่ 30 มกราคม 2562) และหัวข้อ Yangtze River Delta to become e-sport center (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562)