การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานของจีนและการปรับตัวของภาคธุรกิจ
18 Apr 2022“การบรรลุเป้าหมาย “คาร์บอนคู่” เป็นคำมั่นสัญญาที่จีนมีต่อประชาคมโลก” คำพูดนี้มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง โดยผู้นำจีน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ของจีนที่จะเดินบนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจีนได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนและลดการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงผลักดันพลังงานใหม่ให้มาทดแทนพลังงานดั้งเดิม ซึ่งนับได้ว่าเป็นทิศทางการพัฒนาที่สำคัญของจีนและจะส่งผลในวงกว้างต่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างการใช้พลังงานของจีนในภาพรวม
การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างดังกล่าวส่งผลต่อภาคธุรกิจในปัจจุบัน ภาคธุรกิจกำลังรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร และผู้ประกอบการมีโอกาสในตลาดจีนนี้อย่างไรเป็นประเด็นที่น่าติดตาม
โครงสร้างพลังงานจีนและการดำเนินงานภาครัฐ
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ผลิตและบริโภคพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของโลก สถิติเมื่อปี 2564 โครงสร้างการบริโภคพลังงานของจีนประกอบด้วย (1) ถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 (2) น้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.5 และ (3) พลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.5 เช่น ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ นิวเคลียร์ ลม และแสงอาทิตย์ เป็นต้น
จีนพยายามลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อเดือน ต.ค. 2564 จีนประกาศ “เป้าหมายคาร์บอนคู่” ซึ่งตั้งเป้าหมายการบรรลุการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (Carbon Emission Peak) ในปี ค.ศ. 2030 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ระบบนโยบาย “1 + N” โดย “1” คือ แนวทางเพื่อการบรรลุเป้าหมาย carbon emission peak และ carbon neutral และ “N” คือ นโยบายย่อยของพื้นที่ต่าง ๆ และสาขาธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีเนื้อหารวมถึงการควบคุมการเติบโตของการใช้ถ่านหินอย่างเข้มงวด และการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอื่น ๆ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล (Bio-energy) พลังงานทางทะเล พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) และพลังงานไฮโดรเจน
สีเขียว
โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 จีนได้กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานของจีน ภายใต้สมุดปกขาวหัวข้อ “การพัฒนาพลังงานของจีนในยุคสมัยใหม่” ในรูปแบบ “การปฏิรูป 4 ประการ + ความร่วมมือ 1 ประการ” ได้แก่ (1) การปฏิรูปการบริโภคพลังงาน เพื่อสร้างสังคมที่ประหยัดพลังงาน (2) การปฏิรูปอุปทานพลังงาน เน้นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน (3) การปฏิรูปเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อผลักดันการวิจัยขั้นพื้นฐานด้านพลังงานและยกระดับอุปกรณ์เครื่องจักรในการผลิตพลังงาน (4) การปฏิรูประบบราคาพลังงาน เพื่อให้ราคาพลังงานสอดคล้องกับกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น และ (5) การผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านพลังงานระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทางข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)
จีนยังได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานในภาพรวมตามที่ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) ที่ประกาศไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการใช้พลังงานและปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย GDP จะลดลงร้อยละ 13.5 และร้อยละ 18 ตามลำดับ และผลักดันการปฏิรูปด้านพลังงาน โดยล่าสุดเมื่อ 22 มี.ค. 2565 จีนประกาศแผนพัฒนาระบบพลังงานที่ทันสมัย โดยเน้น 4 keywords คือ “สะอาด คาร์บอนต่ำ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง” ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ภายในปี 2568 (1) ความสามารถในการผลิตพลังงานของจีนจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับมากกว่า 4,600 ล้านตันถ่านหินมาตรฐาน (standard coal) ต่อปี (2) จีนจะรักษาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในระดับ 200 ล้านตันต่อปี (3) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย GDP จะลดลงร้อยละ 18 (4) การใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล (non-fossil energy) จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 39 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจีน
การผลักดันแผนงานในทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การยกระดับโครงสร้างธุรกิจ จีนคุมเข้มภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโครงการที่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองและปล่อยมลพิษสูง ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย. 2564 จีนได้ประกาศนโยบายควบคุมและตรวจสอบโครงการที่ใช้พลังงานสูงและโครงการที่ปล่อยมลพิษสูงในจีน โดยมีมาตรการให้แต่ละมณฑล/เขตปกครองตนเอง/เมือง จัดทำรายชื่อโครงการที่ใช้พลังงานสูงและโครงการที่ปล่อยมลพิษสูง ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน กำลังดำเนินการก่อสร้าง และวางแผนที่จะก่อสร้าง เพื่อรายงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ซึ่ง NDRC และรัฐบาลท้องถิ่นจะยกระดับเงื่อนไขในการประเมินโครงการทั้งด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และออกคำสั่งห้ามสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้แก่โครงการที่ไม่ผ่านการประเมิน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อปลายปี 2564 จีนออกแผนงานกระตุ้นการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม โดยขยายเวลาการชำระภาษีประจำไตรมาสที่ 4/2564 ของบริษัทผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและบริษัทผลิตความร้อน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาวัตถุดิบและตอบสนองการใช้พลังงานของภาคธุรกิจและประชาชน
ปัจจุบันจีนได้ยกระดับการประหยัดพลังงานเพื่อควบคุมการปล่อยคาร์บอน จีนยังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน การใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เพื่อเป็นแหล่งสำคัญของอุตสาหกรรมในอนาคต โดยได้ประกาศแผนพัฒนาธุรกิจพลังงานโฮโดรเจนระยะกลาง – ยาว (2564 – 2578) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อพัฒนาระบบพลังงานที่ทันสมัยของจีน
โดย (1) ภายในปี 2568 จีนจะมีรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนประมาณ 50,000 คัน และเร่งสร้างเครือข่ายสถานีเติมพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงปริมาณการผลิตโฮโดรเจนด้วยพลังงานทดแทนจะอยู่ที่ 1 – 2 แสนตันต่อปี และ (2) ภายในปี 2578 จีนจะมีธุรกิจพลังงานโฮโดรเจนแบบครบวงจร และในโครงสร้างการใช้พลังงานของจีน จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานโฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานทดแทนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันโครงการสร้างศูนย์ Big Data ระดับชาติและพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขั้นพื้นฐาน ผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานใหม่และเร่งก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าและสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ และกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมโดยผลักดันการสร้างศูนย์นวัตกรรมระดับชาติสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย 5G และการใช้งานของ IPv6 รวมทั้งใช้นโยบายภาษีพิเศษสำหรับธุรกิจที่ประหยัดพลังงาน ธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และธุรกิจพลังงานใหม่
Carbon Market การเปิดตัวตลาดซื้อ-ขายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ของจีน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า โดยตั้งแต่เริ่มเปิด ETS จนถึงวันที่ 30 มี.ค. 2565 จีนมีมูลค่าสะสมจากการทำธุรกรรม
ซื้อ-ขายโควตาประมาณ 8.2 พันล้านหยวน หรือประมาณ 188 ล้านตัน ทั้งนี้ ภายในปี 2568 จีนจะขยายเพื่อให้ครอบคลุม
8 อุตสาหกรรมหลักที่มีส่วนใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง เหล็กกล้า และโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก
การสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดตัวระบบลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emissions Reduction Facility: CERF) โดยธนาคารแห่งประเทศจีน (PBOC) จูงใจให้ธนาคารเพิ่มการจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการสีเขียว จนถึงปัจจุบันธนาคารต่าง ๆ ได้ออกเงินกู้จำนวน 142.5 พันล้านหยวนที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 28.76 ล้านตัน และการร่วมกันออกแผนงานนำร่องสำหรับการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศและการเงิน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่าเป้าหมาย GDP ในปี 2565 “ประมาณร้อยละ 5.5” ของจีน เป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย จากสถานการณ์อุปทานพลังงานระหว่างประเทศ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณการใช้พลังงานในจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนต้องตอบสนองต่อการใช้พลังงานและพยายามรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงาน ภายใต้การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เห็นได้ชัดจากกรณีเมื่อปลายปี 2564 จีนดำเนินมาตรการลดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนอย่างเร่งรีบ จนส่งผลต่อปัญหาพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนไฟฟ้า และเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ประกาศว่า จีนจะยังคงรักษาปริมาณการผลิตถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีน ให้อยู่ในระดับมากกว่า 12 ล้านตันต่อวัน และส่งเสริมการใช้ถ่านหินสะอาด เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าการใช้พลังงานถ่านหินยังคงมีความจำเป็นต่อจีน และเชื่อว่าจีนยังคงต้องสนับสนุนการใช้พลังงานถ่านหินจนกว่าพลังงานสะอาดจะสามารถเข้ามาทดแทนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและเงินทุนมหาศาลและจนกว่าจะสามารถปฏิรูปการสร้างสังคมประหยัดพลังงานได้ จึงเป็นความท้าทายของจีนที่จะต้องรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและหาจุดสมดุลระหว่างการลดการปล่อยคาร์บอนควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ธุรกิจจีนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน
การที่จีนคุมเข้มการปล่อยคาร์บอนย่อมทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้พลังงานสูง และอุตสาหกรรมที่เกิดการเผาไหม้ในอุตสาหกรรมและปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง ผู้ประกอบการจึงต้องรับมือและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำถึงจะไปต่อได้
ปัจจุบัน ธุรกิจจีนเร่งปรับโครงสร้างและพัฒนาสู่ธุรกิจสีเขียวและคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของธุรกิจที่มีอยู่ให้มีแนวโน้มสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีการลงทุนในนวัตกรรมใหม่หรือพลังงานสะอาด เช่น การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกแทนการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรม การหันมาใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์พลังงานใหม่ และวัสดุใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการมุ่งวิจัยและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจเคมี หรือการเพิ่มการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเมื่อปี 2564 จีนได้ลงทุนในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (clean energy transition) มากเป็นอันดับ 1 ของโลก (อันดับที่ 2 – 5 ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส ตามลำดับ) โดยจีนลงทุน 2.66 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 7.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนและเน้นการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นของจีน
สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ของจีนจะมีข้อได้เปรียบมากกว่าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เนื่องจากมีโครงสร้างธุรกิจที่มีการพึ่งพาการใช้พลังงานน้อยกว่าและมีเทคโนโลยีซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว เช่น Cloud computing, Big Data และ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวก็ได้ปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและสามารถเป็นพื้นฐานของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เช่น กรณีการสร้างศูนย์ข้อมูลที่คำนึงถึงการลดการใช้พลังงานโดยการเลือกสถานที่การก่อสร้าง เพื่ออาศัยพลังงานลมมาทดแทนพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มความสามารถในการประมวลผลเพื่อลดระยะเวลาในการใช้พลังงาน รวมถึงมีธุรกิจบางส่วนเริ่มสร้างอาคารสำนักงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในอาคาร ซึ่งได้ตอบรับแผนพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานและอาคารสีเขียวของทางการจีน ที่ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในเขตเมืองทั้งหมดจะต้องเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ธุรกิจภาคบริการของจีนก็มีการปรับตัว เช่น ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มและธุรกิจจัดส่งพัสดุ ที่ปรับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดขยะ การใช้หลอดที่ย่อยสลายได้ การใช้ยานยนต์พลังงานใหม่ในการขนส่งและการวางแผนเส้นทางการจัดส่งอย่าง
ชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี เป็นต้น
ผลกระทบและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีการลงทุนด้านพลังงานในจีนหรือมีการค้าขายกับประเทศจีนในด้านอุตสาหกรรมพลังงานอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจาก “เป้าหมายคาร์บอนคู่” สืบเนื่องจากข้อจำกัดและกฎระเบียบของรัฐบาลจีนที่นับวันจะเข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น การสั่งปรับโครงสร้างของโครงการที่ใช้พลังงานสิ้นเปลืองและปล่อยมลพิษสูง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดด้านการลงทุนสำหรับทุนต่างชาติที่ทางการจีนระบุไว้ในข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ (Negative List) ฉบับประจำปี ค.ศ. 2022 เช่น การห้ามสร้างโครงการใหม่ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินที่ไม่ตรงตามระเบียบข้อบังคับของทางการจีน และการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสำหรับทุนต่างชาติจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนดำเนินกิจการ ซึ่งทางการจีนได้ระบุเงื่อนไขไว้อย่างละเอียด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบและติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของนโยบายด้านพลังงานของจีนอย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจสู่ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เพื่อรับมือกับการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า โดยการติดตามทิศทางความเคลื่อนไหวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีแผนตั้งรับแต่เนิ่น ๆ และมีความพร้อมในการปรับตัว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ
สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการไทย “เป้าหมายคาร์บอนคู่” และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม ตลอดจนการตั้งเป้าสู่สังคมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของจีน ล้วนบ่งชี้ว่า แนวโน้มในอนาคตของผู้บริโภคชาวจีนจะให้ความสำคัญต่อสินค้านำเข้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์การชาร์จพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน และการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ โดยที่ปัจจุบัน ในจีนมีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการด้านพลังงานของจีนที่เข้มข้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการ “แข่งขันและร่วมมือ” กับภาครัฐและภาคเอกชนของจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี และเพิ่ม “พลัง” ที่จะช่วยขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทั้งในจีนและในประเทศต่าง ๆ
จัดทำโดย : นางสาวอังศุมา รัตนโกสินทร์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล :
What to expect for China’s climate efforts in 2022
“Clean” coal is king
https://triviumchina.com/2022/03/23/clean-coal-is-king/?mc_cid=3907beb2ac&mc_eid=9ea35fb446
China Prepares To Avoid Energy Crunch
Plenum China
两部门:2025年原油年产量回升并稳定在2亿吨水平
https://www.chinanews.com.cn/cj/2022/03-22/9708809.shtml
一图读懂 | 氢能产业发展中长期规划(2021-2035年)
https://www.ndrc.gov.cn/xxgk/jd/zctj/202203/t20220323_1320046.html?code=&state=123
国家发改委印发通知:坚决管控高耗能高排放项目
https://www.chinanews.com.cn/cj/2021/09-16/9566981.shtml
解振华:中国正制定碳达峰碳中和时间表路线图
https://www.chinanews.com.cn/cj/2021/07-24/9527493.shtml
四方面二十二项重点任务和政策措施 全面促进重点领域消费绿色转型
http://www.xinhuanet.com/energy/20220214/fbe3f949c0fc438483d2aed972ee7657/c.html
市场准入负面清单(2022年版)
https://www.ndrc.gov.cn/xwdt/ztzl/sczrfmqd/xzzx0/202203/t20220329_1320723.html?state=123