“ดิจิทัลหยวน” กับยุทธศาสตร์ YRD และความท้าทายต่อภาคธุรกิจไทย (ตอนแรก)
18 Jun 2021เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนแทบจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดโดยสมบูรณ์เต็มร้อยแล้วในทุกวันนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนจีนทุกเพศทุกวัยในปัจจุบันล้วนจับจ่ายใช้สอยโดยการชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดบนโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งตลาดสดและร้านหาบเร่ หรือตู้รับบริจาคในวัด จนกล่าวได้ว่าคนจีน แทบจะเลิกพกเงินสดออกจากบ้านแล้ว พกเพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากว่าร้อยละ 98 ของการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ดำเนินการผ่าน 2 แพลตฟอร์มใหญ่ของภาคเอกชน ได้แก่ Alibaba และ Wechat Pay เป็นหลัก แต่ปัจจุบันจีนได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นโดยเริ่มทดลองใช้ “ดิจิทัลหยวน (Digital RMB) หรือ E-CNY” แล้วระยะหนึ่ง ซึ่งนับเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกที่ใช้งานได้จริงในระดับประชาชน โดยได้ทดลองใช้ล็อตแรกเมื่อปี 2562 ในเมืองเซินเจิ้น (มณฑลกวางตุ้ง) นครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) เขตสงอาน (มณฑลเหอเป่ย) และเมืองซูโจว (มณฑลเจียงซู) และต่อมาในช่วงปลายปี 2563 ได้ทดลองใช้ดิจิทัลหยวนในอีก 6 พื้นที่ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลไห่หนาน นครฉางซา (มณฑลหูหนาน) นครซีอาน (มณฑลส่านซี) เมืองชิงต่าว (มณฑลซานตง) และเมืองต้าเหลียน (มณฑลเหลียวหนิง) ทั้งนี้ จีนยังมีแผนขยายทดลองใช้ดิจิทัลหยวนเพิ่มต่อเนื่องด้วย นับเป็นการผลักดันจริงจังของภาครัฐจีนจนเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจทั้งในจีนและต่างประเทศ โดยเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่จัดอยู่ในแผนงานดังกล่าว
ดิจิทัลหยวนสัมพันธ์กับ Alipay และ Wechat Pay อย่างไร?
หลายท่านคงรู้จักมักคุ้นกับคำว่า Alipay และ Wechat Pay กันดีอยู่แล้ว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ คือ “กระเป๋าเงินออนไลน์ (e-wallet)” ที่นิยมใช้กันมากในจีน มีลักษณะคล้ายกับ Rabbit Line Pay, Samsung Pay, TrueMoney Wallet ฯลฯ ในไทยนั่นเอง โดย Alipay ได้รับการพัฒนาโดย Alibaba ขณะที่ Wechat Pay ถูกพัฒนาโดย Tencent
ในขณะเดียวกัน ดิจิทัลหยวนเป็นสกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางจีน มีฐานะและค่าเทียบเท่ากับเงินหยวนในรูปแบบเหรียญหรือกระดาษ (นั่นคือ 1 ดิจิทัลหยวนมีค่าเท่ากับเงิน 1 หยวน) เพียงแต่แปรสภาพจากเงินในรูปแบบที่จับต้องได้มาเป็นเงินดิจิทัลในระบบออนไลน์แทน โดยสามารถใช้ดิจิทัลหยวนผ่านระบบ “Digital Currency Electronic Payment (DCEP)” หรือเรียกกันแบบง่าย ๆ ว่าเป็น e-wallet สำหรับดิจิทัลหยวนนั่นเอง
ระบบ DCEP จึงเป็นเครื่องมือสำหรับการชำระเงินออนไลน์น้องใหม่ที่มีภาครัฐจีนเป็นเจ้าของระบบ ต่างจาก Alipay และ Wechat Pay ที่มีภาคเอกชนเป็นเจ้าของ โดยระบบ DCEP เรียกได้ว่า “มาทีหลัง แต่ปังกว่า” เพราะถูกออกแบบให้มีจุดเด่นที่แตกต่างจาก Alipay และ Wechat Pay หลายอย่าง เช่น
– ใช้งานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยระบบ DCEP สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกแม้กระทั่งอยู่ในสถานที่ที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร อาทิ เครื่องบิน เรือสำราญ หรือลานจอดรถชั้นใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งต่างจาก Alipay และ Wechat Pay ที่จะต้องเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงจะสามารถชำระเงินออนไลน์ได้สำเร็จ
– ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ดี โดยที่การใช้ Alipay และ Wechat Pay นั้นจำเป็นต้องผูกระบบกับบัญชีธนาคาร ดังนั้น การโอนเงินออนไลน์จึงทำให้ผู้รับเงินสามารถเห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องของผู้โอนเงินได้ ขณะที่ระบบ DCEP ไม่ต้องผูกกับบัญชีธนาคาร จึงช่วยปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานได้ดีกว่า
– แลกเป็นเงินเข้าบัญชีธนาคารได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ปัจจุบัน การนำยอดเงินใน Alipay และ Wechat Pay โอนกลับเข้าสู่บัญชีธนาคาร
ของตนเองจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเกินยอดเงินโอนฟรีค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด ซึ่งเท่ากับว่าการโอนเงิน 1,000 หยวนเข้าบัญชีธนาคารตนเอง ต้องเสียค่าธรรมเนียม 1 หยวน ขณะที่การดำเนินการลักษณะดังกล่าวของระบบ DCEP จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ เนื่องจากเป็นการแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างเงินดิจิทัลกับเงินในรูปแบบที่จับต้องได้
ทั้งนี้ ยังอาจมองได้ว่า ระบบ DCEP มีความมั่นคงสูงมากเนื่องจากมีภาครัฐเป็นผู้บริหารจัดการ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ไม่มีวันล้ม” เพราะมีภาครัฐอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ Alipay และ Wechat Pay บริหารจัดการโดยภาคธุรกิจ ซึ่งหากเกิดเหตุสุดวิสัยขัดข้องใด ๆ ขึ้นแล้ว ผู้ใช้งานย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าแน่นอน ดังนั้น จึงนับได้ว่าระบบ DCEP เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ใช้งานธุรกรรมการเงินออนไลน์ในจีน ซึ่งน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานได้มากกว่า e-wallet ของภาคเอกชนอื่น ๆ ในจีนในระยะยาว
ดิจิทัลหยวนต่างจาก Bitcoin ตรงไหน?
ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลหยวน หรือ Bitcoin หรือเหรียญ Ether (ETH) ฯลฯ ล้วนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เช่น ดิจิทัลหยวนของธนาคารกลางจีน อินทนนท์ของธนาคารแห่งประเทศไทย SynchroBitcoin (SNB) ของธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ และ e-krona ของธนาคารกลางสวีเดน เป็นต้น
2. เหรียญที่มีมูลค่าคงที่ (stablecoin) เช่น Libra (Dium) ที่พัฒนาโดย Facebook และ USD Coin (USDC) ที่พัฒนาโดย Circle และ Coinbase เป็นต้น
3. เงินตราเข้ารหัสลับ (cryptocurrency) เช่น Bitcoin, Ether (ETH), Litecoin ฯลฯ
cryptocurrency เริ่มเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินที่คนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเริ่มต้นจาก Bitcoin ซึ่งไม่มีสินทรัพย์รูปธรรมรองรับ รวมถึงไม่สามารถตรวจสอบผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้ชัดเจน จึงทำให้ปัจจุบัน Bitcoin ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ต่อมาได้มีการพัฒนา stablecoin ซึ่งมีสินทรัพย์รูปธรรมของภาคเอกชนรองรับ เพื่อแก้ปัญหาการขาดความน่าเชื่อถือของ cryptocurrency จนกระทั่งธนาคารกลางของแต่ละประเทศได้คิดค้นพัฒนา CBDC ขึ้นมา เนื่องจากเริ่มกังวลถึงผลกระทบของ Bitcoin และ stablecoin ที่มีต่ออำนาจของธนาคารกลางในการใช้นโยบายการเงินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งทางการจีนและ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกประกาศห้ามซื้อขาย cryptocurrency เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2560 แต่ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการความมั่นคงทางการเงินและการพัฒนาภายใต้คณะรัฐมนตรีจีนก็ได้ยกระดับการคุมเข้มตลาด cryptocurrency และกล่าวถึงประเด็นการปราบปรามการขุดเหมืองและการซื้อขาย Bitcoin แล้วด้วย
สรุปได้ว่า ดิจิทัลหยวนเป็นเงินรูปแบบดิจิทัลโดยธนาคารกลางจีน ที่ออกแบบมาแก้ปัญหาความไม่มั่นคงและปัญหาการตรวจสอบที่เผชิญใน cryptocurrency และ stablecoin รวมทั้ง e-wallet ของภาคเอกชน และโดยที่ดิจิทัลหยวนหรือสกุลเงิน CBCD ของประเทศต่าง ๆ มีภาครัฐรับประกัน จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าสกุลเงินภาคเอกชน
ทั้งนี้ ดิจิทัลหยวนเป็นสกุลเงินดิจิทัลเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายในจีน ซึ่งเรียกว่าได้เป็นเงินหยวนรูปแบบใหม่ของจีน และสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สกุลเงินเพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไรเหมือนดังเช่น Bitcoin
ดิจิทัลหยวนจะมีบทบาทอย่างไรในอนาคต?
ปัจจุบัน ดิจิทัลหยวนถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทำธุรกรรมภายในจีนเป็นหลักก่อน โดยได้ทดลองใช้แล้วในหลายพื้นที่ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และมีแผนจะเริ่มทดลองให้ชาวต่างชาติใช้ในช่วงงานโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในปี 2565 ซึ่งในอนาคตหากจีนมีความพร้อมแล้ว ก็อาจจะสามารถใช้ดิจิทัลหยวนในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ การใช้ดิจิทัลหยวนเป็นอีกก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสังคมจีนเป็นสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดิจิทัลหยวนจะเป็นตัวกลางที่ช่วยให้จีนสามารถเปิดเสรีด้านการเงินในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยหากจีนสามารถเจรจาร่วมกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศตามเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อเชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลหยวนข้ามพรมแดนแล้ว ก็จะช่วยให้จีนมีบทบาทในการจัดตั้งระบบการเงินดิจิทัลของโลก รวมถึงน่าจะทำให้เป้าหมายนโยบาย Digital Silk Road ของจีนมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในอนาคตหากดิจิทัลหยวนได้รับการยอมรับกว้างขวางในการค้าและชำระเงินระหว่างประเทศ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อสถานะของดอลลาร์สหรัฐในฐานะที่เป็นสกุลเงินการค้าโลกและส่งผลต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ได้ ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้เริ่มมีสัญญาณเรื่องการพัฒนา “ดิจิทัลดอลลาร์” โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ระหว่างร่วมกับ IMF เพื่อศึกษาคุณสมบัติของสกุลเงินดิจิทัล ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเรียกได้ว่าจีนเป็น trend setter ของระบบการเงินโลกในอนาคต
ที่ผ่านมา จีนได้เน้นย้ำว่าไม่ได้ต้องการให้ดิจิทัลหยวนแทนที่ดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้ตลาดมีตัวเลือก และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้า – การลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้นซึ่งจีนก็ทราบดีว่าการจะใช้ดิจิทัลหยวนข้ามพรมแดนจะมีความซับซ้อน และยังจะต้องเตรียมแก้ไขปัญหาอีกมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อ 16 มกราคม 2564 หน่วยงานภายในธนาคารกลางจีนได้ร่วมมือกับ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการลงทะเบียนรหัส (Code) การโอนเงินไปยังธนาคารต่างประเทศ จัดตั้งบริษัท Financial gateway information services ขึ้นที่ปักกิ่ง เพื่อศึกษาการพัฒนาดิจิทัลหยวนให้สามารถรองรับการใช้งานข้ามประเทศได้ ซึ่งนับเป็นการเตรียมความพร้อมของจีนอีกขั้นหนึ่งที่จะผลักดันให้ดิจิทัลหยวนก้าวสู่เวทีโลกอย่างจริงจัง
สำหรับบทความในตอนหน้าจะแนะนำถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของเขต YRD และบทบาทในการผลักดันดิจิทัลหยวนสู่สากล รวมถึงความท้าทายของธุรกิจไทยที่อาจต้องรับมือและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จีนจะขยายการใช้ดิจิทัลหยวนสำหรับทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในอนาคต
*****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. งานสัมมนา Webinar เรื่อง “ดิจิทัลหยวนกับยุทธศาสตร์ YRD และความท้าทายต่อภาคธุรกิจไทย” จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และธนาคารกสิกรไทย วันที่ 28 เมษายน 256
2. https://zhuanlan.zhihu.com หัวข้อ “数字人民币DCEP简述” วันที่ 23 เมษายน 2564
3. https://new.qq.com หัวข้อ “数字人民币真的来了!余承东正式官宣,央行也太宠华为了吧” วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563