วิกฤต “COVID-19” แม้จะกระทบการจ้างงาน.. แต่ยังมีช่องทางที่สดใส
10 Apr 2020หลายคนต้องตกงานอย่างไม่มีทางเลือก หรือกำลังหวาดกลัวว่าจะสูญเสียตำแหน่งงานของพวกเขา เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนต้องหันมาเตรียมความพร้อมที่จะหางานใหม่หลังจากการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุดลง หรือหันมาหา “งานชั่วคราว” เพื่อเป็นรายได้เสริมกันมากขึ้น ซึ่งท่ามกลางความเฟื่องฟูของเทคโนโลยี อาทิ E-commerce/ Live Streaming/ Big data ทำให้บริษัทด้านอินเทอร์เนตผุดขึ้นมามากมาย และแน่นอนว่าอัตราความต้องการผู้รับจ้างงานนอกเวลานั้นก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะในธุรกิจแบ่งปัน (Sharing economy) ที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในรูปแบบ “Gig economy”
ระบบจ้างงานยุคใหม่.. อยู่ที่ไหนก็สร้างเงินได้
“Gig Economy” คือรูปแบบการจ้างงานอิสระแบบชั่วคราว ซึ่งผู้รับจ้างงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินมากนัก แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราอาจเคยพบเจออยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการห้องพักชั่วคราวบนแพลตฟอร์ม Airbnb หรือผู้ให้บริการขับรถบนแพลตฟอร์ม Uber หรือ Grab เป็นต้น โดยรายงานของ Mastercard and Kaiser Associates เกี่ยวกับอุตสาหกรรม Gig Economy ทั่วโลกระบุว่า ในปี 2561 อุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 204,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเมื่อถึงปี 2566 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 455,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 17 ต่อปี* โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) ทัศนคติในสังคมเกี่ยวกับระบบ Sharing Economy (2) ความเป็นดิจิทัลที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ (3) ความต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และ (4) อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการหารายได้พิเศษเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน จีนเองก็มีจำนวน “Gig worker” หรือผู้รับจากงานอิสระจำนวนไม่น้อย โดยรายงานของ Foreign Policy (ก.ย. 2561) เผยว่า จีนมีผู้รับจ้างงานอิสระ (เช่น นักเขียน คนขับรถ Livestreamers คนทำความสะอาด ฯลฯ) คิดเป็นร้อยละ 15 ของแรงงานจีนทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าปี 2579 จะมีจำนวนผู้รับจ้างอิสระในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในจีน* วัดอัตราการเติบโตแบบ Compound Annual Growth Rate (CAGR) จากปี 2018-2023
ร่วมด้วยช่วยกัน.. ฝ่าวิกฤต COVID-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ไม่เพียงแต่จะทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของชาวจีนเปลี่ยนไปแต่พฤติกรรมการรับจ้างงานและทัศนคติต่อการรับจ้างงานก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจากผลสำรวจของ Lagou (บริษัทจัดหางาน) พบว่าเกือบร้อยละ 70 ของบริษัทด้านอินเทอร์เนตของจีนหยุดการจ้างงานในช่วงการแพร่ระบาดฯ และอัตราส่วน 2 ใน 3 ของผู้ที่กำลังสมัครงานนั้นต่างมีความกังวลเกี่ยวกับการหางานอยู่ ส่งผลให้ผู้คนต่างเริ่มมองหางานพิเศษหรือรายได้เสริมกันมากขึ้น ขณะที่บริษัทใน Gig Economy อาทิ Dada Co., Ltd./ Red Co., Ltd. (Xiaohongshu)/ Hellobike Co., Ltd./ Didi Chuxing Co., Ltd./ และ Aikucun Co., Ltd. ต่างก็ได้เสนองานชั่วคราวในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง การรับงานอิสระของชาวจีนในช่วงการแพร่ระบาดฯ
Gu Zhiyuan (อดีตพ่อครัว) ผันตัวเป็นพนักงานจัดส่งอาหารให้กับแพลตฟอร์ม Dada (大大快送) โดยเขามองว่างานดังกล่าวมีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นและมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งคาดว่าแม้การแพร่ระบาดฯ จะสิ้นสุดลงก็จะยังคงทำงานดังกล่าวต่อไป
Li Jun (นักออกแบบ) ผันตัวมาเป็นพนักงานบริการขับรถให้กับแพลตฟอร์ม Didi Chuxing (滴滴出行) เผยว่า เดือน ก.พ. 2563 เขาได้รับเงินตอบแทนเฉลี่ยวันละ 500-600 หยวน (ประมาณ 3,000 บาท) นอกจากนี้ ยังรับจ้างออกแบบเว็บไซต์อิสระให้กับเว็บไซต์ต่างชาติด้วย
Zhan Di รับงานเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับแพลตฟอร์ม Aikucun (爱库存) โดยมีหน้าที่ทดลองสินค้า แนะนำ และเสนอขายให้กับลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งเธอทำรายได้ถึง 13,000 หยวน ภายในระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง
Aya Yuan (อดีตพนักงานการตลาดเครื่องสำอาง) ใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงต่อวันบนแพลตฟอร์ม Red (小红书) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจีนที่มีความคล้ายกับแอปพลิเคชัน Instagram ผสมกับแอปพลิเคชัน Pinterest แบ่งปันเรื่องราวส่วนตัว อาทิ ผลงานภาพถ่าย เทคนิคการถ่ายภาพตัวเอง (Selfie) ตามรอยสถานที่ท่องเที่ยว และโยคะ เป็นต้น ผ่านบัญชีของเธอในแพลตฟอร์มดังกล่าว ทำให้มีผู้ติดตามเธอมากถึง 51,000 คน ส่งผลให้มีงานโฆษณาติดต่อจ้างงานเธอเข้ามาในที่สุด
.
นอกจากนี้ อัตราการเช่าจักรยานในช่วงการแพร่ระบาดฯ ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถสาธารณะ เป็นผลให้แอปพลิเคชัน Hellobike (ธุรกิจให้เช่าจักรยาน) ได้จัดจ้างพนักงานชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่ฆ่าเชื้อบนจักรยาน ทั้งนี้ บริษัทฯ เผยว่า ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 มีผู้มาสมัครตำแหน่งงานดังกล่าวจากทั่วทั้งจีนสูงถึง 5,000 ราย ซึ่งพบว่าผู้สมัครหลายรายเป็นบุคคลที่อาศัยในพื้นที่มณฑลเสฉวนและมณฑลเหอหนาน โดยเหตุผลที่มาสมัครงานดังกล่าว คือ ไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานยังเซี่ยงไฮ้ในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าช่องทางนี้จะเป็นตัวช่วยอย่างดีแก่ผู้ที่ต้องการหารายได้ในช่วงการแพร่ระบาดฯ แต่อีกมุมหนึ่งอาจจัดได้ว่าการจ้างงานรูปแบบนี้เป็น “ธุรกิจสีเทา” ที่ภาครัฐจีนเองยังไม่มีระเบียบที่เกี่ยวข้องในการควบคุม โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการคุ้มครองด้านหลักประกันสังคมเหมือนอาชีพหลักอื่น ๆ แต่ก็เชื่อว่าการจ้างงานรูปแบบ “Gig Economy” น่าจะมีโอกาสเติบโตขึ้นต่อเนื่องควบคู่ไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว
อ่านบทความเพิ่มเติม: เกาะติดพฤติกรรมบริโภคจีนที่เปลี่ยนไป.. “จับให้ได้.. ไล่ให้ทัน” ผลกระทบ COVID-19
*****************************************************
จัดทำโดย น.ส. พรฤทัย ศักดิ์สกุลพรชัย/ ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: นสพ. Shanghai Daily วันที่ 16 มี.ค. 63 หัวข้อ ‘Gig economy’ lessens sting of job anxiety/ http://www.shine.cn/biz/economy/2003164377/
The Global Gig Economy/ https://newsroom.mastercard.com/wp-content/uploads/2019/05/Gig-Economy-White-Paper-May-2019.pdf
China’s Gig Economy is Driving Close to the Edge/ https://foreignpolicy.com/2018/09/07/chinas-gig-economy-is-driving-close-to-the-edge/