เกาะติดพฤติกรรมบริโภคจีนที่เปลี่ยนไป.. “จับให้ได้.. ไล่ให้ทัน” ผลกระทบ COVID-19
9 Apr 2020การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในจีนได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลายภาคส่วน ทั้งภาคการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ) และภาคการท่องเที่ยวและการพักผ่อน (สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ สวนสนุก จุดท่องเที่ยวชมทัศนียภาพ ฯลฯ) โดยนักวิเคราะห์จากศูนย์แลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน (China Center for International Economic Exchanges, CCIEE) ได้ประเมินเบื้องต้นว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึงกว่า 500,000 ล้านหยวน
ถึงแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัส COVID-19 แต่ชีวิตยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ความต้องการปัจจัย 4 มิได้หดหาย โดยเฉพาะสินค้าอาหารและของใช้ประจำวัน เพียงแต่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสนองความต้องการดังกล่าวเท่านั้น
พฤติกรรมปรับเปลี่ยนไป.. จาก “ออฟไลน์” สู่ “ออนไลน์”
ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในเซี่ยงไฮ้ แม้ว่าร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตจะเปิดให้บริการตามปกติ แต่คนส่วนมากก็ให้ความร่วมมือตามที่ภาครัฐรณรงค์ให้อยู่บ้าน และออกมาข้างนอกตามที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่อาจมาจากการรวมกลุ่มของคนหมู่มาก เมื่อผู้คนจะต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นหลัก ดังนั้น พฤติกรรมการจับจ่ายจึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นออนไลน์แทนที่
เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ จึงได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยให้คลิกสั่งออนไลน์และจัดส่งให้ถึงชุมชนที่พักอาศัย จากความสะดวก ความรวดเร็วในการจัดส่ง และราคาที่ไม่ได้แพงไปกว่าการออกไปหาซื้อด้วยตนเอง จึงทำให้แม้กระทั่งกลุ่มแม่บ้านหรือผู้สูงอายุก็ยังได้หันมาเรียนรู้การสั่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการสั่งอาหารสดมาปรุงเองในบ้าน
สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มิได้ปรุงอาหารเอง ถึงแม้จะต้องเก็บตัวในบ้าน และร้านอาหารต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเปิดให้ลูกค้าเดินทางมารับประทานถึงร้านได้ตามมาตรการป้องกันและควบคุมที่ภาครัฐกำหนด แต่ก็สามารถสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ อย่างเอ้อเลอเมอ(饿了么)หรือเหม่ยถวนว่ายม่าย(美团外卖)โดยร้านอาหารหลายแห่งก็ได้ปรับเซ็ทเมนูใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการสั่งออนไลน์และจัดส่งให้ลูกค้า
ทุกอย่างเป็น “ออนไลน์”.. วิถีชีวิตแบบใหม่ในจีน
นอกจากพฤติกรรมการจับจ่ายในช่วงป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ของจีนจะเปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์แล้ว กิจกรรมอื่น ๆ ในวิถีชีวิตก็ปรับเปลี่ยนไปด้วย ทั้งการทำงานออนไลน์ การศึกษาออนไลน์ กิจกรรมบันเทิงออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์
Good Business Research Center ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้รวบรวมผลสำรวจความนิยมการใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นออนไลน์ของผู้บริโภคจีนในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล (15 มี.ค. 2563) สรุปข้อมูลได้ ดังนี้
การบริโภคผ่านออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างกระทันหัน เป็นผลให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องมีเพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน จากข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับการบริโภคผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ระหว่างช่วงวันที่ 20 ม.ค. – 29 ก.พ. 2563 จากสมาคมผู้บริโภคประเทศจีนพบว่า การซื้อของใช้ประจำวัน อาหารสด และวัสดุป้องกันไวรัสฯ ยังคงมีปัญหา ดังนี้
(1) สินค้ามีปัญหาคุณภาพ โดยอาหารบางส่วนไม่สดใหม่ บรรจุภัณฑ์ไม่ดีพอ
(2) ข้อมูลที่ร้านออนไลน์ระบุไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ประกาศขายสินค้าทั้ง ๆ ที่ไม่มีสต็อกคงเหลือ
(3) รายการสั่งซื้อสะสมจำนวนมาก ส่งผลให้จัดส่งได้ล่าช้า
(4) กระบวนการจัดส่งที่ขาดการระวังป้องกัน เป็นผลให้สินค้าได้รับความเสียหาย
(5) ความยากลำบากเรื่องการส่งคืนสินค้าหรือเปลี่ยนสินค้าใหม่
4 พฤติกรรมที่ต้องเกาะติด.. หลังวิกฤต COVID-19 ผ่านไป
หลังจากที่ชาวจีนต้องเก็บตัวในบ้านเป็นเวลานาน ความอัดอั้นในการอุปโภคบริโภคบางส่วนได้ถูกสะสมไว้และรอวันที่จะปลดปล่อย ประกอบกับพฤติกรรมความเคยชินรูปแบบใหม่ในช่วงป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 สื่อมวลชนฮ่องกงจึงได้คาดการณ์ว่า ภายหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดในจีนสิ้นสุดลงแล้ว ภาคการบริโภคโดยรวมจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมการบริโภคใน 4 ลักษณะนี้ยังจะคงปรากฏให้เห็น ได้แก่
(1) การซื้อขายออนไลน์จะเติบโตขึ้นจากเดิม โดยวิกฤต COVID-19 อาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนเติบโตเร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องด้วยมีผู้บริโภคในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มพื้นที่ชนบทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมากขึ้น
(2) การประยุกต์ใช้ AI และหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นในช่วงป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เป็นผลให้ผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้จัดจัดหน่ายเห็นถึงศักยภาพและประโยชน์ที่ AI และหุ่นยนต์ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตได้มากขึ้น จึงอาจเป็นผลให้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในจีนได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
(3) ธุรกิจการค้าใกล้ชุมชน (ซุปเปอร์มาเก็ตขนาดเล็ก/ ร้านสะดวกซื้อ) จะมีบทบาทต่อผู้บริโภคจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นตามไปนโยบายของจีนในช่วงป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคจีนหันมาจับจ่ายในร้านใกล้ชุมชน แทนการเดินทางไปซื้อสินค้า ณ ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และร้านใกล้ชุมชนต่างก็ปรับกลยุทธ์อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการจัดส่งถึงที่พักแบบไม่มีค่าใช้จ่าย
(4) ผู้บริโภคจีนตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ SARS และ COVID-19 ได้สันนิษฐานว่ามีต้นเหตุมาจากอาหารในตลาดสินค้าสด ซึ่งอาจบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยได้ไม่ดีพอ ในอนาคตจึงคาดการณ์ว่า ผู้บริโภคจีนจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในสินค้าอาหารมากขึ้นตามลำดับ
ถึงแม้ว่าวิกฤตไวรัส COVID-19 ในจีนจะเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ภาคธุรกิจยังจะต้องเผชิญกับผลกระทบสืบเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคงจำเป็นจะต้องรีบปรับกลยุทธ์แบบ “จับให้ได้.. ไล่ให้ทัน” พฤติกรรมผู้บริโภคจีนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://baijiahao.baidu.com 疫情过后,我们的消费方式,将会发生改变 วันที่ 26 ก.พ. 2563
2. https://baijiahao.baidu.com 疫情之中,人们的消费需求正在变化 วันที่ 13 มี.ค. 2563
3. https://baijiahao.baidu.com 美好生活2020中国消费者品牌榜超百家候选企业名单发布 วันที่ 9 มี.ค. 2563
4. www.taihainet.com 疫情过后,中国的四种消费趋势 วันที่ 5 มี.ค. 2563