เก็บตกงาน CIIE เซี่ยงไฮ้ (ตอนแรก: ธุรกิจอาหารต่างชาติบุกตลาดจีน!! ผ่านงาน CIIE เซี่ยงไฮ้)
4 Jan 2022แม้ว่า China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 4 ในเซี่ยงไฮ้จะสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังคงมีประเด็นที่น่าติดตามในฐานะเป็นแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ธุรกิจต่างชาติเชื่อว่าจะเป็น “ประตูเปิดสู่ตลาดจีน”
ปัจจุบันบริษัทและแบรนด์อุตสาหกรรมอาหารต่างชาติเข้ามามีบทบาทในตลาดจีนมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน CIIE อย่างแข็งขัน โดยในปีนี้มีพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารต่างชาติมากกว่า 3,000 ตารางเมตร โดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้เล็งเห็นศักยภาพของตลาดผู้บริโภคจีนและโอกาสดีในการขยายกิจการเพิ่มเติมในจีนภายหลัง การแพร่ระบาด COVID-19 สอดรับกับความพยายามที่หลายประเทศกำลังแสวงหาโอกาสฟื้นฟูเศรฐกิจภายหลัง COVID-19 พร้อมกับได้ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่หันมาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นออร์แกนิก และยั่งยืนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ แบรนด์อาหารต่าง ๆ ที่มาจัดแสดงสินค้าในงาน CIIE จึงให้ความสำคัญกับเรื่องโภชนาการ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสำคัญ (Nutrition, Health and Wellness: NHW) ซึ่งอันที่จริงก็เป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญภายใต้ BCG Economy Model[1] โดยการจัดบูธของประเทศไทย ก็อยู่ในธีม “Thailand Delivers with Safety” ด้วย
อาหารต่างชาติมุ่งเจาะตลาดจีน
ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างเช่น “เนสท์เล่” ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ระดับโลก อีกทั้งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนปรับปรุงมาตรฐานสินค้าที่ส่งออกมายังประเทศจีน รวมถึงได้ประกาศปรับโครงสร้างบริษัทใหม่เพื่อรับผิดชอบตลาดจีนโดยเฉพาะ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่บริษัทมีต่อตลาดจีน ทั้งนี้ เนสท์เล่เริ่มต้นปลูกกาแฟในมณฑลยูนนานของจีนตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และทำงานร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่นมาเป็นเวลานานหลายปี
ขณะเดียวกัน “Tyson Foods” ซัพพลายเออร์เนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลกรายหนึ่งจากสหรัฐอเมริกาก็มีความเชื่อมั่นต่อโอกาสในตลาดจีนจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภค โดยบริษัทกำลังวางแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หลายรายการเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคจีนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ บริษัท v2food ซึ่งเป็นผู้นำด้านเนื้อเทียมวีแกน (VEGAN) ของออสเตรเลียได้จับมือกับบริษัทอาหารท้องถิ่นของจีนเพื่อขยายตลาดเพิ่มเติม โดยผู้บริโภคชาวจีนจะมีตัวเลือกสำหรับอาหารที่ผลิตจากพืช (plant-based) เพิ่มเติม เช่น ซาลาเปา บะหมี่ และอาหารพร้อมรับประทานอื่น ๆ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารไทยก็ตรงกระแสความต้องการในจีน
สำหรับบริษัทอาหารของไทยในประเทศจีน ปัจจุบันบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF (เข้าร่วมจัดบูธในงาน CIIE ด้วย) ได้ใช้นวัตกรรมอาหารที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ทันสมัย ทั้งผลิตภัณฑ์สดและผลิตภัณฑ์ แปรรูปที่ควบคุมความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงผู้บริโภค รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ไก่เบญจา (Benja Chicken) ผลิตภัณฑ์พรีเมียมจากแบรนด์ยูฟาร์มซึ่งเลี้ยงด้วยข้าวกล้อง 100% จากธรรมชาติ ปลอดสาร และไม่ใส่ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโอกาสในตลาดจีน ได้แก่ กุ้งสดพรีเมียมคุณภาพสูง “หมูดำ” อาหารสำเร็จรูปวีแกนลาซ่านญ่าภายใต้แบรนด์ PURE นวัตกรรมรักษ์โลกจากประเทศเบลเยี่ยม ผลิตภัณฑ์ปลากรอบจากประเทศเวียดนาม ด้วยแนวคิด “Being the Kitchen of the World, the Supplier of Human Energy” เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีน (ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย) มีความเชื่อถือในตัวคุณภาพและมาตรฐานอาหารส่งออกของไทย
นอกจากนี้ CPF ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มของสินค้า เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ลดการใช้พลาสติก มีระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ดี เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ตลาดจีนมั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหารของ CPF ได้อย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าบริษัทอาหารต่างชาติ (รวมถึงไทย) ได้หันมามุ่งตลาดจีนเป็นสำคัญ ซึ่งนอกจากจะปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการผู้บริโภคชาวจีนยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นจีนที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ภาคเกษตรกรรม และโลจิสติกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ งาน CIIE ถือเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริโภคและช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่ผู้ประกอบการด้านอาหารจากต่างประเทศที่กำลังมองหาโอกาสขยายธุรกิจมายังประเทศจีน นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ก็ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ผู้บริโภคมีระดับการเปิดรับสินค้าและบริการจากต่างชาติค่อนข้างมากโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้ประกอบการไทยอาจเลือกทดลองสินค้าได้ก่อนที่จะขยายธุรกิจต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีนดังเช่นธุรกิจอาหารต่างชาติตามที่กล่าวมาข้างต้น
*****************************
จัดทำโดย นางสาวณัฐธิดา นิสภกุลชัย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง :
1. http://english.www.gov.cn หัวข้อ Foreign food enterprises expand business at Chinese market
2. https://www.cpfworldwide.com (เข้าชมข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2564)
[1] การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและ เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) มุ่งเน้นสาขายุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจ 5 ด้าน ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ (5) เศรษฐกิจหมุนเวียน