10 อันดับเมืองที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุดในจีน
16 May 2022เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่า สำหรับจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรที่มีรายได้ปานกลาง ทำให้จีนถูกมองว่า เป็นตลาด “เนื้อหอม” ที่มีศักยภาพและเป็นที่หมายตาของนักธุรกิจทั่วโลก ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคของจีน แต่ผู้บริโภคชาวจีนยังคงมีความต้องการและมีกำลังซื้อในระดับที่สูง ซึ่งอุปสงค์ภายในประเทศจีนมีแรงหนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนหรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 79.1 ของ GDP จีนในปี 2564 อีกทั้งยังมีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 25 ของ GDP โลก
จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างเมืองศูนย์กลางการบริโภคระดับสากล โดยเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2562 กระทรวงพาณิชย์จีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกเอกสาร “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบ่มเพาะการสร้างเมืองศูนย์กลางการบริโภคระดับสากล” และเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศว่า จะผลักดันการสร้างเมืองศูนย์กลางการบริโภคในนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครกว่างโจว นครเทียนจิน และนครฉงชิ่ง เพื่อเป็นผู้นำด้านการบริโภค ส่งเสริมการบริโภคที่ทันยุคทันสมัย ผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
เพื่อรักษาพลวัตและส่งเสริมภาคการบริโภคของจีนให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ภาพผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อเครื่องสำอาง (ภาพ : China Daily)
หากพิจารณากำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 1,400 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกและมีรายได้ต่อหัวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 จีนมีรายได้ต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 35,128 หยวน เติบโตร้อยละ 9.1 จากปี 2563 ในจำนวนดังกล่าวมีประชากรรายได้ปานกลางเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.9 ของประชากรจีนทั้งหมด ในภาพรวม จีนมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวในปี 2564 เป็นมูลค่า 24,100 หยวน เติบโตร้อยละ 12.6 จากปี 2563 และร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือช่วงก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สถิติการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวของประชากรจีนประจำปี 2564 จำแนกตามประเภทและเรียงตามสัดส่วนการใช้จ่าย ดังนี้ (1) การใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม สุรา และบุหรี่อยู่ที่ 7,178 หยวน เติบโตร้อยละ 12.2 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.8 (2) การใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยอยู่ที่ 5,641 หยวน เติบโตร้อยละ 8.2 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.4 (3) การใช้จ่ายด้านขนส่งและโทรคมนาคมอยู่ที่ 3,156 หยวน เติบโตร้อยละ 14.3 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.1 (4) การใช้จ่ายด้านการศึกษา วัฒนธรรม และความบันเทิงอยู่ที่ 2,599 หยวน เติบโตร้อยละ 27.9 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.8 (5) การใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลอยู่ที่ 2,115 หยวน เติบโตร้อยละ 14.8 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.8 (6) การใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันอยู่ที่ 1,423 หยวน เติบโตร้อยละ 13 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.9 (7) การใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าอยู่ที่ 1,419 หยวน เติบโตร้อยละ 14.6 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.9 และ (8) การใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการอื่น ๆ อยู่ที่ 569 หยวน เติบโตร้อยละ 23.2 จากปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4
จีนได้จัดอันดับเมืองที่มียอดการใช้จ่ายสูงสุดในปี 2564 จำนวน 10 เมือง โดยเปรียบเทียบจากมูลค่ายอดค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคหรือมูลค่าที่บ่งชี้ถึงความต้องการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของผู้บริโภคในแต่ละเมือง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางส่วนประเมินว่า เมืองที่มียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคหรือมีกำลังซื้อในระดับสูงจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง มีประชากรจำนวนมาก และปัจจัยประกอบอื่น ๆ อาทิ โครงข่ายคมนาคมการขนส่งที่สามารถดึงดูดการหลั่งไหลเข้าเมืองของประชากรจากเมืองข้างเคียง ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของผู้คน แรงงานทักษะ และอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (urbanization) และมีส่วนสนับสนุนกำลังการใช้จ่าย
นครเซี่ยงไฮ้ เมืองท่าทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางด้านการค้าและการเงินที่สำคัญของจีนที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ได้ถูกจัดเป็นเมืองที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุดในจีน โดยการบริโภคของชาวเซี่ยงไฮ้มีแนวโน้มที่จะช่วยสนับสนุนการยกระดับการบริโภคในประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) เห็นได้ชัดจากมูลค่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของชาวเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเติบโตร้อยละ 24.7 โดยในจำนวนดังกล่าว ยอดค้าปลีกประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น (1) เครื่องประดับทอง เงิน และอัญมณี เติบโตร้อยละ 30.3 (2) เครื่องสำอางเติบโตร้อยละ 15.7 และ (3) ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนในที่ทำงานเติบโตร้อยละ 40.1 ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของนครเซี่ยงไฮ้มีมูลค่าอยู่ที่ 1.81 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 13.5 จากปี 2563
กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงและศูนย์กลางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจปักกิ่ง (จิง) – เทียนจิน (จิน) – เหอเป่ย (จี้) (Beijing – Tianjin – Hebei Region) ถูกจัดอยู่อันดับที่ 2 โดยเมื่อปี 2564 มูลค่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 1.49 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 8.4 จากปี 2563 ในจำนวนดังกล่าว ยอดค้าปลีกด้านอาหารและเครื่องดื่มเติบโตร้อยละ 27.5 นอกจากนี้ ในปี 2563 ประชากรชาวปักกิ่งมีการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์กว่าร้อยละ 80.3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าประเภท (1) เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.6 (2) ของใช้ในชีวิตประจำวัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.1 (3) อาหาร เครื่องดื่ม สุรา และบุหรี่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.8 และ (4) เครื่องสำอาง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.6 เป็นต้น ทั้งนี้ กรุงปักกิ่งยังผลักดันการบริโภคในรูปแบบใหม่ที่เข้าสู่ความเป็นอัจฉริยะหรือการพัฒนาเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ด้านความบันเทิงทางออนไลน์และบริการการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ เป็นต้น และผลักดันการอำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยในการบริโภคสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และพาณิชย์อิเล็กทรอกนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce) ด้วย
นครฉงชิ่ง เมืองที่มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและเป็นส่วนสำคัญของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land – Sea Trade Corridor: NILSTC) ถูกจัดอยู่อันดับที่ 3 นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและมีข้อได้เปรียบในฐานะตลาดที่มีประชากรมากถึง 32 ล้านคน หรือเทียบเท่าประชากรของมณฑลซานซี ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของนครฉงชิ่งอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านหยวน เติบโตสูงถึงร้อยละ 18.5 จากปี 2563
นครกว่างโจว เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องตลาดขายส่งขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีแนวหน้าของจีน และเป็นเครื่องจักรที่สำคัญของกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) ถูกจัดอยู่อันดับที่ 4 โดยในปี 2564 มูลค่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของนครกว่างโจวอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านหยวนเติบโตร้อยละ 9.8 จากปี 2563
เมืองที่ถูกจัดอยู่ใน 4 อันดับแรกข้างต้นล้วนมีมูลค่าการอุปโภคบริโภคมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน อันดับถัดไป ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น นครเฉิงตู และเมืองซูโจว ตามลำดับ ซึ่งมียอดการใช้จ่ายของประชากรในแต่ละเมืองเป็นมูลค่ามากกว่า 9 แสนล้านหยวน นอกจากนี้ นครหนานจิง นครอู่ฮั่น และนครหางโจว มียอดการใช้จ่ายของประชาชนรองลงมาตามลำดับ
ภาพผู้บริโภคชาวจีนกำลังเลือกซื้อผลไม้ในซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่ง (ภาพ : China Daily)
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพรวมกำลังการซื้อและแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเมืองต่าง ๆ ของจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ลงทุน ประกอบธุรกิจในจีน หรือต้องการส่งออกสินค้าไทยมายังจีน จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเมืองเป้าหมายอย่างละเอียดและครอบคลุม อาทิ กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ ห่วงโซ่อุปทาน และวัฒนธรรมการอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการของไทยให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงและเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ ข้อมูลการจัดอันดับข้างต้นยังสะท้อนว่าเมืองที่มีกำลังการซื้ออันดับต้น ๆ ของจีนล้วนมีที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจ เขตกลุ่มเมือง (cluster city) หรือระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน อาทิ YRD GBA และ NILSTC เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทย – จีนให้ความสำคัญและมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันผลักดันการเชื่อมโยงทั้งในระดับนโยบายและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างภาคเอกชน จึงน่าจะเป็นการดีหากผู้ประกอบการไทยจะศึกษาข้อมูลของกลุ่มเมืองรอบข้าง เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านตลาดและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย
* * * * * * * * * *
จัดทำโดย : นางสางอังศุมา รัตนโกสินทร์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล :
2021年十大消费城市
https://www.chinanews.com.cn/cj/2022/02-17/9678413.shtml
2021年居民收入和消费支出情况
http://www.gov.cn/shuju/2022-01/17/content_5668748.htm
经济总量114.4万亿元、超世界人均GDP水平……2021年中国经济亮点!
http://www.gov.cn/xinwen/2022-01/17/content_5668815.htm
2021年全国出生人口1062万人 人口增加48万人
https://www.chinanews.com.cn/cj/2022/02-28/9687728.shtml
2021北京居民网购专项调研:升级趋势显著
https://xw.qq.com/cmsid/20211115A0APBT00?pgv_ref=baidutw
新型消费打开内需新空间 各地推出消费新场景新体验
https://caijing.chinadaily.com.cn/a/202205/08/WS62776317a3101c3ee7ad44c9.html