จับตาเทรนด์บริโภคของชาวจีนในยุคหลังโควิด โอกาสและความเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคอาหารที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้!
29 Dec 2022ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั่วประเทศหลังบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องถึงสามปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การควบคุมที่เข้มงวดจะจบลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยชาวจีนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อยังคงต้องพักรักษาตัวที่บ้าน และบางส่วนที่มีความกังวลยังคงหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านพบปะเพื่อฝูงหรือรับประทานอาหารนอกบ้านอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบทำให้รูปแบบพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปในบทความนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จะมาเล่าถึง “เทรนด์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มของจีน” เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจสามารถพิจารณารูปแบบสินค้าที่เหมาะสมและตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนในยุคหลังโควิด-19 นี้
ข้อมูลจากบริษัท Kantar Worldpanel ปี 2565 เผยว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ เครื่องดื่มอัดลมไม่มีน้ำตาล เยลลี่อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และนมโปรตีน ในขณะเดียวกัน แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มในจีนต่างปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและความรู้สึกลงไปในสินค้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่อีกด้วย แต่ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ภายหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มที่ต้องติดตาม ดังนี้
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว
สินค้าอาหารสำหรับ “หม้อทอดไร้น้ำมัน” ในช่วงที่ผ่านมา หม้อทอดไร้น้ำมัน (Air Fryer) เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ได้รับความนิยมในจีนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการใช้งานที่สะดวกและสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายมากกว่าเตาอบหรือไมโครเวฟ ดังนั้น ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีนต่างมุ่งเน้นการพัฒนาให้หม้อทอดไร้น้ำมันสามารถ ปรุงอาหารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ ผู้ผลิตสินค้าอาหารต่างเริ่มหันมาผลิตสินค้าสำหรับหม้อทอดไร้น้ำมัน เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันมากขึ้นด้วย เช่น เหอหม่า (盒马) ซูปเปอร์มาเก็ตและแพลตฟอร์มค้าปลีกแนวใหม่ที่อยู่ภายใต้การบริการของบริษัทในเครืออาลีบาบา ได้ออกผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับหม้อทอดไร้น้ำมันโดยเฉพาะ อาทิ ปูทอดกระเทียม และหมูกรอบ และบริษัทอาหารซานฉวน (三全) ได้ออกผลิตภัณฑ์ อาทิ ลูกชิ้นทอด หมูชุบแป้งทอด และไส้กรอกย่าง เป็นต้น
เครื่องปรุงรสสำเร็จรูป นอกเหนือจากอาหารสำเร็จรูปที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มสินค้าอาหารที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน โดยเฉพาะ “ซุปหม้อไฟสำเร็จรูป” ซึ่งผู้บริโภคสามารถรับประทานซุปหม่าล่า ชาบู หรือหม้อไฟได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยตลาดเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2565 ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสำเร็จรูปจะมีมูลค่าสูงถึง 1.78 แสนล้านหยวน (25,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เน้นสุขภาพกายและใจ
สินค้าเพื่อสุขภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือจากความอิ่มท้องแล้ว คุณค่าทางความรู้สึกที่ผู้บริโภคจะได้จากสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญสำหรับการแข่งขันในตลาดสินค้าอาหารในจีน ผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสนใจ “ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบรรเทาความกังวลด้านสุขภาพ” มากขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย “เอกสาร ปกขาวว่าด้วยการปรับปรุงสุขภาพแห่งชาติและภูมิคุ้มกันในยุคหลังการระบาดใหญ่หลังปี 2021” ของ iResearch ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวจีนมากกว่าร้อยละ 90 เริ่มหันมาให้ความสนใจในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของตนเพื่อเผชิญหน้ากับโรคระบาด โดยนอกจากการออกกำลังกายให้แข็งแรงแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการใช้จ่ายในการซื้ออาหารเพื่อสุขภาพเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันอีกด้วย
เครื่องดื่ม DIY ข้อมูลจากบทวิเคราะห์เทรนด์ผู้บริโภคของโลกในปี 2565 (Global Consumer Trends 2022) ที่จัดทำโดยบริษัท Mintel ระบุว่า ในช่วงการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด เครื่องดื่ม DIY หรือเครื่องดื่มที่สามารถปรับสูตรได้เองเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเยียวยาจิตใจให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี บทวิเคราะห์เทรนด์ตลาดผู้บริโภคของจีน ประจำปี 2565 ที่จัดทำโดยบริษัท CTR ระบุว่า เมื่อช่วงเดือนมกราคา – มิถุนายน 2565 ยอดจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปขยายตัวกว่าร้อยละ 42 และนมข้าวโอ๊ต ขยายตัวกว่าร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 รวมถึง เทรนด์การค้นหา “สูตรกาแฟ+นม” ได้กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟสำเร็จรูปในจีนนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแข่งขันสูงในจีน โดยผู้ผลิตต่างใช้เทคโนโลยีเพื่อถนอมกลิ่น รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการไว้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการผสมและจับคู่ชากาแฟกับผลิตอื่น ๆ อาทิ น้ำผลไม้ ก็ได้กลายเป็นจุดขายที่สามารถดึงดูผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่ม ‘Work from Home’
Work from Home หรือการทำงานที่บ้านกลายเป็นรูปแบบการทำงานในยุคโควิด-19 และยุคหลังโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในจีน การทำงานที่บ้านในบรรยากาศที่ผ่อนคลายอาจทำให้ความตื่นตัวลดลง และอาจทำให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชา จนอาจกระทบต่อประสิทธิภาพและสมาธิในการทำงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่ม Work Form Home โดยอาจแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ (1) ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการทำงาน โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เกิดความกระปรี่กระเปร่า กระตุ้นสมอง และทำให้เกิดสมาธิในการทำงาน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง หรือลูกอมต่าง ๆ (2) ผลิตภัณฑ์บรรเทาความอ่อนล้าจากการ โดยเฉพาะในช่วงพักที่ผู้บริโภคต้องการจะฟื้นฟูร่างกายให้คืนสู่สภาพพร้อมทำงานอีกครั้ง เช่น กาแฟสำเร็จรูป หรือชาผลไม้ (3) ผลิตภัณฑ์ให้พลังงาน ที่ตรงกับจุดประสงค์ของอาหารแต่ละมื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปแบบรับประทานได้ทันที เช่น มื้อเช้าต้องเสริมพลังงานช่วยให้พร้อมทำงาน มื้อเที่ยงต้องสะดวกรวดเร็ว เป็นต้น (4) ผลิตภัณฑ์ขบเคี้ยวยามบ่าย หลังความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ผู้บริโภคต้องการเติมความสุขด้วยการบริโภคตามใจโดยที่ไม่ละเลยสุขภาพจนเกินไป เช่น ช็อกโกแลตแคลเลอรีต่ำ ถั่วอบกรอบต่าง ๆ เป็นต้น
บรรจุภัณฑ์เก็บได้นานและขนาดกระทัดรัด
ถุงรีทอร์ตเพาช์ แนวโน้มความนิยมในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในยุคหลังโควิด-19 นอกจากจะเน้น ความสะดวกในการรับประทานแล้ว แต่ยังต้องคำนึงถึง “ระยะเวลาในการเก็บรักษา” ด้วย โดยบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสำเร็จรูปที่กำลังได้รับความนิยมและตอบโจทย์ดังกล่าวในจีน คือ ถุงรีทอร์ตเพาช์ (Retort Pouch) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสำเร็จรูปที่ทำมาจากฟิล์มหลายชั้น มีความแข็งแรง ทนความร้อนสูง สามารถเก็บรักษาคุณภาพอาหารได้นาน อีกทั้งยังสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้ด้วย
บรรจุภัณฑ์กระทัดรัด ในช่วงโควิด-19 และช่วงหลังโควิด-19 อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเป็นอีกรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนที่นิยมซื้ออาหารแช่แข็งต่างประสบปัญหาพื้นที่ในตู้เย็นไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่กำลังพิจารณานำสินค้าทั้งแช่แข็งและสินค้าทั่วไปเข้ามาทำตลาดในจีน อาจต้องพิจราณา “ขนาดบรรจุภัณฑ์” ที่มีขนาดกระทัดรัด สามารถเก็บในพื้นที่ที่จำกัดได้ ซึ่งขนาดของสินค้าอาจเป็นจุดขายสำคัญที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคชาวจีนได้เช่นกัน
ข้อมูลจากบทวิเคราะห์เทรนด์ผู้บริโภคของโลกในปี 2565 (Global Consumer Trends 2022) โดยบริษัท Mintel ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนกว่าร้อยละ 68 ควบคุมการใช้จ่ายและกำหนดงบประมาณอย่างเข้มงวด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการนำสินค้าเข้ามาในจีน นอกเหนือจากการพิจารณาประเภทสินค้า รูปแบบและขนาดของบรรจุภัณฑ์ อาจจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนสินค้าเพื่อให้สินค้าของท่านสามารถสร้างความได้เปรียบด้านราคา และช่วยให้สินค้าสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ปัจจุบัน ถึงแม้การดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดที่เข้มงวดจะผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ได้คลี่คลายลงโดยสิ้นเชิง การกักตัวอยู่ในบ้านหลังการติดเชื้อยังคงเป็นแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดจีนหลังยุคโควิด-19 สามารถนำสินค้าที่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ในจีน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ตลอดจนเกื้อหนุนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 นี้
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง