เส้นทางอุตสาหกรรมความงามไทยในจีน ที่มือใหม่ควรรู้
11 Jul 2019งาน China Beauty Expo ถือเป็นงานจัดแสดงผลิตภัณฑ์ความงามนานาชาติอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมความงาม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการขยายตลาดในจีน ซึ่งในปีนี้ มีความพิเศษที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศเกียรติยศในงานต่อเนื่องจากเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ที่ได้เป็นประเทศเกียรติยศในช่วง 3 ปีทีผ่านมา ทำให้ปีนี้มีบริษัทชั้นนำของไทยที่ได้รับเชิญให้มาร่วมงานมากมาย อาทิ Mistine/ BSC/ Snail White ฯลฯ ซึ่งช่วยตอกย้ำว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ความงามจากไทยกำลังได้รับความสนใจในจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นิทรรศการปีนี้เป็นงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมความงามตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ โดยไม่เพียงแต่รวบรวมผู้ซื้อผู้ขายทุกช่องทางกว่า 3,500 บริษัท จาก 40 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังรวมเหล่านักวิจัยและพัฒนาไว้ในงาน นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการได้พบกับลูกค้าหรือคู่ค้าในการทำธุรกิจอีกด้วย โดยนิทรรศการได้แบ่งการจัดแสดงสินค้าออกเป็น 4 หมวดหลัก ๆ ภายใต้พื้นที่ทั้งหมด 2.6 แสนตารางเมตร ของศูนย์นิทรรศการ Shanghai New International นครเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์เคมีสำหรับชีวิตประจำวัน และวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งตลอด 3 วัน ก็มีผู้เยี่ยมชมงานมากถึง 5.21 แสนคน
ในปีนี้ ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมคูหาของประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวจีนอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนของลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมที่บูธอย่างไม่ขาดสาย ในบทความนี้ BIC จึงได้สรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมความงามที่เข้ามาที่ตลาดในจีนแล้ว เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อีกทั้งข้อควรรู้ก่อนเข้าตลาดจีนมาฝากกันเช่นเคย
Chan & Yupa Wellness Spa (ผลิตภัณฑ์สปา)
บริษัทฯ ได้ร่วมงาน China Beauty Expo ปีนี้เป็นปีแรกเนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในตลาดจีน จึงได้ตัดสินใจร่วมออกบูธในจีนเป็นครั้งแรก โดยตลอดงาน บริษัทฯ ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวจีนที่ชื่นชอบความสวยความงาม จึงนับว่าประสบความสำเร็จในการทดลองสินค้าครั้งนี้ และเห็นว่าบริษัทอื่น ๆ ที่อยากจะขยายตลาดในจีน สามารถเลือกใช้วิธีการออกบูธงานแสดงสินค้าตามประเภทของผลิตภัณฑ์ เพื่อทดลองตลาดในจีนก่อนได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เก็บข้อมูลเพื่อนำไปปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับรสนิยมผู้บริโภคจีนได้อีกด้วย
Chiangmaii (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและสปา)
เป็นแบรนด์ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2561 แต่ได้กระแสตอบรับดีในตลาดจีนปัจจุบัน ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกบูธในจีนอย่างต่อเนื่อง อาทิ งาน China Beauty Expo และงาน Thai Festival ที่จัดขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งล้วนเป็นช่องทางที่ดีในการนำสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน ทั้งนี้ เคล็ดลับการทำธุรกิจในจีนที่สำคัญคือ การเลือก distributor ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างมาก โดยบริษัทฯ ใช้ระยะเวลากว่า 6 เดือนในการศึกษาหุ้นส่วนชาวจีนคนปัจจุบันก่อนจะตกลงรวมทุนจัดตั้งบริษัทขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือ ความมีเอกลักษณ์และคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะช่วยทำให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญจะต้องระวังเรื่องการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบด้วย
Dai Tisud (ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและสปา)
แบรนด์ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและสปาที่ผลิตในไทยและใช้วัตถุดิบจากประเทศไทย และปัจจุบันมีจำหน่ายแล้วทั้งในไทยและจีน โดยการทำตลาดในจีนนั้น บริษัทได้เริ่มเข้ามาในช่องทางออนไลน์ ก่อนจะขยายช่องทางขายผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เช่น Watson ซึ่งเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ความงามของไทยเป็นที่นิยมมากในตลาดจีน อย่างไรก็ดี Dai Tisud เอง ก็พบอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าการรับรองเอกสารที่แปลจากไทยเป็นจีน เอกสารจดทะเบียนการค้า และเอกสารรับรองอาหารและยา นอกจากนี้ ยังมีภาษีที่ต้องจ่ายให้กับทั้งทางไทยและจีน ขณะที่การรับรอง อ.ย. ไทย – จีน ก็ยังไม่เชื่อมโยงกัน จึงต้องเดินเรื่องในส่วนของทั้งสองประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่กำลังวางแผนจะเข้ามายังตลาดจีน ก็ควรต้องเตรียมพร้อมในเรื่องเอกสารไว้ให้ดี
Jula’s Herb (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว)
Jula’s Herb เล่าว่า ก็เป็นอีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจากหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะชาวจีน จึงเล็งเห็นโอกาสและอยากจะขยายตลาดมายังจีนแต่ก็ยังเน้นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวจีนที่ไปเที่ยวที่ประเทศไทยให้ซื้อกลับมามากกว่า ซึ่งช่องทางหลักที่ใช้ในการชี้เป้าผลิตภัณฑ์ให้แก่ชาวจีนคือ การใช้ Key Leader Opinion (KOL) ให้ถ่ายวีดิโอแนะนำการซื้อสินค้าตามจุดจำหน่ายต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนรู้ว่าจะหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหน แล้วเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชัน Douyin/ Taobao/ และ Little Red Book นอกจากนี้ ยังมีการซื้อโฆษณาผลิตภัณฑ์ในรายการโทรทัศน์จีน
ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทฯ จะเข้าจีนมา 1 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหาคู่ค้าที่เหมาะสมได้ เนื่องจากหากเป็นตัวแทนจำหน่ายรายเล็ก ก็จะไม่มั่นใจในศักยภาพของตัวผู้แทนจำหน่าย แต่หากเป็นรายใหญ่ ก็มักจะโดนกดราคา ทำให้การเจรจาธุรกิจยังไม่ลงตัว บริษัทฯ จึงมองว่าการมาออกบูธที่งาน China Beauty Expo น่าจะช่วยเปิดโอกาสให้ ได้พบกับดีลเลอร์ที่ถูกใจนั่นเอง และเห็นว่าในการทำธุรกิจกับจีนนั้น จะต้องเลือกคู่ค้าให้ดี การร่วมงานแสดงสินค้าในจีนจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ได้พบกับคู่ค้าทางธุรกิจ
จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านความงามของไทยที่เข้ามาเปิดตลาดในจีนส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ก็ยังเลือกที่จะเข้ามาในสมรภูมิการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ก็เพราะว่าทุกปัญหานั้นมีทางแก้ไขและป้องกัน โดย BIC หวังว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ที่สนใจตลาดจีนวางแผนเตรียมรับมือกับปัญหาที่แบรนด์รุ่นพี่ได้มาเล่าสู่กันฟังในโอกาสนี้
จัดทำโดย: นางสาวพรฤทัย ศักดิ์สกุลพรชัย และนายดรุณ จิรวารศิริกุล/ ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: การเข้าร่วมงาน The 24th China Beauty Expo ณ ศูนย์นิทรรศการ Shanghai New International นครเซี่ยงไฮ้