คนจีนยุคใหม่เน้นออกกำลังกาย.. โอกาสที่ท้าทายของธุรกิจไทยกำลังมาถึง!!
23 Oct 2019สังคมจีนยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยให้ความสำคัญเรื่องปากท้องมาเป็นใส่ใจเรื่องสุขภาพร่างกาย ด้วยปัจจัยจากฐานะเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนจีนจำนวนมากจึงได้กลายเป็นผู้รักการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เป็นต้น แนวโน้มการขยายตัวของผู้รักการออกกำลังกายและพฤติกรรมการจับจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ได้สะท้อนถึงโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจเพื่อสุขภาพและการกีฬาของไทยในจีน!!
เผยสถิติน่าสนใจ.. เซี่ยงไฮ้ / ปักกิ่งครองแชมป์คนรักการออกกำลังกาย
ข้อมูลสถิติจากกรมการกีฬาแห่งชาติจีนระบุว่า เมื่อปี 2561 มีคนจีนที่เข้าร่วมกิจกรรมการกีฬาและการออกกำลังกายมากถึง 421 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง อีกทั้งยังมีโอกาสขยายตัวขึ้นอีกมากในอนาคต โดยเมื่อถึงปี 2568 จะมีจำนวนคนจีนดังกล่าวสูงถึง 500 ล้านคน
** คนที่เข้าร่วมกิจกรรมการกีฬาและการออกกำลังกาย หมายถึง คนที่มีกิจกรรมกีฬาหรือออกกำลังไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
และใช้เวลาทำกิจกรรมมากกว่า 30 นาทีต่อครั้ง
ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลสถิติธุรกิจด้านการออกกำลังกายจาก GymSquare ประจำปี 2561 ระบุว่า ทั่วทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ (ไม่นับรวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) มีฟิตเนสเซ็นเตอร์และฟิตเนสสตูดิโอรวมถึง 46,050 แห่ง โดย 5 อันดับเมืองแรกที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น กว่างโจว และเฉิงตู
** ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คือ ศูนย์ออกกำลังกายซึ่งลงทุนในรูปแบบบริษัท มีอุปกรณ์เครื่องออกกำลังกายค่อนข้างครบถ้วน
** ฟิตเนสสตูดิโอ คือ สถานที่ออกกำลังกายขนาดเล็ก ซึ่งลงทุนในรูปแบบส่วนตัวโดยเทรนเนอร์
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Keep หนึ่งใน app ยอดนิยมของคนรักการออกกำลังกายในจีนชี้ว่า ล่าสุดจนถึงเดือน มิ.ย. 2562 มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกของ Keep app แล้วถึง 200 ล้านคน โดยมีความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ Keep app เฉลี่ยต่อเดือนที่ 40 ล้านคน และมีจำนวนผู้แชร์เรื่องราวประสบการณ์การออกกำลังผ่าน Keep app มากถึง 6 ล้านคนต่อวัน!! จากความสำเร็จในการพัฒนา Keep app จนกลายเป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนจีนที่รักการออกกำลังกาย ผู้บริหาร Keep จึงได้ต่อยอดหันมาทุ่มทุนสร้าง Keepland (ฟิตเนสเซ็นเตอร์) ในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งแล้ว 14 แห่ง ด้วยเล็งเห็นว่าคนจีนยุคใหม่ในหัวเมืองใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มุ่งเน้นการออกกำลังกายค่อนข้างมาก
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันมีคนจีนจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในหัวเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนของฟิตเนสเซ็นเตอร์และฟิตเนสสตูดิโอที่ตั้งกระจุกตัวมากกว่าเมืองอื่น ๆ ของจีน
คนจีนกล้าจ่ายกล้าใช้.. กีฬาไทยเพื่อสุขภาพไม่ควรพลาดโอกาส
รายงานจากสำนักงานสังคมศึกษาในคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนระบุว่า ขนาดตลาดการใช้จ่ายด้านการกีฬาของจีนในปี 2561 มีมูลค่าสูงเกือบ 1 ล้านล้านหยวน ขณะเดียวกัน เนื้อหาในรายงานแผนงานด้านการออกกำลังกายของประชานจีนซึ่งจัดทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า เมื่อถึงปี 2563 มูลค่าการใช้จ่ายด้านการกีฬาของจีนจะสูงถึง 1.5 ล้านล้านหยวน โดยค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาเฉลี่ยต่อหัวจะอยู่ที่ 3,448 หยวน
จากตัวเลขสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาของคนจีนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่าในอนาคตตลาดการบริโภคด้านการกีฬายังมีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยหนึ่งมาจากการที่คนจีนมีรายได้ที่สูงขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การใช้จ่ายด้านการกีฬานั้นครอบคลุมถึงการจับจ่ายซื้อสินค้าหรืออุปกรณ์การกีฬา สื่อสิ่งพิมพ์หรือนิตยสารการกีฬา การใช้จ่ายเพื่อเข้าชมการแข่งขัน การแสดง หรืองานแฟร์ในด้านกีฬา ตลอดจนการใช้จ่ายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา คอร์สออกกำลังกาย และกิจกรรมการรักษาสุขภาพ เป็นต้น
พฤติกรรมการจับจ่ายดังกล่าวได้สะท้อนถึงโอกาสของกีฬาไทยดังเช่น “มวยไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในคอร์ส ออกกำลังกายที่ฟิตเนสหลายแห่งในจีนเริ่มนำมาเป็นจุดขายใหม่ ปัจจัยหนึ่งมาจากความชื่นชอบและสนใจมวยไทยที่มีมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคนจีนได้ไปเที่ยวประเทศไทย รวมถึงได้ชมการแสดงหรือการแข่งขันมวยไทยในช่องทางสื่อต่าง ๆ เป็นต้น โดยมวยไทยเป็นคอร์สออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและกล้ามเนื้อทุกสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ออกกำลังกายวัยรุ่นของจีน
ความนิยมแผ่ขยาย.. ความท้าทายที่ “มวยไทย” ต้องรับมือ
จากการค้นหาข้อมูลใน Baidu.com ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ search engine ยอดฮิตของจีนพบว่า ล่าสุดในเซี่ยงไฮ้มีฟิตเนสเซ็นเตอร์และฟิตเนสสตูดิโอที่เปิดคอร์สสอนออกกำลังกายด้วยมวยไทยรวม 46 แห่ง ปักกิ่ง 41 แห่ง กว่างโจว 21 แห่ง เซินเจิ้น 20 แห่ง และเฉิงตู 23 แห่ง ทั้งนี้ ถึงแม้สัดส่วนฟิตเนสที่เปิดสอนมวยไทยจะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนฟิตเนสทั้งหมดทั่วจีน (46,050 แห่ง) ทว่า นับเป็นกระแสความนิยมหนึ่งที่น่าจับตามองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง
ปัจจุบัน แม้ว่ามวยไทยได้เริ่มมีความนิยมและมีโอกาสเติบโตในจีน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายบางส่วน อาทิ
- ค่านิยมชมชอบ โดยยังมีกลุ่มคนจีนลัทธิชาตินิยมบางส่วนที่ยังปิดกั้นและไม่ยอมรับวัฒนธรรมกีฬาจากต่างชาติ ซึ่งมองว่าควรเชิดชูกีฬาดั้งเดิมประจำชาติมากกว่า กลุ่มคนส่วนนี้ยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมมวยไทย มองว่ามวยไทยเป็นกีฬาที่ทำร้ายร่างกาย จึงทำให้มวยไทยยังไม่ได้เป็นที่นิยมกันทั่วทุกกลุ่มคนจีน
- การลงทุนเชิงธุรกิจ โดยมวยไทยถือเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จำเป็นต้องฝึกฝนเรียนรู้จากต้นตำรับครูมวยไทย เทรนเนอร์ในจีนยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งเทรนเนอร์คนจีนมีต้นทุนการเรียนรู้วิชาที่สูง (ต้องไปเรียนวิชามวยที่ไทย) ขณะที่เทรนเนอร์คนไทยถือเป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติที่อัตราค่าจ้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเทรนเนอร์ท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้ลงทุนเชิงธุรกิจที่เปิดคอร์สฝึกอบรมมวยไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ไม่สามารถขยายคอร์สมวยไทยให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับคอร์สสอนโยคะ เป็นต้น
- ข้อจำกัดเรื่องเทรนเนอร์ต่างชาติ บุคคลต่างชาติที่จะเข้าทำงานในจีนจำเป็นต้องขอใบอนุญาตการทำงาน (work permit) โดยมีข้อจำกัดว่า ผู้ที่จะขอยื่นใบอนุญาตนั้นจะต้องมีองค์กรหรือบริษัทในจีนเป็นหน่วยงานต้นสังกัดรับรองการว่าจ้าง ต้องเป็นบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศจีนขาดแคลนและกำลังเป็นที่ต้องการเร่งด่วน ต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีพร้อมมีประสบการณ์ในสายงานวิชาชีพนั้น ๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ปีขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งมีความยุ่งยากในกระบวนการยื่นขอและต้องใช้เวลาพอสมควร
“FIBO CHINA SHANGHAI”.. โอกาสใหม่นำธุรกิจเพื่อสุขภาพและกีฬาไทยสู่จีน
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานราชการและเอกชนทั้งในไทยและจีนได้ร่วมกันส่งเสริมธุรกิจและภาพลักษณ์ของการกีฬาไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพไทย-จีน การแข่งขันมวยไทยในจีน หรือการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมมวยไทยในจีน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสร้างความนิยมไทยให้เกิดขึ้นในจีน
ช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเผยแพร่ความรู้ความนิยมทางการกีฬาและขยายโอกาสเพื่อธุรกิจด้านกีฬาและสินค้าเพื่อสุขภาพของไทย คือ งานแฟร์กีฬาและสุขภาพระดับนานาชาติอย่างเช่น FIBO CHINA ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องในเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปี 2557 นับเป็นงานแฟร์ขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศทั่วโลก ภายในงานมีการแบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 3 โซน ได้แก่
“FIBO EXPERT” โซนเครื่องมือและอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ฟื้นฟูสุขภาพ อุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับสปา
“FIBO PASSION” โซนแนะนำคอร์ออกกำลัง รองเท้ากีฬา แฟชั่นกีฬา และผลิตภัณฑ์สปา
“FIBO POWER” โซนอาหารเสริมสมรรถนะร่างกาย ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
สำหรับในปีนี้ งาน FIBO CHINA 2019 ได้จัดขึ้นแล้วที่ศูนย์นิทรรศการแห่งชาติจีน (เซี่ยงไฮ้) เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำเข้าคณะเข้าร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและความรู้เกี่ยวกับศิลปะมวยไทยด้วย โดยในปีหน้างานนิทรรศการนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2563
บทส่งท้าย
คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้คนจีนจำนวนมากหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น พร้อมกับมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อการออกกำลังกายและสุขภาพเพิ่มขึ้น แนวโน้มดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนโอกาสในธุรกิจด้านการกีฬาไทยแล้ว ยังบ่งชี้ถึงโอกาสให้แก่สินค้าไทยที่มีจุดขายเรื่องสุขภาพร่างกายด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ (รังนก / ธัญพืช) เครื่องดื่มเสริมสร้างกำลังกาย ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนยางพารา หรือผลิตภัณฑ์สปาเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง/ ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
http://m.sohu.com หัวข้อ “重磅| 《2018中国健身产业数据报告》正式发布” วันที่ 17/01/2562
www.shxwcb.com หัวข้อ “上海人这么爱运动!运动的细分人群,成为商业化的重要运营池” วันที่ 29/06/2562
http://dy.163.com หัวข้อ “2018中国体育消费市场综合分析”วันที่ 17/04/2562
บทวิจัยเรื่อง “泰拳在我国发展的现状及对策分析”โดย 吴鹏 วิทยาลัยกีฬานครอู่ฮั่น
วิทยานิพนธ์เรื่อง “我国泰拳运动发展的困境与路径选择”ของวิทยาลัยกีฬานครอู่ฮั่น
www.softlandings.com.cn หัวข้อ“外国人来华工作签证”
www.sohu.com หัวข้อ“参观指南|FIBO CHINA 2019 最全畅游攻略”วันที่ 20/08/2562