นโยบายและแนวปฏิบัติของจีนในการจัดการขยะพลาสติก
1 May 2020จีนเริ่มออก “คำสั่งเพื่อจำกัดการใช้พลาสติก (限塑令) ” ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 โดยห้ามซุปเปอร์มาเก็ตและตลาดต่าง ๆ ให้ถุงพลาสติกฟรีแก่ผู้บริโภค ซึ่งในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบัน ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของซุปเปอร์มาเก็ตและตลาดต่าง ๆ ในจีนลดลงเฉลี่ย 2 แสนตันต่อปี อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวมีผลที่จำกัดเนื่องจากผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพื่อความสะดวก ทำให้ “คำสั่งเพื่อจำกัดการใช้พลาสติก” กลายเป็น “คำสั่งขายถุงพลาสติก (ขายราคาตั้งแต่ 0.3-1.5 หยวน)” แทน
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผลิตและบริโภคพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการผลิตวัตถุดิบพลาสติกเฉลี่ยกว่า 100 ล้านตันต่อปี และบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกกว่า 60 ล้านตันต่อปี และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของการซื้อของออนไลน์และการสั่งอาหารออนไลน์ในจีนมีผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2563 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) และกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน ได้ร่วมกันประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อจัดการขยะพลาสติก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เป้าหมายของการจัดการขยะพลาสติกในภาพรวม ได้แก่
- ในปี 2563 จีนจะเริ่มห้าม/จำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในพื้นที่บางส่วนและสาขาธุรกิจบางสาขา (รายละเอียดตามข้อ 2.2)
- ภายในปี 2565 ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งจะมีการลดลงอย่างชัดเจน การใช้สินค้าทดแทนได้รับการเผยแพร่ในจีน อัตราการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นทรัพยากรหรือพลังงานจะมีการเพิ่มขึ้นในระดับสูง และจะพัฒนารูปแบบปรับลดการใช้พลาสติกและโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาธุรกิจที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกอย่างหนัก เช่น ธุรกิจ E-Commerce ธุรกิจให้บริการไปรษณีย์ด่วน และธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบลดการใช้พลาสติกเหล่านี้จะสามารถเผยแพร่ใช้ในทั่วจีนได้
- ภายในปี 2568 จีนจะสร้างระบบบริหารจัดการขื้นพ้นฐานสำหรับการผลิต การหมุนเวียน การบริโภค และการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีทุกฝ่ายเข้าร่วม ได้แก่ ภาครัฐ บริษัท สมาคมธุรกิจ และ ปชช. ทั่วไป ซึ่งจะมีการยกระดับในการพัฒนาและการใช้สินค้าทดแทน อัตราการฝังขยะพลาสติกของเมืองใหญ่ในจีนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และขยะพลาสติกได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิผล
2. มาตรการห้าม/จำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก
2.1 ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ห้ามผลิตและห้ามจำหน่าย ได้แก่ (1) ห้ามผลิตและจำหน่ายถุงช้อปปิ้งพลาสติกบางที่มีความหนาน้อยกว่า 0.025 มม. และพลาสติกคลุมดินที่มีความหนาน้อยกว่า 0.01 มม. (2) ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกทุกประเภท (3) ห้ามนำเข้าขยะทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (4) ภายในปี 2563 ห้ามผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์รับประทานอาหารและก้านสำลีพลาสติกใช้แล้วทิ้ง รวมทั้งห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ประจำวันที่มีเม็ดพลาสติกเป็นส่วนประกอบ (เช่น เม็ดพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 2 มม. ในเครื่องสำอาง) และ (5) ภายในปี 2565 ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของใช้ประจำวันที่มีเม็ดพลาสติกเป็นส่วนประกอบ
2.2 ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ห้าม/จำกัดการใช้
- ถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (non-degradable) ภายในปี 2563 ห้ามใช้ถุงพลาสติก non-degradable ที่ห้างสรรพสินค้า ซุปเบอร์มาเก็ต ร้านจำหน่ายยา ร้านหนังสือ ร้านอาหารและงานนิทรรศการต่าง ๆ ในเมืองที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีน (กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน นครเซี่ยงไฮ้ และ นครฉงชิ่ง) เมืองเอกของแต่ละมณฑล/เขตปกครองตนเอง และอีก 5 เมืองใหญ่ในจีน ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เมืองเซี่ยเหมิน เมืองชิงต่าว เมืองต้าเหลียน และเมืองหนิงโป รวมทั้งลดการใช้ถุงพลาสติก non-degradable ในตลาดนัด และครอบคลุมถึงเมืองส่วนใหญ่ในจีนและอำเภอต่าง ๆ ในชายฝั่งทะเลของจีนภายในปี 2565 และจะห้ามใช้ถุงพลาสติก non-degradable ในพื้นที่ดังกล่าวภายในปี 2568
- อุปกรณ์รับประทานอาหารใช้แล้วทิ้ง ภายในปี 2563 ห้ามธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในจีนใช้หลอด non-degradable และห้ามร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองต่าง ๆ ในจีนใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารใช้แล้วทิ้ง และจะครอบคลุมถึงทุกอำเภอในจีนภายในปี 2565 โดยภายในปี 2568 ปริมาณการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารใช้แล้วทิ้งและ non-degradable ในสาขาธุรกิจจัดส่งอาหารในเมืองต่าง ๆ ในจีนจะลดลงร้อยละ 30
- ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งของธุรกิจโรงแรม ภายในปี 2565 โรงแรมที่มีการจัดลำดับดาว (สูงสุด 5 ดาว) จะไม่มีการจัดชุดผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิิ้งในห้องพัก โดยลูกค้าสามารถซื้อผ่านตู้จำหน่ายหรือโรงแรมให้บริการในลักษณะเติมน้ำยาทำความสะอาดในห้องพัก และภายในปี 2568 จีนจะขยายการใช้นโยบายดังกล่าวในโรงแรมและธุรกิจ B&B ทั้งหมดในจีน
- บรรจุภัณฑ์พลาสติกของธุรกิจจัดส่งไปรษณีย์ด่วน ภายในปี 2565 จีนจะห้ามใช้ถุงพลาสติกและกระสอบพลาสติก non-degradable ในจุดรับส่งไปรษณีย์ที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งลดปริมาณการใช้เทป non-degradable และจะดำเนินการในจุดรับส่งไปรษณีย์ในทั่วประเทศจีนภายในปี 2568
3. ผลักดันการใช้สินค้าทดแทน เช่น (1) เผยแพร่การใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษ และถุงช้อปปิ้ง degradable ในสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเบอร์มาเก็ต ร้านจำหน่ายยา และร้านหนังสือ เป็นต้น รวมทั้งรณรงค์ให้ ปชช. ใช้ฟิล์มถนอมอาหารแบบ degradable ตลอดจนเผยแพร่การใช้ถุงช้อปปิ้งที่ได้มาตรฐานในตลาดนัดและเผยแพร่การใช้พลาสติกคลุมดิน degradable (2) แพลตฟอร์ม E-Commerce และแพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ควรกำกับดูแลให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มมีการจัดทำแผนงานทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง และเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติแผนงานดังกล่าวต่อสาธารณะ และ (3) บริษัทในสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ถูกต้องตามมาตรฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ ห้ามเพิ่มส่วนประกอบที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม
4. ปรับปรุงการรีไซเคิล (recycle) และจัดการขยะพลาสติกให้เป็นไปตามระเบียบ เช่น (1) เพิ่มการรีไซเคิลขยะพลาสติกในการแยกประเภทขยะ ผลักดันความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์ม E-Commerce และแพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ หน่วยงานทำความสะอาดภาครัฐ และบริษัทรีไซเคิล จัดวางอุปกรณ์รีไซเคิลขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ไปรษณีย์และกล่องอาหารในพื้นที่สำคัญ และปรับปรุงระบบรีไซเคิลพลาสติกคลุมดินและพลาสติกจากธุรกิจประมงให้สมบูรณ์แบบ (2) สำหรับขยะพลาสติกที่มีต้นทุนรีไซเคิลสูงจะผลักดันการใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน (เช่น นำไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า) เพื่อลดปริมาณการฝังขยะพลาสติกในระดับมากที่สุด และ (3) เร่งแก้ไขปัญหาการเทขยะพลาสติกในพื้นที่เชื่อมโยงเขตเมืองและเขตชนบท ริมถนน ตามแม่น้ำและคลองน้ำ เป็นต้น
5. พัฒนาระบบสนับสนุนงานด้านการจัดการขยะพลาสติก เช่น (1) ผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงและประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ห้าม/จำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้ (2) จัดทำหลักการชี้แนะการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) ปรับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพและการจัดทำเครื่องหมายของพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลและ degradable (4) เพิ่มการลงทุนต่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มการจัดซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ (5) เพิ่มการลงโทษการกระทำที่ผิดกฎระเบียบด้านการห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ (6) เพิ่มการ ปชส. เพื่อให้ ปชช. ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งและแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง เป็นต้น
ปัจจุบัน จีนเผชิญปัญหาในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ เช่น (1) มีประสิทธิภาพต่ำ โดยใช้คนเก็บขยะตามชุมชนและถนนเป็นหลัก และขยะพลาสติกส่วนมากจะถูกฝังหรือเผาไปด้วยกับขยะอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดมลพิษ เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ผู้รีไซเคิลพลาสติกรายย่อยบางส่วนมีการล้างหรือย่อยสลายขยะพลาสติกด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดมลพิษต่อน้ำใต้ดิน (2) มีต้นทุนสูงทำให้บริษัทรีไซเคิลมีกำไรน้อย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2561 จีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศและกลับมารีไซเคิลขยะพลาติกในจีน บวกกับต้นทุนแรงงานในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีราคาสูง ในขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงและกำลังผลิตของอุตสาหกรรมเคมีเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพลาสติกทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ และ (3) การผลิตสินค้าในธุรกิจต้นน้ำสร้างความยากลำบากในการรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งสินค้าบางส่วนใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผสมจากวัตถุดิบหลายประเภททำให้รีไซเคิลยาก และสินค้าบางส่วนไม่ได้คำนึงถึงปัญหารีไซเคิลพลาสติกตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เป็นต้น
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ผลักดันนโยบายการแยกประเภทขยะในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในปี 2562 มีการผลักดันนโยบายดังกล่าวเชิงบังคับในหลายเมืองในจีนแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบความคืบหน้าของการดำเนินการนโยบายแยกประเภทขยะในจีนด้วย ส่วนการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการขยะพลาสติกในปี 2563 นับเป็นการปรับปรุงนโยบายการจำกัดการใช้พลาสติกและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอน เป็นนโยบายที่ครอบคลุมห่วงโซ่ธุรกิจพลาสติกจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งมีการจัดตั้งระบบพื้นฐานเพื่อสนับสนุนด้านการกำกับดูแลของภาครัฐ การสนับสนุนของนโยบาย การเข้าร่วมของทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามต่อไปว่า ในทางปฏิบัติจีนจะสามารถดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมากแค่ไหน และจะได้รับผลมากเพียงใด
แหล่งข้อมูล:
https://www.ndrc.gov.cn/xxgk/zcfb/tz/202001/t20200119_1219275.html
http://www.xinhuanet.com/fortune/2020-02/24/c_1125616200.htm