การเป็นรัฐบาลดิจิทัลของจีน
27 Jun 2023ในอดีตสำหรับชาวจีนหรือชาวต่างชาติที่เคยมีประสบการณ์ยื่นเอกสารเพื่อขออนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐจีนในเรื่องต่าง ๆ คงเข้าใจและคุ้นเคยกับสำนวนจีนที่ว่า “หน่วยงานภาครัฐจีนมักเข้าถึงยาก เจ้าหน้าที่หน้าบูด พูดจาไม่สุภาพ และทำเรื่องยาก” (门难进、脸难看、话难听、事难办) ซึ่งสะท้อนปัญหาด้านคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐจีน และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในจีน
ภายหลังที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2544 ได้เริ่มเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่เน้นการควบคุม (control-oriented government) สู่รัฐบาลที่เน้นการให้บริการ (service-oriented government) เพื่อสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากหน่วยงานภาครัฐของจีน ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีความพยายามในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เมื่อปี 2556 ในประกาศของรัฐบาลเมืองฉินหวงต่าว มณฑลเหอเป่ย ได้ระบุถึงแนวทางการเร่งแก้ไขปัญหาการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐตามสำนวนข้างต้นโดยตรง
ภาพ: ประกาศของรัฐบาลเมืองฉินหวงต่าว
ที่มา: http://qinhuangdao.gov.cn:81/article/277/53175.html
e-government ยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาระบบรัฐบาลดิจิทัลหรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) ของจีน เป็นช่องทางสำคัญในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการแก่ชาวจีน รวมถึงชาวต่างชาติและนักลงทุนต่างชาติในจีน ซึ่งได้เพิ่มความสะดวกในการยื่นเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ ลดจำนวนเอกสาร และลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินงาน ผ่านการเพิ่มความโปร่งใสของขั้นตอนดำเนินงานและรวมศูนย์การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียว อาทิ การริเริ่มธุรกิจในจีนและการขอใบจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางออนไลน์มีความสะดวกและชัดเจนมากขึ้น จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของจีนโดยธนาคารโลก ขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อปี 2556 จีนอยู่ในอันดับที่ 96 จากทั้งหมด 189 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และเมื่อปี 2563 ได้ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 31 หรือขยับขึ้น 65 อันดับในเวลาเพียง 7 ปี
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก United Nations e-government Survey ชี้ว่า ในปี 2565 ดัชนีการพัฒนา e-government ของจีนได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.8119 (อันดับที่ 43 ของโลก) จากระดับ 0.5359 เมื่อปี 2555 (อันดับที่ 78 ของโลก) และการพัฒนา e-government ของจีนถูกจัดในเกณฑ์ “ระดับสูงมาก” นับตั้งแต่ปี 2563 ตัวอย่างเช่น การชำระค่าประกันสังคมออนไลน์หรือผ่านโทรศัพท์มือถือของชาวจีนและบริษัทในจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 95
นโยบายสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนา e-government ของจีน
- เมื่อเดือนกันยายน 2562 จีนประกาศ กฎระเบียบเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นับเป็นกฎระเบียบระดับชาติฉบับแรกด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจของจีน โดยมีเนื้อหาสำคัญ อาทิ การผลักดันสร้างระบบ e-government ที่เป็นแพลตฟอร์มเดียวและสามารถให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ (http://gjzwfw.www.gov.cn/) ซึ่งการให้บริการครอบคลุม (1) การให้บริการส่วนบุคคลในทุกระยะเวลาชีวิตของชาวจีน นับตั้งแต่เกิดจนถึงเกษียณอายุ และ (2) การให้บริการแก่ผู้ประกอบการตลอดวงจรชีวิตของธุรกิจ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจจนถึงการยกเลิกธุรกิจ
ภาพ: การให้บริการส่วนบุคคลตั้งแต่เกิดจนถึงเกษียณอายุและบริษัทตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจจนถึงการยกเลิกธุรกิจ
ที่มา: http://gjzwfw.www.gov.cn
- เมื่อเดือนมีนาคม 2564 จีนประกาศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) ซึ่งกำหนดให้การพัฒนา e-government เป็นหนึ่งในภารกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ “Digital China” รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อยกระดับความสามารถในการแจ้งเตือนและการรับมือและจัดการกับภัยธรรมชาติและเหตุการณ์ฉุกเฉิน
- เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จีนประกาศ แนวทางนโยบายเพื่อพัฒนา e-government โดยได้กำหนดเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ (1) ภายในปี 2568 จีนจะสร้างระบบ e-government ที่สามารถส่งเสริมการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างครบถ้วน มีความปลอดภัย และสนับสนุนโดยทรัพยากรข้อมูล (data) และ (2) ภายในปี 2578 จีนจะสร้างระบบ e-government ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะสามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเปิดกว้าง โปร่งใส และมีความยุติธรรม โดยจะเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการพัฒนาให้จีนเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยอย่างรอบด้าน
- เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จีนประกาศ เค้าโครงแผนงานการสร้าง “Digital China” ซึ่งได้กำหนดให้การพัฒนาระบบ e-government เป็นภารกิจสำคัญอันดับที่ 2 รองจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจีนจะยกระดับการให้บริการของระบบ e-government ผ่านการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งยกระดับการให้บริการทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะผลักดันให้ประชาชนสามารถ “ทำเรื่องให้สำเร็จผ่านการยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว” (一件事一次办)
การประเมินผลและการจัดลำดับการพัฒนา e-government ของมณฑลต่าง ๆ
ปัจจุบัน จีนมีศูนย์วิจัยด้าน e-government (เว็บไซต์ www.egovernment.gov.cn) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติจีน (National Academy of Governance) และเป็นหน่วยงานภาครัฐจีนที่ทำหน้าที่ประเมินผลและการจัดอันดับการพัฒนา e-government ของมณฑลและเมืองสำคัญต่าง ๆ ในจีน
ในรายงานการจัดอันดับระดับ e-government ของจีนประจำปี 2565 ระบุว่า (1) มณฑล 16 แห่งมีระบบ e-government ที่จัดอยู่ในระดับสูงมาก คิดเป็นร้อยละ 51.6 ของทั้งหมด 31 มณฑล (2) มณฑลที่มีระบบ e-government ที่จัดอยู่ในระดับสูงมีทั้งหมด 12 แห่ง และระดับกลาง 3 แห่ง โดยรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.4 (3) ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง กวางตุ้ง และกุ้ยโจว เป็นมณฑลนำหน้าและเป็นต้นแบบการพัฒนา e-government ในระดับมณฑล (4) กว่างโจว หนานจิง หางโจว และเซินเจิ้น เป็นเมืองนำหน้าและเป็นต้นแบบการพัฒนา e-government ในระดับเมือง และ (5) อู่ฮั่น ฮาร์บิน เฉิงตู กุ้ยหยาง และคุนหมิง เป็น 5 เมืองที่มีพัฒนาการด้านระบบ e-government มากที่สุด โดยได้ขยับขึ้นจากระดับสูงไปอยู่ในระดับสูงมาก
แล้วคนไทยและผู้ประกอบการไทยจะได้อะไรจากระบบ e-government ของจีน
ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน ระบบ e-government และเว็บไซต์การให้บริการของแต่ละมณฑลที่รวมศูนย์ในแพลตฟอร์มเดียว (http://gjzwfw.www.gov.cn) ยังคงเน้นให้บริการแก่ชาวจีนเป็นหลัก โดยหน้าเว็บจะปรากฏข้อมูลเป็นภาษาจีนภาษาเดียว อย่างไรก็ดี เมืองขนาดใหญ่ส่วนหนึ่ง อาทิ กรุงปักกิ่ง ในฐานะเมืองหลวงที่มีเป้าหมายการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและศูนย์กลางด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระดับสากล ได้เปิดบริการหน้าเว็บ e-government เป็นภาษาอังกฤษ (http://english.beijing.gov.cn/) เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยและผู้ประกอบการไทย
เว็บไซต์ e-government ของกรุงปักกิ่งมีชื่อภาษาจีนว่า “首都之窗” ซึ่งหมายถึง “หน้าต่างของเมืองหลวง” นับเป็นเว็บไซต์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนไทยหรือผู้ประกอบการไทยที่ใช้ชีวิตหรือประกอบธุรกิจในกรุงปักกิ่ง โดยสามารถทำการยื่นขอตรวจลงตราประเภทต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์และทุกขั้นตอนจะมีคำชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งรวมถึงข้อมูลเอกสารที่ต้องการ/ที่อยู่/เบอร์โทร/เวลาทำการ/ค่าธรรมเนียมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ เว็บไซต์ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในกรุงปักกิ่ง อาทิ การขอใบขับขี่ การจดทะเบียนสมรสกับชาวปักกิ่ง หรือการร้องเรียนกับสถานีตำรวจในกรณีหนังสือเดินทางหาย ก่อนที่จะไปขอเล่มใหม่จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
ภาพ: หน้าเว็บไซต์ให้บริการชาวต่างชาติของกรุงปักกิ่ง
ที่มา: http://english.beijing.gov.cn
สำหรับผู้ประกอบการไทย เว็บไซต์ก็มีการให้ข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจประเภทต่าง ๆ ในกรุงปักกิ่ง อย่างไรก็ดี จากการทดสอบใช้งานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ณ กรุงปักกิ่ง เว็บไซต์เป็นการให้ข้อมูลเอกสารที่ต้องการและขั้นตอนริเริ่มธุรกิจมากกว่า โดยยังคงไม่สามารถยื่นขอเปิดบริษัทโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ริเริ่มธุรกิจในกรุงปักกิ่งยังคงต้องพึ่งพาทักษะภาษาจีนหรือพนักงานชาวจีนผ่านเว็บไซต์ e-government ภาษาจีน https://banshi.beijing.gov.cn
เมื่อโครงการ “Doing Business” เปลี่ยนเป็นโครงการ “Business Ready (B-READY)”…
เมื่อเดือนกันยายน 2564 ธนาคารโลกระงับการประกาศรายงาน Doing Business ต่อมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ประกาศเกณฑ์ใหม่ในการประเมินสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจ โดยใช้ชื่อว่า “Business Ready (B-READY)” ซึ่งมีการปรับปรุงตัวชี้วัดบางรายการ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะระบบ e-government เป็นตัวชี้วัดที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นในเกณฑ์การประเมินใหม่ อาทิ ตัวชี้วัดอันดับแรก “Business Entry” มีตัวชี้วัดย่อย 3 ตัว ซึ่งมี 2 ตัวเกี่ยวข้องกับระบบ e-government ได้แก่ (1) การให้บริการในรูปแบบดิจิทัลแก่บริษัทที่ขอริเริ่มธุรกิจ และความโปร่งใสของข้อมูลเพื่อริเริ่มธุรกิจ และ (2) ประสิทธิภาพของการริเริ่มธุรกิจ รวมถึงต้นทุนและเวลาในการริเริ่มธุรกิจ
ปัจจุบัน รัฐบาลท้องถิ่นส่วนหนึ่งของจีนได้เริ่มมีความตื่นตัวและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินใหม่ของธนาคารโลก อาทิ เมื่อเดือนเมษายน 2566 นครเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศจะปรับปรุง กฎระเบียบเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้นของนครเซี่ยงไฮ้ เป็นครั้งที่สอง รวมถึงได้ยกระดับการให้บริการของระบบ e-government และใบจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของนครเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารโลกจะประกาศผลการประเมินฉบับใหม่ในเดือนเมษายน 2567
บทสรุป
แนวทางข้างต้นของจีนในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและระบบ e-government เป็นแนวปฏิบัติที่ไทยควรศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบรัฐบาลดิจิทัลของไทยให้มีความทันสมัยและเข้าถึงง่าย โดยบูรณาการฐานข้อมูลและบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ให้รวมศูนย์ ตลอดจนสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ยังควรเสริมสร้างการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตและการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในไทยดังเช่นระบบออนไลน์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ซึ่งจะสนับสนุนการดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของไทยในภาพรวม
จัดทำโดย นายเหวิน ปิน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล:
国家政务服务平台
http://gjzwfw.www.gov.cn/fwmh/oneMatter/index.do?serviceType=1&lifecycleCode=102
营商环境报告
https://archive.doingbusiness.org/zh/reports/global-reports/doing-business-2014
https://archive.doingbusiness.org/zh/reports/global-reports/doing-business-2020
关于解决窗口服务部门“门难进、脸难看、话难听、事难办”切实改进服务工作的通知
http://qinhuangdao.gov.cn:81/article/277/53175.html
从《联合国电子政务调查报告》看中国电子政务十年发展成效
https://www.sc.gov.cn/10462/c111495/2023/1/14/1aecdb1a751e40ab9b9a32b49f1c70e7.shtml
全国社保缴费“网上办”“掌上办”业务量占比达95%以上
http://finance.china.com.cn/news/20230615/5997338.shtml
优化营商环境条例
https://www.gov.cn/zhengce/content/2019-10/23/content_5443963.htm
中华人民共和国国民经济和社会发展第十四个五年规划
https://www.gov.cn/xinwen/2021-03/13/content_5592681.htm
国务院关于加强数字政府建设的指导意见
https://www.gov.cn/zhengce/content/2022-06/23/content_5697299.htm