เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนโตสวนกระแสวิกฤตโควิด-19
1 Sep 2021ทุกวันนี้ในประเทศจีนหากถามคนจีนไปว่า “คุณใช้เงินสดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่” คนจีนคนนั้นคงต้องใช้เวลาสักพักในการนึกคำตอบ และมักจะได้รับคำตอบเป็นมากกว่าครึ่งปี บางคนอาจตอบเป็นมากกว่าหนึ่งปีด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ถามคนไทยที่อยู่ในจีนคำถามเดียวกัน อาจได้รับคำตอบว่า “เออ…ตั้งแต่ส่งแบงค์ 10 หยวนให้พนักงานธนาคารเปิดบัญชีตอนมาจีนแรก ๆ หลังจากนั้นใช้ Alipay และ Wechat Pay ตลอดเลยค่ะ/ครับ”
คราวนี้เปลี่ยนคำถามและถามคนจีนว่า “คุณใช้บริการจากทางออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่” มักจะได้รับคำตอบว่า “อ๋อ…แค่วันนี้ก็ใช้ไปหลายรอบแล้วค่ะ/ครับ ช่วงเช้าเรียกรถตีตี (DiDi) มาทำงาน กลางวันสั่งข้าวเที่ยงจากเหม่ยถวน (Meituan) และเย็นนี้จะสั่งผักจากเหอหม่า (Hema) แถวบ้านเพื่อทำข้าวเย็นค่ะ/ครับ” นี่คือมุมมองเล็ก ๆ ของ “Digital Life” ในชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยอยู่ในจีน ตามที่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในจีนแม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
สังคมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ตามรายงานการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจีนฉบับล่าสุด ประกาศโดยศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศจีน (CNNIC) ในเดือน มิ.ย. 2564 จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของจีนอยู่ที่ 1,011 ล้านคน ซึ่งครอบคลุมถึงร้อยละ 71.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ และเพิ่มขึ้น 21.75 ล้านคนเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2563 โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ การทำงานออนไลน์ และการรักษาพยาบาลออนไลน์ อยู่ที่ 469 ล้านคน 381 ล้านคน และ 239 ล้านคน ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 49.76 ล้านคน 35.06 ล้านคน และ 24.53 ล้านคน เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2563 ตามลำดับ ส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเขตชนบทของจีนอยู่ที่ 297 ล้านคน ซึ่งครอบคลุมถึงร้อยละ 59.2 ของจำนวนประชากรในเขตชนบท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2563 จึงทำให้จีนกลายเป็นสังคมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก
สมุดปกขาวเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ของโลก ประกาศโดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน (CAICT) ชี้ว่า แม้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2563 เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมีมูลค่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากปี 2562 และจัดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในปี 2563 มณฑล 13 แห่งในจีนมีปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านหยวน เช่น มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และมณฑลซานตง ส่วนเมืองที่มีปริมาณเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้แก่ กรุงปักกิ่ง และ
นครเซี่ยงไฮ้
เศรษฐกิจดิจิทัลในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 และการก้าวสู่ “Digital China”
จีนให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ “Digital China” โดยเห็นได้จากการกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นบทที่ 5 (จากทั้งหมด 19 บท) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) รวมทั้งได้กำหนดเป้าหมายว่า ในปี 2568 มูลค่าเพิ่มของ 7 สาขาธุรกิจหลักด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP จีน ได้แก่ (1) Cloud Computing (2) Big Data (3) Internet of Things (IoT) (4) อินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Internet) (5) Blockchain (6) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ (7) Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR)
นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวันของชาวจีน โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ได้กล่าวถึง 10 สถานการณ์การใช้งาน (application scenarios) แบบดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ “Digital China” ในอนาคต ได้แก่
- การคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Transportation) จะพัฒนารูปแบบการให้บริการการเดินทางด้วยรถยนต์ไร้คนขับ และการทำงานร่วมกันระหว่างยานยนต์กับถนน (เช่น การติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณข้างถนน) รวมทั้งขยายการใช้งานของการควบคุมทางด่วน สัญญาณไฟจราจร และการเดินทางของรถประจำทางแบบอัจฉริยะทั่วประเทศจีน ตลอดจนผลักดันการสร้างเส้นทางรถไฟอัจฉริยะ การบินอัจฉริยะ ท่าเรืออัจฉริยะ ทางเดินเรืออัจฉริยะ และสนามจอดรถยนต์อัจฉริยะ
- พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) จะผลักดันการยกระดับการทำงานแบบดิจิทัลของโครงการถ่านหิน โรงไฟฟ้า และโครงการก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน เช่น การจัดเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานออนไลน์ และการบริหารจัดการพลังงานสำรองและอุปสงค์พลังงานแบบอัจฉริยะ
- ระบบการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) เช่น ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์การผลิต ขั้นตอนการผลิต และการทำงานร่วมกันใน supply chain
- การเกษตรและการจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Agriculture and Water Management) จะขยายการเพาะปลูก การใช้ปุ๋ย การใช้สารกำจัดศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยวที่แม่นยำไปยังทั่วประเทศจีน รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในระดับภาพรวมของลุ่มแม่น้ำ
- การศึกษาอัจฉริยะ (Smart Education) เช่น การจัดหลักสูตรออนไลน์คุณภาพสูงเข้าไปในระบบการเรียนการสอน และผลักดันให้พื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายแดนสามารถเข้าถึงหลักสูตรออนไลน์คุณภาพสูงมากยิ่งขึ้น
- การแพทย์อัจฉริยะ (Smart Health-care) โดยจะปรับปรุงระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์และใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งเร่งผลักดันการแบ่งปันข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและการรักษาทางไกล (Telemedicine) ตลอดจนเพิ่มพูนขีดความสามารถในการใช้ Big Data เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจกรรมการรักษาของโรงพยาบาลต่าง ๆ
- วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Culture and Tourism) เช่น ผลักดันให้สถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวออนไลน์ เช่น หอจัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ และการถ่ายทอดสดแบบ HD รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์ม Big Data เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการใช้งานของอุปกรณ์ในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
- ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) เช่น ระบบการแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ ระบบกู้ภัยฉุกเฉินอัจฉริยะ และระบบให้บริการผู้สูงอายุแบบอัจฉริยะ รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์งแบบไร้พนักงานจัดส่งของ (เช่น การใช้หุ่นยนต์ส่งของตามหมายเลขห้องพักในชุมชน)
- บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ใช้เทคโนโลยีการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโดยการเหนี่ยวนำ การควบคุมด้วยเสียงและการควบคุมระยะไกลในการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบแสงสว่างอัจฉริยะ ระบบการตรวจสอบความปลอดภัยอัจฉริยะ ลำโพงอัจฉริยะ และอุปกรณ์สวมใส่รูปแบบใหม่ เช่น แว่นตาอัจฉริยะ และขาเทียมอัจฉริยะ
- การให้บริการของภาครัฐแบบอัจฉริยะ (Smart Governmental Services) เช่น ขยายการใช้ใบจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ และระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศจีน
เศรษฐกิจดิจิทัลกับการระบาดของโรคโควิด-19
เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนช่วยในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน เช่น การใช้ Big Data และ Health Code ในการป้องกันการระบาดและติดตามสถานะการเดินทางและสถานะสุขภาพของประชาชน ส่วนการทำงานออนไลน์ การศึกษาออนไลน์ การรักษาออนไลน์ การทำงานปกติของแพลตฟอร์ม E-Commerce รวมถึงการบันเทิงออนไลน์ ได้ช่วยภาคการผลิตและชีวิตประจำวันของประชาชนฟื้นฟูสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ในอีกทางหนึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ช่วยส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีบริษัทธุรกิจแบบดั้งเดิมมากยิ่งขึ้นเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของการยกระดับธุรกิจไปทางดิจิทัล เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นเร่งเปิดบริการส่งของถึงบ้าน และการพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเพื่อใช้ประโยชน์ของข้อมูลบริโภคและลดต้นทุนในภาพรวม นอกจากนี้ State Information Center (SIC) ของจีนระบุว่า ปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในจีนมีแนวโน้ม เช่น
- เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการฟื้นตัวของการลงทุน การบริโภค และการส่งออกของจีน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การลงทุนด้านการให้บริการ E-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยอดค้าปลีกสินค้าออนไลน์คิดเป็นร้อยะ 23.7 ของยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ เดือน ม.ค. – พ.ค. 2564 มูลค่าการส่งออกของธุรกิจซอฟต์แวร์ได้ฟื้นฟูสู่ระดับในช่วงเดียวกันของปี 2562
- หลายมณฑล/เมืองของจีนกำลังผลักดันการปฏิรูปเชิงดิจิทัลเพื่อสนับสนุนด้านนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น มณฑลเจ้อเจียง เขตเมืองใหม่สงอัน (Xiongan New Area) มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง
- ความคืบหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยกระตุ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโตสวนกระแสการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ปริมาณการผลิตหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและแผงวงจรรวม (IC) ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.8 และร้อยละ 48.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
ความท้าทาย…จากประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่สู่ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลแข็งเกร่ง
แน่นอนว่าจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ แต่ถ้าจะพัฒนาไปสู่ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลแข็งเกร่ง นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่ายังคงเผชิญความท้าทาย เช่น การขาดแคลนเทคโนโลยีสำคัญ (core technology) ซึ่งเป็น “stranglehold problem” ที่จำกัดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยหากมองตามสาขาธุรกิจ จีนยังขาดการพัฒนาด้านชิป (chip) ระดับสูง ระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) ของคอมพิวเตอร์ และระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจผลิตรถยนต์ ธุรกิจผลิตโทรศัพท์มือถือ แม้แต่ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนในจีนก็เผชิญปัญหาขาดแคลนชิป และคาดว่าปัญหาดังกล่าวยังคงจะมีอยู่ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังคงมีเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในด้านต่าง ๆ เช่น ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ซี่งภาคตะวันออกของจีนมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบมากกว่า และประชาชนในภาคตะวันออกมีรายได้และระดับการศึกษาที่สูงกว่า ทำให้ภาคตะวันออกมีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่าภาคตะวันตก เขตเมืองและเขตชนบท ณ สิ้นปี 2563 จีนยังมีประชากร 416 ล้านคนที่เป็น non-internet users โดยร้อยละ 62.7 อยู่ในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ นักเรียนในพื้นที่ยากจนบางส่วนไม่สามารถดำเนินการศึกษาออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การเข้าถึง digital life ของกลุ่มผู้สูงอายุ โดยร้อยละ 46 ของ non-internet users เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ จึงเป็นที่น่าติดตามว่า ในขั้นตอนต่อไปจีนจะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไรเพื่อเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ และพัฒนาสู่ “Digital China” อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนประสบการณ์ของจีนในการเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยเช่นกัน
จัดทำโดย นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล:
报告显示我国网民规模已达10.11亿 互联网普及率71.6%
https://www.chinanews.com/gn/2021/08-27/9552409.shtml
规模近5.4万亿美元居全球第二,数字经济已成我国经济高质量发展新引擎
http://finance.people.com.cn/GB/n1/2021/0804/c1004-32180511.html
中华人民共和国国民经济和社会发展第十四个五年规划和2035年远景目标纲要
http://my-h5news.app.xinhuanet.com/xhh-pc/article/?id=e6e672827c7c0c41399d921616a7c700
新经济如何改变生活方式并创造新需求
https://opinion.caixin.com/2021-03-08/101672390.html
“十四五”时期数字经济发展的挑战和机遇