CHINA + 1 การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจีนและโอกาสของไทย
(ภาพจาก : https://www.beroeinc.com)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตในประเทศจากอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเป็นหลัก อาทิ สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ และอื่น ๆ ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักร รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงซึ่งมุ่งเน้นเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า โดรน หุ่นยนต์ เครื่องบิน และอื่น ๆ
จากการเปลี่ยนแปลงนี้ จีนจึงพยายามที่จะรักษาสถานะในการเป็น “โรงงานของโลก” และสร้างสมดุลในห่วงโซ่การผลิตโดยการกระจายฐานการผลิตออกนอกประเทศไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนสูง ซึ่งกลยุทธ์ทางการค้าลักษณะนี้เรียกว่า “กลยุทธ์ China+1”
นอกจากบริษัทของจีนแล้ว บริษัทของประเทศอื่น ๆ ที่มีฐานการผลิตในจีน อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็มีความพยายามในการปรับลดปริมาณการผลิตในจีน และกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เช่นกัน
สาเหตุสำคัญที่ผู้ประกอบการในจีนต้องกระจายความเสี่ยงและขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
1.ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีความยากลำบาก เนื่องจากสินค้าหลายประเภทถูกกีดกันการส่งออกและต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่ตั้งไว้สูง ต้นทุนสินค้าจึงสูงขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาในการควบคุมราคาสินค้า รวมไปถึงอุปสรรคอื่น ๆ ในการส่งมอบสินค้าให้ทันเวลา
2. อัตราค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา จากความเจริญก้าวหน้าของประเทศที่เปลี่ยนนโยบายจากประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน ไปสู่ประเทศที่เน้นการใช้แรงงานมีฝีมือและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
3.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีนซึ่งเป็นผลจากนโยบาย One-Child Policy ที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ อนุญาตให้คนจีนมีบุตรได้เพียงครอบครัวละ ๑ คน ทำให้ประชากรในวัยแรงงานจีนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
4.มาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid-19) ของจีนในช่วง การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-๑๙ ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีน เนื่องจากปริมาณการขนส่งระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ลดลงจนถึงเกือบหยุดชะงัก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกขาดสมดุล ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มหาทางเลือกอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต โดยเริ่มลดการลงทุน ในจีนและกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
5.รัฐบาลจีนประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ที่เน้นให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่กับการหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการค้าระหว่างประเทศ ทำให้จีนปรับลดมาตรการและเงินสนับสนุนต่าง ๆ ที่เคยให้กับผู้ส่งออกลง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกจำนวนมากต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
6.นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วม ซึ่งนโยบายนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่มีศักยภาพของจีนสามารถขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีความร่วมมือตามข้อริเริ่มนี้ได้อย่างสะดวก ลดความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ และสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง
ตัวอย่างของบริษัทในจีนที่ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ตามนโยบาย CHINA + 1
- รถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัท Great Wall Motor ขยายฐานการผลิตมาเปิดโรงงานที่ไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๔
- รถยนต์ยี่ห้อ MG ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Shanghai Automotive Industry Corporation (SAIC) กับบริษัทไทยในเครือเจริญโภคภัณฑ์
- รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท BYD ของจีนกับบริษัท WHA Group ของไทยโดยมีการลงนามสัญญาร่วมทุนเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อจะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ที่จังหวัดระยอง
- บริษัท หัวเหว่ย (Huawei) มีแผนลงทุนในประเทศไทยทั้ง ๔ ด้าน คือ 5G ธุรกิจพลังงานดิจิทัล การพัฒนาทักษะดิจิทัล และ Data Center & Cloud
- บริษัท Alibaba ซึ่งเป็นผู้นำพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของจีน ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ (new data center) ในไทย
(ภาพจาก : www.mgronline.com) (ภาพจาก : www.finnomena.com)
6. บริษัท KGK Jewellery (Hong Kong) LTD. ผู้นำอุตสาหกรรมอัญมณีระดับโลกที่มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายมากกว่า ๑๗ ประเทศ เป็นผู้เจียระไนเพชรให้แก่บริษัทชั้นนำอย่าง De Beers โดยในปัจจุบันบริษัท KGK มีพนักงานทั่วโลกรวมทั้งสิ้น ๑๕,๐๐๐ คน มีฐานการผลิตบางส่วนในประเทศจีน และเริ่มขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บริษัท KGK มีโครงการสร้างโรงงานแห่งที่ ๒ ในประเทศไทย แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือด้านอัญมณี สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง จึงได้ผลักดันความร่วมมือระหว่างบริษัทกับกระทรวงแรงงาน ในช่วงโอกาสการเยือนฮ่องกงของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสนับสนุนการขยายฐานการผลิตในประเทศไทย โดยได้จัดให้มีการแสดงเจตจำนงระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อส่งเสริมโครงการฝึกอบรมแรงงานมีฝีมือรองรับความต้องการแรงงานด้านอัญมณี ๕๐๐ – ๖๐๐ อัตรา
(ภาพจาก : www.thaipost.net)
(ภาพจาก : https://www.kgkgroup.com ) (ภาพจาก : https://www.kgkgroup.com )
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจาก China + 1
- การพัฒนาทักษะแรงงานและโอกาสในการได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการขยายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย (knowledge transfer) จะทำให้แรงงานไทยในอนาคตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่ประเทศจีนได้พัฒนาตนเองผ่านการลงทุนของประเทศตะวันตกในอดีต ทำให้แรงงานจีนในปัจจุบันมีความรู้ความสามารถในการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่เคยได้รับต่อไปได้ และนำมาสู่การพัฒนาประเทศในที่สุด
- การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจ้างงานในประเทศไทย เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการบุคลากรและแรงงานท้องถิ่นจำนวนมาก
- การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จากการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคการส่งออก อันเกิดจากการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรมีรายได้มากขึ้น และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่มีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า และอื่น ๆ ทำให้เกิดความเจริญในชุมชน
- สร้างโอกาสให้บริษัทสัญชาติไทยที่มีศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศใหม่ ๆ โดยอาศัย การเรียนรู้ ประสบการณ์และความชำนาญของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน และขยายการลงทุนมายังประเทศไทย หรือ อาจร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในการขยายตลาดการส่งออกไปยังต่าง ประเทศเพื่อเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน อย่างที่จีนเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ดังเช่นกรณีศึกษาของบริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Volkswagen ประเทศเยอรมนี ที่ร่วมทุนกับบริษัทผลิตรถยนต์ SAIC Motor ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ต่อมา บริษัท SAIC ได้พัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศจีนจนสามารถเข้าซื้อกิจการรถยนต์ยี่ห้อ MG ซึ่งเป็นรถยนต์ประเทศอังกฤษได้สำเร็จหลังจากนั้น รถยนต์ยี่ห้อ MG ได้ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยตั้งโรงงานแห่งแรกที่จังหวัดชลบุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ และเปิดโรงงานเพิ่มแห่งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อขยายธุรกิจไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน
(ภาพจาก : https://www.autodeft.com) (ภาพจาก : https://www.carandbike.com)
แหล่งที่มาข้อมูล :
– https://inlps.com/china-plus-one/
– https://www.wha-group.com/th/news-media/company-news/615/china-plus-one
– https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/341-
– https://brandinside.asia/china-plus-one-supply-chain/
– https://www.angelone.in/blog/what-is-the-china-plus-one-strategy
– https://positioningmag.com/1346418
– https://www.kgkgroup.com/th/story-of-kgk/
– https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9650000090960
– https://www.thaipost.net/public-relations-news/316338/
– https://drivetripper.com/mg-New-assemblyplant-thailand
– https://asia.nikkei.com/Business/Companies/SAIC-pushes-into-emerging-markets-with-MG-brand
– https://www.mgcars.com/en/NewsActivities/Detail/MG_New_Factory
ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในฮ่องกง
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖