ส่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่กับวิถีชีวิตของชาวจีนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
2 Jun 2022
จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ไฮไลท์
- สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จีนหันมาพัฒนาเศรษฐกิจ แบบพึ่งพาตนเอง ด้วยการผลักดันยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานที่เน้นการพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการผลิตและบริการภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคโควิด ช่วยให้จีนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
- รัฐบาลจีนกำหนดนโยบาย 六保 หรือหลักประกัน 6 ประการ เพื่อสร้างหลักประกันในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนและนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม และกำหนดอาชีพใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
- คนไทยได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมอย่างมากจากการเผชิญหน้ากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำรงชีวิต
บทนำ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความสั่นสะเทือนให้กับภาครัฐ ภาคเอกชนและสังคมทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน ภาคธุรกิจแทบจะทุกสาขาประสบปัญหาขาดความสมดุล ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จากวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ มาเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “New Normal”
New Normal เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่
New Normal คือความปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากอดีต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากบางสิ่งบางอย่าง จนแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีแบบใหม่
วิถีชีวิตใหม่ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกเหนือจากการสวมใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างระหว่างกันแล้ว ยังส่งผลต่อรูปแบบการคิด พฤติกรรมการใช้ชีวิต ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภค ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวจีนถือเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงจากผลของการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา มีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้บริโภคยังคงจับจ่ายใช้สอยอย่างเสรี ในขณะที่สามารถลดการสัมผัสและการติดต่อในระยะใกล้ชิด ตอบสนองและสนับสนุนนโยบาย “Zero-COVID” ของรัฐบาลจีน และพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
การบริโภคที่เปลี่ยนไปของชาวจีนช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19
จากงานวิจัยในหัวข้อ “พัฒนาการของผู้บริโภคชาวจีนในปี 2564 : รายงานหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด” ของ Accenture บริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจระดับโลกกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป องค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งคิดค้นและทดลองใช้มาตรการใหม่ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของตลาดผู้บริโภค และตอบสนองต่อความต้องการและรสนิยมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนมากกว่าร้อยละ 57 เชื่อว่าการแพร่ระบาดฯ ได้กระตุ้นให้พวกเขาต้องทบทวนการดำเนินชีวิตของตนเองอีกครั้ง และการระบาดฯ ทำให้เกิดแรงจูงใจอื่นในการเลือกบริโภค อาทิ สุขภาพอนามัยและความปลอดภัย ความสะดวกสบาย แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ ความไว้วางใจและชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมการบริโภคได้สร้างโอกาสใหม่ให้กับภาคธุรกิจ เป็นตัวกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเร่งพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดและกำหนดมาตรฐานใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของ “ผู้บริโภคยุคใหม่”
ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ใหม่ ๆ (ปี 2563) อัตราการบริโภคของชาวจีนทั้งประเทศลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ในช่วงหลังที่สามารถบริหารจัดการกับสถานการณ์การระบาดได้ดีและมีประสิทธิภาพขึ้น (ปี 2564) อัตราการบริโภคของชาวจีนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากปี 2563 คือ ร้อยละ 13.6 โดยในปี 2564 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับ (1) สินค้าประเภทอาหาร (2) ที่อยู่อาศัย (3) เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และ (4) ค่ารักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 โดยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.6 5.6 5.4 และ 5.4 ตามลำดับ จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เศรษกิจของจีนมีการฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาดอย่างรวดเร็ว และอัตราการบริโภคของประชากรภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
กราฟแสดงอัตราการบริโภคของชาวจีนในปี 2562-2564
ก้าวตามการเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
องค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนของจีนต่างเร่งปรับโครงสร้างทางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น (Digitalization) ถูกนำเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างและเปลี่ยนแปลงกระบวนทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอยกตัวอย่างการปรับตัวทางธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. นวัตกรรมใหม่ ภาคธุรกิจจีนได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงวิกฤตโรคระบาด อาทิ 1) ตู้ฝากอาหารอัจฉริยะของ MEITUAN นวัตกรรมนี้ถูกผลิตและเริ่มนำออกมาใช้งานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยผู้ส่งอาหารและผู้บริโภคสามารถดำเนินการทุกอย่างผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ ทั้งยังมีระบบปรับอุณหภูมิและฆ่าเชื้อโรคโดยอัตโนมัติ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ประกอบการ พนักงานส่งอาหารและผู้บริโภค 2) JD Express รถส่งพัสดุไร้คนขับ นวัตกรรมใหม่ที่สร้างความปลอดภัยในการรับ-ส่งพัสดุ รถส่งพัสดุนี้มีความพิเศษหลายประการ อาทิ ระบบเซนเซอร์รอบคัน 360 องศา ระบบแยกแยะสัญญาณไฟจราจร ระบบหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ระบบสแกนใบหน้า โดยสามารถขนส่งได้สูงสุด 30 รายการ/ครั้ง รองรับน้ำหนักได้สูงสุด 100 กก. นอกจากนี้ ในช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดในบางพื้นที่ของจีน รถส่งพัสดุไร้คนขับนี้ยังสามารถเข้าไปให้บริการในช่วงล็อกดาวน์ภายในเขตชุมชนในหลายมณฑล โดยช่วยจัดส่งสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ ข้าวสาร น้ำ ตลอดจนวัสดุป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ซึ่งสามารถขนส่งวัสดุได้กว่า 10,000 รายการ ช่วยแบ่งเบาภาระให้เจ้าหน้าที่และลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อของโรคระบาดได้ ทั้งสองนวัตกรรมนี้เป็นนวัตกรรมที่สนับสนุน “การจัดส่งแบบลดการสัมผัส”
2. ปัญญาประดิษฐ์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมมนุษย์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาธุรกิจสู่อนาคต อาทิ หุ่นยนต์ส่งอาหารของโรงแรม IBIS ในนครเฉิงตู ที่คอยบริการส่งอาหารให้ผู้เข้ารับบริการถึงหน้าห้องพักตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบเซนเซอร์สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้โดยอัตโนมัติ และยังสามารถส่งสัญญาณเรียกลิฟต์ และเคลื่อนที่กลับไปตำแหน่งเดิมได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ยังได้นำหุ่นยนต์อัจริยะมาติดตั้งคอยให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยสามารถสอบถามข้อมูลภายในท่าอากาศยานฯ ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่แบบออนไลน์ผ่านหุ่นยนต์อัจฉริยะ ระบบนำทาง ตลอดจนให้ความบันเทิงแก่ผู้ใช้บริการ
3. ระบบข้อมูลมหัต (Big Data Platform) เป็นระบบที่ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังให้ความสำคัญรัฐบาลจีนได้ร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องนำระบบข้อมูลมหัตมาใช้ประโยชน์ในการสร้าง “รหัสสุขภาพ” (健康码) เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะสุขภาพของประชาชน อุณหภูมิร่างกาย การฉีดวัคซีน การทดสอบกรดนิวคลีอิกเพื่อหาเชื้อฯ และบันทึกประวัติการเดินทาง ทำให้สามารถติดตามสถานะสุขภาพของประชาชนได้แบบเรียลไทม์ และสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ระบุกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงผ่านการวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลของระบบ นอกจากนี้ ในส่วนภาคธุรกิจ อาทิ Dingdong Maicai (叮咚买菜) แพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ประเภทของสดจำพวกผักและผลไม้ ก็ได้นำระบบข้อมูลมหัตไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนธุรกิจ โดยการนำข้อมูลจากประวัติการสั่งซื้อของลูกค้าที่เก็บรวบรวมไว้มาประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์คำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อสร้างสมดุลในการจัดเก็บสินค้าและลดจำนวนของเน่าเสีย โดยในช่วงการระบาดในปี 2563 Dingdong Maicai มียอดสั่งซื้อต่อวันมากกว่า 850,000 คำสั่ง และมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 1,500 ล้านหยวน
4. ดิจิทัลหยวน (E-CNY) สกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางของจีน หากมองย้อนวิวัฒนาการของสังคมไร้เงินสดของจีนเริ่มจากการชำระเงินด้วย QR CODE ผ่านแพลตฟอร์ม Alipay และ WeChat Pay ด้วยโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ปี 2546 และปี 2556 ตามลำดับ ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้เข้ามาสนับสนุนระบบการเงินแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อยกระดับสังคมเงินสดของจีน โดยเริ่มทดลองใช้งานเมื่อปี 2562 ข้อมูลจาก “เอกสารความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาของหยวนดิจิทัลของจีน” ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีจำนวนลงทะเบียนเปิดกระเป๋าเงินส่วนตัวผ่านระบบมากกว่า 20.87 ล้านคน มูลค่าธุรกรรมสะสมประมาณ 34,500 ล้านหยวน และในงานแถลงข่าวของสำนักงานข้อมูลของรัฐ ผู้อำนวยการการเงินของธนาคารกลางกล่าวว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวนลงทะเบียนเปิดกระเป๋าเงินส่วนตัวผ่านระบบมากกว่า 261 ล้านคน มูลค่าธุรกรรมสะสมประมาณ 87,565 ล้านหยวน สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลหยวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
5. ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้คนใช้เวลาในการท่องโลกออนไลน์บนโซเชียลมีเดียและหันมานิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของชาวนครเฉิงตู จำนวน 1,163 คน ของสำนักข่าว Red Star News และ Chengdu Departure พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 67 ตัดสินใจซื้อสินค้าหลังจากรับชมวิดีโอสั้นและ Live streaming ซึ่งมากกว่าตัดสินใจซื้อจากการโฆษณาแบบดั้งเดิม (โฆษณาทางโทรทัศน์ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นจำหน่ายสินค้าหรือคำแนะนำจากพนักงาน) เกือบเท่าตัว การขายออนไลน์ผ่าน Live Streaming E-commerce โดย Tiktok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีน มีผู้ใช้งานรายวันถึง 380 ล้านคน เฉลี่ยเวลาการใช้งาน 102 นาที/คน/วัน และถือเป็นแพลตฟอร์มเปิดตัวการ Live Streaming E-commerce ของ Key Opinion Leader (KOL) และดารานักแสดงอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของจีน โดยยอดขายสินค้าออนไลน์ (GMV) ของปี 2563 สูงถึง 5 แสนล้านหยวน
อาชีพและวิถีชีวิตใหม่ในโลกดิจิทัล (Digital Life)
ชีวิตในโลกดิจิทัล (Digital Life) ความทันสมัย สะดวกสบายกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตเดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ การนำระบบดิจิทัลออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อาทิ ระบบ Smart Sensors เทคโนโลยีการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจีนยังคงใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” เพื่อควบคุมให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด ลดการติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขาดความสมดุล องค์กรทางเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มสูง หน้าที่การงานขาดความมั่นคง การระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ดังประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน ซึ่งเป็นนโยบายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ฉบับที่ 14 โดยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ การพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยี ตลอดจน พึ่งพาการผลิตและบริการในประเทศเป็นหลัก และตั้งเป้าหมายว่าโลกจะต้องพึ่งพาจีนในด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เสนอนโยบาย “六保” หรือหลักประกัน 6 ประการ ซึ่งครอบคลุมถึงอาชีพของประชาชน โดยมีจุดประสงค์ที่จะรักษาพื้นฐานของการดำรงชีวิตของประชาชนให้มั่นคง เพื่อเป็นหลักประกันในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐและสำนักสถิติแห่งชาติจีนได้ประกาศอาชีพใหม่ออกสู่สังคมอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมเป็นชุดที่สามนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ “เอกสารแยกประเภทอาชีพของจีน (ฉบับปี พ.ศ. 2558)” อาทิ ช่างเทคนิควิศวกรรมบล็อกเชน นักการตลาดทางอินเทอร์เน็ต นักทดสอบความปลอดภัยของข้อมูล นักปฏิบัติการแอปพลิเคชันบล็อกเชน เจ้าหน้าที่ให้บริการเรียนออนไลน์ ผู้ช่วยสาธารณสุขชุมชน นักประเมินความสามารถผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ การประกาศอาชีพเพิ่มเติมชุดที่สามนี้ยังได้ยกระดับประเภทงานใหม่ อาทิ นักไลฟ์สดขายสินค้า ผู้ตรวจสอบข้อมูลอินเทอร์เน็ต เจ้าหน้าที่ป้องกันโรคระบาด เจ้าหน้าที่ฆ่าเชื้อ เจ้าหน้าที่ดูแลด้านสุขอนามัยสาธารณะ โดยปรับเป็นอาชีพอย่างเป็นทางการเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
แม้ว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะยังคงเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ทว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมอย่างมากเช่นกัน โดยสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ 1) การใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการสัมผัสของภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก เริ่มใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์แทนการใช้เงินสด แม้แต่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดบางแห่งก็เริ่มนำการใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์หรือ Mobile banking มาปรับใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการจับจ่ายใช้สอย 2) การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความปกติใหม่ของคนไทย นับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการระบาด 3) การขายสินค้าออนไลน์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยอาศัยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการทำการค้า อาทิ Tiktok , Facebook , Instagram นับเป็นการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจโดยพึ่งพาตนเองของภาคธุรกิจไทย จะเห็นได้ว่าโลกในยุคโควิด-19 ที่ต้องคำนึงถึงการลดการสัมผัสและการลดการรวมตัวเป็นกลุ่มของผู้คน เป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น
การที่ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเริ่มนำความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้และพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจของตน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ นับเป็นการตอบสนองต่อหนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (ปี 2564-2569) ว่าด้วยการสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และพึ่งพาตนเองเพื่อให้ฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างรวดเร็ว และยังจะช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
บทส่งท้าย
การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและการเกิดโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้ภาครัฐและเอกชนพัฒนาและปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การค้า และความเป็นอยู่ของประชาชน ประเทศไทยและจีนต่างมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบสูงเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกมาสนับสนุนเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีน และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และพัฒนากลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ อาทิ ระบบข้อมูลมหัต (Big data) ปัญญาประดิษฐ์ พาณิชอิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรมใหม่มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ในยุค “New Normal” ที่ทุกภาคส่วนจะต้องสามารถยืนหยัดและรับมือกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
—————————————————————————————————————————————————————————————————————————————
แหล่งที่มาข้อมูล
1.ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตวิถีใหม่
https://thestandard.co/new-terminology-new-normal/
https://news.thaipbs.or.th/content/292126
https://www.tmbameastspring.com/insights/new-normal
2.อัตราการบริโภคของชาวจีน
ปี2019
ปี2020
ปี2021
http://www.stats.gov.cn/tjsj/zxfb/202201/t20220117_1826403.html
3.การซื้อขายสินค้าออนไลน์
http://scjgj.sc.gov.cn/scjgj/c104529/2022/1/10/c9c1901d3e28419387b701ba0bb9c781.shtml
https://wordpress-575750-3895056.cloudwaysapps.com/ทิศทางการค้าสินค้าออนไ/
https://sichuan.scol.com.cn/dwzw/202203/58461793.html
https://www.163.com/dy/article/H2H7VKK7051492T3.html
4.ธุรกิจหม้อไฟ
https://www.sohu.com/a/521398310_116237
https://wordpress-575750-3895056.cloudwaysapps.com/ไอเดียธุรกิจหม้อไฟแบบบ/
5.รถขนส่งพัสดุไร้คนขับ
https://www.shobserver.com/news/detail?id=470929
https://new.qq.com/omn/20220410/20220410A05CDA00.html
https://www.jdl.cn/news/2085/content00606
6.วิจัยพฤติกรรมการบริโภคหลังยุคโควิด-19และการสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
https://pdf.dfcfw.com/pdf/H3_AP202110111521988366_1.pdf?1633969578000.pdf
http://nads.ruc.edu.cn/xzgd/52892983fb034a97887d55560af151f9.htm
7. หลักประกัน 6 ประการ
https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_7825181
8. อาชีพใหม่
http://www.xinhuanet.com/fortune/2020-07/06/c_1126200597.htm
http://www.gov.cn/xinwen/2020-07/06/content_5524601.htm
http://www.gov.cn/xinwen/2020-08/26/content_5537493.htm
9. เทคโนโลยีในยุคการระบาด
https://www.chula.ac.th/highlight/47547/
https://workpointtoday.com/5-future/
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/AI-China-FB300620.aspx
https://tips.thaiware.com/1932.html
10. พนักงานส่งอาหาร
http://www.gov.cn/xinwen/2020-08/26/content_5537493.htm
11. ปัญญาประดิษฐ์
12. big data
https://theory.gmw.cn/2020-12/31/content_34510458.htm
https://xxzx.mca.gov.cn/article/xgzs/202004/20200400026407.shtml
https://www.sc.gov.cn/10462/10464/10465/10574/2021/8/12/d5cba4d0fb754f4584cef315308f9ba8.shtml
https://finance.eastmoney.com/a2/202012301757199235.html
http://sh.people.com.cn/n2/2020/0828/c134768-34257440.html
https://1stcraft.com/what-is-big-data/
13. ดิจิทัลหยวน
https://techsauce.co/news/yuan-digital-the-new-china-currency
http://www.xinhuanet.com/tech/20211110/f0af48fce9954b4d8e6ae38b9d3f1f33/c.html
14. BCG ภูมิคุ้มกัน
https://www.thaigov.go.th/news/contents/ministry_details/38369
15. ยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี แผนวงจรคู่ขนานของจีน
https://www.sohu.com/a/417106035_115571
http://www.xinhuanet.com/politics/leaders/2020-11/25/c_1126785254.htm