ถอดบทเรียนกว่างโจวรับมือโควิด-19 สายพันธ์เดลต้า ความรวดเร็วและเทคโนโลยี คือ กุญแจ ตอนที่ 1
14 Jun 2021นับตั้งแต่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่นครกว่างโจวอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 รัฐบาลนครกว่างโจวได้เร่งดำเนินการควบคุมและป้องกันอย่างเต็มกำลัง โดยใช้กลยุทธ์ “เร่งตรวจเชื้อ เร่งกักตัว เร่งรักษา” โดยปฏิบัติการแรก ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ “การเร่งตรวจเชื้อ” นครกว่างโจวปฏิบัติการตรวจเชื้อ COVID-19 นครกว่างโจวเริ่มภารกิจตรวจเชื้อแบบรุก (Mass nucleic acid testing) ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 64 ภายหลังพบผู้ติดเชื้อใหม่ 26 ราย โดยเริ่มตรวจให้กับประชาชนทุกคนในเขตลี่วาน (Liwan district) ซึ่งเป็นเขตที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรก และต่อมาขยายปฏิบัติการตรวจเชื้อไปยัง 11 เขตของนครกว่างโจวซึ่งมีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 18 ล้านคน ปัจจุบัน นครกว่างโจวดำเนินการตรวจเชื้อให้ประชาชนแล้วกว่า 16 ล้านคน (สถานะ 5 มิ.ย. 64) ทำให้นครกว่างโจวเป็นเมืองที่ตรวจเชื้อให้ประชาชนมากที่สุดในโลก ผู้อ่านสงสัยหรือไม่ว่าอะไรทำให้นครกว่างโจวสามารถตรวจเชื้อให้กับประชาชน 16 ล้านคนได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะพาผู้อ่านไปหาคำตอบกัน
เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าแพร่เร็วจึงต้องรับมือให้เร็วยิ่งกว่า
ภายหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่นครกว่างโจว ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 แล้วพบว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้า (delta covid-19 variant) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย และเป็นสายพันธุ์
ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ดังนั้นการรับมือจะต้องรวดเร็วมากยิ่งขึ้นซึ่งภายหลังจากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 26 คน นครกว่างโจวจึงเริ่มภารกิจตรวจเชื้อแบบรุกทันที และมีเวลาเป็นความท้าทาย ดังนั้น นครกว่างโจวจึงเลือกใช้วิธีตรวจโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการแบบรวมตัวอย่าง (pooled sample testing) ซึ่งเป็นการตรวจเชื้อแบบกลุ่มโดยเก็บตัวอย่างครั้งละ 5 ตัวอย่าง/คน ไว้ในหลอดเก็บตัวอย่าง 1 หลอด (แทนการเก็บแยกหลอดเป็นรายคน) ซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บและตรวจตัวอย่างได้มาก
ในฐานะที่ตัวผู้เขียนเข้ารับการตรวจเชื้อร่วมกับชาวจีนท้องถิ่นเขตลี่วาน จึงอยากเล่าถึงขั้นตอนการเข้ารับการตรวจเชื้อที่ง่าย เป็นระบบ และรวดเร็ว โดยขั้นตอนทั้งหมดดำเนินการผ่านมินิแอปพลิเคชันในแอปพลิเคชัน WeChat (สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกลงทะเบียนจะมีเจ้าหน้าที่บริการกรอกข้อมูล) โดยมีขั้นตอน ดังนี้ (1) ลงทะเบียนโดยใช้มินิแอปฯ เย่ว์เหอซวน (Yue Hesuan) ลงทะเบียนด้วยการเชื่อมกับบัญชี WeChat และกรอกข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรและหมายเลขหนังสือเดินทาง เมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับ QR Code (2) เจ้าหน้าที่จะสแกน QR Code แล้วเริ่มตรวจครั้งละ 5 คน พร้อมกับบันทึกข้อมูลของหลอดเก็บเชื้อของกลุ่ม (3) เข้ารับการเก็บตัวอย่างสารคัดหลังจากลำคอ และ (4) รอผลตรวจประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งผลตรวจจะไปปรากฎในมินิแอป “ซุ่ยคังหม่า” โดยอัตโนมัติ
มินิแอปฯ “ซุ่ยคังหม่า” (Sui Kang Ma) เป็นมินิแอปฯ ในแอปพลิเคชัน WeChat ที่รวบรวมบริการด้านสาธารณสุขเช่น ข้อมูลสุขภาพ ประกันสุขภาพ การหางาน สำรองหน้ากากอนามัย นัดตรวจสุขภาพ และที่สำคัญเป็นมินิแอปฯ ที่แสดงสถานะสุขภาพในรูปแบบ QR Code ซึ่งใช้แสดงเมื่อเข้ารับการบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น การโดยสารรถประจำทาง รถไฟฟ้าใต้ดิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าโรงภาพยนตร์ เป็นต้น โดยรหัสสุขภาพจะแบ่งออกเป็น 3 สี ได้แก่ สีเขียว หมายถึงไม่มีเชื้อและไม่เคยเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง (2) สีส้ม หมายถึงเคยเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ในระหว่างนี้จะไม่สามารถเข้าใช้บริการสาธารณะข้างต้นได้และจะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อเมื่อผลเป็นลบโค้ดสุขภาพจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และ(3) สีแดง หมายถึงผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัว
กว่างโจวจัดตั้งห้องปฏิบัติการ “ฮวอเหยี่ยน” ตรวจได้สูงสุดวันละ 150,000 ตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 64 นครกว่างโจวร่วมกับ บริษัท MGI จัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ COVID-19 ฮวอเหยี่ยน (Huo-Yan Lablaboratoty) ที่เขตพานหยู (Panyu district) นครกว่างโจวซึ่งห้องปฏิบัติการฮวอเหยี่ยนเป็นห้องปฏิบัติการตรวจกรดนิวคลีอิกชีวภาพ (biological nucleic acid laboratory) เฉพาะกิจที่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 10 ชม. ห้องปฏิบัติการดังกล่าวสามารถตรวจเชื้อได้สูงสุดวันละ 150,000 ตัวอย่าง โดยมีฟังค์ชันสำคัญ ได้แก่ การรวบรวมตัวอย่าง (sample collection) การเคลื่อนย้ายตัวอย่างเข้าตัวเครื่อง (sample transfer) การสกัดสารพันธุกรรม (Nucleic Acid Extraction) และการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส (RT-PCR)[1] นอกจากนี้ ระบบกรองอากาศของห้องปฏิบัติการฯ ใช้แผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง HEPA[2] ซึ่งสามารถกรองละอองเชื้อ Covid-19 ที่ลอยอยู่ในอากาศ (Airborne) มีขนาด 0.125µm (ไมครอน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ห้องปฎิบัติการฮวอเหยี่ยนใช้เครื่องตรวจกรดนิวคลีอิก รุ่น MGISTP-7000 ซึ่งคิดค้นและผลิตโดยบริษัท MGI โดยเครื่องตรวจดังกล่าวใช้ระบบเปิด-ปิดหลอดเก็บเชื้ออัตโนมัติ (automated de-capping system) รุ่นแรกของโลก โดยยังสามารถนำหลอดกลับมาใช้ใหม่โดยการฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี (UV light) และระบบกรองด้วยเส้นใยความละเอียดสูง (HEPA-filtration) นอกจากนี้ เครื่องตรวจกรดนิวคลีอิกรุ่นดังกล่าวสามารถตรวจและแสดงผลตรวจได้ 192 หลอดภายใน 40 นาที สูงสุดวันละ 6,000 หลอด ระบบเปิด-ปิดหลอดเก็บเชื้ออัตโนมัติเป็นระบบที่สามารถลดการสัมผัสของเจ้าหน้าที่ ปลอดภัยและประหยัดเวลา นอกจากนี้ ยังควบคุมข้อมูลด้วยระบบ big data ทำให้ผู้ใช้งานเห็นข้อมูลภาพรวมของการตรวจสอบและสามารถติดตามผลได้อย่างแม่นยำ
รู้จัก MGI
บริษัท MGI Tech ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2016 เป็นบริษัทในเครือ BGI ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตอุปกรณ์และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (life science) โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์การจัดเรียงพันธุกรรม (genomic sequencing) และเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตเครื่องวิเคราะห์หาลำดับสารพันธุกรรม (genetic sequencer) แบบ ultra-high-throughput และได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารยีนแห่งชาติจีน (China National GeneBank) แห่งแรกที่เมืองเซินเจิ้น และเมื่อเดือน มี.ค. 64 บริษัทฯ ได้ร่วมกับ China ENTRY-EXIT Inspection and Quarantine Association (CIQA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านตรวจสอบและกักกันโรคของจีนร่างมาตรฐานเครื่องตรวจกรดนิวคลิอิกเคลื่อนที่ (General Technical Specifications for Mobile Nucleic Acid Detecting Laboratory) ของจีนด้วย
รู้จัก BGI
สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute) หรือ BGI ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๒ ภายใต้การสนับสนุน จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) โดย BGI เป็นศูนย์วิจัยการจัดเรียงลำดับดีเอ็นเอ[3] ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานวิจัยและวิทยาการด้านจีโนม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้าน การแพทย์ เกษตรกรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ ณ เมืองเซินเจิ้น เมื่อปี ๒๕๕๔ ธนาคารยีนแห่งชาติจีน (China National GeneBank) ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ ให้ก่อตั้งธนาคารยีนแห่งแรกของจีน ณ เขตใหม่ต้าเผิง เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ภายใต้การสนับสนุนของโดย สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ปักกิ่ง[4] (BGI) ธนาคารยีนฯ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๙ ธนาคารยีนแห่งชาติจีนประกอบด้วย (๑) ธนาคารชีวภาพ (Biological Bank) เก็บรวบรวมตัวอย่างยีนของมนุษย์ พืช สัตว์และจุลินทรีย์ จำนวน ๑๑.๓ ล้านตัวอย่าง (๒) ธนาคารชีวสารสนเทศศาสตร์[5] (Bioinformatics Bank) มีคอมพิวเตอร์ประมวลผลที่มีหน่วยความจำเท่ากับ ๕๘ เพตะไบต์[6] เก็บข้อมูลจีโนม (Genome) ที่คิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของจีโนมทั้งหมดบนโลก นอกจากนี้ เมื่อปี 2560 บริษัท GBI ได้เข้าไปลงทุนในไทย โดยจัดตั้งบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด โดยดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครโมโซมของทารกในครรภ์ และการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดอื่นๆ
บริษัท MGI นับเป็นว่ามีบทบาทสำคัญในช่วยการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ในนครกว่างโจว โดยเพิ่มประสิทธิภาพ ย่นระยะเวลาเพื่อเป้าหมายในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในนครกว่างโจวอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ศูนย์ BIC กว่างโจวทราบมาว่า บริษัท MGI สนใจที่จะส่งออกห้องปฏิบัติการเคลื่อน Huo-yan ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะไทย ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท MGI สนใจที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทไทยผลิตห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่และสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ ไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอีกด้วย ศูนย์ BIC กว่างโจวจึงอยากกระซิบบอกภาคเอกชนท่านใดที่มีความสนใจและมีความพร้อมสามารถติดต่อพูดคุยกับบริษัท MGI และพิจารณาโอกาสในอนาคตได้ ในตอนต่อไป ศูนย์ BIC กว่างโจวจะมาเล่าต่อว่า นอกจากห้องปฏิบัติการ Huo-yan ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าแล้วนครกว่างโจวใช้เทคโนโลยีอื่นใดบ้างในการรับมือกับการแพร่ระบาด โปรดติดตามตอนต่อไป
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
[1] เทคนิค RT-PCR (Real Time polymerase chain reaction) คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยปฎิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสแบบย้อนกลับ ซึ่งเป็นวิธีที่ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก
[2] High-Efficiency Particulate Air Filter (HEPA) คือ แผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูงซึ่งสามารถกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3µm ไมครอนได้
[3] การหาลำดับคู่เบสในสาย DNA เพื่อหาความเสี่ยงการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บ
[4] จีโนมิกส์ (genomics) หมายถึงการศึกษาหน้าที่และการทำงานของยีนในเซลล์หรือสิ่งมีชีวิต
[5] ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) คือการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ทางชีววิทยาการแพทย์ โดยเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม
[6] 58 เพตะไบต์ = 60,817,408 GB (1 PB = 1024 TB / 1 TB = 1024 GB)
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://news.cgtn.com/news/2021-06-05/China-builds-nucleic-acid-testing-lab-in-10-hours-in-Guangzhou-10QpS4W6IXm/index.html
https://en.mgi-tech.com/
https://www.bgi.com/global/company/news/bgi-unveils-huo-yan-air-lab-rapid-deployment-inflatable-biosafety-laboratory-for-fast-and-effective-covid-19-in-country-testing/
https://news.cgtn.com/news/2021-01-16/Inflatable-labs-The-secret-behind-China-s-mass-COVID-19-testing-X61CI8SLG8/index.html
https://www.globaltimes.cn/page/202106/1225849.shtml
https://www.chinanews.com/sh/2021/06-09/9496101.shtml
https://www.sohu.com/a/468301615_121123842
https://europepmc.org/article/med/32219885
http://news.southcn.com/gd/content/2021-06/08/content_192529050.htm
http://economy.southcn.com/e/2021-06/08/content_192529097.htm