เส้นทางจากเซินเจิ้นสู่ประเทศไทย BYD จรดปากกา จัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท
8 Sep 2022BYD คงเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นหูมากขึ้น ภายหลังจากช่วงที่ผ่านมาบริษัท BYD Auto ได้ส่งยานยนต์ไฟฟ้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวมีพัฒนาการล่าสุดมาแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่า บริษัท BYD Auto ไม่เพียงแต่จะมีแผนการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยเท่านั้น บริษัท BYD Auto ยังได้ตัดสินใจลงทุนรวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ในประเทศไทย ในโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบยานยนต์แบตเตอรี่ (Electronic Vehicles: EV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle : PHEV) กว่า 3 รุ่น ที่นิคมอุตสาหกรรม WHA จังหวัดระยองที่คาดว่า จะเกิดการจ้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2568 ซึ่งทีมประเทศไทย ณ นครกว่างโจว ยินดีที่ได้มีส่วนในการผลักดันการลงทุนครั้งนี้ของบริษัท BYD Auto ในประเทศไทยรู้จัก BYD เบอร์ 1 ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของจีน
ก่อนที่จะเล่าถึงเส้นทางการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของบริษัท BYD Auto ศูนย์ BIC ขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ BYD หรือที่มีชื่อเต็มว่า Build Your Dream ให้มากขึ้น บริษัท BYD[i] Auto ก่อตั้งเมื่อปี 2538 โดยนายหวัง ฉวนฝู (Wang Chuanfu) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นและฮ่องกง และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น โดยเริ่มต้นธุรกิจจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ ซึ่งภายหลังได้ขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
ปัจจุบัน บริษัท BYD Auto มียอดจำหน่ายยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric vehicle : EV) เป็นอันดับ 1 ของจีน และเป็น 2 ของโลกรองจาก Tesla โดยเมื่อปี 2564 มียอดจำหน่ายรถยนต์รวม 730,093 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.4 จากปี 2563 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 593,745 คัน ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่าร้อยละ 231.6 ล่าสุด ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 บริษัท BYD Auto จำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ (EV และ PHEV) รวม 647,914 คัน เพิ่มขึ้น 3.15 เท่า จากปี 2564 ซึ่งเป็นสถิติที่ทำให้ BYD สามารถแซงหน้าบริษัท Tesla ที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่ขับเคี่ยวกันในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาโดยตลอด เพราะ BYD ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้นสามารถเปิดสายการผลิตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่ Tesla ต้องระงับการผลิตบางช่วงจากการ lockdown นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นที่น่าติดตามว่า BYD จะสามารถครองตำแหน่งนี้ได้ในระยะต่อไปหรือไม่[ii]
BYD กับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ระดับโลก
ท่ามกลางความแปรปรวนของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท BYD มีกุญแจสำคัญที่เปิดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้รุดหน้าและมีเสถียรภาพ คือ “การมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่เป็นของตนเอง” ปัจจุบัน บริษัท BYD เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยผลิตแบตเตอรี่ได้ร้อยละ 14 ของปริมาณแบตเตอรี่ทั้งหมดในโลก รองจากบริษัท Contemporary Amperex Technology (มณฑลฝูเจี้ยน) และบริษัท LG Energy Solution (เกาหลีใต้) โดยลูกค้าแบตเตอรี่ BYD ที่สำคัญ คือ บริษัท Toyota Motor นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 นาย Lian Yu-bo รองประธานบริหารบริษัท BYD Auto เผยว่า บริษัทฯ กำลังเตรียมจำหน่ายแบตเตอรประเภท Blade Battery[iii] ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดให้กับ Tesla อีกด้วย
Blade Battery เป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ล่าสุดที่ปลอดภัยสูงและกักเก็บพลังงานได้มาก โดยผ่านการทดสอบความปลอดภัยขั้นสูงสุดแบบเจาะทะลุ (Nail penetration test) ซึ่งเป็นการใช้เข็มเจาะทะลุแบตเตอรี่เพื่อให้ไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลัดวงจร โดยในการทดสอบดังกล่าว Blade Battery เกิดความร้อนเพียง 30 – 60 องศาเซลเซียส ขณะที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (Battery Lithium Iron Phosphate) ทั่วไป เกิดความร้อนสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส จนทำให้เกิดควันและเปลวไฟ ยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างแบตเตอรี่แพค (battery pack structure) ของ Blade Battery ยังสามารถกักเก็บพลังงานมากกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟตทั่วไปกว่าร้อยละ 50
“ทีมประเทศไทย” กับบทบาทในความร่วมมือสู่ “ความสำเร็จ”
เมื่อปี 2551 บริษัท BYD Auto เป็นบริษัทแรกของโลกที่ผลิตรถยนต์ PHEV แบบจำนวนมาก (world’s first mass-produced plug-in hybrid automobile) ซึ่งความก้าวหน้าดังกล่าว ได้เป็นจุดสนใจของวงการยานยนต์ระดับโลก โดยเฉพาะไทย ซึ่งได้เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มาตั้งแต่ปี 2503 และเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine :ICE) ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน
เมื่อปี 2552 ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ ณ นครกว่างโจว (BOI) ได้เดินทางเยือนบริษัท BYD Auto เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้บริษัท BYD Auto พิจารณาการลงทุนในประเทศไทย ถึงแม้ว่า ในขณะนั้นไทยมีนโยบายส่งเสริมการประกอบรถยนต์แบบใหม่[iv] แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งต่อมาในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการสนับสนุนประเภทกิจการผลิต EV และปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์การให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการ EV มาอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังการเยือนในปี 2552 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว สำนักงาน BOI และทีมประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนการเยือนกับบริษัท BYD Auto หลายครั้ง รวมถึงจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมณฑลกวางตุ้งเพื่อให้ข้อมูลและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการผลักดันการลงทุนด้าน EV ด้วย อาทิ การประชุมความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทย – มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong – Thailand High-Level Cooperation Conference) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายหม่า ซิ่งรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งเป็นประธานร่วม ที่ฝ่ายไทยได้ย้ำกับฝ่ายกวางตุ้งเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม EV และยานยนต์อัจฉริยะ นอกจากนี้ ทีมประเทศไทย ณ นครกว่างโจวยังจัดการประชุมออนไลน์อีกหลายครั้งกับผู้บริหารของบริษัท BYD Auto เพื่อให้ข้อมูลการลงทุนในประเทศไทยอย่างรอบด้านจากผู้แทนหน่วยงานนโยบายด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ของไทย
กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่การเยือนบริษัท BYD Auto ครั้งแรกของทีมประเทศไทย จนถึง ช่วงปลายปี 2564 หน่วยงานภาครัฐของไทยต่างร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับบริษัท BYD Auto และเมื่อปลายปี 2564 นี้เอง ที่ถือเป็นโค้งสุดท้ายก่อนบริษัท BYD Auto จะตัดสินใจเลือกจุดหมายการลงทุนในประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้นัดหมายเข้าพบหารือกับผู้บริหารของบริษัท BYD Auto เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการการลงทุนหลายครั้ง ตลอดจนจัดการประชุมออนไลน์ให้นายหวัง ฉวนฝู (Wang Chuanfu) ประธานบริษัท BYD Auto และคณะผู้บริหารได้พบหารือกับ นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง พร้อมด้วยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เมื่อเดือนมกราคม 2565 และจัดการประชุมออนไลน์ให้ผู้บริหารบริษัท BYD Auto ได้หารือกับผู้แทนหน่วยงานนโยบายด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ได้แก่ กรมสรรพสามิต สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เพื่อรับทราบข้อมูลการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของบริษัท และจากนั้นมา ยังมีการติดตามประสานงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจนถึงช่วงเดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2565 ที่คณะผู้แทนของบริษัท BYD Auto ได้เดินทางเยือนประเทศไทยหลายครั้งเพื่อพบกับผู้บริหาร BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำรวจพื้นที่ และสอบถามข้อมูลเชิงลึกด้านสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ผู้แทนบริษัท BYD ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีศักยภาพของจีนให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย
อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
ไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มาตั้งแต่ปี 2503 ที่ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทยานยนต์ชั้นนำจากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ โดยมีปริมาณการผลิต (ปี 2563[v]) สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 11 ของโลก ปัจจุบัน ไทยให้ความสำคัญต่อเนื่องกับการส่งเสริมนวัตกรรมด้านยานยนต์ ทั้งยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ในประเทศ ซึ่งการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของบริษัท BYD Auto จึงถือเป็นโอกาสที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในตลาดทั่วโลก
โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท BYD Auto ในประเทศไทยนับเป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานที่สอดคล้องกันจากหลายฝ่าย ทีมประเทศไทยในจีน นำโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว สำนักงาน BOI และทีมประเทศไทยในพื้นที่ ได้แสดงให้เห็นว่า การประสานงานอย่างใกล้ชิด การส่งลูกต่อกันในจังหวะที่เหมาะสม การสร้างความสัมพันธ์ และการสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ล้วนเป็นแนวทางที่ขับเคลื่อนเป้าหมายของทีมประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ ที่ทำให้การลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ของบริษัท BYD Auto ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งเป็นพลวัตสำคัญให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสามารถพัฒนาเข้าสู่เทคโนโลยียุคต่อไป และรักษาประเทศไทยให้เป็นเป็นกำลังสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์โลกต่อไป
แหล่งที่มาของข้อมูล
สำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ณ นครกว่างโจว (BOI)
BYD Announces all its Pure EVs Will now Come With Blade Batteries
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-17/byd-electric-cars-try-competing-with-tesla-through-low-price
China’s BYD nabs $113M to produce IGBTs, the ‘CPU of electric cars’
https://pandaily.com/byd-semiconductors-8-inch-wafer-project-enters-production/
https://global.chinadaily.com.cn/a/202004/15/WS5e96a365a3105d50a3d16637.html
https://bit.ly/3AxuctR
https://api.dtn.go.th/files/v3/620e0fe3ef4140b50a3b7261/download
[i] BYD ย่อมาจาก Build Your Dream
[ii] เมื่อเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 บริษัท BYD Auto มียอดขายรถยนต์พลังงานใหม่จำนวน 647,914 คัน เพิ่มขึ้น 3.15 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลไฟฟ้า (EV)จำนวน 327,037 คัน เพิ่มขึ้น 2.43 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 และรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) จำนวน 317,684 คัน เพิ่มขึ้น 4.54 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 และรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ 3,193 คัน ในขณะที่บริษัท Tesla จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าได้ 564,743 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 มากเป็นอันดับ 2 ของโลก
[iii] เทคโนโลยี Blade Battery เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัท BYD Auto ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ปลอดภัยและอุณหภูมิต่ำ โดยผ่านการทดสอบแบบการเจาะทะลุหรือเรียกว่า Nail penetration test ซึ่งทำให้ไฟฟ้าในเซลล์แบตเตอรี่ลัดวงจรและเกิดอุณหภูมิสูง โดย Blade Battery เกิดอุณหภูมิเพียง 30 – 60 องศาเซียลเซียส ขณะที่แบตเตอรี่ทั่วไปเกิดความร้อนสูงกว่า 300 องสาเซลเซียส นอกจากนี้ Blade Battery ยังสามารถให้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟส Battery Lithium iron Phosphate
[iv] ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส.5/2552 เรื่อง การส่งเสริมกิจการประกอบรถยนต์แบบใหม่ 15 ก.ค. 52
[v] เมื่อปี 2563 ไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ทุกประเภทรวม 1,427,074 คัน เป็นอันดับ 11 ของโลกอันดับ 5 ของเอเชีย (รองจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และ เกาหลีใต้) และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยผลิตลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 29.13สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา