กว่างซีได้เอี่ยวในความสำเร็จของหนังแอนิเมชัน “นาจา 2” ชวนเรียนรู้ “โอกาส” ภาคธุรกิจไทย
3 Mar 2025
นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง เขียน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เรียบเรียง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
ดูนาจา 2 มาแล้วหรือยัง? กลายเป็นคำทักทายเวลาที่คนจีนเจอหน้ากันในช่วงนี้ ด้วยความ ‘ฮอตเว่อร์’ ของภาพยนตร์แอนิเมชันแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ “นาจา 2” (Ne Zha 2) ที่ปรับแต่งเรื่องราวจากตำนานพื้นบ้านจีนให้ทันสมัยตรงกับรสนิยมของ ‘คอหนัง’ ในปัจจุบัน ซึ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ช่วงเทศกาลตรุษจีน และกำลังสร้างกระแสฟีเวอร์สุดปัง ทำเรตติ้งทุบสถิติวงการภาพยนตร์โลกอย่างต่อเนื่อง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ… นาจา 2 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในโลกที่ทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดเดียว แซงหน้า Star Wars: The Force Awakens ที่เคยทำเงินสูงสุด 936 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2015
เรียกได้ว่าทำผลงานยอดเยี่ยม สำหรับ “นาจา 2” ภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีน และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลก แซงหน้าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง ตัวเลขจาก Maoyan (猫眼) แพลตฟอร์มข้อมูลภาพยนตร์ของจีน ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 “นาจา 2” โกยรายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลกไปแล้วกว่า 13,773 ล้านหยวน ทะยานขึ้นอันดับ 8 ภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในโลก แม้ว่ารายได้หลักจะมาจากตลาดจีน แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็สะท้อนให้เห็นถึงกำลังการบริโภคอันมหาศาลของตลาดจีน

แน่นอนว่า… เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงต้องมีเอี่ยว ฉากเอฟเฟกต์พิเศษสุดอลังการในภาพยนตร์ “นาจา 2” ที่มีมากถึง 1,948 ฉาก คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ซึ่งต้องใช้ทีมสร้างภาพยนตร์มากกว่า 4,000 คน จาก 138 บริษัทนั้น มีบริษัท Nanning Siyecao Cultural Communication Co., Ltd. (南宁四叶草文化传播有限公司) ร่วมทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphics หรือ CG) กับทีมผู้สร้างด้วย ถือเป็นตัวแทนเพียงรายเดียวจากกว่างซีในทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
นายโจว เว่ยเหว่ย (Zhou Weiwei/周卫炜) หัวหน้าทีม Ne Zha 2 ของบริษัทฯ เปิดเผยว่า บริษัทฯ รับผิดชอบงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) กล่าวคือ การสร้างโมเดลแอนิเมชั่น 3 มิติของตัวละคร รวมถึงการสร้างพื้นผิวที่ต้องมีความละเมียดละไมในรายละเอียด ทั้งริ้วรอยผิวหนัง ความพริ้วไหวของเส้นผม ร่องรอยการต่อสู้บนชุดเกราะ การเคลื่อนไหวของอาวุธในระหว่างการต่อสู้ บริษัทฯ ยังได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบของแอนิเมชัน ซึ่งทั้งหมดใช้เวลานานเกือบ 9 เดือน
นอกจากนี้ บริษัทฯ วางแผนว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” ไปใช้ต่อยอดการพัฒนาผลงานแอนิเมชันที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของเขตฯ กว่างซีจ้วง เพิ่มพูนพลวัตให้กับอุตสาหกรรมแอนิเมชันทั้งใน-นอกกว่างซี
การมีส่วนร่วมของ “กว่างซี” ยังไม่หมดเท่านี้!!! ฉากทัศน์ของด่านเฉินถังกวาน (บ้านเกิดนาจา) ในภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” ได้รับแรงบันดาลใจจากความงามตระการของขุนเขา-สายน้ำในเมืองกุ้ยหลินของกว่างซี นายเฉิน หลิงเสียว (Chen lingxiao/陈凌枭) นักสร้างแบบจำลองแอนิเมชัน “นาจา 2” เปิดเผยว่า ตนเองใช้เวลากว่า 2 เดือนในการเก็บรวบรวมองค์ประกอบของสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองกุ้ยหลินเพื่อนำไปปรับใช้ในงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ภูเขา Karst (หินปูน โพรงถ้ำ) แม่น้ำหลีเจียง รวมถึงนาขั้นบันไดหลงเซิ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน “ภาพยนตร์” กลายเป็นอีกหนึ่ง ‘สื่อ’ อันทรงพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่าง ๆ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองกุ้ยหลิน ‘คอหนัง’ ออกเดินทางไปตามรอยสถานที่ท่องเที่ยวที่ปรากฏในภาพยนตร์ (Follow Film Footprint) ทำให้เมืองกุ้ยหลินกลายเป็นอีกจุดเช็คอินที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนปีนี้

สถานีโทรทัศน์กุ้ยหลิน รายงานประมาณการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากุ้ยหลินในช่วงตรุษจีนมีมากถึง 8.358 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.27 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) สร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวรวม 9,240 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 10.57 (YoY) โดย “แม่น้ำหลีเจียง” เป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของการเดินทางมาท่องเที่ยวที่กุ้ยหลิน
แสดงให้เห็นว่า “ภาพยนตร์” สามารถสร้างภาพจำ สร้างผลเชิงบวกจูงใจให้ผู้ชมภาพยนตร์วางแผนเก็บกระเป๋าออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามรอยภาพยนตร์ ช่วยสร้างเม็ดเงินให้แก่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจในพื้นที่โดยรอบได้อย่างมาก
นอกจากตลาดท่องเที่ยวแล้ว ภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” ยังเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจอื่นด้วย อย่างตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีใบอนุญาต IP (Intelligence Property) จากภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” (วัยรุ่นจีนเรียกว่า “กู่จือ” (谷子) มาจากภาษาอังกฤษว่า Goods) ไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ ถุงผ้า ตุ๊กตา เข็มกลัด พวงกุญแจ
ข้อมูลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Taobao ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา มียอดค้นหาที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 ล้านครั้ง โดยมีผู้ใช้งานค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มี IP ของ “นาจา 2” สูงสุดมากกว่า 800,000 คนในวันเดียว ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 ยอดการซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่มี IP ของ “นาจา 2” มีมูลค่าทะลุ 240 ล้านหยวน
โดยเฉพาะในยุคที่ Pop Culture เป็นกระแสมาแรงที่แทรกซึมไปกับวิถีชีวิตช่วงหลายปีมานี้ เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง “อาร์ททอย” (Art Toy) ของเล่นของสะสมที่ไม่ได้มีไว้ให้เด็ก ๆ เล่นเท่านั้น นอกจากความโดดเด่นด้านดีไซน์ของคาแรกเตอร์ที่น่ารัก และเนื้องานที่มีรายละเอียดสวยงามแล้ว อาร์ททอยยังเป็นของสะสมที่สร้างมูลค่าทางจิตใจให้กับผู้คนหลายวัยด้วย

ภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” ได้ร่วมมือกับ Pop Mart ในโมเดลธุรกิจ IP Collaboration โดยเปิดตัวกล่องสุ่มในคอลเลกชันใหม่ “เทียนเซิงจีป้าน” (天生羁绊系列) หรือเพื่อนแท้ ทำเอาแฟน ๆ ต้องไปกวาดคอลเลกชันใหม่เรียบเกลี้ยงชั้นวาง ทำเอาสินค้าขาดตลาด ซึ่งทาง Pop Mart ได้ประกาศแจ้งว่า โรงงานที่ได้รับลิขสิทธิ์กำลังเร่งผลิตกล่องสุ่มอย่างเต็มที่ สำหรับแฟน ๆ ที่สั่งซื้อแล้วจะเร่งทยอยจัดส่งให้ช้าสุดปลายเดือนมิถุนายน 2568
บริษัท Hunan Sunny & Sandy International Culture Media Co., Ltd. (湖南桑尼森迪国际文化传媒有限公司) เปิดเผยว่า การไลฟ์สดกล่องสุ่มนาจา 2 ครั้งแรก บริษัทฯ ทำยอดขายได้ทะลุ 10 ล้านหยวน ขณะนี้ การไลฟ์สดแต่ละรอบสามารถรักษายอดขายที่ราว 8 ล้านหยวน และบริษัทฯ กำลังเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในอเมริกาเหนือและอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีอุปสงค์สูง
จากข้อมูลของ iiMedia Consulting บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการตลาดของจีน ระบุว่า มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ที่มี IP ในประเทศจีน มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 120,100 ล้านหยวนในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 168,900 ล้านหยวนในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.63 จากปีก่อนหน้า (YoY) และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 308,900 ล้านหยวน ในปี 2572
แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบูรณาการพัฒนาธุรกิจโมเดล “แอนิเมชัน พลัส” ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคสินค้าตามอารมณ์ของชาวจีนยุค 90’s และ 00’s ที่สำคัญ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก ‘สายแอนิเมชัน’ และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังเติบโตเป็นผู้บริโภคหลักในตลาดจีนในอนาคตด้วย
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Industry) โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพได้สร้างผลงานแอนิเมชันจากนิทานพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อใช้เป็น ‘แม่เหล็ก’ ดึงดูดการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 สถานีโทรทัศน์ CCTV จีนกับสำนักงานโทรทัศน์วิทยุกระจายเสียง วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเมืองหลิ่วโจว ได้ร่วมกันสร้างแอนิเมชัน “หลิวซานเจ่ห์” ตัวละครหญิงสาวชาวจ้วง (บ้านเกิดเมืองหลิ่วโจว) กับตำนานการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีข้ามภูเขาในบริเวณแม่น้ำหลีเจียง ที่ถือเป็น Signature ที่ทำให้คนจีนรู้จักเมืองกุ้ยหลิน
ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย นอกจากจะสามารถประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ จากอุตสาหกรรมแอนิเมชันผ่านภาพยนตร์แอนิเมชัน “นาจา 2” ของจีนแล้ว บีไอซี เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย สามารถพัฒนาความร่วมมือกับฝ่ายกว่างซี(จีน) ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันไทย-จีนที่สอดแทรกหรือผสมผสานองค์ประกอบของ ‘ความเป็นไทย’ ไว้ในตัวเรื่อง ทั้งตัวละคร สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในไทย อาหารไทย รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมไทย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างวัฒนธรรมสัมพันธ์กับจีน โดยผสมผสานความเป็นครีเอเตอร์ของไทยกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของจีน ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมพัฒนาทักษะความรู้ด้านภาพยนตร์แอนิเมชันให้พร้อมเชิงพาณิชย์แล้ว ยังเป็นพลวัตใหม่ในการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลและภาคเอกชนไทยด้วย
************************