ผลไม้พื้นบ้านอะไรของกว่างซี แพงกว่า “ทุเรียน”แถมเป็นเครื่องมือ‘แก้จน’
26 Nov 2024กฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เชื่อว่าหลายท่านคงอยากจะรู้แล้วว่า… ผลไม้ท้องถิ่นอะไรในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่ราคาแรงกว่า “ทุเรียน” จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “Hermès แห่งวงการผลไม้”
นั่นก็คือ “ส้มทอง” (Kumquat/金桔) คนจีนเรียก “จิน-จวี๋ห์” ส่วนคนไทยเรียก “ส้มกิมจ้อ” หรือบ้างก็เรียก “ส้มเปลือกหวาน” ซึ่งเป็นไม้กระถางผลไม้ชื่อมงคลที่คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนมักนิยมนำไปวางประดับไว้ที่หน้าสำนักงานและหน้าบ้าน และสามารถนำมาบริโภคได้ทั้งเปลือก
การปลูกส้มทองใน “อำเภอยรงอัน” (Rong’an County/融安县) เมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีประวัติยาวนานเกือบ 300 ปี สามารถสืบย้อนกลับไปถึงสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต้นกรุงธนบุรี จนถึงปัจจุบัน อำเภอยรงอันกลายเป็น “แหล่งผลิตส้มทองผิวเกลี้ยงขลับและส้มทองชุ่ยมี่” ที่สำคัญของประเทศจีน
ปี 2567 อำเภอยรงอันมีพื้นที่ปลูกส้มทองราว 226,000 หมู่จีน หรือราว 94,170 ไร่ คาดการณ์ผลผลิต 260,000 ตัน สร้างมูลค่าการผลิตได้ราว 3,600 ล้านหยวน มูลค่าในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกือบ 10,000 ล้านหยวน และ “ส้มทองยรงอัน” มีมูลค่าแบรนด์ 5,921 ล้านหยวน อยู่ในอันดับ 64 ของประเทศ เป็นแบรนด์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ขยับอันดับขึ้นเร็วที่สุดในปีนี้ (ขยับขึ้น 15 อันดับจากปีก่อน)
แน่นอนว่า…“ส้มทอง” ที่ว่าแพงกว่าทุเรียน ต้องไม่ใช่ส้มทองธรรมด๊าธรรมดา แต่เป็น ‘ส้มทอง 3.0’ ส้มทองที่ผ่านการคัดเลือกและอัปเกรดสายพันธุ์จนมาถึงรุ่นที่ 3 ได้ชื่อว่า “ส้มทองชุ่ยมี่” โดยคีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า “ชุ่ยมี่” ที่เป็นตัวแยกแยะรุ่นส้ม หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “ชุ่ยมี่จินจวี๋ห์” (脆蜜金桔) ของดีอำเภอยรงอัน
แม้ว่าจะมีการนำต้นพันธุ์ไปปลูกกระจายในหลายเมืองบริเวณพื้นที่จีนตอนใต้ (นอกจากในกว่างซีแล้ว ยังมีแถวยูนาน กวางตุ้ง เริ่มได้ผลผลิตแล้ว) แต่… ของแท้ของ “ยรงอันชุ่ยมี่” ด้วยเอกลักษณ์ของส้มที่มีเนื้อกรอบและรสชาติหวานมากสมชื่อ “ส้มทองชุ่ยมี่” โดยคำว่า “ชุ่ย” ในภาษาจีนแปลว่า กรุบกรอบ ส่วนคำว่า “มี่” แปลว่า หวานปานน้ำผึ้ง
“ส้มทองชุ่ยมี่” ส้มรุ่นนี้มีผลกลมรีขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่เปลือกบางกรอบเนื้อสีเหลืองส้ม น้ำฉ่ำ ไร้เมล็ด นิยมรับประทานผลสดทั้งเปลือก หวานกรอบไร้รสฝาด (ค่าความหวาน +25%) ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดช่วงต้นฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน จนถึงราวเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป โดยผลสุกที่ออกในช่วงต้นฤดูเปลือกส้มจะมีสีส้มแกมเขียว ขณะที่ผลสุกที่ออกช่วงปลายฤดู ผลจะมีสีส้มแป๊ด
ณ จุดนี้ ผู้อ่านคงอยากรู้แล้วว่า….ที่ว่าแพงกว่า “ทุเรียน” เขาขายกันเท่าไหร่ ส้มทองชุ่ยมี่มีการคัดคุณภาพตามขนาด (Sizing) เหมือนไข่ไก่ตั้งแต่ 1 ถึง 6 โดยชุ่ยมี่เบอร์ 1 พรีเมี่ยมคิงไซซ์ ลดหลั่นไปถึงเบอร์ 6 ตกเกรดมินิไซซ์ มีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 35– 160 หยวน (ทุเรียนหมอนทองไทย ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 45 หยวน)จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมถึงได้ชื่อว่า “Hermès แห่งวงการผลไม้”
ความน่าสนใจยังไม่หมดแค่นี้!!! ภาครัฐได้วางตัวให้ “ส้มทอง(ชุ่ยมี่)” เป็นเครื่องมือ‘แก้จน’ ของอำเภอยรงอัน เมืองหลิ่วโจว
ก่อนอื่น ต้องเกริ่นก่อนว่า… “เมืองหลิ่วโจว” แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของกว่างซี รองจากนครหนานหนิง แต่ยังมีพื้นที่ชนบทห่างไกลอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นพื้นที่เกษตรยากจน ซึ่งรวมถึง “อำเภอยรงอัน” ที่เคยอยู่ในบัญชีรายชื่อ “อำเภอยากจน” ของเขตฯ กว่างซีจ้วงด้วย
“อำเภอยรงอัน” ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไปด้านเหนือของเมืองหลิ่วโจว ติดกับเมืองกุ้ยหลิน ผู้อาศัยราวร้อยละ 46.3 เป็นชนชาติส่วนน้อย อาทิ จ้วง เย้า แม้ว ต้ง และมู่หล่าว อีกทั้ง สภาพภูมิประเทศลักษณะซับซ้อน มีทั้งภูเขาขนาดกลาง-ต่ำที่มีความลาดชัน ภูเขาหินปูนที่มีโพรงน้ำใต้ดิน (Karst) และที่ราบตะกอน จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
ภาครัฐได้นำแนวคิด “ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา” มาใช้สำหรับการขจัดความยากจนในพื้นที่ โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนหนทาง สะพาน ทางรถไฟ การส่งน้ำชลประทาน) และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า ประปา อินเทอร์เน็ต) ให้เข้าถึงพื้นที่ และยังคงยึดมั่นหลักการปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในหมู่ข้าราชการและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ประจำอยู่ในหน่วยงาน/องค์กรท้องถิ่นอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ในบริบทที่ “อำเภอยรงอัน” เป็นพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากการปลูกและแปรรูปไม้กระดานสนหนามจีน (Cunninghamia lanceolata) แล้ว การปลูก “ส้มทอง” เป็นอีกหนึ่ง “สินค้าเกษตร OTOP” ของอำเภอยรงอัน ภาครัฐจึงได้วางตัวให้ “ส้มทอง” เป็นอีกเครื่องมือ ‘แก้จน’ ของชาวชนบท โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรสู่ “อุตสาหกรรมการเกษตร” โดยเฉพาะการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน อาทิ การจัดการแหล่งน้ำการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การหาตลาดรองรับ และการกำหนดมาตรฐานการผลิต
การส่งเสริมการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานในรูปแบบ “การเกษตรแบบแปลงใหญ่” เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)และผลิตผล ช่วยยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
กล่าวคือ แทนที่เกษตรกรจะต่างคนต่างปลูกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยขาดการวางแผนการผลิตและการตลาด ขาดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลผลิตที่ได้รสสัมผัสไม่เหมือนกัน (บางสวนหวาน บางสวนจืด ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาด) ภาครัฐได้ให้การส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันทำ “การเกษตรแบบแปลงใหญ่” เพื่อส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Standardized production) โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ทุกกิจกรรมตลอดห่วงโช่อุปทาน (Supply chain)
หนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยม คือ “บริษัท + ฟาร์มเกษตร + เกษตรกร” โดยบริษัทกับเกษตรกรทำความตกลงร่วมกัน (เกษตรพันธสัญญา หรือ Contract farming) เกษตรกรมีหน้าที่ปลูกพืชผลเกษตรให้ได้คุณภาพที่ดี บริษัทจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาด ขณะที่ภาครัฐคอยให้การสนับสนุนด้านฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การอุดหนุนเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์กล้าที่มีคุณภาพดี และการสร้างแพลตฟอร์ม/ช่องทางการจัดจำหน่ายให้เกษตรกร
การพัฒนาช่องการจำหน่ายผ่านช่องทาง “การค้าออนไลน์” โดยเฉพาะการไลฟ์สด (Live-streaming) เพื่อสร้างรายได้ให้กับสินค้าเกษตรขั้นต้น เป็นสินค้า OTOP ท้องถิ่นผ่านระบบ e-Commerce จำหน่ายไปทั่วประเทศจีนปัจจุบัน อำเภอยรงอันมีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ 749 ราย ร้านค้าอีคอมเมิร์ซ 23,000 ราย ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ 60 ราย ยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 6.3 เท่าใน 8 ปี จาก 880 ล้านหยวนในปี 2559 เป็น 5,600 ล้านหยวนในปี 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากความก้าวหน้าของอีคอมเมิร์ซ และความสะดวกรวดเร็วด้านโลจิสติกส์แล้ว ยังมีการพัฒนา“บรรจุภัณฑ์และกระบวนการคัดบรรจุ” ที่เหมาะสมเพื่อให้ส้มทองคงความสดใหม่และไม่เสียหายระหว่างการขนส่ง (อาทิ ตาข่ายโฟม วัสดุกันกระแทก) และบรรจุภัณฑ์พรีเมี่ยมสำหรับใช้มอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลรวมทั้งสินค้าต้องสามารถ“ตรวจสอบย้อนกลับ” (Traceability) ได้
ด้วยความสนับสนุนของศุลกากรหลิ่วโจวในการลงพื้นที่แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการส่งออกให้กับเกษตรกรและโรงคัดบรรจุ ปัจจุบัน “ส้มทองยรงอัน” ประสบในการทำตลาดต่างประเทศแล้ว มีสวนส้มทองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกแล้ว 7 แห่ง โรงคัดบรรจุ 4 แห่ง ในปี 2566 ที่ผ่านมา อำเภอยรงอันส่งออกส้มทอง 10 ล็อต น้ำหนักรวม 50 ตัน มูลค่ามากกว่า 1.2 ล้านหยวน
การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการวิจัยพัฒนาและ “แปรรูปสินค้าเชิงลึก” อาทิ ขนมไส้ส้มทอง ยาอมสมุนไพรส้มทอง ส้มทอง ไซรัปส้มทอง ส้มทองแช่อิ่ม น้ำผลไม้ส้มทอง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ส้มทองเพื่อการฟื้นฟูชนบทภายใต้ความร่วมมือกวางตุ้ง-กว่างซี (粤桂协作金桔乡村振兴现代农业产业园) และนิคมอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรอำเภอหลงอัน (融安县农产品加工产业园) เป็นฐานการแปรรูปหลัก
นิคมข้างต้นเป็นผลสำเร็จที่ได้ตกผลึกจากความร่วมมือภายใต้นโยบาย ‘จับคู่แก้จน’ ระหว่างอำเภอซุ่ยซี (遂溪县 เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง) กับอำเภอยรงอัน (เมืองหลิ่วโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง) ตั้งแต่ปี 2560 โดยมณฑลกวางตุ้งได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ ‘คู่หู’ และผลักดันให้บริษัทที่มีศักยภาพาเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจแปรรูปในนิคมอุตสาหกรรม เป็นส่วนช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวยรงอันด้วย
บีไอซี เห็นว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าและพัฒนาให้ห่วงโซ่การเกษตรมีความสมบูรณ์ขึ้นตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่งถึงมือผู้บริโภค ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และนำพาเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน กรณีศึกษาข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ภาคการเกษตรไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรไทยให้ได้ประสิทธิภาพและยั่งยืน
************************