ค้นหา ‘โอกาส’ ของไทยในห่วงโซ่อุตสาหกรรม “หล่อฮังก้วย” ของกว่างซี
15 Oct 2024นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินชื่อ “หล่อฮังก้วย” (Monk fruit) สมุนไพรจีนในภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือที่ภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘หลัวฮั่นกั่ว’ (罗汉果) ในประเทศจีน สมุนไพรผลกลมสีน้ำตาลเข้มชนิดนี้เป็นที่รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในหมู่ชาวจีนยาวนานกว่า 2,000 ปีพบมากในพื้นที่จีนตอนใต้
“หล่อฮังก้วย” เป็นพืชสมุนไพรในวงศ์แตงเป็นไม้เลื้อยผลมีผิวเรียบมันมีขนาดประมาณส้มเขียวหวาน ผลที่ยังไม่สุกจะมีสีเขียว โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวผลที่ยังไม่แก่จัดมาตากและอบจนแห้งสนิทมีฤทธิ์เย็น ดับร้อนผ่อนกระหายบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ละลายเสมหะบรรเทาอาการนอนไม่หลับโดยชาวจีนนิยมนำผลแห้งมาต้มกับดอกเก๊กฮวยหรือใบชาผูเอ่อร์ ในประเทศไทยก็มีการใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มแก้ร้อนในที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ‘จับเลี้ยง’
ด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการและคุณสมบัติเป็นยา ได้รับการประกาศรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขจีนในบัญชีรายชื่อสมุนไพรจีนชั้นดีที่เป็นทั้งอาหารและยา (ชุดแรก) และมีการใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องดื่ม และอาหาร
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงขึ้นชื่อว่าเป็น “คลังสมุนไพรธรรมชาติ” และ “แหล่งกำเนิดยาสมุนไพรจีน”มีพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่เป็น ‘อัตลักษณ์กว่างซี’ จำนวน 31 ชนิด โดย 1 ในนั้นก็คือ “หล่อฮังก๊วย”กล่าวได้ว่า “หล่อฮังก้วย” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงปัจจุบัน มีการส่งออกผลหล่อฮังก้วยแห้งไปมากกว่า 30 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก
รู้หรือไม่ว่า… ร้อยละ 90 ของ “หล่อฮังก้วย”ที่ผลิตได้บนโลกอยู่ที่“เมืองกุ้ยหลิน” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยเฉพาะอำเภอหย่งฝู (Yongfu County/永福县) ถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักและเป็นแหล่งต้นกำเนิด “หล่อฮังก้วย” ของจีน มีประวัติการปลูกยาวนานเกือบ 400 ปี นอกจากนี้ ยังมีแหล่งปลูกในเขตหลินกุ้ย (Lingui District/临桂区) และอำเภอปกครองตนเองหลากหลายชาติพันธุ์หลงเซิ่ง (Longsheng Various Nationalities Autonomous County/龙胜各族自治县)
“หล่อฮังก้วย” ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นของอำเภอหย่งฝู เมืองกุ้ยหลิน อำเภอแห่งนี้เป็นแหล่งแปรรูปและจำหน่ายหล่อฮังก้วยร้อยละ 70 บนโลก และ “หล่อฮังก้วย” เป็นผลิตภัณฑ์คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจีน (Geographical Indication: GI) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สินค้า GI” —— “หล่อฮังก้วยหย่งฝู”
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและตอกย้ำ ‘ความเป็นหนึ่ง’ ในอุตสาหกรรมหล่อฮังก้วยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพสูงเมื่อไม่นานมานี้ เทศบาลเมืองหย่งฝู ได้ประกาศแนวทางการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมหล่อฮังก้วย โดยมุ่งส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อยกระดับมูลค่าการผลิตรวมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้ทะลุ 10,000 ล้านหยวน
การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ (ภาคเกษตร) อำเภอหย่งฝูให้ความสำคัญกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในหล่อฮังก้วย ที่ผ่านมา ได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนมากกว่า 30 ล้านหยวนในการสร้าง “สวนสาธิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับหล่อฮังก้วย” ช่วยสร้างมาตรฐานการจัดการด้านการเพาะปลูกและการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพาะปลูก ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย (หมู่จีน) จากหมู่ละ 8,000 ลูก (ราวไร่ละ 3,333 ลูก) เพิ่มขึ้นเป็นหมู่ละ 12,000 ลูก (ราวไร่ละ 4,999 ลูก)
การยกระดับมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์กลางน้ำ (สินค้าแปรรูป) ถือเป็น‘กุญแจ’ไขความสำเร็จในอุตสาหกรรมหล่อฮังก้วยของอำเภอหยงฝู ปัจจุบัน อำเภอหยงฝูมีสหกรณ์และโรงงานแปรรูปหล่อฮังก้วย 166 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทรายใหญ่ 10 ราย เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ระดับ Hi-end อย่างเช่น การสกัด“โมโกรไซด์” (Mogrosides) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ทั้งนี้ เทศบาลอำเภอหยงฝูตั้งเป้าหมายว่า ในระยะ 5 ปีจากนี้ จะพัฒนาให้อำเภอหยงฝูก้าวสู่การเป็น (1) พื้นพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อฮังก้วยพรีเมี่ยมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (2) พื้นที่ผู้นำการพัฒนาการสร้างแบรนด์อุตสาหกรรมหล่อฮังก้วยของโลก และ (3) พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาเชิงบูรณาการและการส่งเสริมความเจริญให้กับอุตสาหกรรมในพื้นที่ชนบทห่างไกล
โอกาสและความร่วมมือในพืชเศรษฐกิจ —— “หล่อฮังก้วย” ของประเทศไทยในเขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่ตรงไหน??? เทรนด์ธุรกิจว่าด้วยเรื่องของ “สุขภาพ” (Health) ปัจจุบัน พฤติกรรมการใส่ใจในสุขภาพในหมู่ชาวจีน กอปรกับแนวโน้มการก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐท้องถิ่น ได้สร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจไทยในการเกาะเทรนด์ “สุขภาพ” ที่กำลังเติบโตได้ดีในตลาดจีน อาทิ
- การพัฒนา “ผลิตภัณฑ์น้ำตาลหล่อฮังก้วย” เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ขนมคบเคี้ยว และเครื่องดื่ม เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารแคลอรี่ต่ำคนรักสุขภาพที่ต้องการคุม/ลดน้ำหนัก
- การพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ทางเลือก”ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ และผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาล ผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน (ผู้ที่มีโรคความดัน ผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูง และผู้ประสบปัญหานอนไม่หลับ)
- การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หล่อฮังก้วยในอุตสาหกรรมเภสัชกรรมไม่ว่าจะเป็นการผลิตส่วนผสมให้ยาที่มีรสขมให้มีรสหวาน หรือการผลิตเป็นยาจากหล่อฮังก้วยที่มีสรรพคุณเพื่อการบรรเทาหรือรักษาโรค (อย่างยาอมแก้ไอตราตะขาบ ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีน)
ทั้งนี้ มีงานค้นคว้าวิจัยและหลักฐานทางการแพทย์ที่พิสูจน์ถึงสรรพคุณของหล่อฮังก้วยในแง่ของประโยชน์ต่อสุขภาพไว้อย่างหลากหลาย อย่างเช่น “น้ำตาลหล่อฮังก้วย”เป็น 1 ในตัวเลือกสารแทนความหวานจากน้ำตาลที่มีชื่อว่า“โมโกรไซด์”ซึ่งให้ความหวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 250-300 เท่าแต่ไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งให้พลังงานต่ำช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินในร่างกาย
งานทดลองวิจัยในสัตว์ทดลองและผู้ป่วย ยังชี้ว่า “โมโกรไซด์” มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการเจริญของเนื้องอกใต้ผิวหนัง ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินที่ตับอ่อน ช่วยต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย
เมื่อปี พ.ศ. 2553 “โมโกรไซด์” ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าสามารถใช้เป็นสารให้ความหวานได้อย่างปลอดภัยและยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร
บีไอซี เห็นว่า ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้ามาเป็น “ผู้เล่น” ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมหล่อฮังก้วยของกว่างซีได้ โดยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นในการผลิต การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการจำหน่ายในตลาดจีน โดยหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการลงทุนในจีนของภาคธุรกิจไทยโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่น ก็คือ กลุ่มน้ำตาลมิตรผลที่เข้ามาลงทุนโรงงานน้ำตาลหลายแห่งในเมืองฉงจั่วของกว่างซี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศจีน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกว่างซีมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจต่างชาติ ทั้งในแง่นโยบาย สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคลทั้งนี้ ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้วิธีการจับคู่ธุรกิจในลักษณะแบ่งงานตามความถนัดเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมของสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปพร้อมกันซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาดทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถแสวงหาและแลกเปลี่ยนวัตถุดิบทรัพยากรและเทคโนโลยีระหว่างกันช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้
**********************