กุญแจไขตลาดจีน : ระบบ “การแบ่งระดับเมือง” (City Tier) ค้นหา “เมืองที่ใช่”ตอบโจทย์ธุรกิจของคุณ
8 Oct 2024
กฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เป็นที่ทราบกันว่า…“สาธารณรัฐประชาชนจีน” มีหน่วยการปกครอง “ระดับมณฑล” ทั้งหมด 34 แห่ง ประกอบด้วย 23 มณฑล (Province) / 5 เขตปกครองตนเอง (Autonomous region) / 4 นครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง (Municipality) และ 2 เขตบริหารพิเศษ (Special administrative region)
แล้วท่านทราบหรือไม่ว่า… หากนับเฉพาะ “จีนแผ่นดินใหญ่” โดยแยกย่อยลงไปเป็นหน่วยการปกครอง “ระดับเมือง” แล้ว ในจีนแผ่นดินใหญ่มีเมืองทั้งหมดกี่แห่ง ————- 333 แห่ง (293 เมือง / 7 เขตดินแดน / 30 แคว้นปกครองตนเอง และ 3เขตสหพันธ์)
แม้ว่า “จีน” จะเป็น “ตลาดเดี่ยว” (Single Market) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของจีน จึงมีความหลากหลายทางชนชาติ ประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ไลฟ์สไตล์ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคฉะนั้น ในมุมมองของนักการตลาดการมองจีน “ภาพเดียว” ——— ภาพตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคนคงไม่พอ!!!
อย่าง “มณฑลกวางตุ้ง” หากนำไปเทียบกับประเทศอื่นในโลก ท่านทราบหรือไม่ว่า…ปี 2566 “กวางตุ้ง” แค่มณฑลเดียวมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก สูสีกับรัสเซีย และมากกว่าเกาหลีใต้ เม็กซิโก และออสเตรเลียด้วยซ้ำ ขณะที่ “นครเซี่ยงไฮ้” เมืองเดียวมีขนาดเศรษฐกิจสูสีกับอาร์เจนตินา หรืออันดับที่ 23 ของโลก
งั้น… หากเราอยากจะบุกตลาดจีน เราควรเริ่มต้นจากตรงไหน??? การสำรวจตลาดเพื่อหาช่องว่างและลู่ทางในการเติบโตของแบรนด์สินค้าและบริการการสำรวจกำลังซื้อของตลาดและล็อกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักการตลาด ———- การแบ่งระดับเมือง (City tier)
ระดับเมือง หรือ City tier—— ข้อมูลสำคัญก่อน‘ลุย’ ตลาดจีน มุมมองที่คิดว่า “เมืองไหน ๆ ในจีนก็เหมือนกันหมด” ถือเป็นหายนะ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตลาดจีนมีความหลากหลาย ซับซ้อน และแตกต่างในระดับเมือง ทั้งในแง่ของขนาด กำลังซื้อรสนิยม การเปิดกว้างทางความคิด รวมถึงความต้องการต่อสินค้าและบริการดังนั้น “การแบ่งระดับเมือง” ถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้นักการตลาดมองเห็นภาพตลาดจำนวนมากที่ประกอบกันเป็น “ตลาดจีน” และเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจในการเข้าสู่ตลาดหรือเป็นแนวทางในการขยายธุรกิจในจีน
ปัจจุบัน “ระบบการจำแนกระดับเมือง” ในประเทศจีนมีอยู่หลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น Yicai Global, South China Morning Post, Mafengwo Report แม้ข้อมูลการจัดอันดับเมืองจะไม่ได้เป็นข้อมูลทางการแต่เป็นข้อมูลที่ภาคธุรกิจไทยสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อประกอบการพิจารณาแผนการตลาดในจีน
ในบทความฉบับนี้ บีไอซี ขอนำเสนอรายงาน“การจัดอันดับเมืองระดับหนึ่งหน้าใหม่ที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด ประจำปี 2567” ของ Yicai Global ซึ่งเป็นสื่อเศรษฐกิจชั้นนำในจีน ซึ่งใช้เกณฑ์การพิจารณาในการกำหนดระดับเมือง 5 หมวด คือ (1) การกระจุกตัวของทรัพยากรเชิงพาณิชย์ (2) ความเป็นศูนย์กลางของเมือง (3) ความมีชีวิตชีวาของผู้อาศัยในเมือง (4) ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจกระแสใหม่และ (5) ศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต

รู้จัก City tier—— ค้นหา “เมืองที่ใช่” ไม่ใช่ “เมืองที่ชอบ” ในรายงาน “การจัดอันดับเมืองระดับหนึ่งหน้าใหม่ที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด ประจำปี 2567” มีจำแนกเมือง 337 แห่งของจีน (เมือง 333 แห่ง + นครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง 4 แห่ง) เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
(1) เมืองระดับ 1 หรือ First–tier cities จำนวน 4 เมืองเป็นเมืองขนาดใหญ่ระดับอภิมหานคร (mega-cities) ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมืองการศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 15 ล้านคน มีระดับความเป็นเมืองสูงที่สุด (urbanization) มีระดับความมั่งคั่งมากที่สุด มีระดับความเจริญมากที่สุด ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ระบบสาธารณูปโภคประชากรมีรายได้และกำลังซื้อสูง และมีอัตราค่าครองชีพสูงอย่างมาก
(2) เมืองระดับ 1 หน้าใหม่ หรือ New first-tier cities จำนวน 15 เมือง เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง มีระบบสาธารณูปโภคครบครันประชากรมีกำลังซื้อสูงส่วนใหญ่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน มีบทบาททางเศรษฐกิจ การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาค มีอัตราค่าครองชีพสูง เป็นเมือง “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ของจีนที่มีศักยภาพกำลังเติบโตไล่และก้าวขึ้นเป็นเมืองระดับ 1 ในอนาคต
(3) เมืองระดับ 2 หรือ Second-tier cities จำนวน 30 เมืองส่วนใหญ่เป็นเมืองเอกและเมืองรองของมณฑลหรือเมืองชายฝั่งตะวันออกมีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสูง แม้จะยังไม่เท่า New first-tier cities และเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน (โดยทั่วไป 1 – 5 ล้านคน) มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล และมีศักยภาพในการเติบโตขึ้นเป็น New first-tier cities ในอนาคต
(4) เมืองระดับ 3 หรือ Third-tier cities จำนวน 70 เมือง บางส่วนเป็น “เมืองรอง” ของมณฑล มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับหนึ่งมีระบบสาธารณูปโภคค่อนข้างครบครัน เป็นเมืองศูนย์กลางระดับรองในมณฑล และมีโอกาสเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง
(5) เมืองระดับ 4 หรือ Forth-tier Cities จำนวน 90 เมืองเป็นระดับกลางที่มีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจและระบบคมนาคมที่ค่อนข้างครบครัน แต่ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากเมืองศูนย์กลางที่อยู่ใกล้เคียง ระดับการบริโภคมีแนวโน้มเติบโตได้ดี
(6) เมืองระดับ 5 หรือ Fifth-tier Cites จำนวน 128 เมืองโดยทั่วไป เป็นเมืองขนาดเล็ก มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า การคมนาคมขนส่งไม่ค่อยสะดวก เป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นหน่วยการปกครองระดับเมืองที่ยังด้อยพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ และเมืองขนาดกลาง-เล็กในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศ

ศักยภาพทางการตลาดในเมืองระดับรอง
การแบ่งตลาดจีนผ่าน “ระดับเมือง” (city tier) ช่วยให้นักการตลาดทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า… เมืองไหนที่ “เหมาะที่สุด” กับแผนธุรกิจของตนมากที่สุด เพราะต้นทุนหลักในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าจ้างและค่าเช่า มีความเกี่ยวเนื่องกับระดับเมือง ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตอาจเลือกที่จะตั้งอยู่ในเมืองชั้นรองเพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนการประกอบธุรกิจ ที่ดิน และค่าแรงที่ต่ำกว่า หรืออาจเลือกเมืองระดับบน ซึ่งตอบโจทย์ด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและตลาดคุณภาพ
ในอดีตที่ผ่านมา ธุรกิจจีนและต่างชาติต่างโฟกัสไปที่หัวเมืองขนาดใหญ่ที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นเมืองระดับ 1 (First-tier cities) และเมืองระดับ 1 หน้าใหม่ (New first-tier cities) แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า… ประชากรจีนราว ร้อยละ 80 หรือกว่า 1,100 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองระดับรอง (เมืองระดับ 2 หรือ Second-tier cities ลงไป)
แต่… ปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้เริ่มขยายธุรกิจไปยังเมืองระดับรอง โดยเฉพาะเมืองระดับ 2 ที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งมาพร้อมกับ “ช่องว่างในตลาด” และ “โอกาสใหม่ทางธุรกิจ” โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดีย
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วงมี “นครหนานหนิง” ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มเมืองระดับ 2 (อันดับที่ 11 ในกลุ่มเมืองระดับ 2) ขณะที่เมืองกุ้ยหลิน และเมืองหลิ่วโจว อยู่ในกลุ่มเมืองระดับ 3 (อันดับที่ 30 และอันดับที่ 37 ในกลุ่มเมืองระดับ 3 ตามลำดับ)
ยิ่งในบริบทที่จีนกำลังเผชิญกับสภาวะสังคมที่ “อัตราการเกิดลดลง” และกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” สภาวะเศรษฐกิจและสังคมในเมืองขนาดใหญ่ที่เข้าใกล้จุดอิ่มตัว และการดำเนินนโยบายรัฐเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) เป็นปัจจัยสนับสนุนการย้ายถิ่นของประชากรเข้าสู่หัวเมืองระดับรองมากยิ่งขึ้นทำให้กลุ่มเมืองระดับรองเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง “ตลาดบริโภคใหม่” ในประเทศ นักการตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากการแบ่งระดับเมืองในจีน เพื่อช่วยในการคัดกรองเบื้องต้นได้ว่า… เมืองไหนที่เอื้อต่อเป้าหมายทางธุรกิจและความสามารถทางการตลาดของแบรนด์/หรือธุรกิจของตนเองได้มากที่สุด
************************