BIC Insight : กว่างซีแสดงการทำงาน “ด่านศุลกากรอัจฉริยะโหย่วอี้กวาน” คาดใช้งานจริงสิ้นปี 2567
7 Oct 2024
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
“ด่านโหย่วอี้กวาน” (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นด่านสากลทางบกที่มีปริมาณการค้ามากที่สุดระหว่างจีนกับเวียดนาม และปริมาณการค้ามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นช่องเขาแคบ (ลักษณะคอขวด) และเป็น landlocked ส่งผลให้เกิดสภาพการจราจรแออัด และปัญหารถบรรทุกตกค้าง (ทั้งในและนอกด่าน) เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในฤดูผลไม้

เสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้มีการยกระดับศักยภาพของด่านโหย่วอี้กวาน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาและยกระดับ “ด่านศุลกากรโหย่วอี้กวาน” สู่ “ความเป็นอัจฉริยะ” ซึ่งมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านด่านของคนขับรถบรรทุก รถบรรทุก และตู้สินค้า
“ณ วันที่ 7 กันยายน 2567 ด่านภายใต้การกำกับการของ “ด่านโหย่วอี้กวาน” มีปริมาณรถสินค้าเข้า-ออกทะลุ 500,000 คันครั้งแล้ว เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 (YoY) และทำสถิติทะลุหลัก 5 แสนคันครั้งได้เร็วกว่าปีก่อนถึง 50 วัน โดยแบ่งเป็นปริมาณรถสินค้าที่ผ่านด่านโหย่วอี้กวานกว่า 333,000 คันครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และรถสินค้าผ่านด่านผู่จ้าย-น่งหยาว (ช่องทางเสริมของด่านโหย่วอี้กวาน) ราว 149,000 คันครั้ง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า… การเปิดใช้งานอาคารประตูไม้กั้น หรือ Truck Terminal หลังใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา การทดลองใช้ระบบยื่นสำแดงรถสินค้าเข้า-ออกผ่านทางออนไลน์ และการอัปเกรดระบบ Fast Track สำหรับตรวจสอบการผ่านแดนของคนขับและรถบรรทุกสินค้า เวอร์ชั่น 2.0 ได้ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการระบายรถสินค้าที่ด่านโหย่วอี้กวานให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะระบบ Fast Track สำหรับตรวจสอบการผ่านแดนของคนและรถสินค้าด้วยระบบสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือของคนขับรถ และระบบอ่านป้ายทะเบียน ช่วยร่นเวลาในการปฏิบัติพิธีการผ่านแดนเหลือเพียง 15 วินาที ในกรณีของคนขับรถที่ช่ำชองแล้ว ใช้เวลาสั้นเพียง 8 วินาทีเท่านั้น ระบบดังกล่าวช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผ่านแดนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 สามารถตรวจปล่อยรถสินค้าผ่านเข้า-ออกได้เฉลี่ยวันละกว่า 1,300 คันครั้ง โดยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ทำสถิติสูงสุดที่ 1,900 คันครั้ง
กล่าวได้ว่า… การดำเนินการข้างต้นช่วยแบ่งเบาแรงกดดันของด่านโหย่วอี้กวานได้ในระยะสั้น หากแต่ในระยะยาวจำเป็นต้องหาทางออกและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่ง “กรอบข้อตกลงว่าด้วยการร่วมผลักดันการก่อสร้างจุดนำร่องด่านอัจฉริยะ” ระหว่างรัฐบาลจีนกับเวียดนาม

โครงการก่อสร้าง “ด่านศุลกากรอัจฉริยะ” หรือ Smart Border Gate ที่ด่านโหย่วอี้กวาน ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นโครงการนำร่องด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะในด่านศุลกากรทางบกโครงการแรกของประเทศจีน (กับเวียดนาม) ทั้งในส่วนของ “ช่องทางพิเศษเฉพาะรถบรรทุกสินค้าไร้คนขับ” (Intelligent Guided Vehicle–IGV) ที่เริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 (ด่านหูหงิ ฝั่งเวียดนาม ยังอยู่ระหว่างกระบวนการยื่นขออนุมัติจากส่วนกลาง) และในส่วนของการก่อสร้าง “พื้นที่ปฏิบัติการลานตรวจสอบสินค้าอัจฉริยะ” ภายในบริเวณด่านโหย่วอี้กวานที่เริ่มขุดเมื่อเดือนมีนาคม 2567

ครบ 1 ปีแล้ว สำหรับการก่อสร้าง “ด่านศุลกากรอัจฉริยะโหย่วอี้กวาน” ฝั่งจีน (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) บีไอซี (BIC) จึงขออนุญาตมาอัปเดตความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 20 กันยายน 2567 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
(1) ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ภาพรวมงานก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “พื้นที่ปฏิบัติการลานตรวจสอบสินค้าอัจฉริยะ” มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 จากการเปิดเผยของบริษัทผู้รับเหมาโครงการ Guangxi Road and Bridge Engineering Group (广西路桥工程集团) พบว่า งานขุดภูเขาและปรับระดับผิวหน้าดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว (ปริมาตรดินขุด 1.28 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เวลา 3 เดือน) งานก่อสร้างอาคารปฏิบัติการคืบหน้าร้อยละ 84 งานก่อสร้างถนนหนทางคืบหน้าร้อยละ 55
(2) ระบบปฏิบัติการและอุปกรณ์อัจฉริยะ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ได้จัดการสาธิตกระบวนการทำงานของรถบรรทุกไร้คนขับ (Intelligent Guided Vehicle–IGV) การทำงานของระบบสั่งการภายในศูนย์บังคับการในการจัดการทำงานของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU Scheduling) การบริหารจัดการความเสี่ยง และการควบคุมตรวจสอบงานจัดการส่วนหลังบ้าน (Back office management) และระบบข้อมูลภาพ (Visualization)
เทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของ “ด่านอัจฉริยะ” ให้มีประสิทธิภาพสูง หรือระบบสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ มี “เทคโนโลยีสัญญาณไร้สาย 5G” และ “ระบบดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว” (The BeiDou Navigation Satellite System) เป็นพื้นฐานหลัก ช่วยให้การทำงาน (รถบรรทุกไร้คนขับ งานโลจิสติกส์ งานลาดตระเวนและตรวจสอบ) / สั่งการ (แพลตฟอร์มปฏิบัติการต่าง ๆ) มีความรวดเร็วและแม่นยำสูง
ในระหว่างการสาธิต รถ IGV ที่ลำเลียงตู้สินค้าน้ำหนัก 20 ตัน มีเสถียรภาพการทรงตัวที่ดี โดยสามารถวิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนด และจอดในพื้นที่กำหนดได้อย่างแม่นยำ (ความแม่นยำระดับเซนติเมตร) โดยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้งานจริงได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้

ตามข้อมูล รถ IGV สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 35 ตัน รถ IGV 1 คันสามารถลำเลียงตู้สินค้า 40-45 ฟุตได้ 1 ตู้ หรือตู้สินค้า 20 ฟุตได้ 2 ตู้ การทำงานของรถ IGV จะวิ่งไปตามเส้นทางเดินรถเป็นระบบควบคุมแบบปิด หรือ Closed-loop Control
นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นทีเกี่ยวข้อง เช่น ระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่รถ IGV แบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ยกตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ ระบบวิเคราะห์และประมวลภาพเอ็กซเรย์ตู้สินค้า เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระบบการแบ่งปันข้อมูลโลจิสติกส์แบบอัจฉริยะ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ “ด่านศุลกากรอัจฉริยะโหย่วอี้กวาน” สามารถให้บริการผ่านพิธีการศุลกากรการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำการ
บีไอซี เห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลสำเร็จของความร่วมมือเชิงลึกด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวระหว่างจีนกับอาเซียน ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างสองด่านให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรระหว่างประเทศในภูมิภาค และมีนัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา “เขตทดลองการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชั่น 3.0”
เมื่อ “ด่านอัจฉริยะโหย่วอี้กวาน” เริ่มใช้งานจริงแล้วจะช่วยตอกย้ำการเป็น “ประตูการค้า” ระหว่างจีนและอาเซียนเป็น “ช่องทางการค้า” ที่มีความสะดวกรวดเร็วในการค้าสินค้าและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าข้ามประเทศและพิธีการศุลกากร ช่วยให้ผู้ประกอบการ(ไทย)ลดกระบวนการ ลดกำลังคน รวมถึงลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก
**********************