เนื้อเน้น ๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน ตอนที่ 2 ผลิตภัณฑ์เนื้อวัว
18 Jun 2024
นางสาวฉิน อวี้ห์อิ๋ง เขียน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียนและเรียบเรียง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
อย่างที่ได้เล่าไปในบทความตอนก่อนว่า… “จีน” เป็นผู้ผลิตเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก แต่!!! จีนเป็นประเทศ ‘นักกิน’ เนื้อวัวอันดับ 2 ของโลก จึงไม่แปลกใจเลยว่า… ทุกวันนี้ เวลา “หิว”แล้วกำลังมองหาของกินบนแอปสั่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery) อาหารในห้างร้าน หรือแม้แต่สตรีทฟู้ด จะหันไปทางไหนก็จะเห็น “เนื้อวัว” สารพัดเมนูให้เลือกสรร
ในบทความ เนื้อเน้นๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน ตอนที่ 2 บีไอซี ขอนำท่านผู้อ่านไปต่อยอดและส่องโอกาสของ “ผลิตภัณฑ์เนื้อวัว” ในตลาดจีนกัน
จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC (General Administration of Custom of People ‘s Republic of China) ระบุว่า ปี 2566 ประเทศจีนมีการนำเข้าเนื้อวัว 2,736,900 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 110,068 ล้านหยวน หรือราว 550,000 ล้านบาท
ท่านรู้หรือไม่ว่า ปี 2566 ใครเป็น ‘เจ้าตลาด’ เนื้อวัวในจีน?? หากเป็นโคมีชีวิตต้องยกให้ “วัวออสซี่” แต่ถ้าเป็นการผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ต้องยกให้ประเทศทางฝั่งอเมริกาใต้ (บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย โบลิเวีย และชิลี) รวม ๆ แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของปริมาณการนำเข้าจากทั่วโลกเลยทีเดียว
โดย “บราซิล” มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 43 ตามด้วยอาร์เจนตินา (ร้อยละ 19.25) อุรุกวัย (ร้อยละ 10.03) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 8.27) นิวซีแลนด์ (ร้อยละ 7.53) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 5.7) โบลิเวีย (ร้อยละ 2.53) เบลารุส (ร้อยละ 1.78) ชิลี (ร้อยละ 0.69) และรัสเซีย (ร้อยละ 0.67)

เนื้อวัวเข้าประเทศจีนผ่าน “ประตู” บานไหนกันบาง??? จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน พบว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ส่วนใหญ่เป็นมณฑลเลียบชายฝั่งทะเล และเป็นมณฑลเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าของจีน โดย Tมณฑล 5 อันดับแรกที่นำเข้าเนื้อวัวมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง (477,070 ตัน สัดส่วนร้อยละ 17.43 ของปริมาณการนำเข้าทั้งประเทศ) นครเซี่ยงไฮ้ (463,411 ตัน สัดส่วนร้อยละ 16.93) มณฑลกวางตุ้ง (349,052 ตัน สัดส่วนร้อยละ 12.75) นครเทียนจิน (298,448 ตัน สัดส่วนร้อยละ 10.9) มณฑลเจียงซู (184,073 ตัน สัดส่วนร้อยละ 6.73)

ฝ่าด่าน ‘อรหันต์’ การส่งออกเนื้อวัวไปจีน การส่งออกสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เกี่ยวข้อง มีข้อกำหนดพื้นฐานว่าจะต้องมาจากแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไม่ได้อยู่ใน “บัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ห้ามนำเข้าจากประเทศ/ดินแดนที่มีโรคระบาดในสัตว์” ตามประกาศของกรมกักกันพืชและสัตว์ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน และจะต้องส่งออกไปยังด่านที่ได้รับอนุมัติที่เป็น “ด่านนำเข้าเนื้อสัตว์แช่เย็น/แช่แข็ง” เท่านั้น พูดง่าย ๆ คือ ส่งผิด ชีวิตเปลี่ยน
ในระดับรัฐบาล ต้องมีความตกลงในพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัยทางสัตว์แพทย์เพื่อการส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปจีนระหว่างรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกกับรัฐบาลจีน (สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน) นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ยังมีข้อกำหนดให้โรงงาน/บริษัทของประเทศ/ดินแดนที่ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไปจีนจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก《符合评估审查要求的国家或地区输华牛羊肉类产品名单》ทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อวัวดิบและที่ปรุงสุกแล้วอีกด้วย
บัญชีรายชื่อโรงงาน/บริษัทผู้ส่งออกต่างประเทศที่อัปเดตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 มี 26 ประเทศที่ได้รับอนุญาตการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไปจีน ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา โบลิเวีย เบลารุส ชิลี รัสเซีย คอสตาริกา ยูเครน ปานามา ไอร์แลนด์ นามิเบีย เซอร์เบีย ฮังการี แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส ลัตเวีย คาซัคสถาน แคนาดา เม็กซิโก นิการากัว โคลัมเบีย โปแลนด์ ขณะที่ปากีสถานและมองโกเลียได้รับอนุญาตเฉพาะเนื้อวัวปรุงสุก
ผลิตภัณฑ์เนื้อวัวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 98 เป็น “เนื้อวัวแช่แข็ง” ทั้งในลักษณะเนื้อสเต็กที่หั่นบรรจุสำเร็จรูปพร้อมปรุง และเนื้อวัวแช่แข็งเพื่อส่งไปแปรรูปในโรงงาน (เนื้อหั่นเต๋า เนื้อหั่นชิ้น เนื้อสไลด์บาง และเนื้อปรุงรส) เพื่อป้อนซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ร้านอาหารสไตล์ฝรั่ง ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น-เกาหลี หรือร้านอาหารสุกี้-ชาบู-จิ้มจุ่มสไตล์จีน-ญี่ปุ่น
ลูกค้ากลุ่มไหนน่าสนใจ จริง ๆ แล้ว ชาวจีนจะ Gen ไหนก็นิยมรับประทาน “เนื้อวัว” แต่ที่อยากจะพูดเป็นพิเศษ คือ ชาวจีน Gen Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540 – 2555) หรือที่เรียกว่า Digital Native ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่เกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย เพราะว่าชาวจีน Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้ขับเคลื่อนตลาดบริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่
แม้ว่าประชากร Gen Z จะมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรจีน หรือราว ๆ 264 ล้านคน แต่กลับมีส่วนช่วยขับเคลื่อน “กำลังซื้อ” ในจีนสูงถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว!!!
แถมยังคาดการณ์ว่า ในปี 2578 มูลค่าการบริโภคของชาวจีน Gen Z จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่า 16 ล้านล้านหยวน หรือกว่า 80 ล้านล้านบาท กล่าวได้ว่า…ในอีก 10 ปีข้างหน้า ชาวจีน Gen จะเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดบริโภค รวมถึงตลาดวัฒนธรรมในจีน
ด้วยพื้นฐานสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พฤติกรรมชาวจีน Gen Z มีมุมมองความคิดที่เปิดกว้างกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ยึดตัวเองเป็นหลัก ชอบความแปลกใหม่ เน้นความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและความพึงพอใจทางอารมณ์ ดังนั้น ชาวจีน Gen Z จึงมีทัศนคติต่อการกิน —— “อยู่เพื่อกิน” ไม่ไช่ “กินเพื่ออยู่” เหมือนคนยุคก่อน

ในรายงานผลสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกรับประทานอาหารของชาวจีน Gen Z ของ Seven-Star Convention Alliance (中国食品健康七星公约联盟) ร่วมกับ Yicai (第一财经) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่า พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน Gen Z เลือกที่คุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพ ไขมันต่ำแคลลอรี่ต่ำ เน้นเติมเต็มคุณค่าทางอารมณ์ พร้อมจ่ายเรื่องการกินและซื้อเวลา (สั่งดิลิเวอรี่ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน หรือไปทานนอกบ้าน) และคำนึงถึงความปลอดภัยอาหารมากขึ้น
จึงเป็นเหตุผลว่า.. ทำไม “เนื้อวัว” เนื้อแดงที่มีไขมันต่ำและมีโภชนาการสูง จึงตอบโจทย์ชาวจีน Gen Z โดยเฉพาะเทรนด์อาหาร Light Food ที่กำลังเติบโตได้ดีในกลุ่มคน Fitness และกลุ่ม Office Mom
ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่า “โคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อวัว” ของประเทศไทยจะยังไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้โดยตรง เนื่องจากปัญหาโรคระบาดในวัว (ปากและเท้าเปื่อย / Lumpy Skin Disease) ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของเกษตรกรผู้เลี้ยงและโรงงานในการยกระดับระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Good Agricultural Practice : GAP) และเป็นฟาร์มที่มีระบบ การป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) รวมถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคระบาด เพื่อควบคุมและกำจัดโรคระบาดให้หมดไปจากประเทศไทย
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามใช้โอกาสจากเวทีการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อเจรจาหารือเพื่อแสวงหาแนวทางการกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยอาหารและข้อกำหนดของจีน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับฝ่ายจีนในการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์เพิ่มเติมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าโคและสุกร เหมือนที่ได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยมายังประเทศจีน
การเตรียมความพร้อมของผู้ส่งออกไทย บีไอซี เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถนำพฤติกรรมการบริโภคเหล่านี้ไปศึกษาและวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวางแผนทางการตลาดให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน (Gen Z) เพื่อกรุยทางสำหรับการ ‘เปิดตลาด’ สินค้าไทยในจีนประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
**********************