เนื้อเน้น ๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน ตอนที่ 1 โคเนื้อมีชีวิต
24 May 2024นางสาวฉิน อวี้ห์อิ๋ง เขียน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียนและเรียบเรียง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
หนึ่งในเรื่องที่คนไทยยังเข้าใจคนจีนผิดอยู่ นั่นก็คือ “คนจีนไม่ทานเนื้อ(วัว) เพราะว่านับถือเจ้าแม่กวนอิม” อันที่จริง ถ้าหากท่านได้มาท่องเที่ยวหรือลองใช้ชีวิตในเมืองจีนแล้ว ท่านจะพบว่า… คนจีนชอบทานเนื้อ(วัว)มาก ถึงมากที่สุด ทั้งเนื้อสไลด์บางในร้านสุกี้-หมาล่าชาบู เนื้อหั่นเต๋าในร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น เนื้อสเต็กในร้านอาหารฝรั่ง หรือเนื้อเสียบไม้ย่างบาร์บีคิวริมทาง และเนื้อแดดเดียวทรงเครื่องในแพคสุญญากาศ
เกริ่นมาขนาดนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงพอจะเดาออกแล้วว่า บทความฉบับนี้ บีไอซีจะมาเล่าเรื่อง “เนื้อ เนื้อ” ในตลาดจีน
รู้หรือไม่ว่า… “จีน” เป็นผู้ผลิตเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา บราซิล และสหภาพยุโรป) แต่!!! จีนเป็นประเทศ ‘นักกิน’ เนื้อวัวอันดับ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา)
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2566 ประเทศจีนมีกำลังการผลิตเนื้อวัว 7.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ขณะที่กำลังการบริโภคมีสูงถึง 10.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จึงพออนุมานได้ว่า… การผลิต(เนื้อ)วัวในจีนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคได้เพียงพอ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อชดเชยส่วนขาด ทั้งการนำเข้าโคมีชีวิต (เพื่อชำแหละและเพื่อปรับปรุงพันธุ์) และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวชำแหละและตัดแต่ง
ในบทความเรื่อง เนื้อเน้น ๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน บีไอซี ขออนุญาตแบ่งเล่าเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 จะพูดถึง “โคเนื้อมีชีวิต” และตอนที่ 2 จะพูดถึง “เนื้อวัว” ในตลาดจีน
ข้อมูลปี 2566 ประเทศจีนมีการเลี้ยงโคเนื้ออยู่ราว 50.23 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 โดยพื้นที่เลี้ยงโคเนื้อในจีนอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และเป็นแหล่งที่มีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์
นอกจากโคพื้นบ้านแล้ว ส่วนใหญ่ “โคเนื้อ” ในจีนเป็นโคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์ต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของโคเนื้อทั้งหมดในจีน อย่างไรก็ดี การเลี้ยงโคเนื้อในจีนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ส่งผลให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ประเทศจีนต้องนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตทั้งเพื่อชำแหละและเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้โคเนื้อคุณภาพ อย่างวัวฮวาซี (华西牛)
สถิติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2566 ประเทศจีนมีการนำเข้าโคมีชีวิต (วัตถุประสงค์เพื่อการชำแหละและเพื่อใช้ปรับปรุงพันธุ์) รวม 147,661 ตัว (รวมน้ำหนัก 42,041 ตัน) คิดเป็นมูลค่ารวม 2,218.06 ล้านหยวน เป็นการนำเข้าของ 8 มณฑล จาก 5 ประเทศทั่วโลก
โดยปีที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ‘ส้มหล่น’ จากการดำเนินนโยบายระงับการส่งออกปศุสัตว์มีชีวิตของรัฐบาลนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2566 ทำให้ ‘วัวเนื้อออสซี่’ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในจีนด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 60 ของปริมาณนำเข้ารวม ขณะที่นิวซีแลนด์ตกมาอยู่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 29 ตามด้วยอุรุกวัย (ร้อยละ 6) ชิลี (ร้อยละ 5) และ สปป.ลาว (ร้อยละ 0.02)
ผู้นำเข้ารายใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง มีการนำเข้าโคมีชีวิตมากที่สุดในจีน 52,211 ตัว ตามด้วยนครเทียนจิน (27,170 ตัว) มณฑลเหอเป่ย (23,796 ตัว) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (18,955 ตัว) มณฑลไห่หนาน (12,090 ตัว) นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลซานตง และมณฑลยูนนาน
เป็นที่ทราบกันดีว่า… ประเทศจีนมีมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS) ที่เข้มงวดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติตะวันตก ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศในประเทศจากโรคที่ติดมากับพืชหรือสัตว์
บีไอซี ขอนำผู้อ่านไปส่องดูเงื่อนไขพื้นฐานของการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เกี่ยวข้อง) ของจีนว่ามีอะไรบ้าง
(1) การนำเข้าต้องผ่าน “ด่านนำเข้าโคมีชีวิต” ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน มีสำนักงานศุลกากรระดับมณฑลที่ดูแลกำกับการนำเข้าโคมีชีวิต (พิกัด 0102 สัตว์จำพวกโคกระบือ มีชีวิต) จำนวน 12 แห่งใน 11 มณฑลทั่วจีน
ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่านที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าโคมีชีวิต 2 แห่ง คือ ด่านท่าเรือชินโจว (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว) และด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง (ด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้รับอนุมัตินำเข้าสุกรมีชีวิต)
ปี 2566 กว่างซีนำเข้าโคมีชีวิตจาก 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย (11,969 ตัว) และนิวซีแลนด์ (6,986 ตัว) ภายหลังการปลดล็อคมาตรการโควิด-19 ในการนำเข้าสินค้าสดและมีชีวิตเมื่อต้นปี 2566 การนำเข้าโคมีชีวิตผ่านด่านในกว่างซีกลับมาคึกคัก ในเดือนมีนาคม 2566 เปิดประเดิมการนำเข้าล็อตแรกผ่าน “ด่านท่าเรือชินโจว” จำนวน 5,725 ตัว เป็นแม่พันธุ์โคสาว พันธุ์ Holstein / Angus Cattle / Limousin และลำเลียงไปกักกันโรค 45 วัน ก่อนที่จะส่งไปขยายพันธุ์ในกว่างซี รวมถึงมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเสฉวน เขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ และ เขตฯ มองโกเลียใน
(2) แหล่งกำเนิดสินค้าต้องไม่อยู่ใน “บัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ห้ามนำเข้าจากประเทศ/ดินแดนที่มีโรคระบาดในสัตว์” ตามประกาศของกรมกักกันพืชและสัตว์ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (บัญชีรายชื่อฯ จะมีการอัปเดตเป็นระยะ)
ในอุษาคเนย์ มีเพียง สปป.ลาว กับเมียนมา ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถส่งออกโคมีชีวิตไปจีน ภายใต้เงื่อนไข/ข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและการกักกันโรคสำหรับโคเนื้อที่จีนกำหนด โดยโคมีชีวิตต้องนำไปพักเลี้ยงเพื่อกักกันโรคใน “เขตปลอดโรคระบาด” ที่ผ่านการตรวจรับจากฝ่ายจีนแล้ว
ในทางปฏิบัติ สปป.ลาว เป็นชาติสมาชิกอาเซียนเพียงชาติเดียวที่ส่งออกโคมีชีวิตไปจีนได้จริง โดย สปป.ลาว ได้รับโควตาการส่งออกโคและกระบือไปยังจีนปีละ 500,000 ตัว การส่งออกแต่ละครั้งจะมีโควตาเฉพาะ โดยอ้างอิงจากจำนวนโคที่สามารถรวบรวมในเขตกักกันสัตว์ได้ ยังไม่นับรวมมาตรฐาน/ข้อกำหนดอื่นของฝ่ายจีน
ขณะที่ เมียนมา ยังไม่มีการส่งออกไปจีนในทางปฏิบัติ เนื่องจากสถานตรวจสอบและกักกันโรคในการส่งออกสัตว์ในพื้นที่กงข่า (International Kawnghka Area) ใกล้พรมแดนมณฑลยูนนานของจีน ที่เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบรายงานข่าวการตรวจรับจากฝ่ายจีนแต่อย่างใด
แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน ถือเป็น “ความท้าทาย” ที่ประเทศไทยยังอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ห้ามนำเข้าจากประเทศ/ดินแดนที่มีโรคระบาดในสัตว์ เพราะเป็นพื้นที่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ทำให้“โคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อวัว” ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้โดยตรง แต่ใช้วิธีการส่งออกไปพักเลี้ยงในเขตปลอดโรคของ สปป.ลาว
กล่าวคือ โคเนื้อมีชีวิตของไทยต้องส่งไปพักเลี้ยงเพื่อเข้าสู่กระบวนการกักกันโรคในเขตพื้นที่ปลอดโรคระบาดปากและเท้าเปื่อย ที่ตั้งอยู่ภายใน สปป.ลาว เป็นเวลา 45 วัน จึงจะสามารถส่งออกไปจีนผ่านทางมณฑลยูนนาน และหลังจากเข้าไปยังจีนแล้ว ยังต้องกักกันโรคที่ชายแดนลาว-จีน อีกอย่างน้อย 30 วัน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตที่จีนได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวยังคงมีปัญหา/อุปสรรคทางธุรกิจที่ต้องร่วมกันเจรจาแก้ไขอยู่
ภารกิจเร่งด่วนในขณะนี้ คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องให้ความตระหนักรู้ เฝ้าระวัง และยกระดับระบบการเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Good Agricultural Practice : GAP) และเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) รวมถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคระบาด และนำไปสู่การกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคลัมปิ สกินให้หมดไปจากประเทศไทย
ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับจีนเรื่องการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะโคและสุกรมีชีวิตให้สามารถส่งออกไปจีนได้โดยตรง เพื่อลดการแบกรับต้นทุนของเกษตรกร การพัฒนาเขตปลอดโรคระบาดเพื่อเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์พร้อมกักกันโรคก่อนส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวทางและมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดของไทยให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนเข้ามาตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ของไทย เพื่อเปิดทางให้ “โคไทย” ก้าวไกลสู่ตลาดจีนได้อย่างราบรื่นโดยเร็ว
พบกับบทความ…เนื้อเน้นๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน ตอนที่ 2 “เนื้อวัว” เร็ว ๆ นี้
***************************