BIC เปิดประตูสู่โอกาสธุรกิจ (Video)
25 Sep 2019. มหานครเซี่ยงไฮ้เป็นหนึ่งในแบบอย่างความสำเร็จของจีนในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างสำหรับไทย
. ปัจจุบันมีเอกชนไทยมาเปิดตลาดการค้าการลงทุนในเซี่ยงไฮ้แล้วกว่า 30 ราย ไม่นับรวมกลุ่ม start up ที่เริ่มเข้ามาทดลองตลาดเซี่ยงไฮ้ผ่าน platform ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนไทยเหล่านี้ในการเปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจในเซี่ยงไฮ้
. เพื่อตอบโจทย์นี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “เปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ : จีนปฏิวัติอุตสาหกรมใหม่ด้วย AI” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมสุโขทัย นครเซี่ยงไฮ้ โดยเชิญผู้บริหารจากองค์กรหลักด้านเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ China Council for Promotion of International Trade (CCPIT) , Shanghai Investment Development Board (Shanghai Invest) และบริษัท Tianlai Energy-Efficiency มาให้ข้อมูลแบบเจาะลึกกับนักธุรกิจไทยสุดเอ็กซ์คลูซีฟประมาณ 60 คน
. สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสร่วมงานสัมมนา ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (BIC) ขอนำข้อมูลดีๆ มาฝากท่านอีกครั้งทางเว็บไซต์ BIC นี้
เปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ : จีนปฏิวัติอุตสาหกรมใหม่ด้วย AI
เซี่ยงไฮ้ก้าวไกล : โอกาสไทยก้าวหน้า
. นายหยู เฉิน รองประธาน CCPIT เซี่ยงไฮ้ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนและเซี่ยงไฮ้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ และข้อมูลการค้า ไทย-จีน ไทย-เซี่ยงไฮ้ ดังนี้
- จีนได้เปลี่ยนผ่านจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ก้าวกระโดด” ไปสู่การพัฒนาอย่างมี “คุณภาพ” โดยยึดหลัก win-win และริเริ่มนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative :BRI) ซึ่งถือเป็นนโยบายด้านการต่างประเทศที่ต้องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับโลก เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และในประเทศต่างๆ ตามเส้นทาง BRI ปัจจุบัน จีนได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ BRI กับ 150 ประเทศ และองค์กร ระหว่างประเทศ โดยจีนถือว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งแกนกลางที่สำคัญของ BRI
- นโยบายของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ มุ่งเน้นการพัฒนา 5 ด้านอย่างเป็นองค์รวม ได้แก่ เศรษฐกิจ การเมืองสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ภาพรวมเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ในครึ่งแรกของปี 2562 มีปริมาณ GDP 1.64 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ภาคอุตสาหกรรมด้านยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 อาทิ ยาชีวภาพ รถยนต์ การสื่อสาร การกลั่นน้ำมัน และในครึ่งปีแรกมีมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 6.6 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 การนำเข้าและส่งออกสินค้า 1.59 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 1.8 และมีสัญญาการลงทุนจาก ตปท. ในเซี่ยงไฮ้ 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3
- ภาพรวมการค้า ไทย-จีน และ ไทย-เซี่ยงไฮ้: ไทยเป็น ปท. คู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีนในอาเซียน ในปี 2561 มูลค่าการค้าสองฝ่าย 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 มีการลงทุน ตปท.สะสมของจีนในไทย 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคเอกชนจีนลงนามในสัญญา contract projects ในไทย 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และการค้าไทย-เซี่ยงไฮ้ ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2562 มีมูลค่า 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยมีโครงการลงทุนตรงในเซี่ยงไฮ้ 338 โครงการและมีสัญญาการลงทุนมูลค่า 6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รัฐบาลเซี่ยงไฮ้พร้อมที่จะส่งเสริมการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการดำเนินการ 6 ด้าน กล่าวคือ
- ในการจัดตั้งธุรกิจในเขตการค้าเสรี การใช้นวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจ การให้สิทธิพิเศษด้านศุลกากร
- เปิดกว้างระบบการเงินและการธนาคาร เปิดรับเงินทุนต่างชาติ
- พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานสากล และมีความหลากหลาย
- ปรับปรุงการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในแง่กฎหมายและกลไกแก้ไขข้อพิพาท
- สร้างแพลตฟอร์มให้เซี่ยงไฮ้มีอิทธิพลระดับโลก อาทิ การจัดงาน China International Import Expo : CIIE ซึ่งการจัดงาน CIIE ครั้งที่ 2 ในปี 2562 นี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มีนโยบาย 6+365 คือ คือนอกเหนือจากผู้ประกอบการต่างชาติจะสามารถนำสินค้ามาจัดแสดงในบูธภายในงานระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2562 แล้ว รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จะจัดหาสถานที่เพื่อให้ผู้ประกอบการจากแต่ละประเทศที่สนใจนำสินค้ามาจัดแสดงตลอดทั้งปี ในลักษณะศูนย์แสดงสินค้าแบบ one-stop service เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ค้าฝ่ายจีนได้เข้าชมสินค้าและเจรจาธุรกิจได้สะดวกและยาวนานขึ้น
- ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี อาทิ การประยุกต์ใช้กฎหมายในด้านการค้า การมี single window และการอนุมัติโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้
ซึ่งถือเป็นเขตทดลองการค้าเสรีแห่งแรกของจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 มีพื้นที่ 120.72 ตารางกิโลเมตรใน 7 เขตทัณฑ์บน (bonded area) โดยตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบการค้าที่ได้มาตรฐานระหว่างประเทศภายในปี 2563 ส่งเสริมการค้าเสรีที่เป็นธรรม โปร่งใส ยุติธรรม โดยมีจุดเด่นใน 5 ด้าน ได้แก่
- ใช้กลไกรายการข้อจำกัดสำหรับการลงทุน (negative list) ยกเลิกข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ลดการควบคุมจากรัฐบาล โดยปัจจุบันลด negative list 45 รายการจากเดิม 190 รายการ และส่งเสริมภาคการบริการ วัฒนธรรมและ ICT เพิ่มมากขึ้น ต่างชาติสามารถลงทุนร้อยละ 100 ในเขตการค้าเสรีในสาขาการแพทย์ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และด้านความปลอดภัยทางอาหาร
- อำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าที่ท่าเรือโดยใช้เทคโนโลยี ทำให้สามารถลดระยะเวลากระบวนการนำเข้าร้อยละ 78 และการส่งออกร้อยละ 31 ในพื้นที่ทัณฑ์บน (bonded area) เมื่อเทียบกับปี 2559 สามารถลดระยะเวลาได้ถึง 1 ใน 3 ซึ่งสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ร้อยละ 10 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี อาทิ มีการจัดตั้งระบบสำแดงสิ่งของที่ท่าเรือผ่านระบบ single window
- จัดตั้งระบบบัญชีการค้าเสรี (FT) เปิดกว้างด้านตลาดการเงิน ผลักดันสกุลเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จัดตั้งกลไกควบคุมความเสี่ยงทางการเงิน โดยจนถึงปี 2561 มีธนาคาร 56 แห่ง และบริษัทด้านการเงินเปิดบัญชี FT ในเขตการค้าเสรี 72,000 บัญชี มีการแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ เป็นเงินหยวน 1.25 ล้านล้านหยวน
- สร้างความโปร่งใสในระบบตรวจสอบ อำนวยความสะดวกในการจัดตั้งบริษัท ลดมาตรการที่ไม่จำเป็น
- มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดตั้งคณะกรรมการเขตเสรีการค้ากำกับดูแลร่วมกับรัฐบาลเขตผู่ตงใหม่
. จนถึงปี 2561 เขตการค้าเสรีมีบริษัทจดทะเบียน 2 หมื่นราย ทุนจดทะเบียนทั้งหมด 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสำนักงานใหญ่บรรษัทข้ามชาติและศูนย์วิจัยพัฒนามากกว่า 500 แห่ง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มีความรับผิดชอบใหญ่ 3 ประการที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือ (1) พัฒนาพื้นที่ใหม่ของเขตการค้าเสรีให้แข่งขันได้ในระดับโลก มุ่งเน้นสาขาสาขา ICT วงจรรวม ยาชีวภาพ รถยนต์แห่งอนาคต และ Fintech (2) จัดตั้ง science, technology innovation board ประจำตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และ (3) ผลักดันการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติ Yangtze River Delta (YRD) ให้เป็นรูปธรรม
หลินกัง เขตการค้าเสรีแห่งใหม่
ในเรื่องนี้ BIC ขอเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุดว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มีแผนขยายเขตการค้าเสรี โดยจะจัดตั้งเขตหลินกัง (Lingang) ให้เป็นเขตทัณฑ์บนแห่งใหม่ในปี 2568 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2578 เขตหลินกังจะต้องมี GDP ถึง 142.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดเด่นของเขตหลินกังจะประกอบด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอิทธิพลและการแข่งขันจากนานาชาติ มีการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำแยงซี (YRD) ให้ความสำคัญกับการเปิดกว้างทางอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดระหว่างประเทศ จะมีการจัดตั้งระบบการควบคุมด้านศุลกากรแบบใหม่ที่ทันสมัย เรียกได้ว่า การขยายเขตการค้าเสรีนี้ไม่ใช่เพียงการเพิ่มพื้นที่ แต่เป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพตามนโยบายของรัฐบาลกลาง
นายหลี่ เฉียง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ นครเซี่ยงไฮ้ ประกาศการขยายเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ในเขต หลินกังอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยจะมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ทิศใต้ของแม่น้ำต้าจื้อ (Dazhi) ด้านตะวันออกของท่าเรือจินฮุย (Jinhui) และด้านใต้ของเกาะเสี่ยวหยางชาน (Xiaoyangshan) และสนามบินนานาชาติผู่ตง โดยในการพัฒนาเขตหลินกังระยะที่ 1 จะเริ่มจากเขตเมืองใหม่หนานฮุย (Nanhui) เขตอุตสาหกรรมหลิงกัง เกาะเสี่ยวหยางชาน และสนามบินนานาชาติผู่ตง รวมพื้นที่ประมาณ 119 ตารางกิโลเมตร
. นายหลี่ เฉียงประกาศว่า เขตหลินกังจะต้องเป็นเขตการค้าเสรีที่แข่งขันได้ในระดับสากลในการอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนและการทำธุรกิจระหว่างหลินกังกับตลาดต่างประเทศ โดยสามารถใช้โกดังสินค้าอย่างเสรี การไหลเวียนของเงินทุนเป็นไปอย่างสะดวก มีระบบโลจิสติกส์และการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
. การพัฒนาเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ทั้งหมดนี้จะมีส่วนทำให้เมืองท่าทางชายฝั่งด้านตะวันออกของจีนกลายเป็นเมืองที่มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีเลิศ ทันสมัยด้วยนวัตกรรม ในขณะที่ยังรักษาระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับการเติบโตของเมือง ซึ่งจะเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
. สถานกงสุลใหญ่ฯ มองเห็นประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจของไทยในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ จึงมีแผนที่จะนำทัพนักธุรกิจไทยที่สนใจบุกตลาดจีนโดยใช้เซี่ยงไฮ้เป็นฐาน ไปเยี่ยมเยือนเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้เร็วๆ นี้ ซึ่ง BIC จะไม่พลาดโอกาสในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป
. สำหรับนักธุรกิจที่สนใจร่วมทีม โปรดคอยติดตามข้อมูลการเข้าร่วมทาง official wechat ของสถานกงสุลใหญ่ฯ และเว็บไซต์ BIC ต่อไป