BIC ชวนคุณมาซอกแซกงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 19 ค้นหาโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการไทยในตลาดกว่างซี(จีน)
11 Oct 2022ปิดฉากลงแล้ว…สำหรับมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติ China-ASEAN Expo ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้น ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโควิด-19 และมาตรการป้องกันและควบคุมที่เข้มงวด แต่ China-ASEAN Expo ปีนี้ยังมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันอย่างหนาแน่น
นับตั้งแต่ปี 2562 ‘โควิด-19’ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ หรือ New normal รวมถึงมหกรรมแสดงสินค้าระดับอินเตอร์อย่าง China-ASEAN Expo ที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานไปสู่รูปแบบผสม offline + online
การเข้าร่วมออกบูธของผู้ประกอบการใน China-ASEAN Expo ในปีนี้ ถือเป็นปีที่ 3 แล้วที่ผู้จัดงานยังคงรูปแบบการจัดงานที่ให้เฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติที่มีบริษัทลูกหรือมีตัวแทนในจีนเข้าร่วมออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น และปีนี้ ผู้จัดยังคงเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถจัดแสดงสินค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์ของ CAEXPO เช่นเดิม ซึ่งผู้ประกอบการ(ไทย)จะต้องเตรียมข้อมูลรายละเอียดและรูปสินค้า upload ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อรับบัตร Exhibitor
วันนี้ ศูนย์ BIC หนานหนิง ขอนำท่านผู้อ่านไปลัดเลาะ Thailand Pavilion พร้อมกับซอกแซกผู้ประกอบการ ส่องเทรนด์สินค้าไทยในตลาดจีน(กว่างซี) และเรียนรู้ Tips & Tricks ของการออกบูธให้ประสบความสำเร็จเผื่อใครสนใจอยากจะมาร่วมงานในปีต่อไป ตบท้ายด้วย ‘งานจบ ธุรกิจไม่จบ’ กับ “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน” โอกาสการค้าสินค้าของผู้ประกอบการไทย
ต้องบอกว่า… Thailand Pavilion แม้ว่าจะมีแค่ 50 บูธเหมือนปีก่อน แต่ยังเป็น Pavilion ที่เฉิดฉายไฉไลไม่แพ้ใครในงาน China-ASEAN Expo ในปีนี้ สินค้าไทยยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าชมงาน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม อาหารและเครื่องดื่ม สินค้า
แฟชั่นและเครื่องประดับ รวมถึงของใช้และของตกแต่งบ้าน นอกจากนี้ Thailand Pavilion ยังมีในส่วนของบูธบริการ ‘นวดแผนไทย’ ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ amazing รวมถึงบูธ Café Amazon ร้านกาแฟสัญชาติไทยที่เลือกนครหนานหนิงเป็นจุดเริ่มต้นในการปักธงธุรกิจในจีน ราวกับว่าเราได้ยกประเทศไทยมาไว้ในงานกันเลยทีเดียว
จากการที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกบูธใน Thailand Pavilion พบว่า.. นอกจากสินค้า made in Thailand ทั่วไปที่เป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่ชาวจีนอยู่แล้ว เทรนด์ ‘สุขภาพและความงาม’ ที่เน้นความเป็น ‘ออแกนิกส์ คืนสู่ธรรมชาติ สรีระความงาม’ เป็นสินค้ากลุ่มใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภค
อย่างนวัตกรรมสินค้าเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าจาก “หมอนยางพารา” สู่ “บราเพื่อสุขภาพ” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมบูธตามคำบอกเล่าของคุณเสียว เหว่ย ตัวแทนบริษัท Xinyo International Trading ที่เข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนที่ทำจากยางพาราไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การคิดค้นนวัตกรรมในสายผลิตภัณฑ์ใหม่ (product line) อย่างเสื้อชั้นในสตรี (บรา) ที่มียางพาราธรรมชาติเป็นส่วนผสม ด้วยคุณสมบัติที่เป็นธรรมชาติ ปลอดภัยต่อผู้ใช้ เป็นจุดขายที่สร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค
ความเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ชาวจีนในหัวเมืองใหญ่ และเทรนด์กินง่ายเพื่อสุขภาพ ตลอดจนการหันมาใส่ใจดูแลรูปร่างของตนเอง และยอมควักกระเป๋าเพื่อแลกกับสินค้าคุณภาพและสุขภาพที่ดีของตัวเองมากขึ้น เป็นจุดดึงดูดให้เจ้าของ Snack bar อย่างบริษัท Alchemist เข้ามาทดลองตลาดจีนผ่านงาน China-ASEAN Expo จุดขายของสินค้าที่ไม่ได้เป็นเพียงของว่าง แต่เป็น Energy bar ที่ให้พลังงาน แต่ไม่อ้วน ด้วยการใช้อินทผาลัมเป็นส่วนผสมที่ให้ความหวานธรรมชาติ ทานง่าย ไร้สารกันบูด และดีต่อสุขภาพ ด้วย 6 รสชาติใหม่ ได้แก่ ธัญพืช มิกซ์เบอร์รี่ ช็อกโกแลต ทุเรียน มะม่วง และสับปะรด จึงเป็นสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพและผู้รักการออกกำลังกายชาวจีน ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของ Mordor Intelligence ที่ระบุว่า พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ตลาด Snack bar ในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว โดยประเทศจีนเป็นหนึ่งในผู้นำด้านส่วนแบ่งของตลาด Snack bar ในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคด้วย
เทรนด์สินค้าความงามและเพื่อสุขภาพ ยังได้รับการการันตีจากผู้ประกอบการที่มาร่วมออกบูธอีกหลายแบรนด์ อย่างในส่วนของผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงผิว ชาเม่ คอลลาเจน พลัส ของบริษัท Chame Corporation Public และผลิตภัณฑ์ครีมทามือออร์กานิกของบริษัท Divana Global ซึ่งมีบริษัท Level Up Holding เป็นตัวแทนที่นำสินค้ามาเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo เป็นครั้งแรก โดยตัวแทนบริษัทฯ ชี้ว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ
หากไม่พูดถึงผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหารไทย และน้ำมันนวด แล้วหล่ะก็เหมือนว่า…ยังมาไม่ถึง Thailand Pavilion เพราะเป็นสินค้ายอดนิยมที่อยู่เคียงคู่ Thailand Pavilion ในทุกๆ ปี
จะขอเล่าสู่กันฟังถึงความนิยมชื่นชอบอาหารไทยในนครหนานหนิง ต้องบอกว่า…ในนครหนานหนิงมีร้าน ‘อาหารไทย’ ทั้งที่รสชาติไทยแท้และเทียม ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บนพื้นฐานความนิยมอาหารไทยและคิดถึงประเทศไทย ชาวจีนชอบเข้าครัวทำอาหารทานเองที่บ้าน เมนู ‘อาหารไทย’ อย่างต้มยำกุ้งเป็นเมนู ‘ขาประจำ’ บนโต๊ะอาหารของบ้านใครหลายๆ คน จึงเป็นคำตอบที่ว่า…ทำไมเครื่องปรุงอาหารไทยจึงได้รับความแพร่หลายทั้งในครัวเรือน ร้านอาหาร และขายดิบขายดีในงาน China-ASEAN Expo
นอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสปรุงสำเร็จชนิดซองที่ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างยี่ห้อ LOBO แล้ว พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุง ‘อบแห้ง’ เป็นอีกเทรนด์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน บรรยากาศรอบบูธคึกคักชนิดที่เรียกว่า ‘จีนมุง’ ดูวิธีการปรุงต้มยำด้วยเครื่องต้มยำพริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ที่ผ่านกรรมวิธีการอบแห้ง ที่แกะใช้ง่าย เห็นวัตถุดิบตัวจริงเสียงจริง ให้ความรู้สึกเป็นวัตถุดิบธรรมชาติจริง ทำให้สินค้าเป็นที่สนใจ ‘ถูกจริต’ ผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของชาวจีน
ในส่วนของผลิตภัณฑ์นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยอย่าง ‘น้ำมันเหลืองและยาหม่องเขียว’ คุณหลิว เสี่ยวฮุ่ย ตัวแทนบริษัท RAPHA THAI HERB PRODUCTS ได้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นสเปรย์บรรเทาอาการปวดเมื่อยมาเข้าร่วมงาน จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารสกัดธรรมชาติ ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจในตัวสินค้า โดยเฉพาะคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมซ้ำเดิมหรือไม่เปลี่ยนอิริยาบทในการทำงาน เช่น การขับรถเป็นเวลานาน พนักงานประจำ (office syndrome) และการปวดเมื่อยที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามวัย
“สินค้าต้องมีคุณภาพ คุ้มค่ากับราคาที่จ่าย ทำป้ายโฆษณาให้สะดุดตา เพื่อดึงดูดความสนใจ และป้ายโฆษณาสินค้าควรแปลภาษาจีนให้ดี ใส่รายละเอียดสรรพคุณของสินค้าให้ครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจตัวผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น และมี sample ให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้ เป็นวิธีที่ช่วยให้สินค้าได้รับผลตอบรับดี ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการได้รับประสบการณ์ตรงจากสินค้า ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับมาซื้อสินค้าอีก” ข้อแนะนำจากคุณหลิวฯ
คุณหลิ่วฯ ชี้ว่า ผู้บริโภคในหนานหนิงให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยสูงกว่าพื้นที่อื่น อาจจะด้วยความผูกพันและชื่อชอบผลิตภัณฑ์ของไทยอยู่แล้ว และมองว่า…ตลาดผลิตภัณฑ์นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยที่สกัดมาจากธรรมชาติจะมีโอกาสเติบโตได้ดี
Tips & Tricks ในการออกบูธในงาน China-ASEAN Expo ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพคงหนีไม่พ้น ‘สื่อโซเชียลมีเดีย’ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า ผู้ประกอบการที่ทำตลาดอยู่ในจีนอยู่แล้วมีช่องทางการทำตลาดที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย อาทิ การสร้างบัญชี WeChat Official เพื่อโปรโมทสินค้า (เตรียม sample ไว้แจก แลกกับการที่ลูกค้ากดติดตามบัญชี Wechat ของร้าน /ทำฮาร์ดเซลล์ผ่าน WeChat Moment หรือทำช้อปออนไลน์ผ่าน Mini program) การเปิดร้านใน Taobao.com / Tmall.com / JD.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแรกเริ่มที่ชาวจีนนิยมใช้จนถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงช่องทางใหม่ที่กำลังอินเทรนด์และสร้างความคึกคักภายในงานได้ไม่น้อยอย่าง Live-streaming เปิดไลฟ์สดขายสินค้าผ่านแอป Tiktok (抖音) และ Kuaishou (快手)
ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ระบุข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2565 ประเทศจีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Netizen) สูงถึง 1,051 ล้านคน หรือมากกว่าคนไทยทั้งประเทศ 15 เท่า เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 1,047 ล้านคน ผู้ใช้งานคลิปสั้น 995 ล้านคน และมีผู้ใช้งาน Live Streaming แตะ 716 ล้านคน ลองคิดดูว่า…การทำตลาด online สร้างโอกาสธุรกิจได้มากแค่ไหน??
อย่างคุณปิ่นนภา ช่อเขียว หรือคุณจุ๊บ ผู้ดูแลการตลาดให้กับแบรนด์ Sukantha Thai Snack ก็ได้ใช้ช่องทางไลฟ์สดเพื่อโปรโมทและจำหน่ายสินค้าควบคู่กับการขายสินค้าหน้าร้าน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น ทำทั้งตลาด B2B (Business to Business) และ B2C (Business to Consumer)
คุณจุ๊บ ยังได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า “การตั้งราคาสินค้าที่เหมาะกับตลาดเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สินค้าจับต้องได้ เข้าถึงง่าย คนจีนชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากเรื่องการขายสินค้าแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญและศึกษาเพิ่มเติมคือ การทำตลาดและโปรโมทแบรนด์ คุณต้องเข้าใจก่อนว่าตลาดจีนเป็นการลงทุนในสเกลที่ใหญ่ มีต้นทุนสูง แต่…หากสามารถทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ‘ติดลมบน’ ได้แล้ว การได้กำไรจากตลาดจีนก็ไม่ใช่เรื่องยาก”
มาดูในส่วนของการบริการไทย คุณธนพร โอบอ้อม หรือคุณอาย ผู้จัดการร้านสปาโยลันดา ให้ข้อมูลว่า ร้านสปาโยลันดาเปิดกิจการในกว่างซีตั้งแต่ปี 2560 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเรื่อยมา โดยคุณอาย มองว่าด้วยไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงกับคนไทย ทำให้การนวดแผนไทยได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวกว่างซี อย่างไรก็ดี เทรนด์ธุรกิจสปาไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว ต้องบอกว่าธุรกิจสปามีคู่แข่งมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องพัฒนาแผนการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าเก่าและขยายตลาดลูกค้าใหม่ รวมทั้งศึกษาวัฒนธรรม ความสนใจ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ก่อน เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาการบริการที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าคุณภาพสูง แต่ยังไม่มี ‘ตลาด’ ขาด ‘โอกาส’ หรือยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนในประเทศจีน นอกจากเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักแล้ว การออกบูธเป็นโอกาสที่เราจะได้สำรวจตลาดและพฤติกรรมลูกค้า (พร้อมศึกษาคู่แข่งไปในตัว) คุณสามารถสร้างฐานข้อมูลลูกค้า เก็บข้อมูล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างความแตกต่าง (uniqueness) รวมทั้งพัฒนาสินค้าและกลยุทธ์การตลาดให้โดนใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่เก๋าเกม การออกบูธเป็นเวทีที่พวกเขาจะได้อวดศักยภาพสินค้าและบริการ และเป็นโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยและหาคู่ค้าทางธุรกิจ
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ในปีถัดไป สามารถสอบถามรายละเอียดหรือสมัครได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02-507-8164 โทรสาร 02-547-4282 และอีเมล [email protected]
China-ASEAN Expo ปีนี้ยังมีปรากฎการณ์ใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ(ไทย)ด้วย ตามที่ศูนย์ BIC ได้เคยตีฆ้องร้องป่าวอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับโปรเจกต์การก่อสร้าง “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน” และมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า CAMEX หรือ China-ASEAN Mercantile Exchange (中国—东盟特色商品汇聚中心) นั้น มาในวันนี้ โครงการเฟสแรกในส่วนของ “หอแสดงสินค้า” (pavilion) ของชาติสมาชิก RCEP ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว
เรามาทบทวนและทำความรู้จักกับ “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน” กันอีกครั้ง ศูนย์ CAMEX ตั้งอยู่ในสวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง เคลมว่ามีพื้นที่สิ่งปลูกสร้างกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือเท่ากับ 7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานีของบ้านเรา
ศูนย์ CAMEX ได้รับการวาง positioning ให้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของผู้ประกอบการอาเซียน(ไทย)ที่จะนำสินค้าและบริการของตนไปบุกตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้าศักยภาพ สินค้าแบรนด์ และสินค้าโอท็อปพรีเมี่ยม
ลักษณะการดำเนินงานของศูนย์ CAMEX จะมุ่งเน้นจัดแสดงสินค้าในรูปแบบผสมผสานระหว่าง Online กับ Offline การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Cross Border e-Commerce) โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การจัดการหอแสดงสินค้า การค้าทางดิจิทัล และการบริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ที่สำคัญ!!! ศูนย์ CAMEX แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ต่อยอดการจัด “งาน China-ASEAN Expo” แบบไม่มีวันปิดฉาก หมายความว่า… หลังปิดงาน China-ASEAN Expo แล้ว สินค้าต่างชาติที่นำมาเข้าร่วมงานฯ สามารถนำไปจัดแสดงหรือจำหน่ายต่อที่ “ศูนย์ CAMEX” ได้นั่นเอง เป็นการช่วยต่อยอดธุรกิจและสร้างโอกาสในการ “จับคู่ธุรกิจ” ให้กับคู่ค้าสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า… ศูนย์ CAMEX เปิดพื้นที่ให้โชว์และขายสินค้าทั้ง Offline และ Online ในส่วนของ “หอแสดงสินค้า” ทางศูนย์ CAMEX ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการนำสินค้าไปจัดแสดงและจำหน่ายได้ และวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างของการที่ต้องทำ Offline คือ การต่อยอดและจับคู่ธุรกิจ โดยนักธุรกิจทั่วจีนสามารถมาเสาะหาสินค้า หรือมาติดต่อซื้อขาย หรือเป็นตัวแทนขายสินค้าอาเซียน(ไทย) ได้ที่นี่!!
การดีไซน์ตกแต่งสถานที่ใน Pavilion ของแต่ละประเทศ ศูนย์ CAMEX ได้สอดแทรก element ที่ช่วยถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์ประจำชาตินั้นๆ ได้ดีพอสมควร
พาไปแอบส่อง Thailand Pavilion!! แต่ต้องบอกก่อนว่า… วันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชม Thailand Pavilion ยังไม่เสร็จเต็ม 100 แต่ในภาพรวมของ Thailand Pavilion ถ่ายทอดความทันสมัยสไตล์ไทยโมเดิร์น ใช้ธีมสีเหลืองทองสมดั่งคำ “ดินแดนสุวรรณภูมิ” ผสมผสานการประดับตกแต่งด้วยช้างสีทองสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และผนังฉลุลายพระพุทธรูปที่สะท้อนความเป็นเมืองพุทธของประเทศไทย
โอกาสของผู้ประกอบการไทยอยู่ตรงไหน?? การไปเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo รับ “โชคสองต่อ” กล่าวคือ โชคต่อแรก เป็นโอกาสแบ่งปันการไหลของสินค้า (Commodities flow) การไหลของเงินทุน (Capital flow) และการไหลของข้อมูล (Data flow) และ โชคต่อที่สอง สามารถนำสินค้าที่จัดแสดงในงาน China-ASEAN Expo นำไปจัดแสดงและจำหน่ายได้ที่ศูนย์ CAMEX (หากมูลค่าสินค้ายังอยู่ในโควต้าที่กำหนด จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีด้วย)
ทั้งนี้ ศูนย์ CAMEX น่าจะเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสทางการค้า และยกระดับขีดความสามารถของสินค้าและบริการระดับคุณภาพของไทยในตลาดจีนได้ โดยเฉพาะ Creative economy ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ แฟชั่นและเครื่องประดับ ศิลปะและงานฝีมือ Health & Wellness สินค้า OTOP พรีเมี่ยม Thai Hospitality ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี และการศึกษา เพื่อให้นักธุรกิจจีนสามารถเข้าชมและสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการไทยได้
ในส่วนของการค้า Online ในบริบท “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่จีนก้าวไปไกลมาก การใช้ชีวิตของชาวจีนได้ถูกหล่อหลอมให้เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต รูปแบบการทำธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกออนไลน์
ศูนย์ CAMEX มีแพลตฟอร์มที่ใช้ทำการตลาด อาทิ Wechat Official Account ที่นอกจากจะมีไว้อัปเดทข่าวคราวแล้ว ด้านในมีเมนู “ร้านค้า” ไว้ให้ผู้ใช้งานได้ช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ได้ด้วย รวมถึงแผนการไลฟ์สดขายสินค้า (Live Streaming) ผ่านแอป TikTok ทั้งในเวลาปกติและพิเศษตามเทศกาล เช่น เทศกาลทุเรียน เทศกาลสินค้าฮาลาล
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการไทย
สามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าได้ทางเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com
จัดทำโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : การเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 19 และพิธีเปิดศูนย์ CAMEX อย่างเป็นทางการ