จากความสำเร็จของกรุงปักกิ่ง ส่องแนวทางการวางผังเมืองรูปแบบใหม่ของจีน
29 Dec 2022สำหรับท่านผู้อ่านที่เคยเยือนเมืองหลวงของจีนคงน่าจะคุ้นชินกับผังเมืองของกรุงปักกิ่งที่เป็นเอกลักษณ์
โดยมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีพระราชวังต้องห้ามและจัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นจุดศูนย์กลางและมีถนนหลักของเมืองล้อมรอบด้วยวงแหวนเป็นชั้น ๆ ออกไป ถนนน้อยใหญ่มักถูกตัดเป็นเส้นตรงแนวตั้งและแนวนอน แลดูเหมือนตารางหมากรุก ภายในตัวเมืองของกรุงปักกิ่งมีความสะอาด เป็นระเบียบ มีการปลูกต้นไม้สีเขียวในจุดต่าง ๆ ข้างถนน ทางเดิน ทางวิ่ง และทางจักรยาน อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ผังเมืองที่ดีมีความหมายมากกว่าเพียงโครงสร้างพื้นฐานและความสวยเปลือกนอก แต่มีจุดเน้นในเรื่องคุณภาพของเมือง สิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและที่อยู่อาศัย ซึ่งได้กลายเป็นทิศทางการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ของจีนในปัจจุบัน
ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งประสบปัญหาที่มหานครทั่วโลกล้วนเผชิญ อาทิ ประชากรที่หนาแน่น มลพิษทางอากาศ
และการจราจรติดขัด เป็นต้น การพัฒนาและปรับปรุงเมืองของกรุงปักกิ่งในยุคใหม่ จึงให้ความสำคัญกับแนวคิด “Decremental Development” (减量发展) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากร รวมถึงการปล่อยมลพิษ
ต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดลง สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อเดือนกันยายน 2565 จีนได้ประกาศให้กรุงปักกิ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ (Megacity ) แห่งแรกของจีนที่บรรลุการพัฒนาในรูปแบบ Decremental Development ทั้งนี้ จากความสำเร็จของกรุงปักกิ่ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับระบบการวางแผนเมืองของจีนในภาพรวม
กฎหมายและระบบการวางแผนเมืองของจีนในภาพรวม
จีนเริ่มใช้กฎหมายว่าด้วยการวางแผนเมืองและชนบทของจีนตั้งแต่ปี 2550 โดยกฎหมายฯ กำหนดว่า
การวางแผนเมืองของจีนประกอบด้วยการวางแผนเมืองระดับชาติ ระดับมณฑล และระดับเมือง เป็นต้น โดยทั่วไป การวางแผนเมืองในภาพรวมจะใช้เวลาประมาณ 20 ปี ส่วนการวางแผนเมืองในเชิง
การก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 5 ปี สำหรับกรุงปักกิ่งปัจจุบันมีแผนงานหลัก 2 รายการ ได้แก่ แผนงานการวางแผนเมืองของปักกิ่ง 2559 – 2578 (แผนงาน 20 ปี) และแผนงานการวางแผนเพื่อการใช้ที่ดินระยะสั้น 2564 – 2568 (แผนงาน 5 ปี)
จีนมีหน่วยงานภาครัฐหลัก ๆ 3 หน่วยงานที่กำกับและดูแลการวางผังเมืองในระดับต่าง ๆ ได้แก่
- คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
- หน่วยงานกำกับดูแลการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้ที่ดินตามประเภทที่ดินและกรรมสิทธิที่ดิน
- หน่วยงานกำกับดูแลการวางผังก่อสร้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการวางผังก่อสร้าง รวมถึงคุณภาพและความแข็งแรงของอาคารก่อสร้าง และขอบเขตการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ความสำเร็จจากการวางผังเมืองระยะแรกของกรุงปักกิ่ง (ปี 2559 – 2564)
ปี 2559 – 2564 เป็นระยะแรกของการวางผังเมืองของกรุงปักกิ่ง โดยมุ่งควบคุมจำนวนประชากรในเขตใจกลางเมือง แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะ โดยเมื่อเดือน ก.ย. 2565 รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้แถลงผลงานการวางผังเมืองระยะแรก ดังนี้
- ในปี 2564 จำนวนประชากรของกรุงปักกิ่งลดลงเหลือ 21.89 ล้านคน จากระดับ 21.95 ล้านคนในปี 2559
- ในปี 2564 ความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงปักกิ่งมีค่าเฉลี่ยที่ 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือลดลงร้อยละ 63.1 จากปี 2556
- ในปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.03 ล้านล้านหยวน จากระดับ 1.9 ล้านล้านหยวนในปี 2555
- ในปี 2564 GDP เฉลี่ยต่อหัวของกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 184,000 หยวน จากระดับ 92,800 หยวน ในปี 2555 ซึ่งจัดเป็นอันดับแรกของจีน
- ในปี 2564 ธุรกิจภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81.7 ของ GDP กรุงปักกิ่ง
- ปริมาณการใช้ที่ดินในการก่อสร้างเมืองและชนบทลดลง 110 ตารางกิโลเมตร
- กรุงปักกิ่งมีการสั่งปิดบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตและโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมประมาณ 3,000 แห่ง ขณะที่กรุงปักกิ่งได้มุ่งพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน ปักกิ่งมี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตรายปีมากกว่า 4 แสนล้านหยวน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) การผลิตยาและการดูแลสุขภาพ การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรอัจฉริยะ และการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ในปี 2564 กรุงปักกิ่งได้ประกาศแผนงานเพื่อพัฒนากรุงปักกิ่งให้เป็นเมืองต้นแบบด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของ GDP กรุงปักกิ่งภายในปี 2568 ทั้งนี้ ในปี 2564 สัดส่วนดังกล่าวของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ร้อยละ 40.4 ซึ่งจัดเป็นอันดับแรกของจีน
- ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กรุงปักกิ่งอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาเครือข่ายรถประจำทางอัจฉริยะ รถจัดส่งพัสดุไร้คนขับ ฟาร์มการเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการป้องกันและการรับมือกับภัยธรรมชาติ อาทิ การจัดตั้งแพลตฟอร์มประกาศข้อความแจ้งเตือนในกรณีฉุกเฉิน และเพิ่มระยะเวลาการคาดการณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยจากเติม 2 – 3 ชั่วโมงเป็นล่วงหน้า 12 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกภาคส่วนต่าง ๆ สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น
- กรุงปักกิ่งได้ครองสถานะการเป็นเมืองแรกของโลกที่เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว หรือที่เรียกว่า “Dual Olympic City”
การวางผังเมืองระยะถัดไปของกรุงปักกิ่ง
สำหรับเป้าหมายระยะถัดไปและระยะยาว กรุงปักกิ่งได้กำหนดให้ภายในปี 2578 บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
- เป็นเมืองหลวงของจีนที่รัฐบาลสามารถให้บริการต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
- เป็นกำลังสำคัญในเครือข่ายนวัตกรรมและเป็นเมืองนำร่องด้านนวัตกรรมของโลก
- เป็นเมืองวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงในระดับสากลที่แสดงถึงความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมของจีน และเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ของความหลากหลายและความกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรม
- เป็นเมืองน่าอยู่ที่มีความสะดวกสะบายและสวยงามมากยิ่งขึ้น
- เป็นเมืองนิเวศ (Eco City) ที่มีท้องฟ้าสีคราม น้ำใส และล้อมรอบด้วยป่าไม้
บทเรียน…โครงการ “ตำบลเอกลักษณ์เฉพาะตัว 1,000 ตำบล”
ประสบการณ์การวางผังเมืองของจีนได้ถูกประยุกต์ใช้กับเมืองอื่น ๆ ไม่เพียงเฉพาะในมหานครหรือเมืองระดับแนวหน้า แต่ในทางกลับกัน จีนมองว่า การวางผังเมืองเชิงบูรณาการควรเริ่มจากการวางรากฐานในหน่วยการปกครองระดับล่าง โดยเฉพาะในระดับตำบล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาของพื้นที่รอบข้าง โดยเมื่อปี 2559 กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองและชนบทจีนได้เริ่ม “โครงการตำบลเอกลักษณ์เฉพาะตัว 1,000 ตำบล” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาตำบล 1,000 แห่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้า โลจิสติกส์ และวัฒนธรรม เป็นต้น รวมทั้งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในเขตตำบล ตลอดจนการเพิ่มการจ้างงานของเกษตรกรในท้องถิ่น
โดยทั่วไปโครงการตำบลเอกลักษณ์เฉพาะตัว 1,000 ตำบลจะตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของเมืองขนาดใหญ่ และมีพื้นที่น้อยกว่า 5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีต้นทุนการใช้ที่ดินและต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าเขตใจกลางเมือง จึงนับเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเขตเมืองกับเขตชนบทของจีน และเป็นการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด นอกจากนี้ จีนได้กำหนดข้อห้ามในการพัฒนาตำบลเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ห้ามใช้พื้นที่ในเขตอนุรักษ์ระบบนิเวศและที่ดินเพื่อการเกษตร รวมถึงควบคุมธุรกิจที่มีปริมาณการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษสูงเข้าไปประกอบกิจการในตำบลอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ดี การผลักดันโครงการดังกล่าวในเมืองต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาพบปัญหา อาทิ พื้นที่การพัฒนาตำบลเอกลักษณ์เฉพาะตัวกลายเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มณฑลบางแห่งมีตำบลที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่กลับขาดแคลนคุณภาพ และปัญหาการใช้ที่ดินอย่างสิ้นเปลืองซึ่งทำลายระบบนิเวศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ก.ย. 2564 คณะกรรมการพัฒนนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้กำหนดนโยบายเพื่อกำกับการพัฒนาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม อาทิ สนับสนุนให้มณฑลที่มี GDP เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐมีตำบลที่เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 30 แห่ง โดยแต่ละตำบลควรสร้างตำแหน่งงานไม่ต่ำกว่า 2,000 ตำแหน่ง และสำหรับตำบลที่มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ควรรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปี เป็นต้น
บทสรุป
ปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองต่าง ๆ ของจีน คือ พิพิธภัณฑ์ผังเมืองซึ่งมักจะมีการบอกเล่าประวัติศาสตร์ผังเมือง วิทยาการในการวางผังเมือง และการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต นับเป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่สนใจความเป็นมาและแนวทางการพัฒนาผังเมืองที่โดดเด่นของจีน สำหรับผู้ชมที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง พิพิธภัณฑ์ฯ บางแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ผังเมืองประจำ
กรุงปักกิ่ง (Beijing Planning Exhibition Hall) ได้เปิดให้ผู้สนใจสามารถรับชมผ่านระบบออนไลน์ในลักษณะ 3D Virtual Tours (สามารถเข้าชมได้ตามลิงค์ http://www.bjghzl.com.cn)
ภาพ: พิพิธภัณฑ์ผังเมืองประจำกรุงปักกิ่งผ่านระบบออนไลน์
สำหรับชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์ถามทางจากคนปักกิ่งในท้องถิ่น ก็อาจจะได้รับคำตอบบอกทางเป็นทิศมากกว่าเป็นซ้ายขวาหน้าหลัง ต้องยอมรับว่า ความแม่นทิศชนิดฝังอยู่ในสายเลือดของชาวปักกิ่งเป็นหนึ่งในผลพลอยจากความสำเร็จในการวางผังเมืองที่ชัดเจนและเป็นระบบของกรุงปักกิ่ง ในขณะเดียวกัน การจัดการมลพิษทางอากาศและปัญหาจราจรติดขัดที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นหนึ่งในผลงานของการวางผังเมืองของกรุงปักกิ่งตามแนวคิด Decremental Development
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง ประเมินว่า บทเรียนจากโครงการตำบลเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจีนและการพัฒนาผังเมืองที่เน้นการลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่รักษาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นแนวทางที่คู่ควรแก่การศึกษา โดยสามารถเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green ของไทย ทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเมืองและตำบลต่าง ๆ ของไทยได้ในอนาคต
———
¹ ตามมาตรฐานการแบ่งขนาดเมืองที่ประกาศโดยคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อปี 2557 จีนกำหนดให้เมืองที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไปเป็นมหานครขนาดใหญ่ (Megacity/超大城市) ซึ่งในปี 2565 จีนมี Megacity ทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น นครฉงชิ่ง นครกว่างโจว นครเฉิงตู และนครเทียนจิน
แหล่งข้อมูล:
1. 北京:中国首个减量发展超大城市
https://m.gmw.cn/baijia/2022-09/18/1303145811.html
2. 中华人民共和国城乡规划法
http://www.npc.gov.cn/npc/c30834/201905/9567599b5c69447190da84e2ccac245a.shtml
3. 北京市国土空间近期规划(2021年—2025年)
http://www.beijing.gov.cn/gongkai/guihua/wngh/qtgh/202202/t20220219_2612916.html
4. 北京城市总规第一阶段重点任务全面完成 实施成果将在京展出
http://house.china.com.cn/2125201.htm
5. 跟随总规划进入北京发展时空隧道!看看五年来有哪些变化
https://news.bjd.com.cn/2022/09/25/10168524.shtml
6. 中共北京市委举行“中国这十年·北京”主题新闻发布会
http://bj.people.com.cn/n2/2022/0901/c82837-40106812.html
7. 北京市关于加快建设全球数字经济标杆城市的实施方案
http://www.beijing.gov.cn/zhengce/zhengcefagui/202108/t20210803_2454581.html
8. 2021年北京数字经济增加值1.6万亿元 占GDP比重40.4%
http://www.chinanews.com.cn/cj/2022/09-15/9853072.shtml
9. 推动“智慧城市2.0”建设 北京发布10个智慧应用场景“揭榜挂帅” 榜单!
http://www.beijing.gov.cn/fuwu/lqfw/ztzl/2022schdz/zxdt/202209/t20220916_2816831.html
10. 洪水山洪预见期提升至12小时以上 本市洪涝风险预警时限大幅提前
http://swj.beijing.gov.cn/swdt/swyw/202207/t20220708_2766769.html
11. 我国将培育1000个特色小镇
http://www.gov.cn/xinwen/2016-07/19/content_5092569.htm
12. 关于印发全国特色小镇规范健康发展导则的通知
https://www.ndrc.gov.cn/xwdt/tzgg/202109/t20210930_1298530_ext.html