ประมวลภาพรวมเศษฐกิจมณฑลกวางตุ้งปี 2564
29 Dec 2021มณฑลกวางตุ้งยังคงสถานะพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (economic powerhouse) ที่สำคัญของจีน โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกันเป็นเวลา 32 ปี ล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 มณฑลกวางตุ้งมี GDP 8.8 ล้านล้านหยวน (1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มากที่สุดในจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยในส่วนของการค้ากับต่างประเทศ มีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 3.67 ล้านหยวน (532,084 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 7.47 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมามณฑลกวางตุ้งยังเผชิญกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ขยายตัวสูงต่อเนื่อง และเมื่อ เดือนพฤศจิกายนสูงเป็นร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย PPI ขยายตัวสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2564 ร้อยละ 6.3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสินค้ามีราคาสูงขึ้นมาก เช่น ถ่านหิน ไฟฟ้า เหล็ก เป็นต้น ซึ่งหาก PPI ยังขยายตัวต่อเนื่องอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของมณฑลกวางตุ้งให้ขยับตัวสูงขึ้นอีกในปีหน้า
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาค ปชช. ยังทรงตัว (weak) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคมมูลค่าการใช้จ่ายจากการค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และร้อยละ 3.1 อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกันยายน 2564 มูลค่าการใช้จ่ายจากการค้าปลีกลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ภาคการบริการโดยเฉพาะร้านอาหารและสถานบันเทิง โดยในไตรมาสที่สามของปี 2564 รายได้ของร้านอาหารลดลงกว่าร้อยละ 3.4 และรายได้ของอุตสาหกรรมบริการขนาดใหญ่ วัฒนธรรมและกีฬา ลดลงร้อยละ 11 ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ขาดแคลนชิปทั่วโลกส่งผลให้ยอดส่งมอบยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อเดือนกันยายน 2564 ลดลงกว่าร้อยละ 15 อย่างไรก็ดี มณฑลกวางตุ้งยังคงมีมูลค่าการค้าปลีกสูงที่สุดในจีนคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมดของจีน
การพัฒนาความเชื่อมโยงกับฮ่องกงและมาเก๊าตามกรอบ GBA เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเมื่อเดือนกันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้แก่ (1) แผนการพัฒนาเขตความร่วมมือเชิงลึกระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับมาเก๊าที่เขตเหิงฉิน (Plan for the Development of the Guangdong-Macao In-delpt Cooperation Zone in Hengqin) โดยมีสาระสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตเหิงฉิน พัฒนาระบบศุลกากรและสนับสนุนความหลากหลายทางเศรษฐกิจให้กับมาเก๊า (2) แผนการส่งเสริมการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับฮ่องกงที่เขตเฉียนไห่ (Plan for thr Comprehensive Deepening Reform and Opening Up pf the Qianhai Shenzhen – Hojng Kong Modern Service Industry Cooperation Zone) โดยมีสาระสำคัญในการขยายพื้นที่เขตเฉียนไห่ เปิดกว้างทางเศรษฐกิจและสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างฮ่องกงกับเมืองเซินเจิ้น
มณฑลกวางตุ้งบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นภายหลังต้องเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งออกมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ได้แก่ (1) ซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากนอกมณฑล (2) แบ่งปริมาณการจ่ายไฟฟ้าตามความต้องการของ แต่ละประเภทอุตสาหกรรม (3) ปฏิรูปราคาไฟฟ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ขึ้นราคากระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้สูงสุด (peak) ร้อยละ 25 (3) และ (4) มณฑลกวางตุ้งได้รับอานิสงส์จากการที่คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาของจีน (NDRC) เข้าแทรกแซงราคาถ่านหินทำให้อุปทานในตลาดเพิ่มขึ้นและลดปัญหาขาดแคลนถ่านหินเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฮโดรเจน โดย (1) ปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งมีโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าบนชายฝั่ง (Onshore Wind Farm) จำนวน 10 แห่ง และโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง 22 แห่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 แห่ง และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 21 แห่ง (2) โครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 128 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 1720.5 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มเติมระหว่างปี 2564 – 2566 อีก 15 กิกะวัตต์ และ (3) สถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 39 แห่ง (อยู่ในระหว่างการสร้าง 10 แห่ง) และมีวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฮโดรเจนกว่า 300 แห่ง โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนกว่า 10,000 ล้านหยวน (1,449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มณฑลกวางตุ้งยังเป็นผู้นำทางด้านยานยนต์พลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนของจีนและมีห่วงโซ่การผลิตยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่ค่อนข้างสมบูรณ์
ในส่วนของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาคเอกชนในมณฑลกวางตุ้งที่ยังคงต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ยังคงได้รับแรงกดดันจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังคงต้องนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) หรือชิป (chip) ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนมณฑลกวางตุ้งต้องหันมาเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น เช่น (1) บริษัท Huawei ประกาศที่จะสร้างโรงงานผลิตชิปเซตแห่งใหม่ที่นครอู่ฮั่นคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2022 (2) บริษัท Tencent เปิดตัวชิปที่พัฒนาขึ้นเอง 3 ประเภท ได้แก่ ชิปปัญญาประดิษฐ์ ชิปประมวลผลวิดีโอ และชิประบบคลาวน์ (cloud computing) และ (3) บริษัท OPPO เปิดตัวชิปที่พัฒนาขึ้นเองสำหรับประมวลภาพถ่ายความคมชัดสูง เป็นต้น อย่างไรก็ดี การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นความท้าทายหลักของมณฑลกวางตุ้ง (และจีน) เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังมีข้อจำกัดและ ยังไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่า 28 นาโนเมตรได้
ศูนย์ BIC นครกว่างโจวมองว่า ในช่วงที่ผ่านมามณฑลกวางตุ้งเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าทุกประเภท และการใช้จ่ายจากการค้าปลีกที่ยังทรงตัว อย่างไรก็ดี มณฑลกวางตุ้งยังคงเป็นมณฑลที่มีศักยภาพในการจับจ่ายที่ค่อนข้างสูงและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมณฑลกวางตุ้งยังคงมีมูลค่าการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนสูงที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งสามารถสะท้อนโอกาสให้กับนักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน โอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในมณฑลกวางตุ้งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม (traditional trade) แต่ยังสามารถขยายการค้าและการลงทุนไปยังด้านใหม่ ๆ (1) โอกาสด้านการลงทุน ไทยสามารถใช้จุดเด่นด้านศักยภาพการบริโภคและจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 126.01 ล้านคนลงทุนในโครงการด้านการบริการขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมถึง การลงทุนในบริษัทด้านนวัตกรรมอีกด้วย และ (2) โอกาสด้านการค้า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคในมณฑลกวางตุ้งเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนรูปแบบการค้ากับมณฑลกวางตุ้งให้เป็นการค้าแบบสมัยใหม่ (modern trade) มากขึ้น กล่าวคือ ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าสำหรับการตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มุ่งเน้นการออกแบบ สุขภาพ และความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ศูนย์ BIC นครกว่างโจวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยจะสามารถนำสินค้าและการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ มายังตลาดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีนแห่งนี้ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของไทยและการมีส่วนแบ่งในตลาดที่หอมหวนแห่งนี้ได้