มณฑลกวางตุ้งกับคลื่นแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตอนที่ 3 ปัญญาประดิษฐ์กับการแพทย์อัจฉริยะ
1 Feb 2021รู้หรือไม่ว่า นับตั้งแต่ปี 2560 รัฐบาลจีนจัดตั้งทีมพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศที่มีชื่อว่า “BATi” โดยคัดเลือกบริษัทอินเตอร์เน็ตชั้นนำเพื่อมุ่งวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในแต่ละสาขา โดย BATi เป็นอักษรตัวแรกของชื่อบริษัท 4 แห่ง ได้แก่ “B” บริษัท Baidu เน้นด้านรถยนต์ไร้คนขับ (self-driving car) “A” บริษัท Alibaba เน้นด้านระบบคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะ (Cloud Intelligence Brain) “T” บริษัท Tencent เน้นด้านการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ (Medical Imaging) และ “i” บริษัท iFlyTek เน้นด้านเสียงอัจฉริยะ (voice intelligence)
วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย ณ นครกว่างโจวจะหยิบข้อมูลของ Tencent ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นบริษัทที่ให้บริการแอปพลิเคชัน WeChat ที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว บริษัท Tencent ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์อยู่ในระดับแนวหน้าของจีนอีกด้วย
Tencent กับ AI ด้านการแพทย์
เมื่อปี 2560 บริษัท Tencent ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์เป็นครั้งแรกชื่อ Tencent Miying โดยเป็นปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ที่มีการรับรู้ด้วยการการมองเห็นเพื่อใช้อ่านภาพถ่ายทางการแพทย์สำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็งในหลอดอาหารระยะเริ่มต้น ซึ่งมีความแม่นยำมากถึงร้อยละ 90 จากเดิมเพียงร้อยละ 10 หากเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ อย่างไรก็ดี ระยะเวลาเพียง 3 ปี ปัจจุบัน Tencent Miying สามารถอ่านภาพถ่ายทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก และ Tencent Miying ยังได้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลระดับชาติจำนวนกว่า 100 แห่งทั่วจีน
นอกจากนี้ เมื่อปี 2562 บริษัท Tencent ยังได้คิดค้น “Motor Function Assessment System for Parkinson’s Disease” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์วิดีโอการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) นอกจากนี้ บริษัท Tencent ยังได้ร่วมกับสตาร์ตอัพด้านการแพทย์ในอังกฤษ Medopad ในการนำเครื่องมือดังกล่าวไปทดลองใช้ที่ คลินิก Dementech Neurosciences ซึ่งเป็นคลินิกด้านประสาทวิทยาที่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอนอีกด้วย
บทบาท AI ด้านการแพทย์ของ Tencent ในช่วง COVID-19
ในช่วงแรกของสถาการร์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บริษัท Tencent ได้ร่วมกับนายจง หนานซาน[1] (Zhong Nanshan) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจของจีน จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยการรักษาและควบคุมโรค COVID-19 โดยใช้เทคโนโลยี Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยการรักษาโรค COVID-19 รวมถึง การตรวจสอบ และการประกาศเตือนล่วงหน้าการแพร่ระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ (respiratory diseases) และโรคเกี่ยวกับทรวงอก (chest diseases)
ต่อมาในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง โรงพยาบาลหลายแห่งในมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ใช้ซอฟต์แวร์การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ (Tencent Miying) และเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อวิเคราะห์ไวรัสตัวใหม่ที่ทำให้เปิดโรคปอดอักเสบอีกด้วย
ปัจจุบัน บริษัท Tencent ยังมีผลิตภัณฑ์มินิโปรแกรม[2] Tencent’s Healthcare ในการสร้างฐานข้อมูลเพื่อจัดทำระบบคัดกรองโรคซึ่งจะเชื่อมต่อกับบริการสุขภาพออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงสำหรับการระบาดของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ โรค COVID-19 โรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่า โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)
บริษัท Tencent ยังเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ อย่างครบวงจร เช่น ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยโรค การชำระเงินค่าพยาบาลผ่านทางออกไลน์ บัตรประจำตัวผู้ป่วยออนไลน์ ระบบจ่ายยาผ่านทางออนไลน์ ระบบ Cloud สำหรับโรงพยาบาล และระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับข้อมูลออนไลน์ของโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันบริษัท Tencent มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลกว่า 100 แห่งในจีน
กล่าวได้ว่า บริษัท Tencent ได้ไฟเขียวจากรัฐบาลกลางจีนในการเดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จาก Perception AI อย่างเต็มที่ ซึ่งไทยในฐานะเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการบริการทางการแพทย์ อาจต้องหันมามองและเตรียมตัวตั้งรับความเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการบริการด้านการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้อ่านเห็นว่าระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลอาจเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่การบริการด้านการแพทย์อัจฉริยะ เพราะหัวใจของปัญญาประดิษฐ์มิได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับ
“ปริมาณและคุณภาพของข้อมูล” ที่เป็นเหมือนอาหารอันโอชะของปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย
————————————-
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.tencent.com/en-us/articles/2200927.html
https://www.yicaiglobal.com/news/tencent-releases-ai-medical-imaging-product-with-90-accuracy-for-detecting-early-esophageal-cancer
https://www.tencent.com/en-us/articles/2200933.html
https://www.tencent.com/en-us/business/smart-healthcare.html
https://healthcare.tencent.com/#
https://www.prnewswire.com/news-releases/tencent-announces-aimis-medical-image-cloud-and-aimis-open-lab-help-medical-data-management-and-accelerate-incubation-of-medical-ai-application-301155456.html
https://www.cn-healthcare.com/article/20200227/content-531641.html
[1] นายจง หนานซาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการโรคทางเดินหายใจแห่งชาติ ประจำนครกว่างโจว โดยนายจงฯ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) ที่ระบาดเมื่อปี 2545 ซึ่งโรค SARS ก็เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) เช่นเดียวกัน
[2] มินิโปรแกรม คือ ผลิตภัณฑ์โปรแกรมย่อยซึ่งสามารถใช้งานโดยใช้แอปพลิเคชันวีแชทโดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันเพิ่ม