จับตามอง! สถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในกวางตุ้ง ความมั่นคงทางพลังงานและอนาคตพลังงานสะอาด ตอนที่ 2 (จบ)
13 Jul 2021ในตอนที่แล้ว ศูนย์ BIC กว่างโจวได้เล่าถึงสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้งกันไปแล้ว สัปดาห์นี้ เราจะเล่าถึงสถานะปัจจุบันของพลังงานไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้ง ในฐานะที่มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่บริโภคไฟฟ้ามากที่สุดในจีน รวมถึง แนวโน้มการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของมณฑลกวางตุ้งที่จะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานสะอาดและลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานถ่านหิน
สถานะปัจจุบันของพลังงานในมณฑลกวางตุ้ง
เมื่อปี 2563 มณฑลกวางตุ้งผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมด 500,990 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานความร้อน 357,590 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง พลังน้ำ 15,470 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง พลังลม 8,830 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง พลังนิวเคลียร์ 116,080 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และพลังแสงอาทิตย์ 3,030 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ว่า มณฑลกวางตุ้งยังคงมีปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานความร้อนถ่านหินมากถึงร้อยละ 71.38 โดยมีกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 2 อย่างไรก็ดี กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม แสงอาทิตย์และน้ำ ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยในช่วงที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของรัฐบาลกลางจีนและต้องการที่จะลดปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินไปพร้อมกับการให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ จากแผนภูมิข้างต้น ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของมณฑลกวางตุ้งมีสัดส่วนมากเป็นอันดับสอง ทำให้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ของมณฑลกวางตุ้งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเน้นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นเพื่อให้สัดส่วนของโครงสร้างแหล่งพลังงานไฟฟ้ามีความสมดุลมากขึ้น
สถานะพลังงานสะอาด
- ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ มณฑลกวางตุ้งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 6 แห่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 14 เครื่อง มากที่สุดในจีน ได้แก่ (1) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เปิดใช้งานแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Ling-ao ที่เมืองเซินเจิ้นเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 เครื่อง โรงไฟฟ้า Daya Bay Nuclear Power Plant เมืองเซินเจิ้นมีปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง โรงไฟฟ้า Yangjiang nuclear power plant เมืองหยางเจียงมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 เครื่อง และโรงไฟฟ้า Taishan nuclear power plant เมืองฮุ่ยโจว มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง (2) โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Taipingling Nuclear Power Station เมืองฮุ่ยโจวประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง และ (3) โรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนการก่อสร้าง 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Lufeng Nuclear Power Station ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง
- ไฟฟ้าพลังลม มณฑลกวางตุ้งมีโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าบนชายฝั่งจำนวน 10 แห่ง และโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง 1 แห่ง อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าบนชายฝั่งอีก 21 แห่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าบนชายฝั่งที่สำคัญและติดตั้งเสร็จสิ้นแล้วคือ “โครงการสวนกังหันลมนอกชายฝั่งจินวาน เมืองจูไห่” (Jinwan Offshore Wind Farm Zhuhai) มูลค่าการลงทุน 5,600 ล้านหยวน (851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 8 ล้านกิโลวัตต์ เพียงพอต่อการใช้งานของประชากร 300,000 หลังคาเรือน โดยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เทียบได้กับการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน 240,000 ตัน ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 460,000 ตัน และนับเป็นโครงการสวนกังหันลมนอกชายฝั่งที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งมากที่สุดของจีน ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มณฑลกวางตุ้งยังประกาศแผนสนับสนุนโครงการสวนกังหันลมนอกชายฝั่งโดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 4 ล้านกิโลวัตต์ในปี 2565 และกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 18 ล้านกิโลวัตต์ในปี 2568 นอกจากนี้ ยังมอบเงินอุดหนุนให้แก่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจติดตั้งสวนกังหันลมนอกชายฝั่งระหว่างปี 2565 – 2567 สูงสุดกิโลวัตต์ละ 1500 หยวน 1000 หยวนและ 500 หยวนตามลำดับ
- ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งมีโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 128 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 1720.5 เมกกะวัตต์ และมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มเติมระหว่างปี 2564 – 2566 อีก 15 กิกะวัตต์ โดยเมื่อปี 2563 มณฑลกวางตุ้งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 3,030 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติมณฑลกวางตุ้งประกาศโครงการนำร่องสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมโซลาเซลล์ตามแนวทางของรัฐบาลกลางจีน โดยส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนหลังคาที่พักอาศัย อาคารสำนักงานของรัฐ หลังคาโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตร
อนาคตพลังงานสะอาดในมณฑลกวางตุ้ง
ศักยภาพการผลิตไฟฟ้า มณฑลกวางตุ้งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2563 มณฑลกวางตุ้งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง[1] (Installed power generation capacity) ที่มาจากพลังงานใหม่ 60.89 ล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18.16 ซึ่งประกอบด้วยไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 16.14 ล้านกิโลวัตต์ ก๊าซธรรมชาติ 28.38 ล้านกิโลวัตต์ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานมวลชีวภาพรวมกัน16.37 ล้านกิโลวัตต์
แนวทางความมั่นคงทางพลังงาน มณฑลกวางตุ้งมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของพลังงานที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเมื่อเดือนกันยายน 2563 คณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) มณฑลกวางตุ้งได้ประกาศ “แผนปฏิบัติงานการเพื่อบ่มเพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ในด้านพลังงานใหม่ ประจำปี 2564 – 2568” โดยระบุว่ามณฑลกวางตุ้งจะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลมนอกชายฝั่ง และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงเร่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน รวมถึงระบบพลังงานอัจฉริยะ แผนดังกล่าวยังกำหนดเป้าหมายในปี 2568 ให้มณฑลกวางตุ้งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งที่มาจากพลังงานใหม่ 102.5 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 18.5 ล้านกิโลวัตต์ ก๊าซธรรมชาติ 42 ล้านกิโลวัตต์ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานมวลชีวภาพรวมกัน 42 ล้านกิโลวัตต์ นอกจากนี้ NDRC มณฑลกวางตุ้งยังกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานภาพรวมทุกอุตสาหกรรมโดยมุ่งสนับสนุนการบริโภคพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2568 อีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยแผนดังกล่าวได้ระบุถึงภารกิจเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานที่สำคัญ คือ “การสร้างระบบความมั่นคงทางพลังงานที่มีคุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคาร์บอนต่ำ” (Building a high-quality, green and low-carbon energy security system) มุ่งเน้นการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) พลังงานลม ติดตั้งกังหันลมกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 8 ล้านกิโลวัตต์ และสร้างสถานีรับ-ส่งไฟฟ้าพลังงานลมความจุ 10 ล้านกิโลวัตต์ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ของเมืองหยางเจียง เมืองจูไห่ เมืองจ้านเจียง เมืองฮุ่ยโจว เมืองซ่านโถว เมืองเจียหยางและเมิงซ่านเหว่ย (2) พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมประมง (3) พลังงานนิวเคลียร์ ยกระดับความมั่นคงด้านทรัพยากรโดยเฉพาะแร่ยูเรเนียม รวมถึงส่งเสริมการสร้างสถานีจัดเก็บไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ให้ความสำคัญกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Taipingling ระยะที่ 1 – 2 เมืองฮุ่ยโจว โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลู่เฟิง เมืองซ่านเหว่ย โรงไฟฟ้าเหลียนเจียง เมืองจ้านเจียง (4) พลังงานถ่านหินสะอาด ส่งเสริมการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
ในด้านการบริโภค บริษัท Guangdong Power Grid Corporation ซึ่งเป็นบริษัทจัดสรรการจ่ายไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้ง เผยข้อมูลการใช้ไฟฟ้าเมื่อปี 2563 ระบุว่า มณฑลกวางตุ้งใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 205,800 ล้านกิโลวัตต์ โดยใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินมากที่สุดร้อยละ 46.8 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 19 พลังน้ำร้อยละ 6.7 พลังลมร้อยละ 4.3 พลังแสงอาทิตย์ร้อยละ 4.1 พลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 11.5 และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ร้อยละ 7.6 ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดมากถึงกว่าร้อยละ 48 หรือการใช้ไฟฟ้าทุก 2 กิโลวัตต์/ชั่วโมง จะมีไฟฟ้าเกือบ 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมงเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งจะบริโภคไฟฟ้าที่มาจากหล่งพลังงานสะอาดมากถึงเกือบครึ่งของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด แต่มณฑลกวางตุ้งก็ยังต้องการที่จะปรับลดการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ และหันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ของมณฑลกวางตุ้งได้กำหนดเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างแหล่งพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า โดยภายในปี 2568 มณฑลกวางตุ้งจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินร้อยละ 31 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 14 พลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 7 และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 22
ในแต่ละปี มณฑลกวางตุ้งมีความท้าทายด้านพลังงานไฟฟ้าอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่วิกฤติพลังงานไฟฟ้าเกิดจากปัญหาภัยธรรมชาติ และอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง หากเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 พบว่า มณฑลกวางตุ้งเคยประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูหนาว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศจนเมืองทางตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้งต้องเจอกับพายุหิมะทำให้ประชาชนต้องการไฟฟ้ามากขึ้นจนทำให้มณฑลกวางตุ้งต้องเจอกับสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี จนถึงปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในปีนี้ที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากสภาพอากาศร้อนขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น มณฑลกวางตุ้งจึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานไปพร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงเห็นได้ชัดว่า มณฑลกวางตุ้งพยายามที่จะปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ มณฑลกวางตุ้งจะมุ่งเน้นการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังลมนอกชายฝั่งและพลังงานแสงอาทิตย์และทำให้สักส่วนของกระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง
——————————
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1702800876847764451&wfr=spider&for=pc
https://www.163.com/dy/article/GCMFNA2A05509P99.
htmlhttps://www.163.com/dy/article/GCMHCHRC0552ADWT.html
https://news.bjx.com.cn/html/20200424/1066316.shtml
http://www.csg.cn/gywm/gsjs/
https://www.in-en.com/data/html/energy-2233811.shtml
http://www.chinapower.com.cn/xw/gnxw/20210608/79866.html
http://www.chinapower.com.cn/xw/zyxw/20210602/78272.html
https://shoudian.bjx.com.cn/html/20210303/1139272.shtml
http://www.chinapower.com.cn/xw/gnxw/20210608/79866.html
https://www.reuters.com/world/china/chinas-guangdong-orders-factories-cut-power-use-hot-weather-strains-grid-2021-05-27/
http://drc.gd.gov.cn/gfxwj5633/content/post_3232684.html
https://neec.no/guangdong-released-the-implementation-plan-for-ensuring-the-consumption-of-renewable-energy-power/
https://power.in-en.com/html/power-2388557.shtml
http://www.hinews.cn/news/system/2008/02/29/010209648.shtml
http://gxj.gz.gov.cn/yw/tzgg/content/post_7273230.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1700834180510230941&wfr=spider&for=pc
https://new.qq.com/rain/a/20210525A0A9GB00
http://www.chinapower.com.cn/sj/qysj/20210422/67840.html
http://www.huanancoal.com/html/jiaoyi/qiugouxinxi/ningbogangmeitanjiagexingqing/20210609/70210.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1693907245933130971&wfr=spider&for=pc
http://en.sasac.gov.cn/2021/04/14/c_6930.htm
http://www.cityofzhuhai.com/2020-11/20/c_565122.htm
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1665304736133850063&wfr=spider&for=pc
https://www.sohu.com/a/472168767_120834068
http://www.gd.gov.cn/zwgk/zcjd/wjjd/content/post_3316747.html
http://www.gd.gov.cn/zwgk/wjk/qbwj/yfb/content/post_3316639.html
http://www.geta.org.cn/html/2021/llnews_0203/3513.html
https://www.geg.com.cn/site/gdyd/hyzx/info/2021/21750.html
https://m.huaon.com/detail/694268.html
https://msolar.in-en.com/html/solar-2371953.shtml
http://drc.gd.gov.cn/ywtz/content/post_3308262.html
https://www.in-en.com/article/html/energy-2305624.shtml
[1] กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed power generation capacity) คือกำลังการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าสามารถผลิตได้เมื่อเดินเครื่องเต็มกำลัง