10 ปีเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้.. บทเรียนของไทยเพื่อต่อยอดความร่วมมือกับจีน
2 Apr 2024
“เขตทดลองการค้าเสรีจีน (เซี่ยงไฮ้)” หรือ China (Shanghai) Pilot Free Trade Zone (SFTZ) เป็นเขตทดลองการค้าเสรีแห่งแรกของจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 นับเป็นต้นแบบ “การเปิดกว้าง” และ “ปฏิรูป” อีกครั้งของจีน โดยประสบการณ์และความสำเร็จช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีบทบาทต่อการพัฒนาของจีน และสร้างโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และความท้าทายครั้งใหม่ให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย
ที่มาที่ไป… ทำไมจึงก่อตั้ง SFTZ
แนวคิดก่อตั้งเขตการค้าเสรีในเซี่ยงไฮ้ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2552 จากการที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ควบรวมและบูรณาการเขตสินค้าทัณฑ์บนทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน (เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนหยางซาน เขตสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว และเขตสินค้าทัณฑ์บนสนามบินผู่ตง) ต่อมาในปี 2554 เซี่ยงไฮ้ยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลกลางเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่การค้าเสรี” ในเขตบูรณาการสินค้าทัณฑ์บนดังกล่าว โดยหลังจากที่นายหลี่ เค่อเฉียง (นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น) ได้เดินทางตรวจราชการที่เซี่ยงไฮ้เมื่อมีนาคม 2556 และได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของเขตบูรณาการสินค้าทัณฑ์บนในนครเซี่ยงไฮ้ จึงได้ชี้แนวทางให้ศึกษาเรื่องการก่อตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ซึ่งนับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญหลังจากเซี่ยงไฮ้ได้เตรียมการมาเกือบ 4 ปี จนกระทั่งเมื่อ 29 กันยายน 2556 รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้จัดตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน (เซี่ยงไฮ้)” หรือ China (Shanghai) Pilot Free Trade Zone (SFTZ) ซึ่งเป็นเขตทดลองการค้าเสรีแห่งแรกของจีน ตั้งอยู่ในเขตใหม่ผู่ตงของเซี่ยงไฮ้
SFTZ ถือเป็นเวทีทดลอง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถก้าวสู่ความเป็นสากล โดยเป็นไปตามแนวคิด “กล้าดำเนินการ กล้าทดลอง กล้าปฏิรูป” ของประธานาธิดีสี จิ้นผิง ซึ่งต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับจีน โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งที่สำคัญ คือ
(1) แสวงหาแนวทางและรูปแบบใหม่ของการเปิดกว้างของจีนสู่ต่างประเทศ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศ
(2) ผลักดันการปฏิรูประบบบริหารจัดการและสมรรถนะของภาครัฐบาลจีน เพื่อให้บริการและอำนวยประโยชน์แก่ภาคธุรกิจอย่างเต็มที่
(3) ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจและปรับปรุงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจีน เพื่อให้จีนมีจุดเด่นด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ และบุกเบิกช่องทางใหม่สำหรับขยายการเติบโตด้านเศรษฐกิจ
(4) ดำเนินการทดลองเปิดกว้างส่งเสริมการพัฒนา การปฏิรูป การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อนำประสบการณ์ความสำเร็จที่ได้จากการทดลองไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่น ๆ ของจีน

เริ่มที่ 28 ตารางกิโลเมตร… 10 ปีขยายเขตเพิ่มกว่า 30 เท่า
SFTZ ได้รับการขยายพื้นที่มาแล้วถึง 2 ครั้ง จากเดิมมีพื้นที่เริ่มต้น 28.78 ตร.กม. และเพิ่มเป็น 993.72 ตร.กม. ในปัจจุบัน (เพิ่มขึ้นกว่า 34 เท่า) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.67 ของพื้นที่ทั้งหมดของเซี่ยงไฮ้ (6,340.50 ตร.กม.) โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่โซนต่าง ๆ และแต่ละโซนก็มีความโดดเด่นที่ต่างกัน
ในปีแรก SFTZ มีพื้นที่ 28.78 ตร.กม. ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ส่วน ได้แก่
(1) เขตสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว (10 ตร.กม.) ถือเป็นเขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกของจีน และเป็นเขตบริหารศุลกากรแบบพิเศษที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและการดำเนินงานที่ครบถ้วนที่สุดในจีน
(2) เขตโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว (1.03 ตร.กม.) เป็นเขตโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกของจีน อยู่ในบริเวณท่าเรือไว่เกาเฉียวของเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางจัดซื้อเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นฐานสำคัญในการนำเข้าโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (Non-Ferrous Metal) และชิ้นส่วน IT
(3) เขตสินค้าทัณฑ์บนบูรณาการท่าอากาศยานผู่ตง (3.59 ตร.กม.) เป็นพื้นที่ซัพพลายเชนภาคบริการทางอากาศที่สำคัญ โดยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การซ่อมบำรุงอากาศยาน อีคอมเมิร์ซข้ามแดน การเปลี่ยนถ่ายพัสดุ และการจัดแสดงสินค้าอุปโภคระดับ hi-end เป็นต้น
(4) เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนหยางซาน (14.16 ตร.กม.) ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญของเซี่ยงไฮ้ และเป็นท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเทคโนโลยี F5G (Fifth Generation Fixed Network)
ช่วงปีที่ 2 (28 ธันวาคม 2557) SFTZ ขยายพื้นที่จาก 28.78 ตร.กม. เป็น 120.72 ตร.กม. ซึ่งได้เพิ่มพื้นที่สำคัญในเขตใหม่ผู่ตงอีก 3 เขต ได้แก่
(1) เขตธุรกิจการเงินลู่เจียจุ่ย (34.26 ตร.กม.) เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้ มุ่งสร้างระบบทางการเงินที่เหมาะสมกับการพัฒนาธุรกิจบริการสมัยใหม่ การสอดรับกับหลักปฏิบัติสากล และส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น
(2) เขตบุกเบิกพัฒนาจินเฉียว (20.48 ตร.กม.) เป็นเขตศูนย์กลางกลางผลิตที่ทันสมัย เขตนำร่องอุตสาหกรรมใหม่เชิงกลยุทธ์ และเขตสาธิตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมุ่งสร้างระบบบริหารจัดการแบบใหม่ของภาครัฐ บ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเป็นตัวแทนของจีนในการแข่งขันระดับสากล
(3) เขตเทคโนโลยีขั้นสูงจางเจียง (37.20 ตร.กม.) เป็นพื้นที่ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ระดับประเทศ ทั้งในด้าน AI อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ยาชีวภาพ ฯลฯ โดยมีระบบสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอย่างครอบคลุม อาทิ การมีแพลตฟอร์มบริการด้าน วทน. ธุรกิจการเงินสำหรับ วทน. และการบ่มเพาะบุคลากร วทน. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ShanghaiTech University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในด้าน วทน. และมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเมื่อ 6 สิงหาคม 2562 ได้ก่อตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ – เขตใหม่หลินกั่ง” (Lingang Section of Shanghai Pilot Free Trade Zone) มีพื้นที่รวม 873 ตร.กม.[1] โดยตั้งเป้าหมายเมื่อถึงปี 2578 จะมีพื้นที่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จรวม 292 ตร.กม. โดยเขตหลินกั่งจะมุ่งเน้นการขนส่งทางทะเลที่ท่าเรือน้ำลึกหยางซาน และพัฒนาอุตสหากรรม “4+2+2” ได้แก่ อุตสาหกรรมหลัก 4 สาขา (แผงวงจรรวม ยาชีวภาพ AI และการบินพลเรือน) อุตสาหกรรมสำคัญ
2 สาขา (เครื่องมืออุตสาหกรรมขั้นสูง และยานยนต์พลังงานใหม่/ ยานยนต์อัจฉริยะ) และอุตสาหกรรมอนาคต 2 สาขา (พลังงานไฮโดรเจน และอุตสาหกรรมสีเขียว) ทั้งนี้ ปัจจุบันเขตใหม่หลินกั่งมีบริษัทเทคโนโลยีสะสมประมาณ 3,000 ราย[2] ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านนวัตกรรมของเซี่ยงไฮ้และจีน
จาก 1 เป็น 22… นำร่องต้นแบบ “ปฏิรูป” ทั่วจีน
ภายหลังจากที่ SFTZ เป็นพื้นที่นำร่องครบ 1 ปี และประสบผลสำเร็จในการดำเนินนโยบายปฏิรูปเปิดกว้างสู่สากลแล้ว ทางการจีนได้ตัดสินใจทยอยจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีในมณฑลต่าง ๆ ตามลำดับ โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีเขตทดลองการค้าเสรีแล้วถึง 22 แห่ง[3] ในเขตปกครองระดับมณฑลต่าง ๆ ของจีน
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา SFTZ รับบทบาทเป็นพื้นที่นำร่อง “ปฏิรูป” และ “กล้าคิด กล้าทำ” จนกระทั่งมีระบบระเบียบและกลไกแบบใหม่ที่เป็นตัวอย่างให้กับเขตทดลองการค้าเสรีอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้รวม 302 รายการ โดยแบ่งเป็น 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

1. การเชื่อมโยงกับหลักปฏิบัติการค้าสากล อาทิ
– การใช้ระบบ “Single Window” สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบูรณาการให้ทั้งสินค้านำเข้าและเรือบรรทุกสินค้าสามารถยื่นแสดงเอกสารเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรได้ภายใต้ระบบเดียวกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความเร็วในการผ่านพิธีการศุลกากร นอกจากนี้ ปัจจุบันยังได้อัพเดตระบบค้นหาอัตราภาษีศุลกากรพิเศษภายใต้กรอบ RCEP เข้าในระบบดังกล่าวด้วย
– การอำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรให้กับผลิตภัณฑ์ด้านชีวภาพ สร้างโมเดลตรวจสอบยาชีวภาพข้ามแดน พร้อมกับสร้างมาตรฐาน “Whitelist” สำหรับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพ
2. การเปิดกว้างทางระบบเศรษฐกิจ อาทิ
– การบริหารการลงทุนของต่างชาติโดยระบบ Negative List[4] ซึ่งมีการปรับปรุงถึง 7 ครั้ง จากข้อจำกัดการลงทุนโดยต่างชาติที่ 190 รายการในปี 2556 ลดลงเหลือเพียง 27 รายการในปี 2564
– การเปิดกว้างด้านการเงินเชิงลึก อาทิ การเพิ่มการใช้สกุลเงินต่างประเทศ การส่งเสริมการใช้เงินหยวนข้ามแดน การสนับสนุนการระดมทุนของบริษัทต่างชาติเพื่อลงทุนในจีนและบริษัทจีนเพื่อลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น

3. การบริหารจัดการที่มีความทันสมัย อาทิ
– การบริหารจัดการธุรกิจแบบใหม่โดยใช้มาตรการ “1 ธุรกิจ 1 ใบรับรอง” แทนรูปแบบเดิมที่แต่ละธุรกิจจะต้องมีใบรับรองที่เกี่ยวข้องหลายรายการ ซึ่งการดำเนินแบบใหม่นี้ได้ช่วยลดขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมาก ทำให้ภาคธุรกิจประกอบกิจการได้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น
– การเปิดใช้แพลตฟอร์ม “One Network” (https://english.shanghai.gov.cn) ที่ควบรวมทุกหน่วยงานบริการของภาครัฐเข้าไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐแบบบูรณาการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจจีนและต่างชาติ
4. การสนับสนุนยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน อาทิ
– การสนับสนุนยุทธศาสตร์การบูรณาการเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) โดย SFTZ ได้กระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งสมาพันธ์เขตทดลองการค้าเสรี YRD ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งได้พัฒนาเป็นเครือข่าย การทำงานที่ครอบคลุม 35 เมืองในเขต YRD
– การส่งเสริมยุทธศาสตร์ “Belt and Road” ของจีน โดย SFTZ ได้ขยายศูนย์ให้บริการการลงทุนสำหรับประเทศในกลุ่ม Belt and Road ใน 14 ประเทศ/ดินแดน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างประเทศ “Belt and Road” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก

ไม่หยุดแค่นี้… ครบ 10 ปีมุ่งหน้าต่อไป
ปี 2566 เป็นปีที่ SFTZ ก่อตั้งครบ 10 ปี จากสถิติจนถึงสิ้นปี 2565 พบว่า SFTZ มีธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ (จีนและต่างชาติ) รวมกว่า 84,000 ราย มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างชาติกว่า 14,000 โครงการ และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้กว่า 58,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการจัดตั้ง SFTZ ได้กระตุ้นให้เขตใหม่ผู่ตง (พื้นที่ทั้งเขตนอกเหนือจากโซน SFTZ ด้วย) มีโครงการลงทุนจากต่างชาติที่เกิดขึ้นใหม่สะสมมากถึง 18,691 โครการ และได้ดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติได้กว่า 74,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.12 เท่า และ 2.2 เท่าของช่วงก่อนการจัดตั้ง SFTZ
ช่วงเวลา 10 ปีที่นำมาซึ่งความสำเร็จนี้ ส่งผลให้จีนเร่งผลักดันให้ SFTZ มีบทบาทในการเปิดกว้างสู่สากลมากขึ้น โดยเมื่อธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนดำเนินงานเพิ่มเติม 80 ข้อเกี่ยวกับการเปิดกว้าง SFTZ เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานสากลระดับสูงมากขึ้น ซึ่งครอบคลุม 7 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ส่งเสริมการค้าเสรี (2) เพิ่มการบริการทางการค้า (3) ส่งเสริมการค้าดิจิทัลที่มีมาตรฐานสูง (4) ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (5) ปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (6) ปรับปรุงการบริหารจัดการ behind-the-border และ (7) ยกระดับการบริหารความเสี่ยง
นอกจากนี้ เมื่อกุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรีจีนยังได้อนุมัติแผนการสร้าง Shanghai East Hub International Business Cooperation Zone โดยมุ่งต่อยอดการใช้ประโยชน์จากมาตรการและนวัตกรรมของ SFTZ สร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพสูง และเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างกลมกลืน
ไทยเรียนรู้… มุ่งสู่ความร่วมมือเศรษฐกิจและนวัตกรรม
SFTZ เป็นการดำเนินการที่ไทยสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงนโยบาย อีกทั้งเป็นโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรมระหว่างไทยกับเซี่ยงไฮ้และจีน โดยในเชิงนโยบายนั้น ไทยสามารถเรียนรู้ในการทดลองนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในพื้นที่จำกัดก่อน และค่อยขยายมาตรการไปสู่พื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของเมือง รวมถึงในเมืองอื่น ๆ ของประเทศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและการดำเนินการอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ รวมทั้งระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับโอกาสในด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม SFTZ เป็นหน้าต่างของเซี่ยงไฮ้และจีนในการเชื่อมโยงกับโลก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุน และการขนส่งของจีน ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวในการนำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดจีนและลงทุนในจีนผ่านเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสามารถได้รับการอำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากร และสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุน อีกทั้งเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนและต่างชาติที่ตั้งอยู่ใน SFTZ โดยเฉพาะในเขตจางเจียงและเขตใหม่หลินกั่ง ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อกันยายน 2566 บริษัท K-Vision ของธนาคารกสิกรไทยได้จัดตั้งบริษัท KTECH (Shanghai) Investment Management Co., Ltd. ที่เขตใหม่หลินกั่ง ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในบริษัทด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในจีน ซึ่งเป็นโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
****************
จัดทำโดยนายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海自贸区十周年:全国自贸区复制推广的创新成果,近半源于这里 วันที่ 15 ก.ย. 2566
2. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海自由贸易试验区十周年建设成果发布 วันที่ 15 ก.ย. 2566
3. https://sghexport.shobserver.com หัวข้อ 上海自贸区“十年磨一剑”,基本建立制度创新“四大体系” วันที่ 16 ก.ย. 2566
4. www.gov.cn หัวข้อ 上海自贸区发布10周年白皮书:累计新设企业8.4万户 วันที่ 20 ก.ย. 2566
5. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ “从0到1”制度创新,“从1到N”辐射带动 上海自贸区:在更高起点打造开放桥头堡 วันที่ 27 ก.ย. 2566
6. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海自贸区十周年:“试验田”成“高产田” 制度创新“头雁”任重道远 วันที่ 29 ก.ย. 2566
7. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海自贸区十周年:从一张负面清单开始,不断为国家试制度 วันที่ 29 ก.ย. 2566
8. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海自贸区十周年:制度创新“头雁”任重道远 วันที่ 29 ก.ย. 2566
9. www.gov.cn หัวข้อ 今年是上海自贸试验区成立十周年 วันที่ 8 ธ.ค. 2566
10. www.shanghai.gov.cn หัวข้อ 在上海自贸试验区全面对接国际高标准经贸规则 打造国家制度型开放示范区 以更大力度先行先试推动深层次改革 วันที่ 9 ธ.ค. 2566
11. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海自贸区最新!วันที่ 6 ก.พ. 2567
12. www.shanghai.gov.cn หัวข้อ 创建高度便利国际商务交流载体 国务院批复同意上海东方枢纽国际商务合作区建设总体方案 วันที่ 20 ก.พ. 2567
13. https://finance.eastmoney.com หัวข้อ 上海自贸区临港新片区:初步建立全链条科技创新体系 วันที่ 6 มี.ค. 2567
[1] แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ส่วนหลักภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการเขตใหม่หลินกั่ง (386 ตร.กม.) พื้นที่ร่วมมือยุทธศาสตร์ (456 ตร.กม.) ประกอบด้วยเขตเฟิ่งเสียน เขตผู่ตง และเขตหมิ่นหาง และพื้นที่อื่น ๆ อีก 31 ตร.กม.
[2] แบ่งเป็น Innovative Small and Medium-Sized Enterprises (ISMEs) 921 ราย High-Tech Enterprises ราว 1,500 ราย Specialized and New Enterprises (SNE) ระดับนคร/มณฑล 385 ราย Little Giant Enterprises ระดับนคร/มณฑล 56 ราย และ Specialized and New Little Giant Enterprises ระดับประเทศ 25 ราย
[3] ได้แก่ ปี 2556: นครเซี่ยงไฮ้ ปี 2558: มณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน นครเทียนจิน ปี 2560: มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเหอหนาน มณฑลหูเป่ย นครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน มณฑลส่านซี ปี 2561: มณฑลไห่หนาน ปี 2562: มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู เขตกว่างซี มณฑลเหอเป่ย มณฑลยูนนาน มณฑลเฮยหลงเจียง ปี 2563: กรุงปักกิ่ง มณฑลหูหนาน มณฑลอานฮุย ปี 2566: เขตซินเจียง
[4] Negative List เป็นบัญชีรายการสาขาธุรกิจที่มีข้อจำกัดหรือห้ามลงทุนสำหรับธุรกิจต่างชาติใน SFTZ โดยนอกเหนือจากรายการใน Negative List แล้ว นักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินกิจการใน SFTZ อย่างเสรี ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้จัดแบ่งการลงทุนของธุรกิจต่างชาติออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทที่ส่งเสริมให้ลงทุน (2) ประเภทที่มีข้อจำกัดการลงทุน และ (3) ประเภทที่ห้ามลงทุน