รู้จักตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น “ตลาดทุน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
20 Aug 2021“ตลาดทุน” เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลจีนในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Central Committee of the Chinese Communist Party) คณะรัฐมนตรีจีน (State Council) และคณะกรรมการกรมการเมืองถาวรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo Standing Committee of the Communist Party of China) ได้จัดการประชุมแผนงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลาง (Central Economic Work Conference) โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในปี 2564 ในการประชุมดังกล่าวคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์จีน (China Securities Regulatory Commission; CSRC) ได้ประกาศภารกิจสำคัญด้านการพัฒนา “ตลาดทุน” ของจีนประจำปี 2564 โดยมีใจความสำคัญเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนของจีน การจัดสรรเงินลงทุน และขยายตลาดทุนเพื่อให้ตลาดทุนของจีนสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนต่อไปได้
ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจึงอยากเล่าถึงตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดทุนสำคัญของจีน โดยเฉพาะ “ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น” ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือให้ SME ทั่วโลกเข้าถึงเงินทุนและสามารถเติบโตไปเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น BIC ขอพาผู้อ่านเห็นภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์จีนกันก่อน
เข้าใจตลาดหลักทรัพย์จีน
ปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่มีตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exhcnage; SSE) ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange; SZSE) โดยสามารถซื้อขายดัชนีหุ้นได้หลายกลุ่ม ได้แก่ (1) A-Share เป็นกลุ่มหุ้นของบริษัทที่จัดตั้งในจีนโดยสามารถซื้อขายได้ทั้งใน SSE และ SZSE ผู้ที่มีสิทธิในการซื้อ – ขายต้องเป็นบุคคลสัญชาติจีนหรือนักลงทุนสถาบันต่างชาติ (Qualified Foreign Institutional Investor; QFII) และ ใช้เงินสกุลหยวน (Renminbi) ในการซื้อขาย (2) B-Share เป็นกลุ่มหุ้นของบริษัทที่จัดตั้งในจีนสามารถซื้อขายได้ทั้งใน SSE และ SZSE โดยชาวต่างชาติมีสิทธิในการซื้อ – ขายหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ ทั้งนี้ SSE ซื้อขาย B-Share ด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) และ SZSE ซื้อขาย B-Share ด้วยเงินสกุลดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) (3) H-Share เป็นกลุ่มหุ้นของบริษัทที่จัดตั้งในจีนแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Exchanges; HKEX) โดยชาวต่างชาติและชาวจีนมีสิทธิในการซื้อ – ขายอย่างเสรีด้วยเงินสกุลดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่จัดตั้งในจีนที่จดทะเบียนทั้งใน HKEX และ SSE หรือ SZSE (Dual-listed) จะเรียกว่า A+H Companies อย่างไรก็ดี ราคาของหุ้นที่เป็น Dual-listed ในตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งจะมีราคาที่แตกต่างกัน (4) Red-Chip เป็นกลุ่มหุ้นของบริษัทจีนที่มีรัฐบาลจีนถือหุ้นจัดตั้งในต่างประเทศและจดทะเบียนใน HKEX และ (5) P-Chip เป็นกลุ่มหุ้นของบริษัทเอกชนจีนที่ไม่มีรัฐบาลจีนถือหุ้นจัดตั้งในต่างประเทศและจดทะเบียนใน HKEX
ช่องทางการซื้อขายผลิตภัณฑ์และบริการ
ในส่วนของการซื้อขายผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุนของจีน ปัจจุบันมีการซื้อขาย 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หมายถึง การซื้อขายที่มีคำสั่งซื้อปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ใน SZSE และ SSE รวมถึงตลาดฟิวเจอร์ส (Futures Exchange) โดยสามารถส่งคำสั่งซื้อ – ขายผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินผ่านหลายช่องทาง เช่น ซอฟต์แวร์ซื้อขายหุ้น โทรศัพท์ และการซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถดำเนินการซื้อขายจะต้องเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ และนักลงทุนรายย่อยต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ก่อนการซื้อขาย (2) การซื้อขายภายนอกตลาดหลักทรัพย์ หมายถึง การซื้อขาย ผลิตภัณฑ์การลงทุน (investment products) ที่ไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ เช่น สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) และทองคำ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน จีนยังไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งหากต้องการซื้อ – ขายจะต้องดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์ซึ่งการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศถือเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน
กระดานหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จีนประกอบด้วยกระดานหุ้น 3 กระดาน ได้แก่
กระดานซื้อขายหลัก (Main Board) ซึ่งเป็นกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นถือเป็นกระดานหุ้นแรก (first board market) ของ SZSE และ SSE โดยหากเป็นหุ้นจดทะเบียนใน SSE จะใช้เลข 600 เป็นเลขเริ่มต้นรหัสหุ้น และหากเป็นหุ้นจดทะเบียนใน SZSE ใช้เลข 000 เป็นเลขเริ่มต้นรหัสหุ้น
กระดาน SMEs (SME Board) เป็นกระดานหุ้นที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดยแยกจากกระดานหลักของ SZSE โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดให้ SMEs ที่มีกำไรและมีความมั่นคงได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในบอร์ดดังกล่าว โดยใช้เลข 002 เป็นเลขเริ่มต้นรหัสหุ้น อนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีจีนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์จีน (China Securities Regulatory Commission; CSRC) ได้มีคำสั่งรวม SME Board เข้ากับ Main Board
กระดาน ChiNext จัดตั้งเมื่อปี 2552 ภายใต้ SZSE โดยเป็นกระดานหุ้นสำหรับบริษัทด้านนวัตกรรม (innovative businesses) และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (emerging industry) ที่เติบโตได้ดี โดยเป็นกระดานหุ้นเสริมสำคัญของกระดานหลักและถือเป็นกระดานหุ้นที่สอง (second board market) ของจีน โดยใช้เลข 300 เป็นเลขเริ่มต้นรหัสหุ้น
กระดาน STAR Market เป็นกระดานหุ้นล่าสุดของจีนซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 โดย STAR Market เป็นกระดานหุ้นสำหรับบริษัทด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ซื้อ – ขายหุ้นผ่าน SSE และเป็นกระดานหุ้นที่มุ่งเน้นบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีน และเทคโนโลยีแกน (core technology) โดยใช้เลข 688 เป็นเลขเริ่มต้นรหัสหุ้น
รู้จัก New Third Boad ตลาดทุนสำหรับ SMEs จีน
National Equities Exchange and Quotations (NEEQ) หรือ New Third Boad (新三板) ปัจจุบันมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง โดย NEEQ เปิดดำเนินการเมื่อปี 2556 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดทุนสำหรับ SMEs จีนที่ยังไม่สามารถเข้าไปจดทะเบียนในกระดานหุ้นหลัก (Main Board) และยังนับว่าเป็นการเข้าสู่ตลาดทุนก่อนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ (pre-listing) อีกด้วย ทั้งนี้ NEEQ เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ซื้อ – ขายแบบ Over-the-counter (OTC) กล่าวคือ เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ หรือการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ ผ่านการเจรจาต่อรองกันทางโทรศัพท์ ไม่ได้กำหนดช่วงเวลาการติดต่อซื้อขายที่แน่นอนและไม่มีศูนย์กลางการจับคู่ซื้อขาย
ปัจจุบัน NEEQ ดึงดูด SMEs กว่า 7,391 บริษัทจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 15 อุตสาหกรรม โดยร้อยละ 35 เป็น SMEs ด้านอุตสาหกรรมการผลิต และร้อยละ 30 เป็น SMEs ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ยังมี SMEs จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม วัฒนธรรม และการเงิน เป็นต้น
รู้จักตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น
ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (SZSE) จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2533 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน (China Securities Regulatory Commission) เปิดทำการซื้อขาย (Trading) ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันนักขัตฤกษ์ของจีนและวันหยุดที่ประกาศโดย SZSE) ระหว่างเวลา 9.30 น. – 11.30 น. และ 13.00 น. – 14.57 น. โดย SZSE เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของจีนแผ่นดินใหญ่ (ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรก จัดตั้งเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2533) โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ตลาดหลักทรัพย์เมืองเซินเจิ้นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 7 ของโลกรองจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (NASDAQ) ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และตลาดหลักทรัพย์ยูโรเน็กซต์ โดย SZSE มีผลิตภัณฑ์และบริการหลายประเภทประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญ (equity) (2) กองทุน (fund) (3) ตราสารหนี้ (bond) (4) ตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช้หลักประกันการจำนอง (Asset-backed security; ABS)[1] และ ออปชัน (Options)[2]
ปัจจุบัน SZSE มีบริษัทจดทะเบียน 2,487 บริษัท (สถานะ 18 สิงหาคม 2564) โดยแบ่งประเภทกระดานหุ้นเป็น 2 กระดาน ได้แก่ (1) กระดานหุ้นหลัก (SZSE Main Board) ประกอบด้วย 1,477 บริษัท (สถานะ 18 สิงหาคม 2564) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัท A-Share ที่จดทะเบียนใน Main Board มีจำนวน 472 บริษัทซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) 3.1 ล้านล้านหยวน (492,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[3] (2) กระดาน ChiNext เป็นกระดานหุ้นสำหรับบริษัทด้านนวัตกรรม (innovative businesses) และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (emerging industry) ซึ่งได้รับการเสนอให้จัดตั้งโดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Central Committee of the Chinese Communist Party) และคณะรัฐมนตรีจีนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 และได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ปัจจุบัน กระดาน ChiNext ประกอบด้วย บริษัทจำนวน 1,010 บริษัท (สถานะ 18 สิงหาคม 2564) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) 13.5 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 15.86 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ A-Share ทั้งหมดใน SZSE
การรวม SME Board เข้ากับ Main Board ของตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีจีนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์จีนได้มีคำสั่งรวมกระดาน SME (SME board) เข้ากับกระดานหุ้นหลัก (Main board) ของ SZSE ซึ่งนับว่าเป็นการปรับโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ครั้งสำคัญของจีน และเนื่องจากหุ้นทั้งสองกระดานมีการดำเนินการบางส่วนที่เหมือนกัน การรวมกระดานจึงเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของ SZSE และยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงตลาดทุนได้ดียิ่งขึ้น อนึ่ง SZSE ได้รวมกระดานหุ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 โดยหุ้นของบริษัทที่เดิมอยู่ในกระดาน SME และมีคุณสมบัติครบตามกำหนดถูกย้ายไปยังกลุ่มหุ้น A-share ที่อยู่ในกระดานหลัก
ทั้งนี้ การรวมกระดานหุ้นส่งผลต่อภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบในการซื้อ – ขายและการดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ดี เงื่อนไขในการออกหุ้น การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของผู้ลงทุน กลไกการซื้อ – ขาย และรหัส/ชื่อย่อหลักทรัพย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การรวมกระดานหุ้นจึงมีผลต่อนักลงทุนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไม่มากนัก ในส่วนของผลิตภัณฑ์การลงทุน การรวมกระดานหุ้นไม่มีผลต่อตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ดัชนีหุ้น ฟิวเจอร์ส สัญญาซื้อขายล่วงหน้าออปชั่น (index option) และระบบการซื้อขายระหว่างตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Shenzhen – Hong Kong Stock Connect) เป็นต้น ในส่วนของดัชนีหุ้น ดัชนีหุ้นของ SZSE จะเปลี่ยนแปลงหลังจากการรวมกระดานหุ้น และดัชนี ที่เกี่ยวข้องกับ SME board จะไม่มีคำว่า “บอร์ด” ในชื่อเต็มและชื่อย่อของดัชนี รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายของดัชนี อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการคำนวณดัชนี และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่อ้างอิงตามดัชนีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการลงทุนของกองทุนที่อ้างอิงดัชนีอื่น ๆ นอกจากนี้ การรวมกระดานหุ้นจะช่วยเน้นความสำคัญของ ChiNext มากขึ้น ซึ่งทำหน้าที่รองรับบริษัทและ SMEs ด้านนวัตกรรม เนื่องจากที่ผ่านมา ความแตกต่างระหว่าง SME board และ ChiNext อาจไม่ชัดเจนนัก อีกทั้งจะช่วยรองรับการปฏิรูประบบการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะเริ่มในปี 2564 อีกด้วย
ความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
การเชื่อมโยงระหว่างหลักทรัพย์เซินเจิ้น (SZSE) กับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (SEHK) อยู่ภายใต้กลไก China – Hong Kong Stock Connect ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อการเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงผ่าน SSE SZSE และ SEHK โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) Southbound Trading เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ซื้อขายหุ้นจดทะเบียนใน SEHK ทั้งนี้ หุ้นที่สามารถซื้อขายได้ใน Northbound Trading จะต้องเป็นหุ้น A-Share ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดซึ่งข้อกำหนดการซื้อขายหุ้นใน SSE และ SZSE จะแตกต่างกัน และ (2) Northbound Trading เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนในฮ่องกงเข้าลงทุนใน SSE และ SZSE ทั้งนี้ การเชื่อมต่อระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในจีนกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงจะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและสร้างความร่วมมือระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง รวมถึงสนับสนุนฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินระดับโลก ผลักดันเงินหยวนสู่สากล และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการเงินของจีน อีกทั้ง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันด้านตลาดทุนระหว่างจีนกับฮ่องกง
ความเชื่อมโยงระหว่าง SEHK กับ SZSE หรือ Shenzhen – Hong Kong Stock Connect สามารถแบ่งการซื้อขายออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) Shenzhen Connect โดยนักลงทุนสามารถให้บริษัทหลักทรัพย์ฮ่องกงซื้อขายหุ้นจดทะเบียนใน SZSE ที่มีคุณสมบัติตามกำหนดภายใต้ Shenzhen – Hong Kong Stock Connect ด้วยการส่งคำสั่งซื้อขายไปยัง SZSE ผ่านสำนักงานสาขา (subsidiary) ของ SEHK ในเมืองเซินเจิ้น ทั้งนี้ หุ้นที่ซื้อขายได้จะเป็นหุ้น A-share ที่อยู่ใน SZSE Component Index SZSE Small/Mid Cap Innovation Index ที่มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านหยวน และหุ้น A-Share ของ A + H Companies (dual listed) ที่จดทะเบียนใน SZSE (2) Hong Kong Connect หมายถึงกรณีนักลงทุนให้บริษัทหลักทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นจดทะเบียนใน SEHK ที่มีคุณสมบัติตามกำหนดภายใต้ Shenzhen-Hong Kong Stock Connect ด้วยการส่งคำสั่งซื้อขายไปยัง SEHK ผ่านสำนักงานสาขาของ SZSE ในฮ่องกง
V-Next แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ SMEs ทั่วโลก
V-Next จัดตั้งเมื่อปี 2558 เป็นแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจข้ามพรมแดน (cross-border matchmaking platform) ที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการ SME ในต่างประเทศกับตลาดทุนและตลาดสินค้าในจีนได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจัดการและดูแลโดยบริษัท Shenzhen Securities Information จำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของ SZSE โดย V-Next จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศสามารถเข้าถึงตลาดทุนและตลาดจำหน่ายสินค้าในจีนได้ง่ายขึ้น (2) บริการข้อมูลด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุนVenture Capital และ การควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) และ (3) บริการข้อมูลและกลไกสำหรับการสื่อสารข้อมูลสินค้าบริการ หรือแผนธุรกิจ (pitching) ระหว่างนักลงทุนกับธุรกิจ start-ups และ SMEs ปัจจุบัน V-Next มีความร่วมมือกับ ตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงินทั่วโลก โดยมีสมาชิกที่เป็นนักลงทุนกว่า 23,000 ราย และบริษัทด้านนวัตกรรมกว่า 16,000 ราย ใน 45 ประเทศรวมถึงไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นต้น
ความร่วมมือกับไทย
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange of Thailand: SET) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange: SZSE) ที่กรุงเทพมหานครฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “China-Thailand SME Capital Market Service Initiative” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการสนับสนุน SMEs ของไทยและจีนใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี (2) การสร้างพันธมิตรระหว่างตลาดที่มีการเติบโตสูงของทั้ง 2 ประเทศ และ (3) การศึกษาช่องทางในด้านการเงินและการลงทุนระหว่าง 2 ตลาด ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวยังมีสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตร “ChiNext-mai Alliance” ระหว่างกระดาน ChiNext ของ SZSE และ กระดาน mai ของ SET รวมถึงการจัดโรดโชว์และจับคู่ธุรกิจและส่งเสริมให้หลักทรัพย์ของไทยและจีนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตลอดจนร่วมกันพัฒนาสินค้าและบริการข้ามตลาด เช่น cross-listing ETF, DR cross-border index และความร่วมมือด้าน green finance เป็นต้น[4]
นอกจากนี้ เมื่อวันวันที่ 23 เมษายน 2562 SET ยังร่วมกับ SZSE และ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา 2019 China – Thailand Capital Market Cooperation Seminar เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านตลาดทุนจีนและบริการทางการเงินของธนาคารไอซีบีซีฯ โดยต่อมา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 SET ร่วมกับ SZSE จัดงานสัมมนา China – Thailand Capital Market Cooperation Seminar ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาตลาดทุนของไทย รวมถึงการสัมมนาโดยคณะกรรมการสถาบันการเงินจีน-ไทย ในหัวข้อ อนาคตสำหรับตลาดทุนจีน-ไทยและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีภาคเอกชนไทย ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมกิจกรรมโรดโชว์ผ่านแพลตฟอร์ม V-Next
“ตลาดหลักทรัพย์” นับเป็นแหล่งทุนที่สำคัญต่อการเติบโตของบริษัทในจีน ศูนย์ BIC มองว่า การที่ SZSE จัดตั้ง V-Next ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่าง SZSE กับตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงินทั่วโลก รวมถึงเป็นการสร้างประตูให้แก่ SMEs ทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงเงินทุนและตลาดผู้บริโภคกว่า 1,400 ล้านคนของจีนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ V-Next ยังนับว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่เป็นการเพิ่มบทบาทของเงินหยวน (Renminbi) ให้มากขึ้นซึ่งสอดคล้องบทวิเคราะห์ของนาย Kenneth Rogoff นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่กล่าวว่า “เงินสกุลหยวนจะเข้ามาบทบาทในเอเชียมากขึ้น”[5] การเข้าถึงตลาดทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้กับบริษัทที่มีศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจเท่านั้น การเปิดตัว V-Next ยังเป็นอีกก้าวสำคัญในการเปิดโอกาสให้กับทั้ง SMEs จีนและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนของจีนในการออกไปลงทุนในบริษัท SMEs และ start-up ทั่วโลกได้อีกด้วย
สุวิชญา กีปทอง และ สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
วันที่ 19 สิงหาคม 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.szse.cn/https://www.hkex.com.hk/
http://english.sse.com.cn/
https://www.statista.com/statistics/270126/largest-stock-exchange-operators-by-market-capitalization-of-listed-companies/
https://library.jitta.com/th/blogs/introduction-to-china-stock-market-thhttps://admiralmarkets.sc/th/education/articles/shares/introduction-to-china-stock-market
https://www.peniaphobia.com/investment/stock/china-a-shares-china-b-shares/
https://today.line.me/th/v2/article/GNDOPQ
https://www.china-briefing.com/news/neeq-chinas-new-stock-market-smes/
https://www.bignewsnetwork.com/news/270630309/chinas-new-third-board-hits-81-bln-yuan-turnover
http://www.neeq.com.cn/en/about_neeq/introduction.html
https://www.statista.com/statistics/783899/china-number-of-small-to-medium-size-enterprises/
https://www.globaltimes.cn/page/202103/1220015.shtml
https://www.szse.cn/English/about/news/szse/t20210210_584764.html
https://www.zhihu.com/question/427563435/answer/1721384522?utm_source=wechat_session&utm_medium=social&s_r=0
https://www.zhihu.com/question/387542719/answer/1367261035
https://www.chinadailyasia.com/article/152826
https://www.nnip.com/en-NORDICS/professional/insights/articles/chinas-bid-to-attract-capital-creates-new-opportunities-in-bond-and-equity-markets
http://www.szse.cn/enSzhk/introduction/definition/index.html
https://www.hkex.com.hk/Mutual-Market/Stock-Connect?sc_lang=enhttps://ibkr.info/article/2267
http://www.aastocks.com/en/cnhk/education.aspx
https://www.hkex.com.hk/-/media/HKEX-Market/Mutual-Market/Stock-Connect/Getting-Started/Information-Booklet-and-FAQ/Information-Book-for-Investors/Investor_Book_En.pdf
http://www.szse.cn/enSzhk/faqs/
[1] ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, “คำศัพท์การลงทุน,” https://bit.ly/3AS7pHJ (สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2564)
[2] ออปชัน คือ สัญญาระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย โดยผู้ขายสิทธิให้แก่ผู้ซื้อ ในการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงภายใต้สัญญาซึ่งเป็นการซื้อขายในราคาใช้สิทธิและภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา,
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, “เจาะลึกลักษณะออปชัน,” https://www.set.or.th/education/th/begin/derivatives_content02.pdf (สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2564)
[3] Shenzhen Stock Market, “About Main Board,” http://www.szse.cn/English/products/equity/mainboards/t20210322_585211.html (สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2564)
[4] ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, “ตลาดหลักทรัพย์ไทยลงนาม MOU กับตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น,” https://bit.ly/37Wg2UY (สืบค้น 18 สิงหาคม 2564)
[5] Nikkei Asia, ” China’s yuan likely to become Asia’s central currency: Kenneth Rogoff,” https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/China-s-yuan-likely-to-become-Asia-s-central-currency-Kenneth-Rogoff (สืบค้น 19 สิงหาคม 2564)