จับตามอง! สถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในกวางตุ้ง ความมั่นคงทางพลังงานและอนาคตพลังงานสะอาด ตอนที่ 1
6 Jul 2021ช่วงที่ผ่านมา โรงงานหลายแห่งในมณฑลกวางตุ้งได้รับแจ้งจากหน่วยงานท้องถิ่นให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวัน โดยขอความร่วมมือให้โรงงานผลิตสินค้าในพื้นที่หยุดการผลิตชั่วคราวสัปดาห์ละ 2 – 3 วัน รวมถึง หลีกเลี่ยงการผลิตสินค้าในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดระหว่างเวลา 7.00 น. – 23.00 น. นอกจากนี้ บริษัท China Southern Power Grid ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการจัดการและจ่ายกระแสไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้ง รายงานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในช่วงไตรมาสที่แรกของปี 2564 โดยมณฑลกวางตุ้งใช้ไฟฟ้า 152,708 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.08 และในจำนวนดังกล่าวภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้า 78,454 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพิ่มขึ้นมากร้อยละ 42.72 นับเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติ วันนี้ ศูนย์ฯ BIC จะพาทุกท่านไปร่วมหาสาเหตุ
ของวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้าในครั้งนี้กัน
โลกร้อน โควิด-19 และ ราคาถ่านหิน
ผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหลายครั้งอาจยังมองไม่เห็นได้แจ่มชัดนักผลกระทบที่ว่าเป็นเช่นไร อาจเป็นเพียงแค่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือไม่ วันนี้ ศูนย์ฯ BIC กว่างโจวจึงอยากมาเล่าถึงสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าของมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ และไปดูว่าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และราคาถ่านหินจะมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้ามากเพียงไร
อุณหภูมิที่สูงขึ้น กรมพลังงานมณฑลกวางตุ้งระบุว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาของขาดแลนไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้งครั้งนี้เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 64 เป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยของมณฑลกวางตุ้งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสูงสุดแตะ 35 องศาเซลเซียสในวันที่ 13 พฤษภาคม 64 ซึ่งนับว่าสูงกว่าอุณหภูมิของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 4 องศาเซลเซียส โดยปรากฏการณ์อุณหภูมิที่เริ่มสูงมาตั้งแต่ต้นปีนั้น ส่งผลให้เมื่อช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2564 อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมบริการเริ่มใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 32.2 และร้อยละ 40.2 ตามลำดับ
ปัญหาภัยแล้ง กระแสไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้งร้อยละ 30 มาจากแหล่งผลิตที่อยู่ในมณฑลอื่น โดยมณฑลยูนนานเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของมณฑลกวางตุ้ง อย่างไรก็ดี ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ในปีนี้ ทำให้มณฑลยูนนานประสบกับปัญหาภัยแล้ง โดยในเดือนเมษายน 2564 ฝนตกช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้กว่า 20 วัน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ลดลงจนส่งผลต่อกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปยังมณฑลกวางตุ้งลดลง โดยเมื่อเดือนเมษายน 2564 บริษัท Yunnan Power Grid ส่งกระแสไฟฟ้าให้มณฑลกวางตุ้ง 8,244 ล้านกิโลวัตต์ ลดลงร้อยละ 21.223 เขื่อน Xiluodu (ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากเขื่อนสามโตรกและเขื่อน Itaipu บราซิล) ส่งกระแสไฟฟ้าให้มณฑลกวางตุ้ง 3,701 กิโลวัตต์ ลดลงร้อยละ 11.9 และโครงการระบบกระแสสายตรงแรงดันสูงยูนนาน-กวางตุ้ง (HVDC ±800 Transmission System) ส่งกระแสไฟฟ้าให้มณฑลกวางตุ้ง 3,120 ล้านกิโลวัตต์ ลดลงร้อยละ 13.62
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของโลกและเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตและประกอบสินค้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงท่าเรือและท่าอากาศยานที่กระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นทั้งในจีนและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งต้องหยุดชะงักชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจึงต้องเร่งให้อุตสาหกรรมการผลิตกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง ซึ่งการกลับมาเร่งการผลิตทำให้มณฑลกวางตุ้งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากกว่าปกติ โดยเมื่อไตรมาสแรกของปี 2564 ภาคการผลิตของมณฑลกวางตุ้งใช้ไฟฟ้า 78,454 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.72 คิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมในมณฑลกวางตุ้ง ในจำนวนดังกล่าวอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใช้ไฟฟ้าในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประเภทอื่น
ราคาถ่านหิน เว็บไซต์ South China Coal Exchange Center ระบุเมื่อเดือน เม.ย. 64 ราคาถ่านหิน (Thermal Coal) ราคาสูงขึ้นกว่าปกติ (จากแต่เดิมเป็นช่วงที่ราคาต่ำเนื่องจากอุปสงค์น้อย) โดยถ่านหินพลังงานความร้อน 5,500 กิโลแคลอรี (kcal) ตันละ 900 หยวน และเพิ่มเป็นตันละ 1,000 หยวนเมื่อเดือน พ.ค. 64 (จากเดิมราคาประมาณ 400 หยวนเมื่อ พ.ค. 63) ทั้งนี้ แหล่งพลังงานไฟฟ้ากว่าร้อยละ 70 ของมณฑลกวางตุ้งใช้พลังงานความร้อนจากถ่านหินซึ่งราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวทำให้ต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นและผลิตได้น้อยลง
เมืองในกวางตุ้งเร่งออกมาตรการลดการใช้ไฟฟ้า
ในช่วงสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้า เมืองในมณฑลกวางตุ้งต่างเร่งออกมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ได้แก่ (1) นครกว่างโจว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 สำนักงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศนครกว่างโจวออกแผนควบคุมการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยระบุให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าระหว่างเวลา 22.30 – 8.30 (10 ชม.) เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้สูงที่สุดในช่วงกลางวัน นอกจากนี้ กำหนดให้โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานลดการใช้ไฟฟ้าโดยการลดจำนวนการใช้ลิฟต์ ไฟส่องสว่าง และเครื่องปรับอากาศคอมพิวเตอร์หากไม่มีการใช้งาน เป็นต้น (2) เมืองซ่านโถว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลเมืองซ่านโถวประกาศใช้นโยบายการลดใช้ไฟฟ้าต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยกำหนดให้หยุดผลิตสัปดาห์ละ 2 วัน นอกจากนี้ ขอให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดสายผลิตระหว่างเวลา 9.00 – 12.00 น. 14.00 – 17.00 น. และ 18.00 – 21.00 น. (3) เมืองตงก่วนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 สำนักงานโครงข่ายไฟฟ้าเมืองตงก่วนสถานีหู่เหมิน ประกาศดำเนินนโยบายการลดใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หยุดผลิตสัปดาห์ละ 1 – 2 วัน หากฝ่าฝืนจะลงโทษโดยการหยุดจ่ายไฟเป็นเวลา 48 ชม. (4) เมืองจงซาน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลเมืองจงซานประกาศดำเนินมาตรการลดใช้ไฟฟ้าโดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หยุดผลิตสัปดาห์ละ 2 วัน และหยุดจ่ายไฟฟ้าทุกวันอาทิตย์ระหว่างเวลา 7.00 – 23.00 น. และ (5) เมืองฝอซาน เมืองฮุ่ยโจวและเมืองเฉาโจว ดำเนินมาตรการลดใช้ไฟฟ้าโดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หยุดผลิตสัปดาห์ละ 2 วัน และหยุดจ่ายไฟฟ้าทุกวันระหว่างเวลา 9.00 – 12.00 น. และเวลา 14.00 – 17.00 น.
ถึงแม้ว่า นับตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าได้ทุเลาลงจนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนได้ประกาศได้ประกาศยกเลิกมาตรการลดใช้ไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้ง แต่อย่างไรก็ดี ความมั่นคงทางพลังงานของมณฑลกวางตุ้งก็เป็นสิ่งที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญจากรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างทางพลังงานเพื่อให้มณฑลกวางตุ้งก้าวเข้าสู่ยุคของพลังงานสะอาดต่อไปในอนาคต ในตอนต่อไป ศูนย์ BIC กว่างโจวจะมาเล่าถึงสถานะทางพลังงานและแนวโน้มการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของมณฑลกวางตุ้ง โปรดติดตามตอนต่อไป
————————————-
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564