เปิดตลาด เยือนเมืองเจียงเหมิน ส่องพัฒนาการฮับโลจิสติกส์ตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง
27 Mar 2024เมื่อปี 2562 รัฐบาลกลางจีนประกาศกรอบแผนพัฒนาเขตกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) เพื่ออัพเกรดเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ของมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊าให้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในส่วนของมณฑลกวางตุ้งมีเมือง 9 แห่ง[๑] อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองเป็นฐานผลิตสินค้าที่สำคัญจนได้รับชื่อว่าเป็น ‘โรงงานของโลก’ โดยมีนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นเป็นแกนนำสำคัญทางเศรษฐกิจ ขณะที่เมือง GBA อื่น ๆ ในมณฑลกวางตุ้งกลับมีระดับการพัฒนาที่ไม่สูงนัก จนมักกลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งต้องให้ความสำคัญและเร่งลดช่องว่างดังกล่าวให้แคบลงจนมองไม่เห็น
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนได้มีโอกาสร่วมติดตามการเยือนเมืองเจียงเหมินของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ซึ่งการเยือนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามพัฒนาการภายใต้กรอบแผนพัฒนาเขต GBA และแผนพัฒนากลุ่มเมือง 5 กลุ่มของมณฑลกวางตุ้ง โดยได้เยือนศูนย์โลจิสติกส์จูซี (Zhuxi Logistics Center) เขตความร่วมมือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนานาชาติ จีน – ยุโรป (Sino-Europe (Jiangmen) SME International Cooperation Zone) รวมถึงเยือนบริษัท Guangdong IVL PET Polymer จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจไทยในพื้นที่ ซึ่งในบทความนี้ศูนย์ BIC จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ ‘เมืองเจียงเหมิน’ ให้มากและลึกยิ่งขึ้น
รู้จักเมืองเจียงเหมิน
เมืองเจียงเหมินตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของมณฑลกวางตุ้งได้รับสมญานามว่าเป็น ‘เมืองหลวงของชาวจีนโพ้นทะเล’ (Capital of Overseas Chinese) โดยเป็นภูมิลำเนาของชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 4 ล้านคน ที่ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยใน 104 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาและยุโรป
ในด้านเศรษฐกิจ เมืองเจียงเหมินมีประชากรกว่า 4.8 ล้านคน เมื่อปี 2566 มี GDP 402,225 ล้านหยวน (57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวกว่า ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 173,200 ล้านหยวน (24,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2565 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เหล็ก เครื่องใช้ในครัวเรือน กระดาษ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และสิ่งทอ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สารสนเทศยุคใหม่ (next-generation information technology) ยานยนต์พลังงานใหม่ และอุปกรณ์อัจฉริยะ เป็นต้น
จากแผนภูมิ ผู้อ่านจะเห็นว่าเมืองเจียงเหมินมีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 7 ของ 9 เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้ง อย่างไรก็ดี เมืองเจียงเหมินเป็น 1 ใน 5 เมืองที่มีอัตราการเติบโตเกินเป้าหมายการเติบโตของ GDP ของมณฑลกวางตุ้ง (ร้อยละ 5) ซึ่งสะท้อนความสามารถในการผลักดันการพัฒนาการเติบโตของเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย
เมืองเจียงเหมินยังมีข้อจำกัดด้านทำเลที่ตั้งและไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพียงพอ อีกทั้งห่างจากโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ที่อยู่ในเมืองอื่นของ GBA ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเมืองเจียงเหมินจึงเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมเมืองเจียงเหมินกับเมืองอื่นใน GBA เพิ่มศักยภาพให้กับเมือง
ในการเยือนครั้งนี้ ศูนย์ BIC ได้เห็นพัฒนาการสำคัญของเมืองผ่านโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ที่เป็นกลไกทำลายคอขวดของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเจียงเหมิน และเพิ่มข้อได้เปรียบให้กับเมืองเจียงเหมินให้มีความสามารถในการแข่งขันกับเมืองอื่น ๆ ใน GBA ได้ดียิ่งขึ้น
ฮับโลจิสติกส์แห่งกวางตุ้งตะวันตก
การพัฒนาด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์เป็นหมุดหมายการพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาลเมืองเจียงเหมิน เมื่อปี 2562 รัฐบาลเมืองเจียงเหมินจึงได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1,200 ล้านหยวนเพื่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติจูซี (Zhuxi International Logistics Center) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาให้เป็นฮับโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองเจียงเหมิน ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับกับสถานีรถไฟเจียงเหมินเหนือ (Jiangmen North Railway station) ซึ่งเชื่อมกับท่าเรือหนานซา (นครกว่างโจว) ท่าเรือเหยีนเถียน (เมืองเซินเจิ้น) และท่าเรือเกาหลาน (เมืองจูไห่) และใกล้กับเส้นทางด่วนที่เชื่อมกับเมืองรอบด้าน สามารถขนส่งสินค้าไปยังท่าอากาศยานสำคัญของ GBA ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติไป๋หยุนนครกว่างโจว ท่าอากาศยานเป่าอันเมืองเซินเจิ้น ท่าอากาศยานจินวานเมืองจูไห่ ท่าอากาศยานฮ่องกง และท่าอากาศยานมาเก๊า โดยรัฐบาลเมืองเจียงเหมินผลักดันให้ศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติจูซีเป็นฮับโลจิสติกส์ที่เป็นพื้นที่สาธิตความร่วมมือระหว่างศูนย์กลางโลจิสติกส์ใน GBA และสนับสนุนให้เป็นท่าเรือบก (dry port) ที่สามารถยกระดับการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ศูนย์โลจิสติกส์จูซีมีแผนการลงทุนของภาคเอกชนกว่า 13 โครงการ ในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่มีการลงทุนแล้ว 6 โครงการ[๒] มูลค่ารวมกว่า 3,757 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัทสำคัญ เช่น บริษัท Goodman Group จำกัด (ออสเตรเลีย) บริษัท CIM Holding จำกัด (ฮ่องกง) และบริษัท GLP Logistic จำกัด (สิงคโปร์)
นอกจากนี้ รัฐบาลเมืองเจียงเหมินมีโครงการเขตความร่วมมือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนานาชาติ จีน – ยุโรป (Sino-Europe (Jiangmen) SME International Cooperation Zone) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศจีนได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2559 และเป็นเขตความร่วมมือของวิสาหกิจจีนกับยุโรปแห่งเดียวของจีน พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยเมืองอุตสาหกรรมเฮ่อซาน (Heshan industrial town) ศูนย์โลจิสติกส์ภาคตะวันตกเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Western PRD Logistic center) และพื้นที่นวัตกรรมวัสดุใหม่จีน-ยุโรป ทั้งนี้ เขตความร่วมมือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนานาชาติ จีน – ยุโรปมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาสำคัญ ได้แก่ วัสดุใหม่ (advance material) การผลิตอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง (high-end equipment manufacturing) และ สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ (new generation electronic information) ปัจจุบัน มีบริษัทจากทวีปยุโรปเข้ามาลงทุนแล้วกว่า 146 โครงการจาก 20 ประเทศ มูลค่าการลงทุนกว่า 48,175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจสัญชาติไทยในเจียงเหมิน
เมืองเจียงเหมินยังเป็นที่ตั้งของบริษัท Guangdong IVL PET Polymer จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผลิตพลาสติก PET[๓] สิ่งทอสำหรับผลิตยาง (Fiber) และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากออกไซด์และอนุพันธ์แบบบูรณาการ (Integrated Oxide and Derivatives: IOD)[๔] ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 640 รายจาก 41 ประเทศทั่วโลก โดยขวดน้ำในโลกทุก ๆ 5 ขวดจะมีขวดน้ำ 1 ขวดที่ผลิตโดยบริษัทอินโดรามา ทั้งนี้ บริษัทฯ มีรายได้ที่มาจากกลุ่มสินค้า PET มากที่สุดถึงร้อยละ 63 ของแหล่งรายได้จากผลิตภัณฑ์ทั้งสามกลุ่ม
บริษัท IVL มีบทบาทสำคัญในการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเจียงเหมิน โดยมีมูลค่าการส่งออกที่สูงอยู่ใน 3 อันดับแรก (Top 3) ของบริษัทที่ดำเนินการค้ากับต่างประเทศในเมืองเจียงเหมิน นอกจากนี้ บริษัท IVL ยังโดดเด่นในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยถึงแม้บริษัทฯ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำแต่ก็มีบทบาทสำคัญในการแสดงให้เห็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบการบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่จนได้รับรางวัลการปกป้องแม่น้ำถันเจียง (Special Fund of Jiangmen City for Protecting Tan Jiang River Water Resource) เป็นเงินอุดหนุนกว่า 100,000 หยวนจากรัฐบาลเมืองเจียงเหมินอีกด้วย
เมืองเจียงเหมิน
ปัจจุบัน เมืองเจียงเหมินนอกจากมีความสำคัญในการเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาคตะวันตกของ GBA แล้ว เมืองเจียงเหมินยังเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์เพื่อยกระดับให้เมืองเจียงเหมินเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้เมืองเจียงเหมินมีศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้สูงขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในขั้วความเจริญ (growth pole) ของกลุ่มเมืองทางฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียง (west bank of pearl river estuary) ภายใต้แผนการพัฒนากลุ่มเมือง 5 กลุ่มของมณฑลกวางตุ้ง ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะติดตามพัฒนาการของเมืองเจียงเหมินต่อไปและนำความคืบหน้ามาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง
————————————-
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1785794101197488967&wfr=spider&for=pc
http://www.gd.gov.cn/zwgk/wjk/qbwj/yf/content/post_4303487.html
http://www.gd.gov.cn/attachment/0/538/538481/4303487.pdf
https://www.indoramaventures.com/th/home
[๑] เมือง GBA ของมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองตงก่วน เมืองจูไห่ เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน เมืองฮุ่ยโจว และเมืองจ้าวชิ่ง
[๒] 中顺智慧供应链服务产业园项目 总投资5亿元 珠西国际陆港 总投资4.7亿元 熙麦大湾区时尚供应链枢纽项目:总投资10.8亿元 嘉民江门鹤山现代物流园项目:总投资10.5亿元 维龙(鹤山)珠西智慧物流产业园VAILOG,总投资1.2亿美元 普洛斯鹤山物流园 GLP,总投资1亿美元 http://www.heshan.gov.cn/hsswlgwh/
[๓] polyethylene terephthalate พลาสติกพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ มีคุณสมบัติยืดหยุ่นสูง ใสและน้ำหนักเบา นิยมใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์
[๔] IOD นำไปผลิตเป็นวัสดุพื้นฐาน เช่น เอทิลีน (Ethylene Oxide (EO)) ไกลคอล (Glycols) สารลดแรงตึงผิว (Surfactants) เอทาโนลาไมน์ (Ethanolamine (EOA)) และสารตัวกลาง ซึ่งนำไปเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ใช้เพื่อการเกษตร และเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับบ่อน้ำมัน เป็นต้น www.indoramaventures.com