ไขสมอง : เพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจ “อ้อย” ปลดล็อกธุรกิจน้ำตาลอ้อยก้าวสู่ยุค 4.0
12 Apr 2018
“อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในระบบอุตสาหกรรมกว่างซี (เช่นเดียวกับประเทศไทย) กว่างซีปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลได้มากที่สุดในประเทศจีน (สัดส่วนราว 60%) ทว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องประสบภาวะซบเซาจากปัญหาต้นทุน ทำให้ทุกฝ่ายต้องระดมสมองเพื่อหาทางออก
ครั้งแรกในโลกกับสายการผลิต “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อย” (Sugarcane Bio Water/甘蔗细胞水) ผลงานวิจัยชิ้นโบว์แดงของนักวิจัยกว่างซีที่ใช้ความพยายามกว่า 20 ปีในการพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนเกมการผลิตที่พลิกโฉมกระบวนการผลิตน้ำตาลแบบเดิม ๆ ไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจอย่าง “อ้อย” ได้เป็นเท่าตัว
นางเย่ ลี่น่า (Ye LiNa /叶丽娜) หัวหน้าทีมวิจัย (สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาเทคโนโลยีเครื่องกล ซึ่งไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหารแม้แต่น้อย) เล่าว่า เมื่อ 22 ปีก่อน ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ Guangxi Institute of Mechanical Industry (广西机械工业研究所) เธอได้เดินทางไปดูงานที่โรงงานน้ำตาลแล้วพบว่า กระบวนการผลิตน้ำตาลต้องเติมสารเติมแต่งในปริมาณค่อนข้างมากเพื่อให้น้ำอ้อยตกตะกอนด้วยกรรมวิธี Sulphitation Process และ/หรือ Carbonation Process
จึงเกิดคำถามว่า… เราสามารถใช้กระบวนการทางฟิสิกส์ในการแยกสิ่งเจือปนออกจากน้ำอ้อยได้หรือไม่? นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาวิจัยของเธอที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เธอใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูล ระดมสมองร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก และนำทีมวิจัยเข้าไปทำการทดลองในโรงงานน้ำตาลนับหมื่นครั้ง
หลังผ่านความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดก็เกิดการค้นพบครั้งใหม่ “ฟิล์ม” กรองน้ำอ้อยที่มีคุณสมบัติพิเศษในการกรองน้ำอ้อยที่มีอุณหภูมิสูง (จากการต้ม/เคี่ยว) มีประสิทธิภาพ ราคาถูก เมื่อทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แห่งชาติด้วย
เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ของเธอประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้จริง ทีมวิจัยใช้เวลาทดลองในโรงงานหีบอ้อยนาน 7 ฤดูกาลผลิต จนกระทั่งเมื่อปี 2558 เธอสามารถสกัด “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อยแบบปราศจากน้ำตาล” ได้เป็นครั้งแรก นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของการผลิตน้ำตาลสกัดผงบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการทางฟิสิกส์ สิ่งที่ผลิตได้รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นต่างมีคุณค่าทางโภชนาการจากต้นอ้อยทั้งต้น รวมถึงจากเปลือกอ้อยด้วย
“เทคโนโลยีการผลิตน้ำสกัดชีวภาพบริสุทธิ์จากอ้อยและน้ำตาลสกัดผงบริสุทธิ์ (Total Nutrient Pulverized Sugar)” ถูกยกให้เป็น China Best Technology ประจำปี 2558 ในลำดับที่ 8 ของประเทศจีน โดย China Association of Productivity Promotion Centers (CAPPC/中国生产力促进中心协会)
การนำผลจากห้องทดลองออกสู่ตลาดจริง เธอและทีมนักวิจัยร่วมกันระดมทุนกว่า 10 ล้านหยวน เพื่อสร้าง production line “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อย” เป็นที่แรกในโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2559 สินค้าล็อตทดลองออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก อีกหนึ่งปีให้หลัง (มี.ค. 2560) ได้ผลิตสินค้าล็อตเล็กอย่างเป็นทางการ
คำถามที่เกิดขึ้น คือ “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อยและน้ำตาล” ที่ใช้นวัตกรรมการผลิตแบบใหม่นี้แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตจากกระบวนการผลิตแบบเดิมอย่างไร
ผลการทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากศูนย์ Guangxi Center for Analysis and Test Research (广西分析测试研究中心) ระบุว่า “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อย” และ “น้ำตาลสกัดผงบริสุทธิ์” มีแร่ธาตุที่เป็นสารอาหารรอง (microelement) หลายชนิด รวมถึงส่วนประกอบ (active ingredient) ที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะ “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อย” มีประโยชน์ต่อการดูดซึมน้ำของเซลล์ในร่างกายมนุษย์
การสกัดเอาโภชนาการรวมตามธรรมชาติเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับ “อ้อย” จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า มูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งสองชนิดนี้สูงกว่าผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมมากเพียงใด
กว่างซีได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งน้ำตาล” อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของมณฑล การที่สภาพภูมิประเทศในกว่างซีเป็นเนินเขา ทำให้การปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยมีต้นทุนค่าแรงสูง ส่งผลให้น้ำตาลที่ผลิตสู้ราคาน้ำตาลนำเข้าไม่ได้
หากมองในแง่ผลิตภัณฑ์ ผลผลิตหลักที่ได้เป็นสินค้าขั้นปฐมภูมิ (น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดง) เป็นสินค้าตลาดล่าง (Low-end Product) การที่จะพัฒนาสินค้าขั้นปฐมภูมิเหล่านี้ให้ครองตลาดกลาง-บน (Middle and High-end market) เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ฉะนั้น “การปรับหัวเรือ เปลี่ยนกลยุทธ์ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความพิเศษ มีคุณค่า และมีโอกาสใหม่ทางการตลาด น่าจะเป็นทางออกที่ดี”
หลายปีมานี้ กว่างซีมีกำลังการผลิตอ้อยอยู่ที่ปีละกว่า 45 ล้านตัน ในปริมาณการผลิตน้ำตาลเท่ากัน หากใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ในการผลิตเครื่องดื่มน้ำสกัดชีวภาพจากอ้อยจะสามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตอ้อยต่อตันได้มากกว่า 1,000 หยวน ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาครัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ล้านหยวน ยังไม่นับรวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลสกัดผงบริสุทธิ์ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล
ในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย หากคิดเป็นเงินรายได้ที่จะได้รับต่อตันเพิ่มขึ้นที่ 100 หยวน เกษตรกรเหล่านี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่าปีละ 4,000 ล้านหยวน
“ผู้บริโภคมองข้ามคุณค่าของอ้อย เพราะไม่เคยรับรู้ถึงคุณค่าทางโภชนาการสุดพิเศษของอ้อย” นายถาง เจิ้นจู้ (Tang Zhenzhu/唐振柱) ประธานสมาคมโภชนาการศึกษากว่างซี (Guangxi Nutrition Society /广西营养学会) กล่าว
สารสกัดจาก(เปลือก)อ้อยที่มีชื่อว่า “Octacosanol” เป็นกลุ่มแอลกอฮอล์ไขมันยาว (Long chain aliphatic alcohols) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า มีคุณสมบัติป้องกันความเมื่อยล้า ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกายภาพของร่างกาย ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ลดอาการสิว กระตุ้นให้ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex action) รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดความเครียด และลดความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic pressure)
คุณค่าทางโภชนาการของ Octacosanol จึงมีค่าเปรียบดังทองคำ ที่สำคัญ สารสกัดดังกล่าวมีอยู่ใน “เปลือกอ้อย” เท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลแบบดั้งเดิมไม่สามารถสกัดสารตัวนี้ได้ ร่างกายมนุษย์ก็ไม่สามารถดูดซึมสารตัวนี้จากการเคี้ยวอ้อยได้เช่นกัน
ดร.พาน ฉุนอวิ๋น (Dr. Pan CunYun/潘存云) อาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกประจำมหาวิทยาลัย National University of Defense Technology (国防科技大学) เชื่อว่า “น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อย” จะกลายเป็นดาวดวงใหม่ของวงการธุรกิจ/อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เพียงแต่ผลทางวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเลข ลำดับต่อไป ผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้สถาบันการแพทย์เร่งดำเนินการวิจัยเชิงทฤษฎี เพื่อพิสูจน์ถึงความก้าวล้ำและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวผลิตภัณฑ์
ในการประชุมภาคธุรกิจน้ำตาลจีนที่จัดขึ้นในเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ได้ข้อสรุปประการหนึ่ง คือ การเร่งขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาล ส่งเสริมและชี้แนะแนวทางการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลสาขาใหม่ (segment) อย่างเช่น น้ำสกัดชีวภาพจากอ้อย เพื่อพัฒนารูปแบบการตอบสนองทางการตลาดในธุรกิจน้ำตาลจาก “ตลาดล่าง” ไปสู่ “ตลาดกลาง-บน”
เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจน้ำตาลกว่างซี กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยให้เกิดความหลากหลายเป็นการเกาะกระแสความต้องการบริโภคแนวใหม่ ซึ่งยังเกาะไปกับเทรนด์เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคยุคใหม่
จัดทำโดย:
นางสาวพรพิมล รองชูเพ็ง
นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
เรียบเรียงโดย:
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง