โอกาส “รังนกไทย” ในตลาดจีน: ตั้งโรงงานในจีนเลยดีไหม (ตอนจบ)

จัดทำโดย…นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

 

สำหรับผู้ที่เห็นว่าการลงทุนตั้งโรงงานในจีนเป็นคำตอบและเป็นโอกาสของท่าน ก่อนอื่น นักลงทุนต้องปรับทัศนะและมุมมองที่มีต่อการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่เสียก่อน เพราะจีนในวันนี้ไม่ใช่ “โรงงานโลก” อีกต่อไป การหอบเงินไปลงทุนในจีนนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคชาวจีนในประเทศ ไม่ใช่เพื่อการอาศัยแหล่งทรัพยากรในจีนอีกต่อไป

สำหรับนักธุรกิจแปรรูปรังนก(ดิบ)ที่กำลังมองหาทำเลทองในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่นั้น “เมืองชินโจว” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงน่าจะเป็นตัวเลือกที่นักลงทุนเก็บไว้พิจารณา เพราะเมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” แบบครบวงจรที่แรกที่เดียวในจีน

ถึงตอนนี้ต้องซูฮกให้กับความแยบยลของรัฐบาลกว่างซีที่คว้าโอกาสและกระโดดเข้าคุม “หมาก ในเกมนี้แต่เพียงผู้เดียว รัฐบาลกว่างซีกรุยทางให้โปรเจกต์ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” ด้วยการกำหนดให้ท่าเรือเมืองชินโจว (Qinzhou Port) เป็น “ฐานการนำเข้ารังนก” โดยผูกโยงความเกี่ยวพันจากที่เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมพี่น้องจีน-มาเลเซียเข้ากับการเปิดทางให้รังนกดิบที่มีแหล่งผลิตจากมาเลเซียเข้าสู่จีน แถมเป็นโปรเจกต์ที่ขานรับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งช่วยเสริมน้ำหนักให้กับการเป็น “ฐานการนำเข้ารังนก ของเมืองชินโจวที่ฟังดูเหมาะกว่าเมืองอื่นๆ ในจีน ทำให้รัฐบาลกลางไม่ลังเลที่จะเคาะให้ท่าเรือชินโจวเป็น “ด่านนำเข้ารังนกดิบ เป็นแห่งแรกของประเทศ

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 กว่างซีได้เริ่มเดินหน้าโปรเจกต์ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 690 ล้านหยวน บนเนื้อที่ 33.3 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการหลักของนิคมอุตสาหกรรมพี่น้องที่กว่างซีตั้งใจให้เป็นแพลตฟอร์มตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกลางน้ำ-ปลายน้ำ ตั้งแต่การนำเข้า การตรวจสอบและกักกันโรค การแปรรูป การวิจัยและพัฒนา การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า การท่องเที่ยวและการซื้อขายรังนก

สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” มีศักยภาพรองรับการนำเข้ารังนกปีละ 120 ตัน ผลิตภัณฑ์รังนกแห้งปีละ 115 ตัน มูลค่าการผลิตปีละ 6,000 ล้านหยวน ภายในมีการจัดสรรพื้นที่ต่างๆ อาทิ พื้นที่ควบคุมตรวจสอบและกักกันโรคในผลิตภัณฑ์รังนกดิบ (รังนกขน) เขตทำลายสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โรงงานแปรรูปรังนก โกดังสินค้า โรงผลิตและสำรองน้ำบริสุทธิ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน

เพื่อสร้างหลักประกันด้านอาหารปลอดภัย กว่างซีได้สร้าง Lab ในสวนอุตสาหกรรมฯ เพื่อตรวจสอบเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อโรคในรังนกนำเข้า เช่น ไวรัสหวัดนก (Bird flu) ไวรัสโรคนิวคาสเซิล (Newcastle disease) เชื้อโคลิฟอร์ม (Coli form) เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) รวมถึงการทดสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารไนเตรท สารโลหะหนัก สารพิษตกค้าง (สารเคมีทางการเกษตรและปศุสัตว์) สารปรุงแต่งอาหาร สารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และการตรวจสอบรังนกปลอม

นอกจากการสนับสนุนเชิงนโยบายจากส่วนกลางแล้ว ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์โดยมีที่ตั้งใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีโปรโมชัน “ลด แลก แจก แถม ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในสวนอุตสาหกรรมฯ ไม่ว่าจะเป็นการลด/ยกเว้นค่าเช่าที่ดินและอาคารโรงงาน ภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราพิเศษ 15% (อัตราทั่วไป 25%) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่ต้องนำส่งรัฐบาลท้องถิ่น (40% ของภาษีที่ต้องชำระ) แคมเปญจ่ายเงินรางวัล/เงินอุดหนุน สนับสนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับ อำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับนักลงทุนชาติ รวมถึงการหาสินเชื่อสกุลเงินหยวนจากธนาคารจีนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (Offshore RMB Load Backflow) ซึ่งเป็นการเสริมทางเลือกให้กับนักลงทุนในกรณีที่ธนาคารจีนในต่างประเทศมีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำกว่าธนาคารในประเทศ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูจะลงตัว…ทั้งสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนสารพัด การเปิดไฟเขียวให้รังนกดิบมาเลย์เข้าจีนความพร้อมด้านฮาร์แวร์ที่รัฐบาลกว่างซีได้รังสรรค์สวนอุตสาหกรรมและห้องแล็บขึ้นมาเพื่อรองรับการลงทุน

แม้ว่า “สวนอุตสาหกรรมรังนก” จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย แต่ก็เปิดกว้างรับนักลงทุนทั่วทุกสารทิศ ขอเน้นว่า…เปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวจีนกับชาวมาเลย์เท่านั้น ดังนั้น สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ของนักธุรกิจรังนก(ไทย) ที่มีความพร้อมและมองเห็นโอกาส(ทอง)เข้าจับจอง “สวนอุตสาหกรรมรังนกเมืองชินโจว” เป็นฐานการตลาดผลิตภัณฑ์รังนกจีนเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้ง่ายมากขึ้น

ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 รังนกขนหรือรังนกดิบมาเลเซียล็อตแรกได้ส่งออกไปถึงอย่างถูกกฎหมายแล้วที่สวนอุตสาหกรรมรังนกเมืองชินโจว การดำเนินงานเชิงรุกของรัฐบาลมาเลเซียในการส่งเสริมสินค้าเกษตรที่เป็นจุดแข็งของตนเพื่อขยายตลาดในจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สินค้าทับซ้อน” กับของไทยนั้น อาจส่งผลต่อฐานสินค้าเกษตรไทยในจีนได้ไม่น้อย

ข้อจำกัดของไทยทั้งด้านกำลังการผลิตและกฎหมายที่ยังไม่เอื้อในธุรกิจรังนก(บ้าน) หนึ่งในทางออกสำหรับนักลงทุนไทย คือ การสวมบทผู้นำเข้าวัตถุดิบรังนกแห้งจากไทย (มาเลย์และอินโด) เข้าไปแปรรูปในโรงงานที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ รวมทั้งการวิจัยและต่อยอดผลิตภัณฑ์รังนกแบรนด์ไทย ด้วยชื่อชั้นสินค้าและความเชื่อใจในคุณภาพที่ชาวจีนมีให้แก่รังนกไทย การตีตลาดจีนคงไม่ใช่เรื่องยาก

นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนของไทยไม่ควร “นิ่งนอนใจ” และควรเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งของสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้น สินค้าเกษตรไทยก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งในไม่ช้า ผู้ประกอบการไทยควรสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรอยู่เสมอเพื่อรุกตลาดจีน (รุกก่อนย่อมได้เปรียบ) ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง มีความต้องการสินค้าคุณภาพและแปลกใหม่เหนือสินค้าท้องถิ่น เพื่อตอกย้ำคุณภาพ Made in Thailand และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ Local Best, Global Taste ของประเทศไทย

 

**********************

thaibiz_editor

thaibiz_editor

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

Print

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม