โอกาสไทยจากกระแสการบริโภคสินค้าตามอารมณ์ (Emotional consumption)” ของจีน
5 Sep 2024ในปัจจุบันเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการบริโภคใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ความนิยมของสินค้ากล่องสุ่ม (Mystery Box) สินค้าจากยี่ห้อข่าโหยว (Ka you) ประเภทของสะสมจากการ์ตูนและแอนิเมชั่นที่เป็นที่นิยม หรือแม้กระทั่งเทรนด์การแต่งตัวแบบใหม่ เช่น การตามโดพามีน (Dopamine dressing) เป็นแนวคิดการแต่งกายที่เน้นเรื่องความสุขเป็นสำคัญ เช่น การแต่งกายเพื่อให้เกิดความพึงพอใจหรือรู้สึกดีกับตนเอง หรือการสวมใส่เสื้อผ้าสีต่าง ๆ ที่สะท้อนอารมณ์ของผู้สวมใส่ในวันนั้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเทรนด์การท่องเที่ยววัดและการเดินเที่ยวชมภูมิทัศน์ในเมืองโดยแต่งกายแบบย้อนยุคด้วย นอกจากนั้น ชาวจีนยุคใหม่ยังหันมาสนใจกับการ “จับจ่ายใช้สอยเพื่อแลกความสุข (花小钱,买开心)” “ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข (活得开心)” มากยิ่งขึ้น เกิดเป็นกระแสการบริโภคสินค้าตามอารมณ์ (Emotional consumption)ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่เพียงเลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงคุณภาพและราคาเป็นหลัก แต่ยังคำนึงถึงการเลือกซื้อ เพื่อตอบสนองคุณค่าทางจิตใจของตนเองด้วย จากรายงานสุขภาพจิตของประชากรจีนระหว่างปี 2565 – 2566 ของสถาบันวิจัยจิตวิทยาของจีนพบว่า ค่าเฉลี่ยของความเครียดจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงอายุ 18 – 34 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย อาทิ ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน เป็นต้น ทำให้กลุ่มผู้บริโภคในช่วงวัยดังกล่าวเริ่มหาวิธีการผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสมกับตัวเอง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท Mckinsey & Company ที่ปรึกษาธุรกิจชื่อดังของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานแบบสำรวจแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนในปี 2567 จากร้านค้าในแอปพลิเคชัน เถาเป่า (淘宝) ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ร้อยละ 64 ของจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น เป็นการเลือกบริโภคสินค้าตามอารมณ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เทรนด์การบริโภคตามอารมณ์ มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มความสุขทางใจด้วย
“สินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางอารมณ์ (情绪商品)” เช่น สเปรย์โชคดี (好运喷雾) โดยแม้จะเป็นเพียงสเปรย์ทำความสะอาดเสื้อผ้า แต่ใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เป็นสินค้ามงคลโดยเน้นการใช้กลิ่นที่หอมสดชื่น สร้างความมั่นใจและความรู้สึกพร้อมรับต่อโชคดีที่จะเกิดขึ้น หรือสินค้าใบมะพร้าวแบบไร้ดิน เนื่องจากคำว่ามะพร้าว (แยจื่อ椰子) ในภาษาจีน พล้องเสียงกับคำว่า “ยั่วหลายยั่วห่าว 越(椰)来越(椰)好” ที่มีความหมายว่า “นับวันยิ่งดีขึ้นเรื่อย ๆ” และสินค้าประเภทลอตเตอรี่ หรือสินค้าเสี่ยงโชค ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 จำนวนการค้นหาสินค้าดังกล่าวบนแพลตฟอร์ม T mall เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 125 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของจีน (China Internet Network Information Center : CNNIC) เผยว่า ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2567 มีผู้บริโภคชาวจีนสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรวมกว่า 9 ร้อยล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นและวัยทำงานที่นิยมใช้ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก
มณฑลฝูเจี้ยน ผู้ประกอบการในมณฑลฝูเจี้ยนนำกลยุทธ์การตลาดซึ่งเน้นการกระตุ้นอารมณ์ผู้บริโภคมาปรับใช้เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีความเชื่อเรื่องความสุขทางใจและโชคลางมากยิ่งขึ้น เช่น บริษัท Fujian Zhangzhou Pinpinxian E – Commerce บริษัทขายผลไม้บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งได้ประเมินตลาดผู้บริโภคในมณฑล ฝูเจี้ยนพบว่า ผู้บริโภควัยรุ่นและวัยทำงานในปัจจุบันมีความกดดันและความเครียดที่สูง บริษัทฯ จึงใช้กลยุทธ์ติดป้ายภาษาจีนคำว่า “จิ๋นจื้อเจียวลู่ (禁止焦(蕉)虑) หมายความว่า “ไม่ต้องกังวล” โดยเล่นคำพ้องเสียงภาษาจีนคือ “เซียงเจียว香蕉” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “เจียวลู่ 焦虑 ที่แปลว่า ความวิตกกังวล” ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าหากได้รับประทานจะช่วยคลายความวิตกกังวลลงได้ ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า ในสองไตรมาสแรกของปี 2567 การวางจำหน่ายสินค้าดังกล่าวบนเว็บไซต์ T mall สร้างรายได้รวมกว่า 2 ล้านหยวน
ในช่วงสองไตรมาสของปี 2567 มีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าจิ๋นจื้อเจียวลู่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 368 ครั้งต่อวันและในเว็บไซต์ T mall มียอดขายสะสมเกิน 1 ล้านชิ้นและยังเป็นสินค้าขายดีอันดับ 1
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ฝูเจี้ยนมีการนำกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น[1]ควบคู่กับการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนที่ผ่านมานครฝูโจวมีการจัดงานประเพณีแห่เทพซื่อจื่อเทียนถวน shi zi tian tuan (世子天团)[2] ซึ่งกลายเป็นกระแสอย่างมากบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีจำนวนการตั้งหัวข้อเกี่ยวกับ “ประเพณีแห่เทพของมณฑลฝูเจี้ยน” มากถึง 258 หัวข้อ และมีจำนวนการดูคลิปทะลุ 3 พันล้านครั้งบนแอปพลิเคชัน Douyin
จากสถิติบริษัท Tencent ระบุว่า ในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนที่ผ่านมานครฝูโจวมณฑลฝูเจี้ยน มีจำนวนคนเดินทางเข้านครฝูโจวมากเป็นอันดับ 1 ของจีน และสถิติจากกรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของนครฝูโจวระบุในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนมีจำนวนคนเดินทางเข้าเมืองราว 6.2 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 5.6 พันล้านหยวน
การรังสรรค์รูปลักษณ์ใหม่ของเทพเจ้าซื่อจื่อเทียนถวนที่ใกล้เคียงกับเทพเจ้าจากนิยายจีน รวมกับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของนครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยนมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก : สถิติข้อมูลบริษัท Tencentสถิติการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนภายในประเทศในช่วงวันตรุษจีน ปี 2567 ระบุว่า ในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนที่ผ่านมานครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน มีจำนวนคนเดินทางเข้าเมืองสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน
ศูนย์ BIC เล็งเห็นว่า กระแสการบริโภคตามอารมณ์ของผู้บริโภคชาวจีนกำลังได้รับความนิยมสูง และมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการจีนในปัจจุบันเร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการตอบสนองความสุขทางใจ และรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ต่อกลุ่มเป้าหมายเทรนด์ใหม่เหล่านี้ ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในการคิดค้นกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่และขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่จีนมากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อพิจารณากระแสการบริโภคสินค้าตามอารมณ์หรือเน้นความสุขทางใจเป็นหลัก ตลอดจนการจับโยงกลยุทธ์การตลาดกับความเชื่อของแต่ละบุคคลนั้น ไทยสามารถนำกลยุทธ์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของไทย อาทิ ผลไม้ไทยหรือผลไม้แปรรูป ข้าวไทย สินค้าเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาอย่างผ้ายันต์และพระเครื่อง ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มนักธุรกิจหรือนักสะสมจีน สินค้าแปรรูปหรือสินค้า OTOP ของไทย รวมถึงสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างรังนกไทย[3] ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามแนวโน้มตลาดจีนและให้ความสำคัญกับ การพัฒนาคุณภาพ เพิ่มมูลค่าของสินค้าผ่านบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม รวมถึงการทำการตลาดในช่องทางออนไลน์ของจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนได้
* * * * * *
แหล่งที่มา
https://fjrb.fjdaily.com/pc/con/202406/15/content_374385.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1801888809001871865&wfr=spider&for=pc
https://sghexport.shobserver.com/html/baijiahao/2024/05/30/1337249.html
https://h5.cqliving.com/info/detail/99493447.html?cid=99493447&cqxhlwdc=3f
https://finance.eastmoney.com/a/202405303091219618.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1787237653826018608&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1794755621906133844&wfr=spider&for=pc
https://blog.csdn.net/youwangshuju/article/details/136632595
https://m.163.com/dy/article/J4UQPI860514R9L4.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1803344524538703809&wfr=spider&for=pc
[1] ชาวฝูเจี้ยนมีวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังเหนือธรรมชาติ และได้รับอิทธิของศาสนาพุทธอยู่มาก เช่น เมืองฝูโจว ได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองแห่งศาสนาพุทธทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน”
[2] การแห่เทพพจ้าเทวรูป 5 องค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ คู่ครองและลูกหลานบริวาร
[3] โดยในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2567 CNNIC เผยว่า สินค้าเพื่อสุขภาพได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค Gen X ที่มีอัตราการซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสูงถึงร้อยละ 69.8 ของกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งหมด