ชี้โอกาสสินค้าไทยสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross border e-Commerce
5 Mar 2021ชี้โอกาสสินค้าไทยสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross border e-Commerce
ผ่านบทสัมภาษณ์คุณเทพรัตน์ฯ บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจ/บริการด้านตัวแทนนำเข้าจีน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
BIC มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณเทพรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์ จากบริษัท เรดซิลค์ เอเชีย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจ/บริการตัวแทนนำเข้าจีนและโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้าไทยสู่ช่องทางค้าปลีกในจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้
คุณเทพรัตน์ฯ ได้แชร์ประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า…ช่องทาง CBEC เป็นการตัดตัวแทนสินค้าใน supply chain เป็นการกระจายสินค้าตรงจากผู้ส่งออกในต่างประเทศสู่ผู้บริโภคในจีน ซึ่งช่วยเพิ่มกำไรต่อชิ้นสินค้าให้มากขึ้น
ที่สำคัญ…ช่วยลดความยุ่งยากในการ “ฝ่าด่านอรหันต์” เรื่องกระบวนการจดแจ้งและขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่มีอยู่ร้อยแปดประการ เช่น การจดแจ้ง อย. จีน การขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า การทำฉลากสินค้าภาษาจีน ซึ่งการนำเข้าผ่านช่องทางปกติจำเป็นต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนการนำเข้า เสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารเสริม เครื่องสำอาง สินค้าออร์แกนิก ที่การนำเข้าปกติมีระเบียบข้อกำหนดการนำเข้าและมาตรการด้านความปลอดภัยของสินค้าที่เข้มงวดมาก โดยผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าไปทดลองในตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องจดแจ้ง
สำหรับผู้เล่นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเจาะตลาดจีนและยังไม่มั่นใจว่าสินค้าของตนจะได้รับการตอบรับในตลาดจีนมากน้อยเพียงใด หรือสินค้า SKU (Stock Keeping Unit) ไหนที่ได้รับความนิยมมากกว่ากัน การ “ลองตลาด” บนแพลตฟอร์ม CBEC เป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย แถมยังช่วยปูทางในการขยายฐานลูกค้าในโลกออฟไลน์ในร้านค้าทั่วไปต่อไปได้อีกด้วย เมื่อสินค้านั้นได้รับการยอมรับในโลกออนไลน์แล้ว
กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ผู้นำเข้าสินค้าจีนมักเลือกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมอยู่ก่อนแล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดี เนื่องจากสินค้าที่ได้รับการยอมรับแล้วในตลาดมีโอกาสที่ผู้นำเข้าจีนจะพิจารณาตัดสินใจเลือกมาจำหน่ายต่อไป
ตัวอย่างแบรนด์สินค้าไทยที่ประสบความสำเร็จจากช่องทาง CBEC บนแพลตฟอร์ม Tmall Global ในจีน เช่น เครื่องสำอาง Mistine, Snailwhite, Beauty Buffet และ Beauty Cottage รังนก Scotch, Dokbuakoo และ Bonback โฟมล้างหน้า Smooth-E หมอนยางพารา Napattiga น้ำมันหอมระเหย Sabai-arom และ Harnn ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว Bath & Bloom และสินค้าอุปโภคบริโภค Tops และ King Power
คุณเทพรัตน์ฯ ยังได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อจำกัดของ CBEC ว่าเป็นการค้าแบบ B2C หรือเข้าใจง่ายๆ คือ การขายปลีกให้ผู้ซื้อที่เป็นบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ที่เชื่อมกับระบบการจัดเก็บภาษีของศุลกากรจีนและคลังสินค้าทัณฑ์บนทั้งในประเทศจีนและนอกประเทศจีน โดยสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทาง CBEC ไม่สามารถนำไปซื้อขายในช่องทางออนไลน์ปกติและช่องทางออฟไลน์ได้
นอกจากนี้ การเลือกใช้แพลตฟอร์ม CBEC ที่เหมาะและคุ้มค่ากับสินค้า เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน ควรเข้าใจการทำงานของแต่ละแพลตฟอร์ม เนื่องจากมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการนำสินค้าเข้าแพลตฟอร์ม เครื่องมือในการสร้าง traffic ของยอดขาย และกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน รวมถึงงบประมาณของธุรกิจตนเองด้วย
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนการจำหน่ายสินค้าให้มีประสิทธิภาพและคุ้มกับค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งและโลจิสติกส์จากประเทศต้นทางไปคลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน ค่าใช้จ่ายในคลังสินค้าทัณฑ์บน (pick-pack-send) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนรายชิ้น ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์ม CBEC รวมถึงค่าขนส่งจากคลังไปยังผู้รับปลายทาง
สรุปได้ว่า…สินค้าที่จำหน่ายบน CBEC ควรเป็นสินค้าที่มีส่วนต่างกำไรต่อชิ้นสูงเพื่อให้คุ้มต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมที่เกิดขึ้น ได้แก่ เครื่องสำอาง อาหารเสริม สินค้าออร์แกนิก สินค้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก สินค้าแบรนด์เนม สินค้าแฟชั่น สินค้าฟุ่มเฟือย
จากประสบการณ์ของคุณเทพรัตน์ฯ พบว่า สินค้า best seller ที่ทำกำไรได้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากตัวสินค้าจะต้องมีจุดขายที่ชัดเจนแล้ว การสร้าง brand identity ให้ติดตลาดออนไลน์จีนเป็น mission possible ของเจ้าของสินค้า โดยสื่อออนไลน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (brand awareness) แถมช่วยกระตุ้นยอดขายได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในสมรภูมิการค้า CBEC ในจีน คือ การสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย รวมถึงลิขสิทธิ์แบรนด์ การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเหนือคู่แข่ง (เน้นคุณภาพ) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเจาะตลาดอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการทำ content marketing และเทคนิคการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม social commerce รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการและแผนการตลาดเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
การสร้างและรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการกำหนดตลาดเป้าหมายที่ชัดเจน การวางกลยุทธ์/เทคนิคด้านการตลาดที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (สามารถใช้ประโยชน์จาก Big Data Analytic) โดยเฉพาะ “สงครามราคา” ซึ่งผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาออนไลน์ได้ง่าย การบริหารต้นทุนกับทักษะด้านการตลาดเป็นตัวชี้ชะตาของธุรกิจว่า… คุณจะได้ไปต่อหรือไม่
นอกจากนี้ ต้องมีการสื่อสารทางการตลาดที่ชัดเจน ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และหาทางเข้าใจวิธีคิดของคนจีน ท้ายสุด คือ การเลือกใช้เครื่องมือการตลาดที่เหมาะสม เพื่อการสื่อสารที่ตรงจุดไปยังกลุ่มคนที่มีโอกาสซื้อสินค้า ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่ทานยาก การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้น การหมั่นศึกษากรณีตัวอย่างความสำเร็จของสินค้าอื่นๆ และนำมาปรับประยุกต์ใช้และพัฒนาธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สินค้าไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในจีนที่ยั่งยืน
หวังว่า บทความนี้จะ “จุดประกาย” ผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาลู่ทางเจาะตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะ “โอกาส” มีไว้สำหรับผู้ที่พร้อมเสมอ….
*******************