โมเดลรัฐร่วมเอกชน: กุ้ยโจวดึงจุดแข็งทรัพยากรท้องถิ่นดึงคนพ้นความยากจน (ตอนที่ 2)
10 Jan 2020โดยที่ประชากรกว่า 1 ใน 3 ของมณฑลกุ้ยโจวเป็นคนยากจน จึงส่งผลให้การดำเนินงานด้านการลดความยากจนของรัฐบาลกุ้ยโจวเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากต้องลดคนยากจนจำนวนมากในระยะเวลาที่จำกัดเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการสร้าง “สังคมอยู่ดีกินดี” ภายในปี 2563 ตามที่รัฐบาลกลางจีนกำหนด ทั้งนี้ ในแต่ละปี รัฐบาลจีนจะอนุมัติกองทุนลดความยากจนสำหรับกุ้ยโจวราว 300,000 ล้านหยวน โดยมณฑลจัดสรรนำไปใช้ในการพัฒนาหลากหลายด้าน ได้แก่ (1) การเกษตร เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างระบบประปา ไฟฟ้า ถนน ที่อยู่อาศัย และการสื่อสาร (3) การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น การแพทย์ ระบบประกันสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านการศึกษาด้วยการริเริ่มโครงการเรียนฟรีภาคบังคับ 9 ปี รวมทั้งการจัดสรรทุนสำหรับนักศึกษายากจนทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และ (4) การเพิ่มการจ้างงานด้วยการจัดทำโครงการฝึกอบรมและฝึกทักษะอาชีพแก่คนยากจน
นอกเหนือจากโมเดลรัฐร่วมเอกชนที่พัฒนาการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมอย่างกรณีผลิตภัณฑ์น้ำชื่อหลีแล้ว รัฐบาลกุ้ยโจวยังผลักดันและดึงดูดนักลงทุนจากภายนอกมาเข้าร่วมโครงการลดความยากจนผ่านแนวคิด “หนึ่งอำเภอ หนึ่งอุตสาหกรรม” อีกด้วย โดยหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตกีตาร์ในอำเภอเจิ้งอาน
จับมือเอกชน ใช้กลยุทธ์ “ธุรกิจนำธุรกิจ”
อำเภอเจิ้งอานเป็นอำเภอเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในหุบเขาทางตอนเหนือของมณฑลกุ้ยโจว ถือเป็น 1 ใน 14 อำเภอของกุ้ยโจวที่มีความยากจนอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ในปี 2556 เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในเมือง เมื่อนักลงทุนกลุ่มหนึ่งเดินทางกลับมาบ้านเกิดและตั้งโรงงานผลิตกีตาร์ โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนโดยมอบสิทธิพิเศษแก่นักลงทุนกลุ่มนี้ อาทิ การงดเว้นค่าเช่า 3 ปีแรกและจ่ายค่าเช่าครึ่งหนึ่งในช่วง 2 ปีต่อมา นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้โรงงานผลิตกีตาร์เหล่านี้รับคนยากจนเข้าทำงาน พร้อมทั้งมอบเงินอุดหนุนสำหรับคนยากจนที่เข้าไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมกีตาร์ด้วย โดยรัฐบาลท้องถิ่นจะมอบเงินอุดหนุนจำนวน 2,000 หยวนให้แก่คนยากจนที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมฯ ครบ 1 ปี ที่สำคัญ รัฐบาลเจิ้งอานยังพัฒนากลยุทธ์ “ธุรกิจนำธุรกิจ” ด้วยการก่อตั้งธุรกิจแกนนำคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลธุรกิจสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งการสร้างรุ่นพี่รุ่นน้องในการประกอบธุรกิจเช่นนี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตกีตาร์ของอำเภอเจิ้งอานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมกีตาร์อำเภอเจิ้งอานก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 โดยโรงงานผลิตกีตาร์แห่งแรกเป็นของนายเจิ้ง ฉวนเสียงและนายเจิ้ง ฉวนจิ่ว สองพี่น้องชาวเจิ้งอานที่เคยเป็นพนักงานโรงงานผลิตกีตาร์ในนครกว่างโจวจนมีความเชี่ยวชาญและหันมาเปิดโรงงานของตนเอง โดยทั้งสองตอบรับคำเชิญของรัฐบาลอำเภอเจิ้งอานให้ย้ายฐานการผลิตมาที่บ้านเกิด และหลังจากการลงทุนของสองพี่น้องตระกูลเจิ้ง ก็มีผู้ผลิตกีตาร์จากมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง และไต้หวันทยอยเข้ามาเปิดโรงงานที่เจิ้งอาน สำหรับบริษัทกีตาร์ของพี่น้องตระกูลเจิ้งนั้น ปัจจุบัน มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและเป็นผู้ผลิตกีตาร์ให้กับแบรนด์ดังอย่าง Ibanez ของญี่ปุ่น Tagima ของบราซิล และ Fender ของสหรัฐฯ รวมทั้งสร้างแบรนด์ของตัวเอง เช่น 523 Glashutte และ Totofo นอกจากนี้ ยังส่งออกกีตาร์ไปจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น บราซิล สเปน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมนี
ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมกีตาร์นานาชาติเจิ้งอานมีพื้นที่ประมาณ 900 หมู่ (375 ไร่) มีบริษัทผลิตกีตาร์และชิ้นส่วนรวม 64 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัทรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์กีตาร์ชั้นนำ 10 อันดับแรกของโลก 6 บริษัท นอกจากนั้นยังมีแบรนด์อิสระกว่า 30 แบรนด์ เช่น Glashutte Benssica Sevinia Baikal และ Weibo สำหรับกีตาร์ที่ผลิตได้กว่าร้อยละ 60 ส่งออกไปทั่วโลกใน 30 ประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ อาเซียน และลาตินอเมริกา รวมถึงมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยนายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาเคยกล่าวชื่นชมกีตาร์ของอำเภอเจิ้งอานในงานมหกรรมอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้านานาชาติ (China International Big Data Industry Expo) ซึ่งจัดขึ้นที่นครกุ้ยหยางเมื่อปี 2560 ว่า กีตาร์ของอำเภอเจิ้งอานทำสถิติน่าทึ่งที่สามารถจำหน่ายได้ถึง 7,000 ตัวในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงของวันคนโสดหรือ “ซวงสืออี” (วันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน หรือ 11.11) ของจีน
จากการพัฒนาอุตสาหกรรมกีตาร์เพียงไม่กี่ปี อำเภอเจิ้งอานก็ได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งการผลิตกีตาร์ของจีน” โดยในปี 2561 นิคมอุตสาหกรรมกีตาร์เจิ้งอานผลิตกีตาร์จำนวน 6.02 ล้านตัว มีมูลค่าการผลิตคิดเป็น 6,000 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2562 จะผลิตได้กว่า 7 ล้านตัว มูลค่ารวมกว่า 7,000 ล้านหยวน ปัจจุบัน ภายในนิคมอุตสาหกรรมมีพนักงาน 14,178 คน ในจำนวนนี้เป็นคนยากจน 1,374 คน โดยแต่ละเดือนคนเหล่านี้จะมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อคนประมาณ 4,000 หยวน ส่งผลให้จนถึงขณะนี้มีชาวอำเภอเจิ้งอานหลุดพ้นจากความยากจนไปแล้ว 6,726 คน
ภายในปี 2563 รัฐบาลเจิ้งอานกำหนดเป้าหมายจะเพิ่มบริษัทกีตาร์ให้มีจำนวน 80 บริษัท สร้างมูลค่าการผลิต 8,000 ล้านหยวน และเพิ่มเป็น 15,000 ล้านหยวนหรืออีกเกือบเท่าตัวในปี 2568 นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านดนตรีระดับ 4A ของจีนที่ประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมกีตาร์ พิพิธภัณฑ์กีตาร์ สตูดิโอกีตาร์ และลานดนตรี
ใช้กีตาร์สร้างคุณค่าในชนบท
ปัจจุบันการผลิตกีตาร์ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของอำเภอเจิ้งอาน โดยกว่าครึ่งของนักลงทุนเป็นชาวท้องถิ่นที่เดินทางจากเมืองใหญ่กลับมาสร้างธุรกิจที่บ้านเกิด รวมถึงคนงานฝีมือดีกว่าร้อยละ 90 ก็เป็นแรงงานอพยพกลับถิ่น ดังนี้แล้ว อุตสาหกรรมกีตาร์ไม่เพียงสร้างงานให้แก่ชาวบ้านในอำเภอเจิ้งอานเท่านั้น หากแต่กำลังพัฒนาให้เจิ้งอานเป็นแหล่งบ่มเพาะความเชี่ยวชาญด้านการผลิตกีตาร์ชั้นยอดอีกด้วย
เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจของอุตสาหกรรมกีตาร์ ในพื้นที่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมกีตาร์รัฐบาลเจิ้งอานยังได้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนประถมและมัธยม ศูนย์อีคอมเมิร์ซ รวมถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เมื่อปี 2561 ได้เปิดการเรียนการสอนในภาควิชาการผลิตและซ่อมแซมเครื่องดนตรี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การซ่อมบำรุง และการเล่นกีตาร์ ปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 80 คน
อาจกล่าวได้ว่า อำเภอเจิ้งอานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเครื่องดนตรีของจีนก้าวหน้าไปอีกขั้น ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562 สมาคมเครื่องดนตรีแห่งประเทศจีน (China Musical Instrument Association: CMIA) เปิดเผยข้อมูลระหว่างการจัดงานมหกรรมดนตรีแห่งประเทศจีน (Music China Expo) ว่า อุตสาหกรรมเครื่องดนตรีของจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2561 จีนมีผู้ผลิตเครื่องดนตรีเกือบ 6,000 ราย และตลาดเครื่องดนตรีจีนมีมูลค่าถึง 47,000 ล้านหยวน นับเป็นตลาดเครื่องดนตรีที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และมีมูลค่าตลาดคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของตลาดโลก ขณะเดียวกัน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ตลาดการเรียนการสอนดนตรีของจีนก็เติบโตกว่าร้อยละ 10 และในช่วง 2 ปีหลังมีอัตราการเติบโตปีละเกือบร้อยละ 20
ความสำเร็จของอำเภอเจิ้งอานในการใช้โมเดล “รัฐร่วมเอกชน” เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างสรรค์บทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนขององคาพยพในท้องถิ่น กล่าวคือ ภาครัฐในฐานะผู้ดูแลกฎระเบียบก็พยายามเสริมสร้างและยกระดับสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในพื้นที่ซึ่งสามารถสร้างอาชีพและทักษะเฉพาะแก่คนในท้องถิ่นเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเช่นนี้ดึงดูดให้คนท้องถิ่นที่มีศักยภาพกลับมาช่วยพัฒนาท้องที่ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน เหล่านี้ เป็นเครื่องสะท้อนที่ชัดเจนว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถริเริ่มได้โดยคนท้องถิ่น เพียงแต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันดึงจุดเด่นของทรัพยากรที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์และต่อยอดเพิ่มพูนมูลค่าที่นำไปสู่ความยั่งยืน
********************
แหล่งข้อมูล
http://www.happyowlstudio-asia.com/xinwen/guoji/201910115317.html
http://www.xinhuanet.com/fortune/2018-10/13/c_129970558.htm
http://news.ifeng.com/c/7qJlGpWQtv6
http://www.chinanews.com/gn/2019/09-27/8967575.shtml
http://column.chinadaily.com.cn/a/201912/02/WS5de4c31ca31099ab995ef23b.html