แข่งขันเดือด!! มาเลเซียขนทุเรียน Musang King เปิดตลาดนครหนานหนิง(จีน)
9 Nov 2017
แข่งขันเดือด!! มาเลเซียขนทุเรียน Musang King เปิดตลาดนครหนานหนิง(จีน)
โดย…ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เมื่อวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ภาครัฐมาเลเซียร่วมมือกับรัฐบาลกว่างซีจัด “เทศกาลทุเรียนมาเลเซีย 2017” (Malaysia Durian Festival 2017)ที่บริเวณด้านหน้าของ HangYang Shopping Mall (会展·航洋城) นครหนานหนิง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานอย่างล้นหลาม
ตามรายงาน งานดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรที่มี “ทุเรียน” เป็นพระเอกของงาน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่พ่วงกับผลไม้พระรองอีก 2 ชนิด คือ สับปะรด และขนุน โดยฝ่ายมาเลเซียนำทัพผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลไม้นานาชนิดเข้าร่วมกว่า 30 ราย มีสินค้ามากกว่า 200 รายการ ที่นำเข้ามาทดลองตลาด(จีน)
พิธีเปิดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560โดยมีนาย Ahmad Shabery Cheek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรและนายจาง เสี่ยวชิน (Zhang Xiaoqin/ 张晓钦) รองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นประธานในพิธีฯ
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงความเป็นที่รู้จักและภาพลักษณ์ของผลไม้มาเลเซียในตลาดจีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรของสองประเทศซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลจีนกับมาเลเซียในเรื่องการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการขยายเส้นทางการค้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
เทศกาลทุเรียนมาเลเซีย 2017 เป็นข้อริเริ่มของสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ณ กรุงปักกิ่ง สถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย ณ นครหนานหนิง และกรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง
นัยสำคัญต่อประเทศไทย และต่อ “ทุเรียนไทย”
1. ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลจีนกับมาเลเซีย
ทางการจีนโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (AQSIQ) อนุมัติให้รัฐบาลมาเลเซียส่งออกทุเรียนแช่เย็น(ทั้งลูก)มายังจีนเป็นกรณีพิเศษเพื่อเข้าร่วมเทศกาลทุเรียนในนครหนานหนิงโดยถือเป็นการส่งออกทุเรียนทั้งลูกของมาเลเซียมายังจีนครั้งแรกเพราะที่ผ่านมา ทางการจีนอนุญาตให้เฉพาะทุเรียนแช่เย็นแบบแกะเปลือกจากมาเลเซียเท่านั้น[1]
|
งานเทศกาลทุเรียนครั้งนี้มาเลเซียได้ส่งทุเรียนMusang Kingรวมกว่า 2,000 ลูกเพื่อเข้าร่วมงานในนครหนานหนิง ซึ่งทุเรียนพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปมาเลเซียที่ผ่านมาทุเรียนMusang Kingเกรดพรีเมียมที่ขายในมาเลเซียมีราคากิโลกรัมละ130 ริงกิต หรือราวหนึ่งพันบาทซึ่งเป็นราคาที่สูงขึ้นจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 50 ริงกิตหรือประมาณ 385 บาท
การยกเว้นสิทธิสำหรับทุเรียนทั้งลูกจากมาเลเซียเป็นกรณีพิเศษในการนำเข้าเพื่อร่วมงานเทศกาลทุเรียนที่นครหนานหนิงครั้งนี้เป็นเพียง “น้ำจิ้ม”ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเป็นพิเศษของรัฐบาลสองฝ่าย ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่น
หลักฐานที่สามารถยืนยันถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของรัฐบาลจีนกับมาเลเซียคือการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม(แห่งชาติ)พี่น้อง” และ “ท่าเรือพี่น้อง” (Sister port) ระหว่างเมืองชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วงกับเมือง Kuantan ของมาเลเซีย ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน มาเลเซียเป็นประเทศเป้าหมายด้านการลงทุนในต่างประเทศของกว่างซี ธุรกิจกว่างซีที่ลงทุนอยู่ในมาเลเซียมีอยู่ 29 ราย การลงทุนตามสัญญามีมูลค่ารวม 1,550 ล้านดอลาร์สหรัฐ ขณะที่มาเลเซียมีโครงการลงทุนใหม่ในกว่างซี 139 โครงการ เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศตามสัญญา 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศอยู่ที่ 299 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. ส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนไทย
ปัจจุบัน มีเพียงไทยและมาเลเซียที่รัฐบาลจีนอนุญาตการส่งออกทุเรียนมายังตลาดจีนแบบถูกกฎหมาย โดยมาเลเซียได้รับอนุญาตเฉพาะทุเรียนแกะเปลือกในลักษณะของเนื้อทุเรียนพร้อมเม็ด และแบบเนื้อทุเรียนเท่านั้น ขณะที่ไทยสามารถส่งออกทุเรียนสดเข้ามายังจีนได้ (คู่แข่งทุเรียนไทยยังไม่รวมถึงทุเรียนเวียดนามที่มีการทะลักเข้ามาตามด่านการค้าชายแดนกว่างซี-เวียดนามอีกด้วย)
นอกจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบแล้ว การที่ทุเรียน Musang King หรือ “เมาซานหวาง” ของมาเลเซียต้องเก็บเกี่ยวในช่วงที่สุกคาต้นทำให้การส่งออกไปต่างประเทศทำได้ยาก เนื่องจากต้องประสบปัญหาเน่าเสียได้ง่ายซึ่งต่างจากทุเรียนไทยที่เก็บเกี่ยวตอนที่ยังไม่สุกมากนัก
อย่างไรก็ดี มาเลเซียได้มีเทคโนโลยีควบคุมความสดตลอดการขนส่งด้วยการแช่แข็งผลทุเรียนอย่างรวดเร็ว (ใช้เวลาเพียง 10 นาที) ทำให้เปลือกนอกของผลทุเรียนมีเกล็ดหิมะปกคลุม จึงเป็นที่มาของเทคนิคที่เรียกว่า”snowflake Musang King“ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยให้ทุเรียน Musang King ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการเก็บเกี่ยวและยังช่วยรักษารสชาติความสดของเนื้อทุเรียนด้วย
การจัดงานในครั้งนี้ ฝ่ายผู้จัดจึงมีการจัดโซน “ชิมฟรี” ไว้เฉพาะเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของทุเรียน Musang King ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ) โดยทุเรียนทุกลูกจะต้องแกะและรับประทานภายในโซนนี้เท่านั้น (ไม่อนุญาตให้ขายในงาน) ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นไปตามหลักประติบัติต่างตอบแทน ฝ่ายกว่างซีก็มีแผนที่จะไปจัดงานเทศกาลลิ้นจี่ของกว่างซีในมาเลเซียในโอกาสต่อไปด้วย
|
ต้องขอชื่นชมไอเดีย…การแลกสิทธิ “ชิมฟรี” ที่ทีมงานเขาคิดมาจริง ๆ มีการแจกสมุด stamp ให้ผู้เข้าร่วมงานไปเก็บ RC (เป็นตราปั๊มน่ารัก ๆ) จากบูธร้านค้าภายในงานฯ ให้ครบเพื่อแลกสิทธิการเข้าโซนชิมทุเรียน Musang King สับปะรด และขนุนมาเลเซีย ทำให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมและเดินชิมช็อปภายในงานฯ ได้อย่างทั่วถึง
BIC ตั้งข้อสังเกตว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการกรุยทางสำหรับ “ทุเรียนสด”ของมาเลเซียในอนาคต ซึ่งทางการมาเลเซียกำลังเร่งผลักดันหารือกับรัฐบาลจีนเพื่อเปิดทางการส่งออกทุเรียนสดมายังตลาดจีนหากการส่งออกทุเรียนสดมาเลเซียมายังจีนเกิดขึ้นจริงอาจมากินส่วนแบ่งการส่งออกทุเรียนไทยที่ครองตลาดใหญ่ในจีนมาโดยตลอด
ปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะเป็น “ผู้เล่น”ที่ผูกขาดการส่งออกทุเรียนในตลาดจีน(และโลก)แต่ทุกวันนี้ การรักษาภาพลักษณ์และคุณภาพของทุเรียนไทยให้สม่ำเสมอในสายตาผู้บริโภคชาวจีนเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขบคิดโดยเฉพาะปัญหาการตัดผลทุเรียนอ่อนรวมถึงการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกนอกฤดูกาลเพื่อให้ได้ผลผลิตและสามารถส่งออกทุเรียนได้ตลอดปีซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย
3. การขยายช่องทางการค้าและการพัฒนาสินค้าแปรรูป
นอกจากการเสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ “ทุเรียน Musang King” ในตลาดจีนแล้ว เทศกาลทุเรียนมาเลเซีย 2017 ที่จัดขึ้นนี้ถือเป็น platform ทางธุรกิจที่ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการมาเลเซียในการนำสินค้ามาทดลองตลาด เพื่อหยั่งเสียงตอบรับของผู้บริโภคในตลาดจีน และเป็น platform จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ค้าสองประเทศ ซึ่งนับเป็นผลลัพธ์ความสำเร็จในระยะยาว
|
สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีความหลากหลาย และได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมงานอย่างล้มหลาม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อทุเรียนแกะเปลือกแช่แข็ง ทุเรียนและขนุนอบแห้งผ่านกรรมวิธี dehydrated เฟรนช์ฟรายทุเรียนกรอบ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของทุเรียน (กาแฟรสทุเรียน น้ำเต้าหู้รสทุเรียน เหล้าทุเรียน) รวมถึงขนมหวาน/ของว่าง (บิสกิตรสทุเรียน เครปเค้กเนื้อทุเรียน ขนมไหว้พระจันทร์เนื้อโมจิไส้ทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ขนมโมจิไส้ทุเรียน)
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้ประกอบการมาเลเซียมีความเข้าใจในวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน ซึ่งนำมาใช้พัฒนาสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคหรือความนิยมชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน เหตุผลส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า…ความเข้าใจข้างต้นเป็นผลมาจากการที่สองประเทศมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน (ชาวจีนมาเลย์ยังคงรักษาภาษาและวัฒนธรรมเดิมแบบจีน)
ผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายตั้งใจเดินทางมาเข้าร่วมเทศกาลทุเรียนมาเลเซียที่จัดขึ้นในนครหนานหนิง เนื่องจากทราบข่าวว่าภายในงานฯ มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เปิดเวทีให้ผู้ขายมาเลย์พบผู้ซื้อชาวจีนเพื่อเจรจาธุรกิจการค้าร่วมกันอย่างคุณหู เยี่ยน (Hu Yan/胡燕) ผู้ค้าอาหารนำเข้าจากอาเซียนที่ตั้งใจมางานนี้ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายกาแฟและน้ำเต้าหู้กลิ่นทุเรียน ส่วนผู้ค้าฝั่งมาเลเซียแสดงความพึงพอใจอย่างมากในการเข้าร่วมงานครั้งนี้ โดยต่างเห็นพ้องว่างานดังกล่าวช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคธุรกิจได้จริง
4. บทบาทของกว่างซีในการเป็นฐานการนำเข้าและกระจายผลไม้
ในภาพรวม การที่เขตฯ กว่างซีจ้วงได้รับการกำหนดยุทธศาสตร์เป็น Gateway to ASEAN นอกจากการมีทำเลที่ตั้งใกล้กับอาเซียนแล้ว กว่างซีถือเป็นมณฑลที่มีความเชื่อมโยงกับอาเซียนในทุกมิติ โดยเฉพาะการขนส่งและโลจิสติกส์
ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นท่าเรือของจีนที่มีระยะทางใกล้อาเซียนมากที่สุด โดย “ท่าเรือชินโจว” (Qinzhou Port) เป็นท่าเรือศูนย์กลาง ท่าเรือแห่งนี้ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ กอปรกับความใกล้ชิดของเมืองชินโจวกับมาเลเซีย ดังนั้น ทุเรียน Musang King จากมาเลเซียที่นำมาให้ผู้บริโภคได้ทดลองชิมฟรีในงานเทศกาลทุเรียนครั้งนี้ ทั้งหมดนำเข้าผ่านด่านท่าเรือชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง
ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลกลางที่อนุมัติสิทธิการนำเข้าผลไม้ให้กับด่าน 7 แห่ง [2]ของกว่างซี (ยังไม่รวมด่านชายแดนอีกหลายแห่ง) กล่าวได้ว่า กว่างซีมีความชัดเจนในบทบาทของการเป็นฐานการนำเข้าและกระจายผลไม้อาเซียน
นอกจากนี้ กว่างซีมีการพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ (โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์เครื่องมือ การเปิด Fast Track Lane) และซอฟท์แวร์ (ขั้นตอนพิธีการศุลกากร งานตรวจสอบและกักกันโรค) ให้มีความพร้อมอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกการนำเข้าส่งออกผลไม้กับต่างประเทศ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กว่างซีมองไกลไปถึงการพัฒนา “ระบบห่วงความเย็น” (Cold Chain)สำหรับการขนส่งผลไม้จากแหล่งเพาะปลูกในอาเซียนผ่านท่าเรือชินโจวของกว่างซีเพื่อเข้าไปยังพื้นที่จีนตอนใน โดยการต่อยอดจากเส้นทาง “อวี๋(นครฉงชิ่ง) – กุ้ย (กว่างซี) –ซิน (สิงคโปร์)” ซึ่งกว่างซีได้กรุยทางไว้แล้วก่อนหน้านี้
บทสรุป
การดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและภาคเอกชนมาเลเซียในการผลักดันธุรกิจส่งออกทุเรียนและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนนับเป็นความท้าทายต่อการผูกขาดของทุเรียนไทยในตลาดจีน หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณ(คุกคาม)ว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ ของไทยอาจถูกชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคต ดังนั้น การดำเนินการเชิงรุก ทั้งการรักษาความนิยมและการพัฒนาคุณภาพนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับไทยในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและการขยายฐานการส่งออกในตลาดจีนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
ปัจจุบัน ผลไม้ไทยที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวจีนมีเพียงไม่กี่ชนิด โดยทุเรียน มังคุด และลำไยเป็นผลไม้ตัวหลัก ๆ ที่มีการส่งออกมายังจีน (จากทั้งหมด 23 ชนิดที่ทางการจีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศไทย) โดยยังมีผลไม้ไทยอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพในการแข่งขันและมีโอกาสขยายการส่งออกได้
ทุกภาคส่วนของไทยจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรักษาที่มั่นของตลาดผลไม้ตัวหลัก พร้อมนำผลไม้ตัวใหม่ ๆ มารุกตลาดจีน (รุกก่อนได้ก่อน) เพื่อสร้างแต้มต่อให้ผลไม้ไทยในสายตาผู้บริโภคชาวจีน สร้างแบรนด์ Made in Thailand เพื่อตอกย้ำคุณภาพเหนือคู่แข่ง
นอกจากผลไม้สดที่มีศักยภาพแล้ว ผลิตภัณฑ์แปรรูปก็มีโอกาสเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญ คือ การศึกษาตลาด/พฤติกรรมผู้บริโภค (ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการนำสินค้ามาทดลองตลาดผ่านงานแสดงสินค้า) เพื่อนำมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคให้มากที่สุด รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการขนส่งผลไม้และสินค้าแปรรูปให้ได้คุณภาพสูงสุด
แม้ว่าปัจจุบัน ทุเรียนไทยยังครองตลาดจีนได้อย่างเหนียวแน่นเกือบทั้งหมดของการนำเข้าเช่นเดียวกับผลไม้ไทยอื่น ๆ แต่หากประเทศอื่นสามารถผลิตผลไม้ได้ตรงกับความต้องการบริโภคของจีนได้มากขึ้นตามการเปิดตลาดของจีนเพื่อสนองตอบการบริโภคในประเทศ ก็เป็นไปได้ว่าส่วนแบ่งของตลาดผลไม้ไทยอาจจะถูกคู่แข่งแย่งไปได้
————————————————————-
[1] เมื่อเดือน พ.ค.2554ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า เดินทางเยือนมาเลเซีย ได้มีการร่วมลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซีย โดยเห็นชอบให้อนุมัติการนำเข้าทุเรียนแช่เย็นจากมาเลเซียอย่างไรก็ดี ข้อมูลการค้าของสหประชาชาติประเมินว่าทุเรียนส่งออกของไทยมายังจีนคิดเป็น 99% ของทุเรียนทั้งหมด
[2] ด่าน 7 แห่งของกว่างซี แบ่งเป็นด่านทางบก 4 แห่ง (ผ่านเส้นทาง R9 ที่ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านหลงปัง ด่านตงซิง และด่านสุยโข่ว) ด่านทางทะเล 2 แห่ง (สู่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีที่ด่านชินโจวและด่านฝางเฉิงก่าง) และด่านทางอากาศ 1 แห่ง (ที่สนามบินนานาชาติเหลี่ยงเจียงเมืองกุ้ยหลิน)