เหล้าขาวจีนราคาดีดแรง คนรุ่นใหม่นิยมไวน์
27 Dec 2019สุราขาวหรือ “ไป๋จิ่ว” เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นจีนที่กลั่นจากข้าวฟ่างหมัก เดิมเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงเนื่องจากคนจีนนิยมดื่มสุราบนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าในโอกาสเฉลิมฉลองหรือต้อนรับแขก แต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่รัฐบาลจีนมีนโยบายปราบปรามคอร์รัปชัน กอปรกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้สุราขาวหลายยี่ห้อประสบปัญหายอดขายตกต่ำ เมื่อสบโอกาสช่วงเวลาการเฉลิมฉลองยาวตั้งแต่เทศกาลคริสต์มาสในเดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงวันปีใหม่ 2563 และเทศกาลตรุษจีนในครึ่งหลังของเดือนมกราคม 2563 สุราขาวหลายยี่ห้อจึงเร่งทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคและสร้างยอดขายในช่วงไฮซีซันนี้
อาจกล่าวได้ว่า สุราขาวนับเป็นสินค้าบริโภคที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุดในประเทศจีน โดยบริษัทหลักทรัพย์กั๋วไท่จวินอัน (Guotai Junan Securities) ประเมินว่า ในปี 2562 ยอดขายรวมสุราขาวในตลาดจีนจะมีมูลค่ามากกว่า 220 พันล้านหยวนหรือประมาณ 31.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้สุราขาวหลายยี่ห้อจะต้องแข่งกันแย่งลูกค้า แต่สุราขาวชื่อดังยี่ห้อ “เหมาไถ” (Moutai) กลับสามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้ได้อย่างสบายใจ ทั้งนี้ “เหมาไถ” ผลิตโดยบริษัทกุ้ยโจวเหมาไถ (Kweichow Moutai) ตั้งอยู่ที่ตำบลเหมาไถ เมืองจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว นับเป็นสุราขาวอันดับ 1 ของจีน ด้วยคุณภาพของข้าวฟ่าง แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการหมักและกลั่นสุรา ผู้นำจีนจึงมักใช้เหมาไถรับรองแขกต่างชาติที่มาเยือนเสมอ โดยในปี 2562 เหมาไถกลายเป็นบริษัทสุราที่มียอดขายทะลุหลักแสนล้านหยวนแห่งแรกของจีน
ขณะนี้ ความนิยมของเหมาไถในตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวคือ ในปีนี้ สินค้าเหมาไถในต่างประเทศประสบภาวะขาดตลาด รวมทั้งช่องว่างระหว่างความต้องการของผู้บริโภคกับจำนวนสินค้าก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้ เหมาไถทำการตลาดอยู่ในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี และออสเตรเลีย และในปีนี้ ยังได้ขยายไปในตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม อาทิ ชิลี อาร์เจนตินา เปรู แทนซาเนีย เคนยา และเอธิโอเปีย สำหรับในปี 2563 เหมาไถวางแผนจะขยายตลาดเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ผ่านการเร่งส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าในตลาดที่มีศักยภาพสูงเช่นดูไบ รวมถึงการสนับสนุนงานและกิจกรรมชั้นนำทั้งในจีนและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ภาวะขาดแคลนเหมาไถเกิดขึ้นในตลาดจีนด้วยเช่นกัน โดยผลสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิด “ตลาดซื้อขายล่วงหน้า” เหมาไถขึ้นโดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากยินดีที่จะกดซื้อสินค้าทันทีที่มีสถานะแจ้งเตือนว่ามีสินค้าเพื่อไม่ต้องเสี่ยงกับการหาซื้อไม่ได้ ทั้งนี้ บริษัทกุ้ยโจวเหมาไถเป็นวิสาหกิจของรัฐกึ่งเอกชนของมณฑลกุ้ยโจว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบันมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สูงกว่า 1.4 ล้านล้านหยวน นับเป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2562 มูลค่าหุ้นของบริษัทฯ ในตลาด A-Share ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ซื้อภายในประเทศของจีนก็มีมูลค่าเกิน 1,000 หยวนต่อหุ้น ส่งผลให้เป็นหุ้นที่มีราคาแพงที่สุดในตลาดดังกล่าว รวมถึงเป็นหุ้นตัวแรกที่สามารถทำลายสถิตินี้ได้ในรอบ 27 ปี
บริษัทหลักทรัพย์กั๋วไท่จวินอันวิเคราะห์ว่า สุราขาวจีนมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นจากการเป็นสินค้าที่ผนวกวัฒนธรรมจีนเข้ามาไว้อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้ยาก นอกจากนี้ กำไรสุทธิของสินค้าสุราขาวจีนก็สูงมากกว่าร้อยละ 40 จึงคาดการณ์ว่า ในอนาคตผู้ผลิตสุราขาวจะยิ่งเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาพลักษณ์ของสินค้าตนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างความนิยมและการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า
แนวโน้มความนิยมสุราขาวในจีนข้างต้นส่งผลให้ขณะนี้ผู้ผลิตสุราขาวระดับกลางและระดับสูงจำนวนมากของจีนต่างก็ตัดสินใจเพิ่มราคาสินค้าของตน อาทิ สุราขาวระดับสูงยี่ห้ออู่เหลียงเย่ (Wuliangye) ของมณฑลเสฉวน ยี่ห้อหลูโจว เหล่าเจี้ยว (Luzhou Laojiao) ของมณฑลเสฉวน รวมถึงยี่ห้อสุยจิ่งฝาง (Shuijingfang) ของมณฑลเสฉวนที่ประกาศขึ้นราคาสินค้าสุราขาวระดับสูง 4 ตัว ทำให้สุราขาวขนาด 500 มิลลิลิตรตัวหนึ่งมีราคาสูงถึง 1,039 หยวน อย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การออกมาขึ้นราคาสินค้าของผู้ผลิตสุราขาวจำนวนมากในช่วงที่มีความต้องการสูงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เพียงเพื่ออาศัยราคาที่สูงในการยกระดับภาพลักษณ์สินค้าของตนเท่านั้น โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มของผู้บริโภคจำนวนมากที่หันมาลงทุนซื้อสุราระดับสูงเก็บเป็นของสะสมส่วนตัวหรือเพื่อการเก็งกำไร จนทำให้สุราขาวขวดสวย ๆ กลายเป็นกระแสนิยม ที่สำคัญ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ซึ่งมีรายได้สูงก็มิได้มีความอ่อนไหวต่อราคา จึงส่งผลให้ภาพรวมราคาสุราขาวในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้สุราขาวจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีนมากที่สุด แต่ขณะนี้ยอดขายไวน์ ซึ่งนับเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้องใหม่ในตลาดจีนก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เห็นว่าการดื่มไวน์เข้ากันได้กับวิถีชีวิตแบบรักษ์สุขภาพและมีรสนิยมดี ทั้งนี้ จีนมีแหล่งอุตสาหกรรมไวน์ในหลายมณฑล เช่น ซานตง หนิงเซี่ย เหอเป่ย ซานซี เหลียวหนิง ซินเจียง กานซู่ และยูนนาน โดยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 80 เป็นไวน์แดง นอกนั้นเป็นไวน์ขาว
บริษัทที่ปรึกษา Frost & Sullivan วิเคราะห์ว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้ยอดขายและจำนวนผู้ซื้อไวน์ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ต่อปี แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายสุรายังคงเป็นช่องทางกระจายสินค้าหลักของผลิตภัณฑ์ไวน์ในจีน นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 80 ของผู้บริโภคไวน์อยู่ในช่วงอายุ 18-35 ปี รวมทั้งผู้บริโภคอายุน้อยก็นิยมบริโภคไวน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านี้ แสดงถึงการยอมรับวัฒนธรรมการบริโภคไวน์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศจีน โดยข้อมูลทางสถิติยังชี้ให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดขายไวน์ในเมืองจีนได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 66.5 พันล้านหยวนเป็น 90.22 พันล้านหยวน โดยคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.9 ต่อปี
ตลาดไวน์ในจีนนับว่ามีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นไวน์ที่จีนผลิตเอง เช่น Changyu Greatwall Huaxia Grand Dragon และ Citic Guoan รวมถึงไวน์นำเข้าที่เป็นคู่แข่งสำคัญอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และชิลี อย่างไรก็ตาม ตลาดไวน์ในจีนยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยบริษัทที่ปรึกษา Frost & Sullivan ชี้ให้เห็นจากข้อมูลสถิติว่า ในระดับโลกอัตราส่วนระหว่างการบริโภคสุรากลั่นกับไวน์อยู่ในระดับเท่ากัน ขณะที่ในประเทศจีน อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 7 ต่อ 1 โดยปริมาณบริโภคไวน์เฉลี่ยต่อหัวของจีนในแต่ละปียังต่ำกว่า 1.5 ลิตร ต่างกับในสหรัฐอเมริกาที่สูงถึง 10 ลิตร
ดังนั้น ในการจับกระแสการเติบโตของการบริโภคไวน์ในจีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยนั้น ผู้ผลิตไวน์จำนวนมากในจีนจึงหันมาเน้นที่การปรับปรุงรูปแบบและภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตไวน์ที่มีขนาดบรรจุขวดเล็กลงที่ 200 มิลลิลิตรหรือ 375 มิลลิลิตร ตลอดจนการหันมาผลิตไวน์จำนวนน้อยเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์ (niche) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวจีนให้การตอบรับที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ
**********************************************
ที่มา: http://www.eguizhou.gov.cn/2019-12/24/content_37530136.htm
http://www.sohu.com/a/288226388_519194